ขนาดฮีโร่ยังเบิร์นเอาท์ แลัวเราจะไปเหลืออะไร? สำรวจจิตใจเหล่าตัวละครซึมๆ ใน THUNDERBOLTS*
- เจนจิรา หาวิทย์
- 27 พ.ค.
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 6 มิ.ย.

“มีบางอย่างผิดแปลกไปในตัวฉัน ความว่างเปล่า ตอนแรกฉันคิดว่ามันเกิดขึ้นตอนพี่สาวตาย แต่ไม่ มันแผ่ขยายขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นห้วงความว่างเปล่าสีดำมืด แต่ไม่รู้ ฉันอาจจะแค่เบื่อ.. พวกเขาสั่งงานส่วนฉันก็แค่ตอกบัตรเข้า-ออก นายเก็ทไหม?”
.
นี่น่าจะเป็นประโยคเปิดเรื่องที่หม่นหมองที่สุดในหนังซูเปอร์ฮีโร่จากจักรวาล MCU กับภาพของตัวละคร ‘Yelena Belova’ ในเสื้อฮูดสีดำกับรองเท้าผ้าใบเรียบๆ ให้พอเคลื่อนไหวคล่องตัว เธอไม่ได้แต่งหน้าทำผมใส่ยูนิฟอร์มฮีโร่อะไร เป็นแค่นักฆ่าคนหนึ่งที่มาตอกบัตรเข้างานทำภารกิจประจำวันให้จบๆ ไป แล้วถ้าการกระโดดลงจากตึกสูงระฟ้านี้จะคร่าชีวิตเธอ อาจเพราะร่มชูชีพไม่ทำงาน หรือกระแทกกระจกแรงไปหน่อย เธอก็ยินดี..
.
‘หนังจบคนไม่จบ’ จริงๆ กับภาพยนตร์ Thunderbolts* ปฐมบทการรวมกลุ่มฮีโร่สุดแหวก เปิดตัวมาในท่าทางใหม่จนชาวเน็ตขนานนามว่าเป็น ‘หนังฮีโร่ฟีล A24’ ด้วยโทนภาพและเรื่องราวที่มีความดาร์กและความเป็นปุถุชนคนธรรมดาสูง ไม่ใช่กลุ่มคนที่ตั้งใจมามีภารกิจยิ่งใหญ่ ต่อสู้กับภัยจากต่างดาว หรือเป็นความหวังให้ดาวโลก เพราะพวกเขาเป็นแค่ ‘กลุ่มคนช้ำๆ’ ผู้บังเอิญมีพลังและต้องต่อสู้กับปัญหาในใจตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปกู้โลก..
.
โดยหลังจากรับชม ผู้เขียนก็เข้าใจได้แจ่มแจ้งทันทีว่าทำไมแฟนมาร์เวลถึงมองว่า Thunderbolts* เป็นการกลับมาที่น่าชื่นใจหลังผิดหวังกับหลายเรื่องก่อนหน้า แม้รายได้ของมันจะไม่ถล่มทลาย แต่ก็กลายเป็นหนังฮีโร่ที่ทุกคนรักได้ เพราะประเด็นสุขภาพจิตอันเป็นเมสเซจใหญ่สุดในเรื่องมันเข้าไปโอบกอดหัวใจคนดูเอาไว้ถูกที่ถูกเวลา ในยุคสมัยที่คนมีความสุขน้อยลงและโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ
.
ในคอลัมน์ Mind-Craft วันนี้ เราเลยขอหยิบยก ‘ความปวดร้าว’ ของเหล่า anti-heroes ทีมนี้มาเล่าให้ทุกคนฟัง ด้วยความหวังอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะฮีลใจผู้อ่านได้ เหมือนที่ตัวหนังทำกับเราในโรงภาพยนตร์
.
⚠ มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์ ⚠
.
• ‘เยเลนา’ กับอาการ Burnout และความเศร้าที่กัดกินหัวใจไม่สิ้นสุด
.
“..ทุกวันนี้ฉันได้แต่นั่งไถมือถือไปเรื่อยๆ พลางคิดถึงเรื่องเลวร้ายที่เคยทำ ฉันออกไปทำงาน ดื่มจนเมา กลับมาเจอบ้านที่ว่างเปล่า แล้วก็คิดถึงเรื่องแย่ๆ อีกครั้ง จนแทบจะเป็นบ้า”
.
