ในยุครุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งของหนังโรแมนติกคอเมดี้ เรื่องราวความรักระหว่างดาราสาวซูเปอร์สตาร์ระดับโลก Anna Scott กับหนุ่มเดินดินเจ้าของร้านหนังสือท่องเที่ยว William Thacker ใน Notting Hill ซึ่งรับบทโดย Hugh Grant และ Julia Roberts คงจะต้องเป็นหนึ่งเรื่องที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี หรืออาจถึงขั้นติดอันดับหนังในดวงใจของใครหลายคน …วันนี้หนังเรื่องนี้มีอายุครบ 25 ปีเต็มแล้วครับ
.
‘รักบานฉ่ำที่น็อตติ้งฮิลล์’ เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่สหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1999 ก่อนที่จะข้ามฟากมาเปิดตัวในสหรัฐฯ วันที่ 28 พฤษภาคม หรือหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น และเข้าฉายในประเทศไทยวันที่ 30 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
.
ในสหรัฐฯ หนังเปิดตัวที่อันดับ 2 บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศท่ามกลางหนัง (ที่กำลังจะกลายเป็นหนัง) ในตำนานอีกหลายเรื่องซึ่งรายล้อม Notting Hill อยู่ที่อันดับอื่นในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น The Matrix ภาคแรก, The Mummy ภาคแรก และ Star Wars Episode I: The Phantom Menace ทั้งหมดกำลังโกยรายรับเขย่าบ็อกซ์ออฟฟิศอย่างถล่มทลาย โดยเป็น Star Wars นี่เองที่ยังคงยึดหัวหาดอยู่อันดับ 1 ในสุดสัปดาห์นั้น ทำให้ Notting Hill เปิดตัวได้แค่ที่ 2
.
ความนิยมของ Notting Hill ทำให้หนังกวาดรายรับรวมไปได้ถึง 116 ล้านเหรียญฯ กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดอันดับที่ 11 ในสหรัฐฯ ประจำปี 1999 และเมื่อรวมเข้ากับรายรับนอกสหรัฐฯ อีก 247 ล้านเหรียญฯ เบ็ดเสร็จแล้ว Notting Hill ทำรายรับรวมทั่วโลกกว่า 363 ล้านเลยทีเดียว แม้จะเทียบไม่ได้กับตัวเลขมหาศาลระดับพันล้านอย่างหนังบล็อกบัสเตอร์ที่ผูกเรื่องราวกันเป็นจักรวาลยิ่งใหญ่มโหฬารในปัจจุบัน แต่นี่ก็คือความมหัศจรรย์ในแง่การทำเงินของหนังรอมคอมทุนสร้างเพียง 42 ล้านเรื่องหนึ่งในยุคเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อนซึ่งค่าเงินแตกต่างกับในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
.
สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างคือ ณ เวลานั้น นอกจาก Notting Hill จะดีดตัวเข้ามาอยู่ในอันดับ 8 หนังรอมคอมที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอเมริกาแล้ว ใน 10 อันดับแรกของเรคอร์ดดังกล่าว ยังเป็นผลงานของจูเลีย โรเบิร์ตส์ไปแล้วถึง 4 เรื่อง โดยนอกจาก Notting Hill แล้ว ก็ยังมี My Best Friend’s Wedding (1997) ในอันดับที่ 6 (127 ล้าน), Runaway Bride (ซึ่งออกฉายตามหลัง Notting Hill 2 เดือน) ในอันดับที่ 3 (152 ล้าน) และ Pretty Woman (1990) ในอันดับที่ 1 (178 ล้าน) ทั้งหมดทั้งมวลคงตอกย้ำความเป็นนางเอกหนังรอมคอมเบอร์หนึ่งตลอดกาลของเธอได้เป็นอย่างดี
.
และนี่เองคือกลยุทธ์เกินต้านที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ชมอย่างเราๆ ยากที่จะปฏิเสธ Notting Hill ได้ลง เพราะขึ้นชื่อว่าหนังรอมคอมเมื่อไหร่ ชื่อที่การันตีคุณภาพได้แน่นอนย่อมหนีไม่พ้นชื่อของจูเลีย โรเบิร์ตส์ หากแต่คราวนี้สิ่งที่ทำให้หนังน่าดูยิ่งกว่าเดิมก็คือ การมาของพระเอกจากหนังฝั่งอังกฤษอย่างฮิวจ์ แกรนท์นั่นเอง เมื่อนางเอกสายรอมคอมอเมริกันประกบคู่กับพระเอกสายรอมคอมอังกฤษ มันจะกลายเป็นอะไรไปได้หากไม่ใช่แรงดึงดูดผู้ชมแบบทวีคูณที่เกิดขึ้นจากดาราระดับแม่เหล็กทั้งสองคน
.
