top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

ความฝันไม่มีเล็ก-ใหญ่ ใน "BLUE GIANT"

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567



[มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์]


“ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเพลงแจ๊สเลยจนได้มาทำโปรเจกต์นี้ ผมเลยไปลงเรียนเป่าแซ็กโซโฟนมาเรื่อยๆ ประมาณ 2 ปี เล่น ‘Let It Be’ ได้เพลงเดียว” - Yuzuru Tachikawa (ผู้กำกับ) กล่าวในบทสัมภาษณ์รายการพอดแคสต์ Ghibliotheque


ผู้เขียนขอเริ่มบทความด้วยคำพูดนี้ เพราะอยากให้หลายคนที่หวาดกลัวว่าตัวเองไม่รู้จักดนตรี Jazz จนไม่กล้าไปรับชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง “BLUE GIANT” ได้สบายใจขึ้นมาบ้าง เพราะเชื่อเถอะว่า ต่อให้คุณไม่อินกับดนตรีแนวนี้หรือไฟฝันในหัวใจริบหรี่เพียงไหน หลังจากที่ดูจบแล้วคุณจะได้ทั้งสองอย่างนี้กลับบ้านไปด้วยแน่นอน


01 จากภาพวาดสู่บทเพลง


“BLUE GIANT” (2024) สร้างจากมังงะชื่อดังในชื่อเดียวกันของ ‘Shinichi Ishizuka’ นักวาดมังงะผู้หลงใหลในดนตรีแจ๊ส ที่พอมีการประกาศว่ากำลังจะถูกสร้างเป็นเวอร์ชันภาพยนตร์แอนิเมชันก็ทำเอาแฟนมังงะทั่วโลกตื่นเต้นกันมากเพราะพวกเขาไม่เคยได้ยินเสียงเพลงจริงๆ จากในมังงะมาก่อน ซึ่งความน่าอัศจรรย์คือผู้เขียนการ์ตูนสามารถทำให้คนอ่านเข้าใจความรู้สึกโดยรวมของฉากแสดงดนตรีและเพลิดเพลินไปกับเนื้อหาได้ ซึ่งเจ้าตัวเองก็เคยกล่าวในบทสัมภาษณ์ว่าเขาต้องใช้เทคนิคการวาดหลายอย่างเพื่อทำให้ผู้อ่านได้ยินเสียงเพลงลอยออกมากจากกระดาษ แต่ความยากสำหรับคนสร้างภาพยนตร์ คือการหา ‘บทเพลง’ ที่สามารถสื่อสารทุกอย่างออกมาให้ได้จากงานของ Shinichi ผู้กำกับอย่าง ‘Yuzuru Tachikawa’ เลยเริ่มทุกอย่างจากดนตรีก่อน โดยได้ ‘Hiromi’ ศิลปินนักแต่งเพลงแจ๊สมารังสรรค์สิ่งนี้ให้ ซึ่งพอเราได้ไปลองฟังผลงานของเจ้าตัวก็เข้าใจเลยว่าทำไมนาง ‘ทำถึงมาก’ กับซาวนด์แทร็กในหนังเรื่องนี้ และสำหรับใครที่ชอบภาพยนตร์เกี่ยวกับดนตรี เรื่องนี้ก็ไม่ได้มาเป็นฉากสั้นๆ เล่นแค่พอเห็นภาพรวม แต่มาเต็มเพลงแบบจุใจถึงเพลงละประมาณ 3 - 7 นาทีกันเลยในฉาก Performance ทั้งหมด (ไม่รวมเพลงประกอบฉากอีกมากมาย)


“ผมเริ่มจากเพลง แล้วก็ทำทุกอย่างต่อจากนั้น เพราะคนที่อ่านมังงะไม่มีใครรู้ว่าการบรรเลงของ ‘ได มิยาโมโตะ’ มีน้ำเสียงเป็นอย่างไร เราถอดแก่นของตัวละครนี้ออกมาว่าเขาจะต้องแสดงได้อย่างทรงพลัง อีกสิ่งคือตัวละครได เชื่อว่าตัวเองเล่นดนตรีเก่งอันดับโลกทั้งที่ทักษะยังไม่ถึงตรงนั้น ทีมสร้างเลยออกแบบให้เพลงของเขาฟังดูเป็นมือสมัครเล่นแต่เน้นให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ตามภาพฝันของเขา” - Yuzuru กล่าว


