top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

'ความรัก การเกิดใหม่ ความทรงจำ' ตีความการใช้สายฝนเล่าเรื่องในภาพยนตร์ 'Be With You ปาฏิหาริย์ สัญญารัก ฤดูฝน'

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2567


 บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

.

คนส่วนใหญ่มักไม่ชอบ ‘ฝน’ เพราะทุกครั้งที่มันตกลงมา การจราจรจะติดขัดเป็นพิเศษ อากาศครึ้มๆ ไม่สดใส จะทำอะไรก็ยากลำบาก แต่สำหรับบางสถานการณ์ ‘ฝน’ อาจเป็นละอองน้ำฉ่ำเย็นจากฟากฟ้าที่พาความหวังมาด้วย

.

สำหรับ ‘อูจิน’ และ ‘ซูโฮ’ ลูกชายของเขา วันฝนตกเป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิต..

.

 ถ้าผู้อ่านคนไหนคุ้นชื่อตัวละครทั้งสองคนนี้ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าน้ำดีจากเกาหลีใต้ “BE WITH YOU ปาฏิหาริย์ สัญญารัก ฤดูฝน (2018)” ผลงานระดับตำนานที่สายหนังน้ำตาเปียกปอนต้องเก็บไว้เป็นหนึ่งในหนังโปรดตลอดกาล และเป็นชื่อที่มักปรากฏเป็นผลลัพธ์การเสิร์ช ‘ภาพยนตร์แนะนำสำหรับหน้าฝน’ เสมอ ซึ่งเป็นโชคดีของพวกเรา ที่จะได้รับชมเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์แบบอัพระดับความฟินบนจอใหญ่ไปด้วยกันในหน้าฝนนี้กับ ‘LIDO CINEMA: Rainy Reels’ ในวันที่ 19 กรกฎาคม

.

หนังบอกเล่าเรื่องราวของ ‘อูจิน’ ชายผู้สูญเสียภรรยาผู้เป็นทั้งรักแรกและรักสุดท้ายอย่าง ‘ซูอา’ ไปจากอาการป่วย โดยสิ่งเดียวที่ซูอาทิ้งไว้ให้เขาและลูกชาย ‘จีโฮ’ คือสมุดนิทานและคำสัญญาว่าเธอจะกลับมาในวันฝนตก แล้วปาฏิหาริย์ก็พาเธอกลับมาจริงๆ

.

พอพูดถึง ‘ฝน’ กับ ‘ภาพยนตร์’ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และการสร้างบรรยากาศ ผู้เขียนก็เจอมุมมองที่น่าสนใจมากมายกับการใช้ฝนสื่อความหมาย และอยากจะชวนทุกคนมานั่งมองฝนในภาพยนตร์เรื่องนี้ไปด้วยกันเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนวันฉาย เพราะสายฝนใน “BE WITH YOU” ถูกใช้งานและตีความไว้ดีมากๆ

.

 ‘สายฝนแห่งรักแรก’

.

‘อูจิน’ และ ‘ซูอา’ ในวัยหนุ่มสาว เดินสวนกันในตรอกหนึ่งท่ามกลางฝนพรำ พวกเขาเหลียวมาสบตากันเพียงช่วงสั้นๆ ไม่มีใครพูดจา แล้วเดินผ่านไป ปล่อยให้เสียงฝนกลบหัวใจที่เต้นแรงจนแทบจะทะลุออกมานอกอก..

.