หากจะมองถึงเส้นทางอาชีพนักแสดง ก็ต้องบอกว่า Notting Hill นั้นมาในจังหวะที่ใช่ของทั้งฮิวจ์ แกรนท์ และจูเลีย โรเบิร์ตส์ เพราะทั้งคู่ต่างก็อยู่ในช่วงเปล่งปลั่งสดใสที่สุดในอาชีพการงานของพวกเขาพอดิบพอดี (หรือถ้าจะหมายรวมไปถึงรูปลักษณ์ของทั้งคู่ในช่วงนั้นด้วยก็คงไม่ผิดแต่อย่างใด)
.
ฮิวจ์ แกรนท์กำลังก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าพระเอกสายตลกโรแมนติก ผลงานที่ตามหลัง Notting Hill อย่าง Bridget Jones’s Diary (2001), Two Weeks Notice (2002), About a Boy (2002), Love Actually (2003), Bridget Jones: The Edge of Reason (2004) และ Music and Lyrics (2007) คือหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดี
.
ในขณะที่จูเลีย โรเบิร์ตส์ ซึ่งยืนหนึ่งในฐานะนางเอกหนังรอมคอมไปเรียบร้อยแล้ว ก็มีทั้ง Notting Hill และ Runaway Bride ออกฉายไล่เลี่ยกัน รวมถึงทำเงินมหาศาลทั้งสองเรื่อง ก่อนที่ผลงานเรื่องถัดไปอย่าง Erin Brockovich (2000) จะพาเธอไปสู่จุดสูงสุดด้วยการคว้ารางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอง
.
เฉกเช่นกับตัวละคร ‘แอนนา สก็อตต์’ ของเธอใน Notting Hill แอนนาเองก็เป็นดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนกับตัวจูเลีย โรเบิร์ตส์ เหมือนแม้กระทั่งช่วงเวลาสำคัญของชีวิตที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากนักแสดงที่คนทั้งโลกรู้จักในฐานะ ‘ซูเปอร์สตาร์’ มาเป็นนักแสดง ‘ดีกรีออสการ์’ ความเทียบเคียงทั้งในจอและนอกจอที่แทบจะเป็นบล็อกเดียวกันนี้ ดูน่าจะช่วยให้การถ่ายทอดบทบาทเป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจูเลีย โรเบิร์ตส์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยากเย็นเท่าไรนัก แต่ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่
.
จูเลียเคยลังเลและเกือบบอกผ่านบทนี้ด้วยเหตุผลที่เป็นมุมตรงข้ามกับสิ่งที่เราอาจจะเข้าใจกันแค่เปลือกนอกนั่นคือ ‘มันเหมือนกับตัวเธอเกินไป’ และการมารับเล่นเป็นตัวละครนี้ก็คือหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดที่เธอเคยทำมา เธอยังบอกด้วยว่า ‘มันทั้งอึดอัด เคอะเขิน แปร่งๆ ไปหมด และไม่รู้ว่าจะเล่นเป็นแอนนายังไง’ และเธอก็ไม่ชอบการถูกจับแต่งตัวให้เป็นลุคซูเปอร์สตาร์เอามากๆ
.
ดังนั้นการถ่ายทำหนึ่งในซีนจำของหนังอย่างซีน “I'm also just a girl, standing in front of a boy, asking him to love her.” (“ฉันก็แค่ผู้หญิงคนนึง ที่กำลังยืนต่อหน้าผู้ชาย อ้อนวอนให้เขารักเธอ”) จูเลียจึงตัดสินใจให้คนขับรถกลับไปหยิบเสื้อผ้าชิ้นนั้นชิ้นนี้ (ตามที่เธอขอ) จากที่พักของเธอมา เพื่อมาใช้ในฉากนี้เองโดยไม่เลือกใช้เสื้อผ้าที่ฝ่ายคอสตูมของกองเตรียมไว้ให้
.
เธอให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “มันเป็นรองเท้าแตะของฉันค่ะ กระโปรงกำมะหยี่สีน้ำเงินตัวน้อยน่ารัก เสื้อยืด แล้วก็คาร์ดิแกน” ซึ่งนี่เองคือชุดสบายๆ โทนสีฟ้าน้ำเงินที่สุดท้ายเราได้เห็นกันในหนัง และกลายเป็นการสะท้อนภาพผู้หญิงธรรมดาสามัญที่อยู่ในตัวตนของดาราชื่อก้องโลกอย่างแอนนาได้เป็นอย่างดี แต่กระนั้นแล้วผู้เขียนบทของหนังอย่าง Richard Curtis ก็ชอบพูดติดตลกกับจูเลียถึงเสื้อผ้าของเธอในฉากนี้ว่า “ผมผิดหวังมาตลอดเลยที่วันนั้นคุณไม่ใส่ชุดที่ดีกว่านี้น่ะ”
.
