![](https://static.wixstatic.com/media/8bfaf6_1b0c0a61f631474a97ac231a676f0555~mv2.jpg/v1/fill/w_768,h_960,al_c,q_85,enc_auto/8bfaf6_1b0c0a61f631474a97ac231a676f0555~mv2.jpg)
ผู้เขียนลังเลอยู่นาน ว่าจะมาป้ายยาซีรีส์เรื่องนี้ดีไหม เพราะเนื้อหาโหดร้ายต่อจิตใจมาก แต่มันก็ดีจนไม่พูดถึงไม่ได้เหมือนกัน
.
“โลกคือละคร ทุกคนต้องแสดง ทุกอย่างเป็นไป..” เพื่อความบันเทิงสูงสุดที่มนุษย์พึงปรารถนา ขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ “The 8 Show”
.
นี่คือซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้เรื่องใหม่ล่าสุดจากบ้าน Netflix กำกับการแสดงโดย ‘ฮัน แจริม’ พัฒนาบทจากสองผลงานดังใน Webtoon อย่าง "Money Game" และ "Pie Game," บอกเล่าเรื่องราวของคนแปลกหน้า 8 คน ที่ถูกเชิญมาเล่นเกมโชว์เปลี่ยนชีวิต ที่จะจ่ายเงินให้พวกเขาเป็นรายนาที ยิ่งอยู่นานยิ่งได้เงินเยอะ เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องโชว์อะไรก็ได้เพื่อตรึงคนดูไว้ให้นานที่สุด ไร้ขอบเขต ไร้กฎเกณฑ์ ขอเพียงอย่างเดียวคือ “ห้ามผู้เล่นหมดลมหายใจ” มิเช่นนั้นเกมจะสิ้นสุดลงทันที..
.
[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากซีรีส์]
.
หลายคนคงคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้คงจะมาแนวใกล้ๆ กับ “SQUID GAME” (2021) เกมโชว์รวมคนตกอับมาเล่นเกมเอาชีวิตรอดเพื่อลุ้นรางวัลใหญ่เป็นเงินมหาศาลจัดโดยคนรวยขี้เบื่อ และต้องห้ำหั่นกันแบบชีวิตแลกชีวิต.. ผู้เขียนเองก็คิดเช่นนั้นจนกระทั่งได้ดูแบบ 8 ตอนรวดไม่พัก เลยพบว่า “The 8 Show” เป็นเกมที่ป่าเถื่อนกว่านั้น
.
“แทนที่จะนำเสนอการแบ่งแยกความดีและความชั่วแบบง่ายๆ ซีรีส์นี้เลือกนำเสนอการก่อตัวของอำนาจที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมเล็กๆ ถูกสร้างขึ้น” - ฮัน แจริม (ผู้กำกับ) กล่าว
.
ประเด็นน่าสนใจที่เราเจอจากเรื่องนี้ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และการเสียดสีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผ่านการจัดให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละลำดับชั้นได้รับค่าตอบแทนรายนาทีไม่เท่ากัน การทดลองระบบการปกครอง ตั้งแต่ประชาธิปไตยไปจนถึงเผด็จการ รวมถึงค่าครองชีพ (ราคาสินค้าของแต่ละชั้น) ที่ผกผันตามรายได้อันเปรียบได้กับการเสียภาษี จนคนในเกมรู้สึกลำบากไม่ต่างจากชีวิตในโลกจริง หรือการที่คนชั้นสูงสุดได้ควบคุมทรัพยากรอาหารกับน้ำ คือประเด็นเรื่อง ‘การสร้างสื่อเพื่อความบันเทิง’
.
จากในตอนท้ายๆ ของเรื่องที่เหล่าผู้ชมเริ่มไม่บริจาคเวลาเพิ่มให้ จนเหล่าตัวละครตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือความบันเทิงที่แท้จริง?’ หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายทั้งหมดได้เกิดขึ้น ไล่ระดับไปตั้งแต่ มุกตลก โชว์ความสามารถพิเศษ ฉากดราม่า ความลำบาก เรื่องทางเพศ พวกเขาบางคนก็ได้ค้นพบว่าสิ่งที่กระตุ้นความตื่นเต้นของคนพวกนี้ได้มากที่สุดคือ ‘ความรุนแรง’ หลังจากนั้นความเป็นมนุษย์ก็เริ่มพร่าเลือนลงเรื่อยๆ
.
