top of page
รูปภาพนักเขียนGaslight Café

ความรู้สึกหลังดู 'WICKED' กับสิ่งที่ภาพยนตร์เสิร์ฟให้แฟนมิวสิคัลแบบเกินคาด!




สิ่งที่ทำให้ Wicked กลายเป็นละครมิวสิคัลที่อยู่ในใจของคนดูมานานถึง 21 ปีจนมีแฟนคลับทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ก็คือ หนึ่ง-เรื่องที่ถูกเล่า สอง-ตัวละครที่คนรัก และ สาม-บทเพลงที่ตราตรึง …แน่นอนว่านี่คือปัจจัยสามอย่างที่ยังตามมามีบทบาทสำคัญกับ Wicked ฉบับภาพยนตร์ หากแต่ครั้งนี้ทุกอย่างถูกยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม

.

เรื่องราวของ Wicked นั้นหยิบเอาตัวละครในตำนานอย่าง ‘แม่มดชั่วร้ายแห่งแดนตะวันตก’ ที่มีรูปกายสีเขียวจากเรื่อง The Wizard of Oz มาเล่าในมุมมองใหม่ ผ่านวันเวลาเมื่อครั้งที่เธอยังเป็น “Elphaba” (Cynthia Erivo) นิสิตของมหาวิทยาลัยชิซ ผู้ซึ่งได้กลายมาเป็นเพื่อนรักกับสาวฮอตคนงามอย่าง “G (a) linda” (Ariana Grande) ก่อนที่เหตุการณ์บางอย่างจะแปรเปลี่ยนให้เธอเป็นแม่มดร้ายที่ทุกคนรังเกียจ

.

การตัดสินใจหั่นละครออกเป็นภาพยนตร์ 2 พาร์ทกลายเป็นหัวข้อสนทนาสำหรับแฟนๆ อยู่พักใหญ่ทันทีที่ค่ายหนังประกาศข่าวออกมา บ้างก็ว่าสิ่งนี้เป็นไปเพื่อการหวังผลในแง่รายได้จากผลผลิตที่มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างถล่มทลาย บ้างก็บอกว่าถูกอกถูกใจเหล่าสาวกเป็นที่สุดกับการที่จะได้ฟินในจักรวาล Wicked ยาวๆ ถึงสองภาค และก็มีอีกไม่น้อยที่รู้สึกฉงนกับทางเลือกของหนังว่าจะเล่าด้วยไดเรคชันแบบใด โดยเฉพาะเมื่อหนังใกล้จะเข้าฉายและประกาศรันไทม์เฉพาะภาคแรกนี้ออกมาที่ความยาวถึง 2 ชั่วโมง 40 นาที ซึ่งเป็นความยาวที่เทียบเท่ากับฉบับละครเวทีทั้งเรื่อง

.

แต่กระนั้นแล้วสาเหตุหลักของการตัดสินใจนี้ที่ผู้กำกับอย่าง Jon M. Chu ได้แถลงไว้ก็คือ ในช่วงการเตรียมงานสร้าง ทีมงานพบว่าเรื่องราวของ Wicked นั้นไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้เป็นหนังเรื่องเดียวได้ การต้องตัดเพลงหรือบางตัวละครทิ้งเป็นการทำร้ายเนื้อหาจากละครเวทีต้นฉบับมากเกินไป ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่ผู้ประพันธ์เพลงอย่าง Stephen Schwartz ว่าเอาไว้เช่นกันนั่นคือ ทุกคนพบว่ามันยากมากที่จะเข็นหนังให้เดินหน้าต่อทันทีหลังจบฉาก “Defying Gravity” ซึ่งเป็นเพลงที่ชวอร์ตซ์ดีไซน์ไว้ให้มีอิมแพคท์ทางอารมณ์สูงเพื่อเป็นการปิดองก์หนึ่งของละคร และให้โรงละครได้หยุกพักครึ่งการแสดง

.

วันนี้ผลลัพธ์ของสิ่งที่หัวเรือใหญ่ทั้งสองเคยพูดเอาไว้ ได้เผยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้ชมแล้ว …และพวกเขาพูดไม่ผิด

.