ความพิเศษของเพลงประกอบใน BLUE GIANT คือ ไม่ใช่แค่การทำให้เพราะ หรือฟังดูซับซ้อนขั้นเทพเพียงเท่านั้น แต่ต้องทำให้เห็นถึง ‘พัฒนาการของตัวละคร’ อีกด้วย อย่างเช่นตัวละคร ‘ทามาดะ ชุนจิ’ ในการแสดงสดครั้งแรกๆ ที่เขาตีกลองเหลื่อมจังหวะ ใช้น้ำหนักมือไม่เป็น เพลงก็ถูกทำออกมาฟังดูทื่อๆ แบบนั้น หรือ ‘ซาวาเบะ ยูกิโนริ’ นักดนตรีทฤษฎีเป๊ะที่โซโล่ตามสูตรสำเร็จ จำเจ ไร้ความโลดโผนและจิตวิญญาณ ที่ในที่สุดก็กล้าออกนอกกรอบ มาจนถึงโชว์ที่ต้องเล่นด้วยมือข้างเดียว ตัวเพลงทั้งหมดก็ถูกประพันธ์มาให้ผู้ชมเห็นความแตกต่างของ 3 ช่วงเวลาได้ชัดเจน บอกเลยว่าขนาดผู้เขียนเองที่ไม่ติดตามเพลงแนวนี้มากนักยังนั่งขนลุกตลอดทั้งเรื่อง


“คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแจ๊สกันหรอกนะรู้ไหม ดังนั้นถ้ามันส่งไปถึงนายที่ไม่รู้จักแจ๊สได้ มันก็ส่งไปถึงคนอื่นได้เหมือนกัน” - ได


02 นำเสนอความฝันหลากมิติ


‘ได’ ฝึกเป่าแซ็กโซโฟนมานาน 3 ปี ‘ยูกิโนริ’ เล่นเปียโนมาทั้งชีวิต ‘ชุนจิ’ เพิ่งเคาะจังหวะกับกระป๋องโคล่าในวันนี้เป็นครั้งแรก และเขาอยากเป็นมือกลองในวงของเพื่อน… หากมองให้ทะลุต้นทุนชีวิต ความรู้ และฝีมือ สิ่งที่ทั้งสามมีคือ ‘ความฝัน’ และในฐานะ ‘นักฝัน’ พวกเขายิ่งใหญ่เท่าก

ข้อความสำคัญของภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ที่เชื่อว่าหลายคนที่ได้ชมคงสัมผัสได้เหมือนกัน คือการฉายแสงไปยังคนมีฝัน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม เพราะการเป็นนักฝันในโลกที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขนั้นต้องใช้ ‘ความกล้าหาญ’ และ ‘พลังใจ’ ที่สูงทีเดียว ประมาณว่าแทบไม่ต้องพูดถึงการทำฝันให้สำเร็จเลย แค่กล้าที่บอกว่าตัวเองฝันอยากทำหรืออยากเป็นอะไรจริงๆ ก็ยากมากแล้ว ซึ่งตัวละครทั้งสามคนไม่เคยกลัวที่จะแสดงออกสิ่งนี้ แม้จะมีจุดตัดระหว่างกันอยู่บ้าง เช่น ความเป็นมือสมัครเริ่มจากศูนย์ของทามาดะ ที่รู้สึกกดดันเวลาอยู่ท่ามกลางคนที่ ‘นำหน้า’ ตนไปหลายก้าวอย่างไดและยูกิโนริ คนที่เชื่อในแบบแผนมากๆ อย่างยูกิโนริ ที่มองว่าคนจะประสบความสำเร็จได้ต้องฝึกมานานมากกว่าสิบปี ต้องได้เล่นร้านดัง ต้องใช้คอนเนคชันพาตัวเองไปจุดที่สูงขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับได ผู้ใช้แพสชันนำทุกอย่างโดยที่ไม่สนกรอบอะไรเลย สิ่งที่ทำให้พวกเขาเรียนรู้ในท้ายที่สุด คือการปล่อยให้แต่ละคนเดินในแบบของตัวเองและเคารพในความฝันของกันและกัน เพราะไม่มีฝันไหนที่บ้าหรือยิ่งใหญ่เกินไป และ ‘ความเชื่อ’ เท่านั้นที่จะพานักฝันทุกคนไปสู่ความสำเร็จ


