top of page

จากเสียงวิทยุบนรถครอบครัว สู่ความรักในเพลงเก่าและการต่อยอดเป็นธุรกิจคอนเสิร์ต



มีผู้อ่านท่านไหน กำลังสร้างสรรค์ผลงานหรือประกอบอาชีพในสิ่งที่รักบ้างไหม? หรือลองคิดเล่นๆ ดูว่าความชอบ เขียน ถ่ายภาพ วาดรูป ดูหนัง ทำอาหาร หรือแม้แต่คิดคำนวณจะพาคุณไปไกลได้เพียงไหนหากคุณจริงจังกับมัน 

.

The Showhopper: TALK วันนี้ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘โล่ – กิติพงษ์ กุลไพศาลธรรม’ Managing Director แห่ง ‘เปี่ยมสุข’ ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า Pieamsuk Family Music’ และ ‘เต๋ – วสวัตติ์ ดุลยวิทย์’ Managing Director จากบ้าน ‘The Showhopper’ ผู้บริหารสองท่านที่นำเอาแพสชันอันแรงกล้าที่มีให้ ‘เสียงดนตรี’ มาสร้างสรรค์ถ่ายทอดเป็นผลงานคอนเสิร์ตที่จะส่งมอบเรื่องราวและความสุขต่อให้ผู้ชมได้

.

ทั้งคู่โคจรมาพบกันจากความหลงใหลในเสียงดนตรีตั้งแต่จำความได้ จนได้ค้นเจอวิสัยทัศน์ร่วมกันด้านการสร้างโชว์คุณภาพเพื่อถ่ายทอดความละเมียดของบทเพลงดังในอดีตให้ทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่คิดถึงได้อิ่มเอมกับประสบการณ์ทางดนตรีที่พวกเขาตั้งใจมอบให้ เป็นบทสนทนาที่จะเติมไฟในใจให้คุณผู้อ่านอยากลุกขึ้นมาวิ่งไล่ตามสิ่งที่รักกันแน่นอน 

.

• เสียงเพลงจากวิทยุบนรถ จุดเริ่มต้นบนเส้นทางสายดนตรี 

.

คุณโล่: “ผมฟังดนตรีมาตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ แล้วก็มาติดตามฟังเพลงจริงจังตอนช่วงมัธยมปลาย ฟังตามคุณพ่อ เพราะคุณพ่อต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เราก็จะได้นั่งรถทางไกลไปกับแก ได้ซึมซับเพลงเก่า เพลงลูกกรุง เพลงสุนทราภรณ์ จนเราในวัยมัธยมต้นไม่ได้ฟังเพลงแบบคนในวัยเราเท่าไหร่ เนื่องจากอยู่กับพ่อ ใกล้ชิดกับพ่อ แล้วเราต้องคอยหาอะไรเปิดไม่ให้แกขับรถไปแล้วหลับ เราก็เลยได้ซึมซับเพลงแบบนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น พอเข้ามหา’ลัย สักประมาณปี 1994 เราได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ก็เริ่มขยับมาเล่นเครื่องเสียง เครื่องเล่นเพลงต่างๆ ได้ซึมซับพวกเพลงสากลยุค 90s หลังจากนั้นก็มีงานอดิเรกนี้มานานสามสิบปีเลยจนถึงปัจจุบัน”

.

ซึ่งพอได้ถามคำถามเดียวกันนี้กับผู้บริหารอีกท่านในช่วงคาบเกี่ยวเดียวกันของยุค 90s เสียงวิทยุบนรถของพ่อแม่ก็เป็นจุดเปิดโลกดนตรีให้เขาด้วยเช่นกัน...

