top of page
รูปภาพนักเขียนธาริน ปริญญาคณิต

"งูตกบันได ไฟฉายส่องผี เต้นรำฮัมเพลง" Opera di Roma อิตาลีจัดงาน 'ค้างคืนที่โรงโอเปร่า' เปลี่ยน 'โรง' เป็น 'บ้าน' ให้เด็กได้เล่นสนุก



งูตกบันได ไฟฉายส่องผี เต้นรำฮัมเพลง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ วัย 8 ถึง 10 ขวบกว่า 130 ชีวิตได้ร่วมสนุกกันในโรงโอเปร่าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เมื่อเดือนก่อน! โรง Opera di Roma แห่งเมืองหลวงประเทศอิตาลีริเริ่มกิจกรรม "ค้างคืนที่โรงโอเปร่า" เพื่อลบภาพเว่อร์วังสุดสะพรึงของโอเปร่าที่คนดูจำเป็นต้องแต่งองค์ทรงเครื่องทางการมาชมการแสดง แต่สร้างภาพจำใหม่ที่เป็นมิตรให้กับเด็กๆ รุ่นใหม่ว่าโรงโอเปร่าเป็น "บ้านอีกหลังหนึ่ง" ของทุกคน

.

แน่นอนว่าจะเป็นบ้านได้อย่างไรถ้าไม่สามารถ "นอนเล่น" ได้ ทางโรงจึงร่วมมือกับสมาคมลูกเสือคาทอลิกแคว้น Lazio อันเป็นที่ตั้งของกรุงโรม เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะ เปิดพื้นที่ทั้งโรงให้เด็กๆ มาเล่นสนุกกันอย่างเน้นๆ ทั้งวันทั้งคืน พร้อมเซอร์ไพรซ์ไม่ให้น้องๆ เบื่ออีกด้วย..แต่อาจจะขนหัวลุกแทน เพราะทางโรงจัดเตรียม "ผีประจำโรง" ไว้ให้!

.

"โรงละครเป็นที่ที่เรื่องประหลาดเกิดขึ้นได้ ที่ที่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้สามารถบังเกิดได้" Francesco Giambrone ผอ. Opera di Roma กล่าวต้อนรับเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปสังเกตการทำงานของคอนดักเตอร์ตัวเป็นๆ ระหว่างซ้อมกับวงออร์เคสตราในโรง เสมือนได้ดู "พ่อมดร่ายมนต์" สดๆ ตามด้วยเกร็ดสำคัญที่แม้แต่ผู้ใหญ่น้อยคนจะรู้ นั่นคือ วิธีทำความสะอาด "แชนเดอเลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป"...ใช่แล้ว Opera di Roma นี่แหละเป็นเจ้าของแชนเดอเลียร์คริสตัลเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 6 เมตร! โชคดีที่โคมระย้านี้ยังอยู่ยงมาตั้งแต่ปี 1926 และไม่ได้ตกใส่ใครอย่างในละคร "The Phantom of the Opera" แต่อย่างที่บอกไว้ โรงนี้ก็มี "phantom" กับเขาเหมือนกันแค่ยังไม่ปรากฏให้น้องๆ หนูๆ เห็น

.

หลังจากเด็กได้รู้จักโคมระย้าสุดหรู ก็เริ่มรู้จักเข้านอกออกในโซนต่างๆ ของโรงผ่านเกม "ล่าสมบัติ" จนได้แว่วเสียง "ผีสาวชุดขาว" ผู้เดินทอดน่องบนระเบียงชั้นบน พร่ำโหยหวนพลังเสียงสูงปรี๊ด จนเด็กๆ ระงมไฟฉายกันขึ้นส่องหาต้นเสียง นักร้องสาวแต่งเป็น "วิญญาณของโซปราโน Emma Carell”i ผู้เคยบริหารโรงแห่งนี้เมื่อศตวรรษก่อน เชื่อกันว่าแม้จะสิ้นชีพไปแล้วก็ไม่เคยจะหยุดพันธกิจในการดูแลโรงแห่งนี้! "ผี Emma" ขอให้เด็กๆ สัญญาว่าจะไปบอกเพื่อนๆ ต่อว่ามี "สถานที่สุดวิเศษ" แห่งนี้ ทว่า มีเด็กหญิงที่เชื่อจริงๆ ว่าที่เธอเจอตรงหน้าเป็น “ผี” จนทีมงานต้องพาให้น้องเจอกับนักร้องตอนเปลี่ยนชุดเป็นคนปกติแล้ว…มนต์สมมติแห่งการละครมันตราตรึงจริงๆ!