.

 “หนังยาวขนาดนี้ แต่เล่าแค่ครึ่งเรื่องเองเหรอ?”

.

Wicked Part One ถูกนำเสนออย่างซื่อสัตย์ต่อฉบับละครเวที ไม่มีเรื่องราวส่วนไหนขององก์หนึ่งถูกตัดทิ้งเลย แม้กระทั่งเพลงก็มาในลำดับก่อน-หลังแบบเดียวกัน ตรงกันข้าม หนังเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามาเพื่อขยายความสิ่งที่ไม่เคยให้รายละเอียดไว้ในละคร (ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตวัยเด็กของเอลฟาบา, ประวัติของ The Grimmerie) และที่สำคัญที่สุดคือ หนังหยิบหนึ่งในความสามารถของภาพยนตร์ที่เหนือกว่าละครเวทีอย่างการ ‘จับจ้องความรู้สึกผ่านใบหน้าตัวละคร’ มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

.

ด้วยความสามารถดังกล่าว หนังจึงให้ค่ากับชั่วขณะต่างๆ ในแต่ละซีนมากขึ้น โดยไม่เร่งรีบเปลี่ยนซีเควนซ์ให้แต่ละเพลงจบไปเพื่อเตรียมเข้าเพลงใหม่เท่านั้น แต่ให้ผู้ชมค่อยๆ รับรู้มู้ดโทนและเข้าใจในสิ่งที่ตัวละครรู้สึกไปพร้อมๆ กันผ่านการ ‘จับจ้อง’ แล้วเสริมด้วยการ ‘ปูบริบทที่มากขึ้น’ เพื่อเพิ่มน้ำหนักส่งไปยังฉากไคลแมกซ์ (หรือพูดให้ถูกกว่านั้นคือ เพื่อเตรียมส่งไปยังพาร์ทที่ดราม่ากว่าเดิมใน Wicked Part Two)

.

ตัวอย่างสามฉากที่ผมรู้สึกว่า เมื่อผสานเทคนิคข้างต้นกับกลวิธีการเล่าแบบภาพยนตร์แล้วทำงานได้ดีมากก็คือ หนึ่ง - ฉากเพลง “What Is This Feeling?” ที่บอกเล่าถึงช่วงเวลา ‘เกลียดชัง’ ระหว่างเอลฟาบากับกาลินดา สอง - ช่วงเบรคกลางเพลง “Dancing Through Life” เมื่อทุกอย่างเงียบงัน มีเพียงสองสาวเต้นรำในท่าประหลาดๆ กันเพียงสองคน และสาม - “Defying Gravity” ฉากไฮไลท์ของเรื่อง

.

อย่างไรก็ตาม นี่อาจกลายเป็นดาบสองคมได้สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนละครเรื่องนี้ เพราะมันทำให้หนังยาวเกือบ 3 ชั่วโมงจนอาจรู้สึกว่าหนังเดินหน้าช้าเกิน แต่สำหรับติ่ง Wicked แล้ว สิ่งที่กล่าวไปคือหนึ่งในความดีงามที่สุดของหนังเลยครับ เพราะทุกคนรู้จักสตอรี่และคุ้นเคยทุกตัวละครดีอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อฉบับหนังสามารถเจาะความรู้สึกของแต่ละคาแรคเตอร์ได้ละเอียดขึ้น มันจึงไม่ยากเลยที่เราจะเข้าถึงหัวจิตหัวใจของทุกตัวละครได้มากกว่าเดิมนั่นเอง โดยเฉพาะบทนำทั้งสอง

.

.

 “สองนักแสดงหลักในครั้งนี้ ทำให้เรารักเอลฟี่และกลินดามากขึ้นมั้ย?”

.

…คำตอบคือ มากขึ้นแน่นอนครับ

.