คุณเต๋: “นึกย้อนกลับไป เราว่าเราเติบโตมาในครอบครัวที่รักเสียงดนตรีอยู่แล้ว เวลานั่งรถไปกับคุณพ่อคุณแม่เขาก็จะเปิดเพลงฟังกันตลอด แต่ที่แปลกคือเป็นเพลงที่พวกเขาร้องเอง เพราะสมัยนั้นเวลาคนชอบร้องเพลง เขาไม่ได้ไปคาราโอเกะกัน แต่เขาจะไปร้องที่ร้านอาหารกับวงเล่นสด ซึ่งทางร้านจะอัดเสียงตอนเราร้องใส่เทปกลับมาให้ฟังที่บ้านได้ ซึ่งพ่อแม่เราชอบไปร้านแบบนี้มาก ไปร้องเพลงแล้วเอาเสียงตัวเองกลับมาฟัง เราที่นั่งอยู่หลังรถก็ร้องตามไปด้วย เลยคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราชอบฟังเพลง หลังจากนั้นก็เริ่มเรียนดนตรีเรียนร้องเพลงและอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านั้น”

.

เขาเล่าต่อว่า บรรยากาศในการเติบโตร่วมกับเสียงดนตรี นำพาเขามาสู่โลกของละครมิวสิคัล สารตั้งต้นสำคัญของการก่อตั้ง The Showhopper ในชื่อเริ่มแรกว่า ‘Musical & Review’ หลังค้นพบในวัยเรียนว่าดนตรีเป็นได้มากกว่าความเพลิดเพลินแต่สามารถใช้สื่อสารได้อย่างทรงพลัง

.

• จากความหลงใหล สู่การขยายต่อเป็นธุรกิจ 

.

คุณเต๋: “ความชอบในดนตรีและมิวสิคัลของเรา ก็ทำให้เราได้เริ่มทำ The Showhopper ในฐานะสื่อก่อน พอทำมาได้สักพักเราอยากต่อยอดมาเป็นคอนเสิร์ต ทำมา 3-4 ปีแล้ว สิ่งที่เราถนัดคือการเอาบทเพลงมาผนวกเข้ากับการเล่าเรื่อง เพราะเรามองดนตรีในฟังก์ชั่นของการสื่อสารเล่าเรื่องมาโดยตลอด ฉะนั้นในทุกๆ คอนเสิร์ตของเราจะมี Storytelling นำ แล้วค่อยมานั่งเลือกว่า เราจะเอาเพลงอะไรมาสื่อสารสิ่งที่เราอยากจะเล่า” 

.

ด้านของคุณโล่ แม้ ‘เปี่ยมสุข’ จะเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานดนตรีเลย แต่ ‘เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า’ คือส่วนต่อขยายแพสชันในวัยผู้ใหญ่ที่อยากทำเรื่องเล่นให้จริงจัง ชุบชีวิตความสุนทรีย์และความงดงามของบทเพลงในอดีตขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชวนศิลปิน นักดนตรี รุ่นใหม่มา Rearrange เพลงเก่าและอัดใหม่ด้วยเทคโนโลยีด้านดนตรีที่มีคุณภาพสูงในยุคปัจจุบัน รวมชุดเป็นอัลบั้มให้ซื้อเก็บหรือฟังออนไลน์ได้ ทำรายการ Live Session ต่อยาวไปจนถึงคอนเสิร์ตสเกลใหญ่ ให้แฟนเพลงดังในอดีตได้มามีช่วงเวลารำลึกความไพเราะไปด้วยกัน

.

คุณโล่: “เราไม่นึกว่าตัวเองจะมาทำงานเกี่ยวกับเรื่องดนตรี เราก็แค่เป็นนักฟัง แล้วก็โหยหาของเก่า ๆ มาฟัง แต่ทีนี้เมื่อสักประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว มีอัลบั้มชุดหนึ่งที่เขาเอาศิลปินลูกกรุงอย่าง คุณศรีไศล สุชาตวุฒิ มาอัดบันทึกเสียงใหม่ เราเลยเกิดแรงบันดาลใจว่า ทำไมไม่มีใครเอาเพลงเก่า เพลงที่มีคุณค่าในอดีตมาทำใหม่ เป็นไฟล์ที่ใหม่ มีความร่วมสมัย แล้วก็มี Product ที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ในคุณภาพที่สูง เช่น แผ่นเสียง ซีดี ซึ่งเราสามารถทำได้อยู่ในยุคปัจจุบัน เราเลยเว้นระยะตามหาว่ามีใครทำแบบนี้อีก สุดท้ายก็ไม่มีใครทำ..”

