
ต่อให้เป็นหญิงแกร่งแค่ไหน ก็ต้องมีโมเมนต์อยากถูกปกป้องดูแลหรือทิ้งตัวลงบนใครสักคนบ้าง.. นี่คงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับหลายคนในสังคมที่ทุกวันคือการไขว่คว้า วิ่งไล่หาความสำเร็จไม่สิ้นสุด วันที่ต้องสวมหน้ากาก ‘คนเก่ง’ ออกไปเผชิญโลกจนแทบหลงลืม ‘ความเปราะบาง’ ภายในใจ และมองข้ามการเยียวยาบาดแผลลึกของตัวเอง.. เชื่อหรือไม่ว่าประเด็นเหล่านี้ถูกเล่าในภาพยนตร์อิโรติกเรื่อง ‘Babygirl’ ด้วย
.
ที่กล่าวแบบนั้นเพราะฉากหน้าของหนังอาจทำให้มันถูกตัดสินอย่างตื้นเขิน ว่าเป็นผลงานแนวอิโรติก นำเสนอการเล่นชู้ของสาวใหญ่ไฮโซกับหนุ่มฝึกงานหน้าตาดีที่ไปดูเอาความหวิวใจได้เพียงอย่างเดียว แต่หลังจากได้รับชม ผู้เขียนพูดได้เต็มปากเลยว่าในเรื่องนี้ ‘เซ็กซ์’ ถูกใช้งานในฐานะเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลังที่ผู้กำกับ Halina Reijn เลือกมาอย่างดี เพราะเซ็กซ์เป็นช่วงเวลาสำคัญที่มนุษย์จะได้เปิดเปลือยความเป็นตัวเอง.. คนที่คุณพบหน้า รู้จัก ร่วมงาน อาจกลายเป็นใครที่คุณไม่คุ้นชินเลยสักนิดเมื่ออยู่บนเตียง และเมื่อสิ่งนี้ถูกนำมาผูกโยงกับประเด็นสตรีนิยม (Feminism) มันยิ่งขับเน้นให้เราเห็นบาดแผลของตัวละครเอกได้มากขึ้น
.
เพื่อต้อนรับห้วงแห่งความรักในวันวาเลนไทน์และคอลัมน์จิตวิทยาน้องใหม่จากบ้านโชว์ฮอปเปอร์อย่าง ‘MIND-CRAFT’ เราเลยขอพาผู้อ่านมาเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของตัวละคร ‘โรมี’ (แสดงโดย Nicole Kidman) จากภาพยนตร์ Babygirl ไปด้วยกัน ว่าภายใต้ความอยากเป็น ‘ผู้ถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์แบบ’ ในฉากรักร้อนเหล่านั้นผู้กำกับได้แอบซ่อนปมปัญหาและข้อความสำคัญอะไรเอาไว้เบื้องหลังบ้าง
.
*มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*
.
• เด็กสาวจากลัทธิผู้หลงใหลการถูกควบคุม •
.
“คุณเป็นพวกบ้าอำนาจ?”
“คิดว่าฉันเป็นแบบนั้นหรอ?”
“ไม่ ตรงข้ามกันเลย ผมคิดว่าคุณชอบให้คนบอกว่าต้องทำอะไร”
.
โรมีนิ่งไปครู่ใหญ่ หลังคำพูดนั้นของ ‘ซามูแอล’ (แสดงโดย Harris Dickinson) ราวกับว่าเขาคือเด็กชายจากลัทธิที่เติบโตมากับเธอ
.
สิ่งที่ผู้เขียนมองว่าเป็นชั้นเชิงที่น่าสนใจของผู้กำกับเลยคือการชักจูงให้คนดูโฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของตัวละครมากกว่าการพยายามฉายภาพอดีตมาตอกย้ำให้เรารู้สึกว่า ที่ ‘โรมี’ มีรสนิยมทางเพศแบบนี้เพราะบาดแผลในวัยเด็กเสียทั้งหมด ในภาพยนตร์เลยไม่มีการแฟลชแบคเล่าอดีตยืดยาว แต่ปรากฏภาพอดีตของเธอให้เรารับรู้แค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น เริ่มจากบทสนทนากับ ‘เอสเม่’ (แสดงโดย Sophie Wilde) เลขาฯ ถึงที่มาชื่อของเธอที่ถูกตั้งโดยหัวหน้าลัทธิที่เคยอยู่สมัยเด็กๆ สลับกับภาพความทรงจำนั้นที่แว๊บเข้ามา จนเอสเม่ออกปากแซวว่าโรมีดูเหมือนคนที่ถูกเลี้ยงโดยทหารหรือหุ่นยนต์มากกว่า จากความเป็นคนใช้สมองนำหัวใจของเธอ
.