ผมให้คำว่าสอบผ่านสำหรับทั้ง Cynthia Erivo และ Ariana Grande ทั้งคู่ถ่ายทอดคาแรคเตอร์ของตัวเองได้อย่างชนิดที่ต้องใช้คำว่า ‘ละเอียดมาก’ ทีเดียว โดยเฉพาะการแสดงออกทางแววตาที่ค่อยๆ ผันเปลี่ยนไปตั้งแต่เริ่มเรื่องจนถึงฉากไคลแมกซ์

.

พวกเธอทำให้เอลฟาบาและกลินดาจากฉบับละครเวทีดูจับต้องได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งภาพจำหรืออินเนอร์เด่นๆ ของตัวละครของแต่ละคนไป ความยอดเยี่ยมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่านี่คือภาพยนตร์ ซึ่งสามารถลดทอนการแสดง ‘ให้ใหญ่’ แบบละครเวทีลงได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสกิลการถ่ายทอดบทบาทของนักแสดงในลักษณะที่เข้าใจตัวละครของพวกเธอจริงๆ ด้วย

.

 Ariana Grande คือกลินดาที่เพอร์เฟคท์แบบ ‘ติ๊กถูกทุกข้อ’ อย่างแท้จริง (โดยส่วนตัวผมคิดถึงคำว่า ‘เกินความคาดหมาย’) ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์สว่างสดใส, จริตจะก้าน popular girl, ความ bitchy น่ารักๆ ที่แอบมีแววตาร้ายๆ แบบ ‘ร้ายจริงจัง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยสัมผัสกันได้จากเวอร์ชันละครเวที ไปจนถึงเสียงพูดและเสียงร้องที่ชวนให้นึกถึงผู้รับบทนี้บนเวทีละครคนแรกอย่าง Kristin Chenoweth เลยทีเดียว

.

ผมขอยืมคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งมาอธิบายเสริมครับ เขาบอกว่า “อารีอาน่า (ผู้ซึ่งเป็น theatre kid ที่คลั่งไคล้ Wicked มานานแสนนาน) เล่นเป็นกลินดาได้อย่างทะลุปรุโปร่งเหมือนเธอดูละครเวทีเรื่องนี้มาแล้วซักพันรอบ” …เห็นด้วยเหมือนกันมั้ยครับ

.

 ในขณะที่ Cynthia Erivo ทำให้เราเข้าถึงมุม ‘อ่อนโยนแต่แฝงไปด้วยความครุ่นคิด’ ที่ชัดเจนมากขึ้นในตัวเอลฟาบา แววตาของเธอกำลังบอกว่านี่คือผู้หญิงที่มีอะไรบางอย่างเก็บไว้ และอยากตะโกนบอกกับโลกตลอดมา หนึ่งในช่วงเวลาที่ซินเธียถ่ายทอดอารมณ์ผ่านแววตาได้อย่างลึกซึ้งยอดเยี่ยม ขอยกให้กับช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางอารมณ์ของเอลฟาบา ตั้งแต่ที่เธออ่านคัมภีร์ Grimmerie เสร็จสิ้นเป็นครั้งแรก ไปจนถึงโมเมนต์ที่ดนตรีของเพลง “Defying Gravity” จบลงนั่นเลย

.

.

 “แล้วจริงอย่างที่เค้าพูดมั้ยว่า เรื่องราวควรถูกเบรคไว้ก่อนหลังฉาก Defying Gravity?”

.

ความ ‘wickedly genius’ ของทั้งจอน เอ็ม. ชู และสตีเฟน ชวอร์ตซ์ คือ พวกเขาตีโจทย์แตกว่า “อะไรคือสิ่งที่คอมิวสิคัลอยากเห็น และหนังเพลงเสิร์ฟให้ได้”

.

ในเมื่อความเป็นมิวสิคัลคือการขับเคลื่อนสตอรีด้วยบทเพลง และบทเพลงก็มีมาเพื่อขยายความเข้มข้นทางความรู้สึกของตัวละครอยู่แล้ว พวกเขาจึงจัดชุดใหญ่ด้วยการทำให้ pacing ของฉากมิวสิคัลมีความช้าลงกว่าฉบับละครเวทีในบางฉากเพื่อ หนึ่ง - จี้จุดเราให้จับจ้องในจังหวะต่างๆ ที่ตัวละครควรรู้สึกเช่นนั้นตามเนื้อเพลงจริงๆ และสอง - อาจเป็นการ ‘เล่นกับใจ’ ของ musical geek ด้วยการ ‘ขยี้’ แต่ละท่อนของเพลงให้กราฟอารมณ์พุ่งแรงขึ้นก็เป็นได้

.