สำหรับเรื่องราวของสองตัวละครในพาร์ทวัยรุ่นที่ต่างคนต่างไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึกที่มีให้กัน ‘สายฝน’ ก็เปรียบได้กับ ‘ความรู้สึกท่วมท้น’ ที่ทั้งคู่มีให้กัน เราอยากให้ผู้อ่านลองนึกถึงฉากฝนตกในกระท่อมปลายนาตามละครไทย ที่มักเป็นสถานการณ์ที่พระนางได้เผยปรารถนารักต่อกันเสมอ ในแง่บรรยากาศสายฝนมักบีบให้ตัวละครจำเป็นต้องติดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน นำไปสู่ความใกล้ชิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ และสุดท้ายความกดดันก็จะผลักให้ตัวละครกระทำสิ่งต่างๆ ออกมาในที่สุด อีกทางหนึ่งด้วยลักษณะของฝนที่โหมกระหน่ำ กระทบกับหลังคาบ้านเรือนจนเกิดเสียงดัง ก็เป็นดั่งภาพแสดงแทนความรู้สึกภายในใจตัวละครที่ไม่พูดออกมา หลายตัวละครกู่ร้อง ร่ำไห้กลางสายฝนก็เพื่อให้น้ำตาและเสียงของตนถูกกลืนปนไปกับฝน ในฉากที่พูดถึงไปข้างต้นเองก็ใช้ฝนพูดแทนความรู้สึกของตัวละครเช่นกัน

.

 ‘ความหวังและการเกิดใหม่’

.

ในอารยธรรมมายา (Maya civilization) มีความเชื่อว่าสายฝนคือเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ชีวิต และการเกิดใหม่ (‘Chaac’ เทพเจ้าแห่งสายฝน) การมาของฝนจะทำให้พืชพรรณเจริญงอกงาม ชุบชีวิตผืนดินที่แห้งแล้ง เชื่อมโยงกับมุมมองคนในพื้นที่เกษตรกรรมหลายๆ แห่งที่มีให้กับสายฝน ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้เห็นแง่มุมนี้ในภาพยนตร์

.

แว๊บแรกที่คิดถึงความรู้สึกที่ได้จากฝน ต้องมีคนไม่น้อยตอบว่า ‘ความเศร้า’ แต่ในหนังเรื่องนี้ฝนที่พาซูอากลับมาก็เหมือนกับฝนที่ทำให้พืชพรรณเติบโต เหมือนโชคชะตาได้รดน้ำให้ดวงจิตของเธองอกเงยออกมาเป็นร่างกายเดิมบนโลกอีกครั้ง แม้จะไร้ซึ่งความทรงจำจากชีวิตที่เคยมี แต่เธอก็ได้นำพาความหวังครั้งใหม่มาให้ครอบครัวที่รอคอยเธออีกครั้ง เป็นการเริ่มต้นใหม่ของทุกตัวละครที่จะทำให้ทุกวินาทีหลังจากนี้มีความหมาย

.

 ‘การจากลาที่สวยงาม’

.

จริงอยู่ที่ในช่วงเวลาที่ฝนตก บรรยากาศโดยรอบจะดูไม่สดใสไปเสียทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่ลมพัดพาเมฆหมอกและสายฝนให้พ้นไป สิ่งที่เหลือไว้มันจะงดงามเสมอ ไม่ว่าจะเป็น อากาศเย็นสบาย แสงแดดที่อบอุ่น หรือในบางครั้งก็มีเส้นแสงสีรุ้งสวยเหลือไว้ให้ชื่นชม สิ่งนี้อธิบายบทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ได้ดีสุด เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกคนจะต้องยอมรับกับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่ว่าจะดีหรือร้ายเพื่อก้าวต่อไปให้ได้ และเหลือไว้เพียงรอยยิ้มในวันที่ต้องโบกมือลา เช่นเดียวกับ 3 ตัวละคร

.

.

เป็นอย่างไรกันบ้างกับแง่มุมที่ The Showhopper นำมาเล่าสู่กันฟัง หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนอินกับภาพยนตร์และมองสายฝนในอีกหลายความหมายมากขึ้น แล้วอย่าลืมจับจองที่นั่งไปน้ำตาซึมด้วยกันที่ LIDO CONNECT นะคะ

.

 รอบการฉาย

วันที่ 19 กรกฎาคม 2024 (17.30 น.)

ความยาว 132 นาที

ณ LIDO CONNECT HALL 1

.

 สำรองที่นั่งทาง Ticketmelon คลิก https://bit.ly/rainyreels 

หรือหน้าโรงภาพยนตร์ลิโด้ ชั้น 2

.

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

ที่มา:

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page