สิ่งนี้สะท้อนมาถึงชีวิตจริงของ Shinichi Ishizuka ผู้เขียน ที่ร่ำเรียนการวาดการ์ตูนด้วยตัวเอง เขาไม่รู้มาก่อนว่าการจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูนต้องทำอะไรบ้าง ฝึกเขียน เริ่มส่งประกวด หาทางไปเป็นผู้ช่วยนักวาดมืออาชีพ แล้วอย่างไรต่อ? ถึงกระนั้นก็ขอเรียกตัวเองว่า ‘Mangaka’ อย่างภาคภูมิใจและพากเพียรฝึกฝนจนได้ผลิตผลงานของตัวเองออกมาได้ในที่สุด เช่นเดียวกันกับทั้งสามตัวละคร


นอกจากนี้ตัวเรื่องยังนำเสนอประเด็นเรื่อง ‘ความเดียวดาย’ ของนักฝันได้น่าสนใจมากๆ เพราะการที่เราต้องโฟกัสกับอะไรสักอย่างอย่างจริงจัง อาจทำให้สิ่งรอบข้างถูกเบลอออกไป ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นหรือต่อตัวเราเอง


“หน้าหนาวคืนหนึ่ง ผมเห็นเขาเป่าแซ็กโซโฟนอยู่คนเดียวริมแม่น้ำที่หนาวจับขั้วหัวใจ เห็นแล้วก็คิดว่าหมอนี่น่าจะเพี้ยน หมอนี่น่าจะเสียสติ หมอนี่เท่เป็นบ้าเลยล่ะ”


ไดใช้เวลาว่างทุกชั่วโมงเท่าที่พอมีในการหาที่เงียบๆ นอกบ้านเพื่อฝึกซ้อมโดยที่ไม่สนใจเวลาหรือสภาพอากาศ ต่อให้ร้อนจนเหงื่อไหลท่วมตัว หรือหนาวจนปากแตกเลือดซิบเขาก็จะต้องซ้อม ซึ่งในฉากเดียวกันนี้ ไดได้เห็นแมวสีดำตัวหนึ่งเดินผ่านมา เขาถามมันว่าทำไมมันมาคนเดียว เดินไปข้างหน้าจะเจอพวกพ้องหรือ? เจ้าแมวไม่ตอบและเดินผ่านไปเงียบๆ สู่เส้นทางที่เต็มไปด้วยหิมะโปรยปรายไร้จุดสิ้นสุด ส่วนเขาก็เป่าแซ็กโซโฟนต่อไป..


นี่คือภาพยนตร์ที่เหมาะกับการรับชมเพื่อเติมไฟในช่วงต้นปีจริงๆ เราเชื่อว่าความละเอียดอ่อนของมันจะทำงานกับหัวใจของทุกคนได้ไม่มากก็น้อย ส่วนคนที่ไปดูมาและชื่นชอบเหมือนกันก็จะต้องรอดูต่อไปว่าจะมีการหยิบภาคต่อ อย่าง “BLUE GIANT SUPREME” และ “BLUE GIANT EXPLORER” มาทำเป็นภาพยนตร์ให้พวกเราได้ติดตามเส้นทางความฝันของพวกเขากันต่อไหม ซึ่งถ้ามี The Showhopper ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังแน่นอน ติดตามกันไว้น้าาา~


เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์


ที่มา:




ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page