ริชาร์ด เคอร์ติสเอง ก็เป็นอีกกุญแจสำคัญที่ทำให้ Notting Hill ประสบความสำเร็จ และยังเป็นหนังที่ครองใจผู้ชมมาได้จนทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าสตอรีที่ไม่ยากต่อการตีความ เป็นโครงเรื่องง่ายๆ ที่ใครดูแล้วก็อินตามได้ไม่ยาก นอกจากนี้มันยังไม่ยึดโยงกับประเด็นทางสังคมให้ซับซ้อนปวดหัวมากนักตามสไตล์หนังสมัยก่อน ซึ่งเป็นยุคที่ความวุ่นวายของโลกเรายังเบาบางกว่านี้ ต่างจากเทรนด์หนังยุคปัจจุบันที่แม้แต่หนังรอมคอมก็พยายามสอดแทรกธีมบางอย่างเพื่อตั้งคำถามถึงประเด็นสังคมลงไป
.
เหนือสิ่งอื่นใดคือภาพรวมของหนังที่ชูบรรยากาศแห่งความหวัง กำลังใจ มิตรภาพ และการมองโลกในแง่ดีอย่างเต็มสูบ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกเกลียดชังหรือทัศนคติที่ติดลบ ลองนึกถึงฉากปาร์ตี้มื้อค่ำฉลองวันเกิดของน้องสาวพระเอกดูก็ได้ครับ ในความธรรมดานั้นกลับเต็มไปด้วยความอุ่นใจและการซัพพอร์ตซึ่งกันและกันของเหล่าตัวละคร แถมมีอะไรตลกๆ ให้ผู้ชมขำกันได้ตลอดซีน ที่สำคัญคงมีคนดูจำนวนไม่น้อยที่เคยถามตัวเองเล่นๆ ว่า ‘ถ้าวันนึงมีดาราดังมาบ้านเรา มันจะเป็นยังไงกันนะ’ …Notting Hill ตอบเราไว้ที่ฉากนี้นั่นเอง
.
อย่างสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ บทเพลงตราตรึงมากมายจากหนังซึ่งกลายมาเป็นอัลบั้มซาวด์แทร็กประกอบภาพยนตร์ที่โด่งดังสุดขีด โดยนอกจากความไพเราะล้ำค่าชนิดที่พบได้แบบแทร็กต่อแทร็กแล้ว นี่ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่า Notting Hill คือหนึ่งในหนังที่เลือกใช้เพลง (ที่มีอยู่แล้ว) มาประกอบเรื่องราวได้ดีที่สุดตลอดกาลด้วย
.
ไม่ว่าจะเป็น “Ain’t No Sunshine” เพลงปี 1971 โดย Bill Withers ที่ถูกนำมาใช้ในฉาก ‘เปลี่ยนผ่านฤดูกาล’ ขณะที่พระเอกกำลังเดินผ่านร้านรวงมากมายบนท้องถนน หรือจะเป็น “When You Say Nothing At All” เพลงคันทรีปี 1988 โดยศิลปินผู้ล่วงลับ Keith Whitley ซึ่งถูกขับร้องใหม่เพื่อนำมาใช้ในหนังโดย Ronan Keating และมีเนื้อความว่าด้วยการสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอันงดงามแม้อีกฝ่ายไม่ต้องเอื้อนเอ่ยคำใดออกมา ก็สอดคล้องกับการวางตัวละครนางเอกที่เปรียบเสมือนดวงดาราบนฟากฟ้า
.
หรืออย่าง “She” ของ Charles Aznavour เมื่อปี 1974 ซึ่งถูกนำมาร้องใหม่ในครั้งนี้โดย Elvis Costello ก็ถูกเลือกมาเป็นเพลงเอกของหนัง ที่คล้ายเป็นการยกระดับความสำคัญของนางเอกเข้าไปอีกขั้นว่า ไม่เพียงแต่ ‘เธอ’ จะมีความหมายต่อพระเอกเท่านั้น แต่ ‘เธอ’ ยังได้รับการโอบกอดจากคนอีกมากมายที่รักในตัวเธอไม่ว่าเธอจะเศร้าหรือสุขอย่างไร ดังที่ท่อนสุดท้ายของเพลงบอกเอาไว้ด้วย
.
“Me, I'll take her laughter and her tears
And make them all my souvenirs
For where she goes I've got to be
The meaning of my life is she
She…
Oh, she”
.
หากใครอยากหวนรำลึกบรรยากาศอุ่นใจของ Notting Hill อีกครั้ง สามารถรับชมได้ทาง Prime Video ครับ
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
ข้อมูลอ้างอิง: boxofficemojo.com
.
Comentários