ส่วนนี้ของซีรีส์ฉายภาพจริงที่เกิดขึ้นในโลกของเรา จากยอดของภูเขาน้ำแข็งไปถึงส่วนล่างสุด จากสื่อบนดินอย่างคอนเทนต์วิดีโอสนุกๆ ในโซเชียลมีเดียที่พวกเราไถดูกันทุกวัน เพลง หนัง ละคร ไปถึงสื่อทางเพศ และสื่อใต้ดินอย่าง ‘ภาพยนตร์สนัฟ’ (วีดิโอที่มีการทำร้ายเหยื่อจริงๆ คาดว่ามีการซื้อขายกันบนเว็บไซต์มืดในราคาสูงทำให้เข้าถึงได้ยาก) ซึ่งประเด็นนี้ถูกนำเสนอผ่านตัวละครทั้งหมดได้ดี เพราะพวกเขาครึ่งหนึ่งเป็นคนจากอุตสาหกรรมบันเทิงและศิลปะ
.
ขั้น 1 : ตัวตลกหาบเร่
ชั้น 4 : สาวน้อยที่ฝันอย่างเป็นไอดอล
ชั้น 7 : ผู้กำกับ / นักเขียนบท
ชั้น 8 : ศิลปิน Performing Arts
.
แน่นอนว่าพวกเขามองความบันเทิงและมีวิธีสร้างความบันเทิงต่างกัน ชั้น 1 เน้นการสร้างความทึ่งจากความสามารถในการโชว์ไมม์ มายากล และกายกรรมแบบง่าย ชั้น 4 จะเต้น ร้องเพลง และแจกความสดใสตลอดเวลา ชั้น 7 จะคอยวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมว่าการแสดงแบบไหนมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และคอยควบคุมทิศทางสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโชว์ ส่วนชั้น 8 เป็นศิลปินที่เข้าใจสันดานดิบของมนุษย์ เธอจึงมอบฉากเหล่านั้นให้ผู้ชมได้แบบไม่สนความถูกผิด แล้วไม่ว่าเกมันจะดำเนินไปย่ำแย่แค่ไหนก็ไม่มีใครยอมหยุดสร้างความบันเทิงแลกเงินเสียที เพราะผู้เข้าแข่งขันทุกคนกระหายการยอมรับจากผู้ชมมากเหลือเกิน..
.
อีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากๆ ในผลงานนี้คือความหมายที่แทรกอยู่ในทุกองค์ประกอบศิลป์ของเรื่องเพื่อเล่นกับ ‘มุมมองของคนดู’ ตั้งแต่การถ่ายฉากที่มาของแต่ละตัวละครเป็นเฟรมแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสฟิลเตอร์ภาพฟิล์ม พื้นที่การแข่งขันในโรงละครที่ข้าวของทั้งหมดเป็นพร็อพปลอมๆ ทั้งแสงอาทิตย์และน้ำในสระมาจากการจัดแสงทั้งหมด เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้เข้าแข่งขันให้มากที่สุด ทำให้ผู้ชมแยกความจริงกับเรื่องสมมติได้ยาก ซึ่งถือเป็นการตอกหน้าพวกเราที่กำลังดูอยู่นอกจอว่าเราล้วนมองความหายนะในเกมนี้เป็น ‘ความบันเทิง’ เหมือนกัน ทั้งที่ความลำบากทั้งหมดนั่นคือของจริง
.
‘แล้วเกมนี้มันจะจบตอนไหน?’
‘เราอาจต้องติดอยู่ที่นี่ตลอดไปเลยก็ได้’
.
รับชม “The 8 Show” ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
.
.
Comments