.

“ผมรอมาประมาณ 5 ปีจนได้เจอกับคนที่ทำอัลบั้มนี้ แกก็เล่าให้ฟังว่าแกทำแล้วขาดทุน ผมก็เลยเข้าใจว่ายุคนี้เนี่ย คนที่ไม่ได้มาลงทุนในเรื่องของเพลงหรือดนตรีเพราะมันเสี่ยงเรื่องขาดทุน ผมก็มีความอยากทำ แต่ว่าก็รู้สึกเกรงใจครอบครัว เพราะว่าการที่ทำงานขาดทุนเนี่ย ถึงมันเป็นแพสชันที่เราชอบ แต่มันก็กลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องชั่งน้ำหนัก เราพยายามคิด P&L อยู่นาน ก็ไม่ลงตัวสักที ทีนี้ภรรยาเห็นเราอยากทำมาสักระยะหนึ่ง ด้วยความที่เขาเห็นเราชอบ เขาก็เลยบอกว่า “ถ้าโล่อยากทำแล้วมีความสุข ก็ทำไปเถอะ บางทีเสียเงินมันก็เสียได้ แต่ถ้าเราทำแล้วมีความสุข อยากทำก็ทำ” ผมเลยเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น..”




.

.

• Happiest Hop! การร่วมงานกันของสององค์กร กับหนึ่งความตั้งใจ 

.

แน่นอนว่าคนที่มีแพสชันหรือชื่นชอบในสิ่งเดียวกันจะต้องถูกพัดพามาเจอกันสักวันหนึ่ง เช่นเดียวกันกับทั้งสองท่านที่ตัวคุณเต๋เองก็ติดตามผลงานของเปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงกันผ่านช่องทางออนไลน์ และคุณโล่ที่ตั้งใจกดบัตรมาดูคอนเสิร์ตของ The Showhopper อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ยังไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันแบบส่วนตัว จนกระทั่ง ‘โน๊ต ศรัณย์’ ศิลปินคนเก่งจาก “90s Divas in Concert: A Tribute to Vocal Trinity” ผู้เคยร่วมงานร้องเพลงกับทางเปี่ยมสุขฯ ได้แนะนำให้ทั้งคู่มาลองพูดคุยแลกเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจที่จะทำคอนเสิร์ตร่วมกันได้ ในที่สุดทั้งสององค์กรได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมธุรกิจ Happiest Hop Co.,Ltd. โดยมีคุณเต๋เป็นกรรมการผู้จัดการร่วมกับคุณเพชรและคุณแพ็ต (ลูกสาวคุณโล่) จนกลายมาเป็นผู้จัดร่วมที่ทำงานกันได้อย่างลงตัวในคอนเสิร์ตครั้งล่าสุด

.

คุณโล่: “ก่อนที่จะเจอกันผมบอกทางโน้ตไปว่า ลองแจ้งทาง The Showhopper ดูแล้วกัน ให้เขาลองเสนอดูว่าเขามีโมเดลที่จะทำคอนเสิร์ตยังไง พอเจอคุณเต๋ครั้งแรกเขาทำการบ้านมาดีมาก คือผมก็ประทับใจในความมืออาชีพของการทำโชว์ของทีมเขาอยู่แล้ว ดังนั้นการที่มาพรีเซ้นต์ มาเสนอโมเดล ที่มีตัวเลข ขั้นตอน ระยะเวลาชัดเจน ก็ยิ่งประทับใจ แถมพอเสนอ 3 ไอเดียแรกมาผมนี่ โอ้โหเลย มีทั้งคอนเสิร์ต Tribute to ศิลปินแห่งชาติ เป็นการเล่าเรื่องของบุคคลสำคัญในวงการเพลง มีคอนเสิร์ตเพลงดิสนีย์ภาษาไทยที่ร้องโดยผู้ให้เสียงพากษ์ไทยของตัวละครนั้นๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ รวมถึงคอนเสิร์ตเพลง Soundtrack ภาพยนตร์ไทยที่ทุกคนคิดถึง  ผมเจอว่า The Showhopper มีบางอย่างที่ผมไม่มี และก็มีบางอย่างที่เรามี แต่เต๋ไม่มี ผมเลยเล่าเรื่องที่มาการทำงานด้านตรีให้เขาฟัง เขาก็เล่าให้ผมฟัง เลยเจอว่าเรามีจุดที่สามารถผนวกกันได้ในการสร้างงาน..”

