top of page
รูปภาพนักเขียนBloomsbury Girl

กระแส K-Pop แผ่วลงจริงไหม? ชวนถกประเด็น 'จุดอิ่มตัว' ของวงการไอดอลเกาหลี



“สังเกตว่าเดี๋ยวนี้ขนาดเพลงดังๆ มักเกิ้ลยังไม่ค่อยคุ้นเลย ไม่เหมือนยุค Nobody, Gee, Ring Ding Dong, Gangnam Style ที่มักเกิ้ลร้องกันทั้งบ้านทั้งเมือง”

“ไม่อิ่มตัวได้ไง มีวงเกิดใหม่มาเบี่ยงความสนใจทุกวัน คอนเซปต์ก็เริ่มวนๆ กันจนน่าเบื่อ”

“2-3 ปีนี้เห็นคนรอบตัวเริ่มเฟดจากการติ่งเยอะขึ้นจริงๆ”

.

ชาวเน็ตกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสังเกต แต่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง …

.

“อิ่มตัวกี่โมง? ขนาดบัตรคอนแพงกระเป๋าฉีกก็ยังแย่งกันกดยากขึ้นทุกวัน”

“ประสบการณ์เฉพาะบุคคลมากกว่า สำหรับคนที่มูฟออนไปติ่งอย่างอื่นก็จะรู้สึกว่าเคป็อปอิ่มตัว”

“ที่ติ่งแก่บางคนรู้สึกว่าอิ่มตัวนี่ เพราะวงหล่อนแตกหรือไม่แอคทีฟเองหรือเปล่า”

.

(อันสุดท้ายแอบสะดุ้ง หนูไม่พอใจอะไร แล้วเอามาลงกับพี่ทำไมคะ 😭 /แนบมีมเมนเทอร์ลูกเกด)

.

นี่คือดีเบตล่าสุดในชุมชนชาวติ่งที่เสียงแตกอย่างมากจนเถียงกันร้อนแรงเลยทีเดียว ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองฝั่งต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนที่ฟังขึ้น

.

ถ้าลองไปฟังฝั่งที่เห็นว่า ‘อิ่มตัวแล้ว’ จะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่ประเด็นที่ติ่งไทยหยิบขึ้นมาพูดเองลอยๆ เป็นครั้งแรก แต่เป็นสิ่งที่แม้แต่ประธานบัง ชีฮยอก แห่งค่าย HYBE ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหนุ่มๆ บังทัน (BTS) ก็ออกมายอมรับว่า “อัตราโตของตลาดเคป็อปขยับช้าลงอย่างเห็นได้ชัด” ในทำนองเดียวกัน คิม โดฮอน นักวิจารณ์ดนตรีผู้เชี่ยวชาญเองก็ให้ความเห็นส่วนตัวไว้ว่า “เห็นได้จากยอดขายและยอดวิวว่ายุครุ่งเรืองของเคป็อปจะยังไม่จบลงทันทีหรอกครับ แต่วงการเคป็อปควรเริ่มเตรียมตัวรับมือขาลงที่กำลังจะมาถึงหลังจากโดนดนตรีแนวอื่นโค่นในอนาคตอันใกล้”

.

เรื่องความคล้ายคลึงของคอนเซปต์ที่หลายวงหยิบมาใช้ในช่วงนี้ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน หนังสือพิมพ์ The Korea Times ถึงกับพาดหัวข่าวว่า “สไตล์อันคล้ายคลึงที่ระบาดในวงการเคป็อป” นอกจากนี้ เรื่องจำนวนของนักร้องไอดอลที่มีมากขึ้นแบบเท่าทวีคูณเองก็ดูจะมีมูลอยู่บ้าง แม้แต่ไอดอลรุ่นก่อนๆ หลายคนออกมายอมรับกลายๆ ว่าเด็กๆ วงใหม่ๆ เผชิญสภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูงกว่าสมัยของตัวเองมากเพราะเหตุผลนี้ การมีโอกาสได้ไปออกรายการเซอร์ไววัลมาก่อนจึงกลายเป็นพริวิเลจที่ยิ่งใหญ่ เพราะสำหรับเทรนนีหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีโอกาสสะสมฐานแฟนมาก่อนนั้น มันช่างยากเหลือเกินที่จะฝ่าคลื่นไม่ให้กลมกลืนไปกับไอดอลจำนวนมหาศาลที่เดบิวต์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยกเว้นว่าเจ้าตัวจะโดดเด่นพอ

.

แต่ฝั่งที่เห็นว่า ‘ยังไม่อิ่มตัว’ ก็มีข้อมูลสนับสนุนเช่นกัน ทั้งเรื่องของ Global Charts ต่างๆ ที่เริ่มมีศิลปินไอดอลจากเกาหลีใต้ทั้งกลุ่มและเดี่ยวเข้าไปครองพื้นที่มากขึ้นทุกๆ ปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตัดสินและตีตราความชื่นชอบในตัวไอดอลและดนตรีเคป็อปที่น้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก (ความหมายแฝงเชิงลบของคำว่า ‘ติ่งเกาหลี’ หายไปเกือบหมดแล้ว กลายเป็นว่าคน ‘ไม่ติ่ง’ ต่างหากที่บ้างก็หันมาติ่งเพราะกลัวจะ miss out)

.