ฟังดูคล้ายกับสิ่งที่พวกเราเผชิญกันอยู่ในแต่ละวันเลยว่าไหม? ความรู้สึกที่ไม่แน่ใจว่าสุขหรือเศร้า ได้แต่นั่งนิ่งๆ ปล่อยให้เวลาผ่านไปอีกวันและอีกวัน เป็นก้อนมวลบางอย่างที่ปกคลุมอยู่เหนือหัว เป็นหมู่เมฆที่บดบังไม่ให้แสงอาทิตย์ส่องถึงเราได้สักที เหมือนจะไหลวนอยู่เต็มอก แต่ก็ว่างเปล่า.. ‘เยเลนา’ เลือกจะหลีกเลี่ยงมันด้วยการรับทำภารกิจมากมายหลังเสีย ‘นาตาชา’ ไป เธอถึงกับพูดว่างานของเธอไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ออฟฟิศที่แค่มาตอกบัตรเข้างาน ทำตามคำสั่งและตอกบัตรออก เป็นลูปอยู่แบบนี้.. สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของอาการ Burnout ที่สามารถพัฒนาต่อไปเป็นภาวะซึมเศร้าได้
.
แม้สื่อต่างประเทศหลายเจ้าจะบอกว่าตัวละครนี้กำลังเผชิญโรคซึมเศร้า แต่ด้วยความที่การพูดถึงโรคนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องใช้การวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อยืนยัน ต่างจาก ‘Burnout’ ที่เป็นคำเรียกอาการหรือภาวะแบบไม่เป็นทางการ ผู้เขียนเลยขอพูดถึงประเด็นนี้เป็นหลักกับตัวละครของเธอ
.
คำว่า ‘Burnout’ เริ่มโด่งดังในบ้านเรามาพร้อมๆ กับกระแส ‘Work-life balance’ ตามความเข้าใจทั่วไปที่หลายคนมองว่ามันใช้อธิบายคนที่ทำงานหนักเกินไปจนหมดไฟ หมดแพชชัน ไม่มีใจจะสร้างสรรค์อะไรให้องค์กรอีกแล้ว แต่ความจริงอาการนี้มันบั่นทอนเราได้ลึกกว่านั้น.. จากคำอธิบายบนเว็บไซต์ Mental Health UK ระบุว่า นี่เป็นภาวะความเหนื่อยล้าทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เมื่อเราพาตัวเองเข้าไปอยู่ลูปของความท่วมท้นบางอย่างมากเกินไป เช่น ทำงานหนักติดต่อกันนานๆ รู้สึกเครียด กดดัน หรือเศร้าหนักในช่วงเวลาหนึ่ง ท้ายที่สุดเราจะตอบสนองสิ่งนั้นด้วยการไม่รู้สึกอะไรเลย สมชื่อ Burnout คือเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไปจะไหม้หมด มันจะเหลือไว้เพียงเถ้าถ่านดำๆ ในรูปแบบ ‘ความว่างเปล่า’ ซึ่งกลายมาเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของตัวละครเยเลนา
.
ซึ่งเมื่อความว่างเปล่าแผ่ปกคลุมจิตใจ หายนะทางความรู้สึกอีกมากมายก็จะตามมา ไม่ว่าจะเป็น ความสิ้นหวังจนไม่อยากทำอะไรในชีวิตอีกต่อไป จากที่เคยสดใสโปรดักทีฟก็จะเฉยเมยต่อความเป็นไปของชีวิต อะไรที่เคยชอบเคยอินก็จะไม่อินอีกแล้ว ก่อเกิดเป็นการตั้งคำถามกับตัวเองไปอีก พอไม่ชอบตัวเอง รู้สึกไร้ค่า ก็จะเริ่มปลีกตัวออกจากผู้คน นำไปสู่ความอ้างว้างโดดเดี่ยวในที่สุด
.
ทั้งหมดนี้ทำให้เยเลนาในตอนต้นเรื่องกลายเป็นคนที่เหลือเพียงร่างกายกับลมหายใจ พยายามกดทับความว่างเปล่าในใจไปในทุกๆ วันด้วยภารกิจเสี่ยงตายและแอลกอฮอล์ แต่ผู้ชมก็ยังพอเห็นประกายความหวังในตาเธออยู่บ้างจากตอนที่เธอเก็บเจ้าหนูจากห้องทดลองมาเลี้ยงจนท้ายที่สุด เมฆหมอกเหล่านั้นก็กระจายตัวหายไปทำให้เธอกลับมาเจอความหวังและความหมายในชีวิตตัวเองอีกครั้ง
.
• ‘Bob’ ‘The Sentry’ ‘The Void’ สามตัวละครแห่งความแตกสลาย
.