.

“เพราะเขาเก่งการเล่าเรื่อง  ส่วนเราก็ทำอสังหาริมทรัพย์แต่ไปจับพลัดจับผลูมาทำคอนเสิร์ตในสเกลค่อนข้างใหญ่ พอเคยทำอัลบั้มมาอีกก็จะรู้จักคนในแวดวงดนตรีค่อนข้างกว้าง จากประสบการณ์ที่ได้มาดูคอนเสิร์ตของ The Showhopper อย่าง 90s Divas เราก็รู้สึกประทับใจมาและเห็นว่าเต๋สามารถอัพสเกลของมันได้ ถ้าอยากรีสเตจใหม่ เรียกพี่ด้วย พี่สนใจ” 

.

คุณเต๋: “เราเห็นงานของเปี่ยมสุขฯ มาตลอด ได้ดูคลิปนักร้องโชว์กับวงออเคสตราและก็ชื่นชอบ ประทับในใจความใส่ใจรายละเอียด ไม่รู้เลยว่าพี่โล่ทำงานด้านอสังหาฯ มาก่อน จริงๆ เราน่าจะเริ่มทำคอนเสิร์ตในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เปี่ยมสุขฯ ทำสเกลใหญ่กว่าเรามาก พอได้พูดคุยกันก็เจอว่าพี่โล่เป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องดีเทล คุณภาพเสียง การอัดเสียงต่างๆ มาก เราชื่นชมแพสชันเขามาก กับการเป็นคนทำธุรกิจด้านอสังหาฯ ที่มาปลุกปั้นโปรดักชันของตัวเอง ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ต แต่ทำไปถึงการอัดเพลงลงไวนิล ชวนนักร้องนักดนตรีมาร่วมงานกัน เขามีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีมากๆ”




.

.

• เสน่ห์ของเพลงเก่า ที่อยากส่งต่อให้ผู้ฟังในยุคปัจจุบัน 

.

คุณโล่: “เพลงในยุคก่อนมีคำร้องและทำนองที่ไพเราะมาก มีการใช้ภาษากวี เป็นบทเพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ดีและกินใจ..ประกอบกับประสบการณ์วัยเด็กที่เราได้ฟังเพลงแบบนี้ เมื่อไรที่ได้ฟังมันก็ทำให้ย้อนนึกถึงภาพในอดีต คนยุคผมเนี่ย เราก็อาจจะชอบเพลงในยุคที่เราเติบโตมา อย่างลูกผมก็ไม่ได้ฟังเพลงแบบนี้ แต่เขาก็อาจจะจดจำเพลงในยุคนี้ ในสัก 20 ปีข้างหน้า เพลงในยุคปัจจุบันก็อาจจะเป็นเพลงเก่าสำหรับเขา..”

.

“การหยิบเอาเพลงจากยุคนั้นมาถ่ายทอดเป็นคอนเสิร์ต เลยเป็นสิ่งที่เราตั้งใจ อยากสร้างงานที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นแพชชั่นของ The Showhopper ด้วย ผมเชื่อว่าอย่างนั้น เพราะตั้งแต่เจอเขาก็ได้รู้ว่าเขาเริ่มเข้ามาทำธุรกิจนี้เพราะแพชชัน ดังนั้นเชื่อว่าการที่เรามาผนวกกัน เราจะได้ส่งต่อแพชชันของเราให้กับผู้ฟังที่ชื่นชอบในผลงานเพลง และเราจะทำออกมาให้ดีที่สุด”




.