ไหนจะความสำเร็จของโมเดล ‘นักร้องไอดอล’ แบบเกาหลีที่กำลังค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในหลายพื้นที่ทั่วโลก เราได้เห็น C-pop โลดแล่นในเอเชียมาสักพักใหญ่ ได้เห็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ T-pop ที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน ได้เห็น J-pop ที่เคยแตกต่างและแยกขาดจาก K-pop เป็นคนละโลก เริ่มเปิดใจรับเอาอิทธิพลด้าน element และ style บางอย่างของ K-pop ที่เวิร์กไปปรับใช้กับศิลปินบ้านเขาบ้าง ได้เห็นการบุกเบิกวงไอดอล P-pop ในฟิลิปปินส์และ Indo-pop ในอินโดนีเซีย และล่าสุด เราได้เห็นวงไอดอลฝั่งอเมริกันที่เรียกตัวเองว่า Global Idol Groups เริ่มมีผลงานไวรัล (เช่น KATEYES)

.

เรียกได้ว่าความเป็นเคป็อปจะไม่ตาย แต่จะถูกคายตะขาบส่งทอดต่อไปและดำรงอยู่ในแวดวงข้างเคียงต่างหาก

.

ในการที่เราจะตอบคำถามนี้ในเวอร์ชันของตัวเอง อาจจะต้องเริ่มจากกำหนดนิยามของคำว่า ‘จุดอิ่มตัว’ ที่แน่ชัดขึ้นมาก่อน

.

หลายคนอาจรู้สึกกับคำนี้ในเชิงลบ การบอกว่าเคป็อปอิ่มตัวจึงไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าเคป็อปที่เรารักกำลังจะตาย หรือโลกใบนี้กำลังเบื่อหน่ายและอยากเสพเคป็อปน้อยลง แต่คนอีกกลุ่มอาจรู้สึกกับคำว่า ‘อิ่มตัว’ ในแง่ที่ว่าวงการนี้ได้ผ่านจุดที่พีคที่สุดมาแล้ว และหลังจากนี้ สถานการณ์ก็จะเริ่มคงที่เช่นนี้ไปอีกนาน เรียกได้ว่าอาจไม่เติบโตหวือหวามากมายไปอีกพักใหญ่ หรืออาจจะ ‘แผ่วลง’ ไปบ้างท่ามกลางกระแสลมใหม่ๆ ที่เข้ามาตีตลาด

.

แต่แน่นอนว่ามีดนตรีแนวต่างๆ มากมายที่เคยผ่านจุดอิ่มตัวมาแล้ว มันถึงได้มีคำว่า ‘ยุคทอง’ ของแนวนั้นแนวนี้ยังไงล่ะ! ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแจ๊สที่พีคในช่วง 1920s ร็อกแอนด์โรลล์ที่พีคในช่วง 50-60s ดิสโก้ที่พีคในช่วง 70s หรือฮิปฮอปที่พีคในช่วง 90s ก็ตาม อย่างที่ทุกคนคงรู้กันดีว่านั่นไม่ได้หมายความว่าดนตรีแนวที่ว่ามานี้ได้ตายลง หรือไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป แต่หมายความว่าพอหมดช่วง ‘เห่อของใหม่’ ของมนุษยชาติ ดนตรีละแนวก็จะกลายมาเป็นแนวดนตรีพื้นฐานแนวหนึ่งที่โลกรู้จักดี ตัวเลขผู้ฟังทั่วโลกที่ติดตามแนวนั้นๆ จึงนิ่งและ niche ขึ้น เพราะมีความเป็นขาประจำมากกว่าขาจร นอกเสียแต่ว่าจะมีเทรนด์บางอย่างกลับมากระตุ้นความสนใจของผู้ฟังวงนอก (เช่น แจ๊สที่ดูเป็นดนตรีเฉพาะกลุ่มมาพักใหญ่ จนกระทั่งนักร้องโมเดิร์นแจ๊ส Laufey ได้จุดประกายความสนใจในหมู่ผู้ฟังรุ่นใหม่เป็นวงกว้าง)

.

เป็นไปได้สูงสักวันแนวเคป็อปเองก็ต้องเดินทางมาถึงจุดเดียวกันนี้ แต่คำถามสำคัญคือว่า สักวันที่ว่านั้นกำลังใกล้เข้ามาแล้วหรือยัง?

.

แล้วลูกเพจโชว์ฮ็อปล่ะ! คิดเห็นยังไงกันบ้าง คิดว่าตอนนี้นี้เคป็อปใกล้จะอิ่มตัวรึยัง? หรือจริงๆ แล้ว ดนตรีแนวนี้ยังอยู่ระหว่างขาขึ้น การันตีว่ายังมีพื้นที่ให้เติบโตและพีคได้มากกว่านี้อีก?

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.

ที่มา:

- https://variety.com/.../k-pop-slowdown-in-growth-bts.../

- https://www.scmp.com/.../k-pop-dying-depends-bands-bts...

- https://vogue.sg/bini-p-pop/

- https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2024/05/398_373815.html

.

#TheShowhopper #GeekedOut #Music #Kpop #ไอดอลเกาหล#ดนตร#เคป็อป #จุดอิ่มตัว #ยุคทอง

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page