ย้อนกลับไปปี 1997 ปีที่สหราชอาณาจักรส่งมอบอธิปไตย ‘เกาะฮ่องกง’ ให้แก่จีน เป็นปีเดียวกันกับที่ผู้กำกับภาพยนตร์นักทดลองแห่งยุค 90s ปล่อยผลงานเลื่องชื่อสู่สายตาชาวโลก ผลงานที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนัง LGBTQ+ ที่ดีที่สุดตลอดกาล..
.
“Happy Together โลกนี้รักใครไม่ได้นอกจากเขา” โดย “หว่อง กาไว” คือภาพยนตร์ที่ตัวผู้สร้างใช้ถ่ายทอดความรู้สึกพลัดถิ่นในเวลานั้น ช่วงเวลาเดียวกับที่ประชาชนชาวฮ่องกงมากมายตัดสินใจย้ายรกรากไปยังดินแดนตะวันตก ความรู้สึกเหมือนไม่มีที่ไหนเป็นที่ของตนแม้แต่แผ่นดินเกิด ถูกเล่าผ่านเรื่องราวความสัมพันธ์ของ ‘ไหลเยี่ยฟา’ (แสดงโดย เหลียงเฉาเหว่ย) และ ‘เหอเป่าหวัง’ (แสดงโดย เลสลี จาง) ชายสองคนที่จับมือกันเดินทางไปเมืองบัวโนไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า ด้วยความหวังที่จะดูน้ำตกอีกวาซูด้วยกันสักครั้ง แต่ระหว่างนั้นพวกเขาก็ต้องหางานทำในฐานะผู้อพยพ เผชิญกับความจริงของชีวิต การเอาตัวรอดและประคับประคองชีวิตรักในห้องเช่ารูหนูที่ไม่มีแม้แต่กำแพงกั้นห้องน้ำไปพร้อมๆ กัน
.
พอผู้เขียนได้เห็นว่าพวกเรากำลังจะได้ดูหนังเรื่องนี้กันในโรงอีกครั้งในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ที่ LIDO CONNECT เลยอยากนำเกร็ดเล็กๆ น้อยจากหนังสือ “เดียวดายอย่างโรแมนติก Days of Being Wild และผลงานของหว่องคาไว” โดย “มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์” และ “สุทธากร สันติธวัช” ที่เล่าถึงภาพยนตร์เรื่องนี้มาเล่าให้ผู้อ่านฟัง เพื่อเรียกคืนความรู้สึก ‘รักซึมลึก’ ให้กลับมาก่อนจับจองตั๋วไปดูกัน
.
(1) ความแปลกแยก
.
‘ในเมืองนี้ คนไม่พูดภาษาอังกฤษ’
.
“คริสโตเฟอร์ ดอยล์” ช่างภาพนิ่งประจำกองถ่ายเขียนไว้ในหนังสือรวมภาพเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ ชื่อ “Don’t Try for Me, Argentina” ว่าสำหรับคนทำงานศิลปะเมืองนี้ดูอ้างว้างเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะบ้านเมืองที่เสื่อมโทรมและปัญหาสังคม ทำให้คนที่นี่ใช้ชีวิตไปพร้อมความเบื่อหน่าย อากาศร้อนระอุ เขาแทบจะไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากสถานที่นี้เลย เหมือนเมืองนี้มันไม่ ‘พูด’ กับเขา และนั่นน่าโมโหมาก ประกอบกับในบทสัมภาษณ์หนึ่งของหว่อง โดย “จิมมี ไหง” เขาเล่าว่าอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่เขาอยากไปอยู่แล้ว มันดูห่างไกล และอาจจะทำให้เขาหลีกหนีจากสถานการณ์ของฮ่องกงในปี 1997 ได้ แม้การล่องลอยอยู่บนอากาศมันจะหลอกหลอนเขาแค่ไหนก็ตาม
.