คุณเต๋: “เราว่าในยุคที่วงการดนตรีมันอนาล็อกมากๆ มันยากนะที่จะผลิตเพลงเพลงหนึ่งออกมาได้ มันผ่านกระบวนการคิดมากมาย ต่างจากปัจจุบันที่มีเครื่องมือทุ่นแรงทุ่นเวลา มีอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราทำมันออกมาได้ง่ายขึ้น บทเพลงที่ปล่อยออกมาสมัยก่อนเลยจะมีความคราฟต์และละเมียดมากๆ แต่ไม่มีอะไรผิดถูก เพราะเพลงก็เป็นศิลปะ บางทีเพลงให้ยุคปัจจุบันก็ดีได้แม้ไม่ต้องผ่านกระบวนการสร้างที่ซับซ้อนเท่า อีกอย่างคือเวลาเปิดเพลงเก่าขึ้นมา มันไม่ได้มีแค่ดนตรีแต่มันพาเอาภาพความทรงจำ

ที่เราเคยมีร่วมกับเพลงนั้นๆ ในวัยนั้นๆ กลับมาด้วย เราเลยเป็นคนที่ยังฟังเพลงเก่าอยู่ตลอด..”

.

“อย่างคอนเสิร์ต 90s Divas ที่เราได้เอาบทเพลงคุณภาพเหล่านั้นมาถ่ายทอดใหม่ เรารู้สึกมีความสุขมากๆ เพราะทั้งหมดเป็นเพลงที่เราฟังมาตั้งแต่เด็ก ที่โตมาเราก็อยากหาฟังแบบสดๆ บ้าง แล้วพอมันถูกนำมาร้องโดยนักร้องระดับท็อปของประเทศ ก็ดีใจมากที่งานนี้มันพาแฟนเพลงจากยุคทองของดนตรีกลับมาเอนจอยช่วงเวลาและได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป”

.

“สุดท้ายเราอยากขอบคุณผู้ติดตาม The Showhopper ที่สนับสนุนผลงานทั้งหมดของเรา เพราะทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์หรือคอนเสิร์ต มันผ่านความตั้งใจและแพสชันของทีมงานที่หลากหลาย ขอบคุณที่เห็นคุณค่าของทุกอย่างที่พวกเราทำ และเราจะรักษาคุณภาพของสิ่งที่เราผลิตต่อไปเรื่อยๆ ครับ”

.

ในมุมของผู้เขียนที่เติบโตมากับบทเพลงเก่าจากยุค 90s เช่นเดียวกันกับทั้งสองท่าน มองว่าผลงานที่พวกเขาอยากรังสรรค์ให้เกิดขึ้น แม้จะเป็นความท้าทายอย่างมากที่ต้องถ่ายทอดสิ่งที่เป็นตำนานออกมาให้ได้คุณภาพที่ทัดเทียมกัน แต่มันก็จะฮีลใจแฟนเพลงได้หลากหลายช่วงวัยแน่นอน เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักเพ่งเล็งไปหากลุ่มผู้บริโภคกระแสหลักที่ใหญ่กว่า กลุ่มคนที่มีความชอบเฉพาะทางเลยไม่ค่อยมีอีเวนต์ดีๆ ให้ได้เข้าร่วมเท่าไหร่นัก การได้มาดูคอนเสิร์ตที่พาเราย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่ทำให้เราหลงรักดนตรี ภาพยนตร์ หรือแอนิเมชันในวัยเด็กจึงเป็นประสบการณ์ทรงคุณค่ามากสำหรับผู้ชมวัยผู้ใหญ่  

.

เป็นอย่างไรกันบ้างกับบทสัมภาษณ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและแพสชันของทั้งสองท่าน ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทสนทนานี้จะมอบแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านในการต่อยอดความหลงใหลของตัวเองให้กลายเป็นผลงานหรือความสุขที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้ และหากใครอยากร่วมเปิดประสบการณ์ทางดนตรีกับ เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า และ The Showhopper ก็สามารถติดตามผลงานคอนเสิร์ตดีๆ ของพวกเราได้ทางช่องทางออนไลน์ทั้งหมดได้เลย รับรองว่า มีมาเสิร์ฟกันตลอดทั้งปีแน่นอน! 

.

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

#TheShowhopper #TALK #pieamsukfamilymusic #Interview #Concert #เพลงเก่า #เปี่ยมสุขอนุรักษ์เพลงเก่า


Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page