.

จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ New York Times ถึงกิจกรรมนี้ Nunzia Nigro หัวหน้าฝ่ายการตลาดและการศึกษาของโรงกล่าวว่า ที่โรงเลือกจำกัดอายุเด็กอยู่แค่ 8-10 ปี เพราะคิดว่าเป็นวัยที่โตพอจะนอนค้างนอกบ้านแต่ไม่แก่นแก้วเกินจะควบคุมได้ ทั้งนี้ มีเด็กชายถึงสองคนที่เรียกแม่มารับกลับในวันแรกเพราะคิดถึงบ้านเกินไป

.

ปีนี้เป็นเพียงปีที่สองที่กิจกรรม "ค้างคืนที่โรงโอเปร่า" จัดขึ้น สิ่งที่บรรดาเด็กน้อยต้องเตรียมตามประกาศรับสมัครมีแค่ให้ใส่ชุดพละชิลๆ มาพร้อมนอนค้าง หิ้วถุงนอน ไฟฉาย แปรงสีฟันคู่ใจ ถุงเท้าและผ้าเช็ดหน้าคู่กาย ไม่แปลกที่ 130 ที่จะเต็มในพริบตา ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่เคยเหยียบโรงโอเปร่ามาก่อนในชีวิต หลายคนมาจากคนที่ทำกิจกรรมลูกเสือกับสมาคม บ้างเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในกรุงโรม ทั้งหมดได้มา กิน เล่น อยู่ ในโรงนี้เป็นครั้งแรก ปิดท้ายคืนวันเสาร์ด้วยการนอนรวมกันบนหญ้าเทียมที่มาจากฉากโอเปร่า "Madama Butterfly" ของโรง นำมาปูในโถงมหึมาที่เต็มไปด้วยรูปถ่ายของเหล่าดีว่าและคนสำคัญในประวัติศาสตร์โอเปร่า แถมมีนักเปียโนบรรเลงเพลงกล่อมเด็กของ Brahms ให้หลับสบายอีกด้วย น่าอิจฉาอะไรปานนั้น!

.

ในขณะที่วันรุ่งขึ้น ก่อนจะปล่อยเด็กๆ กลับบ้าน กิจกรรมยังคงอัดแน่น ทั้งเวิร์คชอปออกแบบชุดนักบัลเลต์จากกระดาษ และพาไปซ้อมท่าเต้นบัลเลต์พื้นฐานกันแบบสับ! ส่วนสายแหกปากก็ได้ลองฝึกร้องเป็นคอรัสกันอย่างจึ้ง ตบท้ายด้วยเกม "งูตกบันได" ใน theme โอเปร่า โดยมี stage manager ของโรงเป็นผู้คิดและอำนวยเกมกับมือ เรียกได้ว่าลองกันครบทั้งงานเบื้องหน้า-เบื้องหลังกันตลอดสองวัน ส่วน 130 ชีวิตนี้จะหวนคิดถึง "บ้าน" หลังนี้บ้างมั้ยในภายภาคหน้า หลังจากได้มาใช้ชีวิตกันไปชั่วช้ามคืนใน "สถานที่สุดวิเศษ” ดังที่ “ผีประจำโรง” กล่าวไว้ คงต้องรอดูกันต่อไป… ทว่า Nigro ได้ให้ความเห็นเสริมกับ New York Times ว่า บรรดาโปรแกรมการศึกษาที่ทางโรงพัฒนามาตลอด 25 ปี ทำให้เด็กๆ หลายคนที่ได้เข้าร่วมโตมาเป็นผู้ชมขาประจำในทุกวันนี้!

.

ชมคลิปบรรยากาศกิจกรรมเมื่อวันที่ 11-12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา : https://www.facebook.com/share/r/aKYyzmbF7hp51DBu/?mibextid=oFDknk

.

เรื่อง : ธาริน ปริญญาคณิต

.

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page