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่แม้ว่าฉากมิวสิคัลจะถูกเพิ่มความยาว แต่นั่นคือการได้มาซึ่งการเสพสัมผัสอารมณ์ที่ลึกซึ้งละเมียดละไมกว่าเก่า โดยมีดนตรีที่ถูกเรียบเรียงใหม่ให้มีความเอพิคแบบภาพยนตร์มากขึ้นมาช่วยสนับสนุน

.

ฉากที่กราฟอารมณ์พุ่งขึ้นแรงสุดอย่าง “Defying Gravity” คงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการอธิบายสิ่งนี้

.

จอน เอ็ม. ชู บอกว่า “นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่การเดินทางทั้งหมดของเอลฟาบานำเธอมา และฉากนี้ในละครเวทีนั้นเร็วเกินไปจนไม่สามารถทำแบบเดียวกันได้กับภาพยนตร์” ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นในหนังจึงกลายเป็นการยืดขยายออกของฉากนี้ที่สุดท้ายมีความยาวถึง 16 นาที

.

ช่องว่างในการยืดขยายนี้ถูกทดแทนด้วยการ ‘ทิ้งจังหวะให้หยุด’ เพื่อให้เราได้จับจ้องความรู้สึกของตัวละครโดยอาศัยการแบ่งแต่ละ verse ของเพลงเข้าช่วย ไม่ว่าการหยุดนั้นจะเพิ่มดีเทลมากน้อยอะไรเข้าไปก็ตาม เช่น การมาของไม้กวาด, การร่วงหล่นของเอลฟาบา, การเห็นสีหน้าของกลินดากับอาจารย์ของเธอ, หรือการบอกความเป็นไปของตัวละครรองที่เหลือ …โดยทั่วไป นี่คือการ ‘ขยี้’ เพื่อเตรียมส่งอารมณ์แล้ว

.

 แต่สำหรับแฟนมิวสิคัล การ ‘หยุด’ นี้เหมือนการกลั้นใจก่อนกระโจนเข้าไปในแต่ละท่อนของเพลง ความคุ้นเคยในคำร้องท่วงทำนองทำให้เราอยากจะได้ยินท่อนถัดไปในทันทีที่ท่อนก่อนหน้าจบ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ท่อนสุดท้ายของเพลงซึ่งเป็นจุดที่กราฟอารมณ์ถูกดันขึ้นสูงสุด ดังนั้นเมื่อท่อนร้องหยุด หรือถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อยด้วยการแทรกท่อนอื่นที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เราจึงเหมือนโดนขยี้ให้ใจจะขาดซ้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่งนั่นเอง

.

จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเราเดินทางมาถึงการโหมประโคมโน้ตสุดท้าย และ “Defying Gravity” จบลง สิ่งที่เหลือจึงเป็นความรู้สึกอลังการน่าขนลุกและตระการตาไปพร้อมๆ กัน เป็นการจบที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เวอร์ชันต้นฉบับ ไม่เสียศักดิ์ศรีเจ้าของตำแหน่งหนึ่งใน musical number ที่เป็นที่จดจำที่สุดตลอดกาลแห่งโลกละครเพลง ทั้งยังกลายเป็นเชื้อไฟชั้นดีที่กระตุ้นให้เราอยากติดตามภาคต่อไปด้วย

.

และถูกต้องครับ มันเป็นการ ‘ทำถึง’ ทางอารมณ์ที่ไม่ควรเล่าเรื่องใดๆ ต่อทันทีอย่างที่สตีเฟน ชวอร์ตซ์ว่าเอาไว้จริงๆ

.

.

เรื่อง: Gaslight Café

.

.


ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page