นี่จึงเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านชีวิตของตัวละครด้วย พวกเขาแบกกระเป๋าจากบ้านมายังดินแดนไม่คุ้นเคย ไม่รู้ภาษา ไม่รู้ทิศทาง ยิ่งพอถึงวันที่ไม่มีคนข้างๆ ให้กุมมือไว้ คลื่นความเหงาลูกใหญ่ก็ซัดโถมเข้าใส่ทั้งคู่อย่างจัง
.
(2) สีขาวดำ
.
หากเคยรับชม ผู้อ่านจะเห็นว่ามีหลายฉากในเรื่องที่ถ่ายทำเป็นฟิล์มขาวดำสลับกับฉากสีสด จากบทวิเคราะห์ให้หนังสือ “เดียวดายอย่างโรแมนติก Days of Being Wild และผลงานของหว่องคาไว” อธิบายไว้ว่า ในยุค 90s ผู้กำกับแนวเรียลลิสติก (Realistic) จะนิยมใช้การถ่ายแบบขาวดำเพื่อความรู้สึก ‘สมจริง’ ล้อกับภาพข่าวบนหนังสือพิมพ์ ทำให้ “Happy Together” เหมือนเป็นหนังสารคดีชีวิตของคู่รักเกย์ที่เกิดขึ้นจริง อีกทางหนึ่งหว่องกาไวอาจใช้เทคนิคการสลับสีภาพไปมา จากสีเป็นขาวดำ เพื่อสร้างความรู้สึก ‘แปลกแยก’ ให้กับผู้ชม เพราะนั่นเป็นสิ่งที่กลุ่ม LGBTQ+ ในสังคมต้องเผชิญ พอคนดูเริ่มคุ้นชินกับสีขาวดำ เขาก็จะเปลี่ยนมาเป็นภาพสีแบบดื้อ ทำให้ผู้ชมก็รู้สึกไม่คุ้นชินกับภาพการพลอดรักระหว่างผู้ชายสองคนตรงหน้าไปด้วย
.
(3) เลขสาม
.
คริสโตเฟอร์ตั้งข้อสงสัยในหนังสือของเขาเกี่ยวกับเลข 3 ที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบาร์ชื่อ ‘3 Amigos’ ‘รถบัสหมายเลข 33’ หรือเพลง ‘Milonga for Three’ ในฉากเต้นรำของตัวละครทั้งคู่ เขาสันนิษฐานว่าเลข 3 มาก่อน 4 ซึ่งในการออกเสียงภาษาจีนจะคล้องกับคำว่า ‘ตาย’ เป็นไปได้ว่าช่วงเวลาที่ไหลและเหอวนเวียนอยู่กับเลขสามหรือแม้แต่การมีมือที่สามเพิ่มเข้ามาในช่วงหนึ่งของเรื่องอาจเป็นการเดินทางไปยังจุดจบความสัมพันธ์
.
เป็นอย่างไรบ้างกับข้อมูลที่เรานำมาแชร์ให้อ่านกัน บอกเลยว่าหลายจุดก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่สังเกตเห็นตอนรับชมหนังเรื่องนี้เหมือนกัน พอได้รู้ก็ทำให้อยากย้อนกลับไปดูอีกรอบ
.
ซึ่งถ้าใครอยากนั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังปี 1997 เหมือนกันกับเราก็สามารถสำรองที่นั่งการฉายภาพยนตร์เรื่อง “Happy Together” ที่ LIDO CONNECT ได้แล้ววันนี้ทาง Ticketmelon (คลิก https://bit.ly/3x1GvRj )
.
รอบฉาย “LIDO CINEMA - PRIDESPECTIVE”
.
วันที่ 21 มิถุนายน 2024
ณ Lido Connect Hall 1
• 17.30 น. “Happy Together”
• 19.30 น. “รักแห่งสยาม”
.
แล้วพบกันที่โรงภาพยนตร์นะคะ
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
ที่มา:
- หนังสือ “เดียวดายอย่างโรแมนติก Days of Being Wild และผลงานของหว่องคาไว” โดย “มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์” และ “สุทธากร สันติธวัช” (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542)
.
Komentáre