เมื่อพูดถึงตัวละครฮีโร่จิตหลุดใน MCU เชื่อว่าแฟนๆ หลายคนคงจะมีชื่อในใจ เพราะมาร์เวลสร้างสรรค์ตัวละครเหล่านี้ได้ดีเสมอทั้งในแง่ภูมิหลังและพลังของพวกเขา อาทิ Moon Knight กับความเจ็บปวดวัยเด็กที่ก่อให้เกิดเป็นโรคหลายบุคลิก หรือคุณแม่ Wanda Maximoff ผู้เผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่เกินกว่าที่จิตใจจะรับไหวจนเลือกที่จะพาตัวเองหนีความจริงเข้าไปในโลกจำลองที่ตนสร้างขึ้นจนชาวเมืองเวสต์วิววุ่นวายกันไปหมด และอีกหลายตัวละคร แต่กลับมาคราวนี้ Thunderbolts* เลือกจะเสิร์ฟตัวละครใจสลายมาให้ผู้ชมแบบ 3 in 1
.
เริ่มต้นที่ ‘บ็อบ’ หนุ่มขี้ยากับวัยเด็กที่เติบโตมากับความรุนแรงในครอบครัว ไร้คนรัก ไร้ความเชื่อมั่นในตัวเอง หมดสิ้นความหวังในชีวิตอย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมการทดลองโปรเจกต์ ‘The Sentry’ เพื่อสร้างซูเปอร์โซลเยอร์ที่แข็งแกร่งกว่า Captian America และกลายเป็นผลการทดลองที่สำเร็จโดยบังเอิญ แต่เมื่อพลังยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์เข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ที่เจ็บปวด ปีศาจร้ายในใจของเขาเลยถือกำเนิดขึ้นด้วยในนาม ‘The Void’
.
บ็อบเป็นตัวละครที่แบกอาการทางจิตใจแทบทุกอย่างในแบบที่เกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะรับไหว เขาทั้งวิตกกังวล เกลียดตัวเอง อารมณ์ไม่มั่นคง จมปลักกับอดีต มีความรู้สึกอยากจบชีวิต และติดสารเสพติด แต่พอมีพลังขึ้นมาก็กลายเป็นคนทะนงตน หลงตัวเองจนควบคุมไม่ได้ เข้าใจความจริงผิดเพี้ยน เมื่อทุกอย่างชนกันเขาก็พาตัวเองดำดิ่งลงไปในหลุมที่มืดและลึกที่สุด แถมยังอยากจะพาทุกคนบนโลกเข้ามาอยู่กับเขาในนั้นด้วย การมีอยู่ของตัวละครนี้เลยกลายเป็น ‘ภารกิจเยียวยาตัวเอง’ ของสมาชิกคนอื่นใน Thunderbolt* ประมาณว่า พอเห็นคนที่สถานการณ์แย่กว่ามากๆ คนที่ต้องลุกขึ้นมามีสติคงต้องเป็นเราเอง ทั้ง ‘บัคกี้’ ‘อเล็กซี่’ และ ‘เอวา’ เลยต้องเข้าหลักสูตรเร่งรัดในการให้อภัยตัวเองจากเรื่องราวในอดีตไปด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยบ็อบจากตัวเขาเอง
.
“นี่บ็อบ ฉันขอโทษที่เคยบอกให้นายกดมันเอาไว้..” - เยเลนา
.
ท้ายที่สุดตัวหนังเลือกจะสร้างซูเปอร์ฮีโร่ทีมใหม่จาก ‘มิตรภาพ’ พวกเขาเดินทางมากับความโดดเดี่ยวที่ยากเกินกว่าใครจะเข้าใจ ผ่านการต่อสู้กับตัวเองจนมาเจอกันและกัน แม้จะไม่ถูกเยียวยาโดยสมบูรณ์แต่การได้แบ่งปันกับใครสักคนก็ช่วยพวกเขาไว้ได้ ความอบอุ่นในใจก้อนนี้เลยเป็นสารสำคัญที่ทำให้ “Thunderbolts*” หรือ “*The New Avengers” กลายเป็นหนังที่เข้ามาปลอบประโลมผู้ชมได้ทั่วโลก ขนาดตัวผู้เขียนยังรู้สึกเลยว่าหนังมันส่งผ่านความเข้าใจและอ้อมกอดมาถึงคนที่อยู่นอกจอจริงๆ
.
แล้วเพื่อนๆ ที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง ชอบท่าทางการนำเสนอแบบนี้ในหนังฮีโร่หรือเปล่า หรือมีมุมมองต่อตัวละครอย่างไร สามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้ที่ช่องคอมเมนต์เลย 💬
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
ที่มา:
.
.
Comments