อีกครั้งคือฉากที่โรมีเข้ารับการบำบัดที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับ EMDR (Eye Movement Desensitization and Reprocessing) ที่ต้องจ้องมองแสงไฟเลื่อนสลับจากซ้ายไปขวา พร้อมตอบคำถามของหมอว่าตอนนี้เธอกำลังมองเห็น รู้สึก หรือคิดถึงอะไร โดยทางการแพทย์แล้วการรักษาประเภทนี้ถูกใช้เพื่อบำบัดผู้ที่ต้องการลืมความทรงจำที่เลวร้ายในอดีต ตัวหนังก็ใส่ภาพสมัยโรมีวิ่งเล่นกับเด็กๆ ในลัทธิเข้ามาให้ผู้ชมเห็นเพิ่มอีกแว๊บๆ สลับกับภาพของ ‘ซามูแอล’ ที่เริ่มเข้ามารบกวนจิตใจของเธอมากขึ้นในเวลานั้น จนเหมือนว่าสองสิ่งนี้ทำให้โรมีรู้สึกเหมือนกัน คือ ‘ความปลอดภัย’
.
แล้วทำไมชีวิตในลัทธิที่เธอพยายามจะลืม ถึงเป็นสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย?
.
จากการตีความของผู้เขียนมองว่าตัวละครสิ่งที่ตัวละครเองต้องการจะลืมไม่ใช่ชีวิตในลัทธิ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสำหรับเธอ หนำซ้ำมันกลับเป็นความปลอดภัยเสียด้วยซ้ำ สังเกตได้จากการที่เธอเล่าเรื่องลัทธิให้ทุกคนฟังได้อย่างเปิดเผยและพูดถึงในเชิงบวกเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะ สามี แซมูแอล หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้สนิทกันนัก เพราะสิ่งที่ทำให้เธอหวาดกลัวตัวเองไม่ใช่ลัทธิ แต่เป็นรสนิยมทางเพศที่อาจมีผลพวงมาจากสิ่งนั้น
.
เนื่องจากหัวใจหลักของการเป็นสมาชิกลัทธิคือการที่เราต้องอยู่ใต้อำนาจของใครคนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เชื่อมั่น เชิดชู ศรัทธา โดยไม่มีข้อแม้ ทำให้เหยื่อของลัทธิส่วนใหญ่เป็นคนที่ต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวทางใจและสูญเสียความเชื่อมั่นในอำนาจของตน เมื่ออยู่นานเข้าก็อาจพัฒนาลักษณะนิสัยที่ต้องพึ่งพา (Dependence) และยอมจำนน (Submissiveness) อย่างฝังรากลึก เพราะสิ่งนั้นสร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย แต่กับตัวละครโรมีทั้งสองสิ่งนี้ดันมาปรากฏในความต้องการทางเพศของเธอ
.
“ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น”
“ฉันแค่อยากเป็นปกติ อยากดีพอสำหรับคุณ”
.
โรมีพูดกับสามีด้วยเสียงที่สั่นเครือและสั่นเครือยิ่งขึ้นเมื่อแววตาของคนตรงหน้าไร้ซึ่งความเข้าใจ..
.
ตลอดหลายสิบปีที่อยู่กินกับ ‘เจคอบ’ (แสดงโดย Antonio Banderas) โรมีไม่เคยไปถึงฝั่งฝันในการร่วมรักเลยสักครั้ง เธอต้องแสดงท่าทางจำลองการถึงจุดสุดยอดแล้วแอบย่องไปจัดการตัวเองประกอบกับหนังผู้ใหญ่ที่มีการนำเสนอบทบาทแนว ‘Dominant - Submissive’ เสมอ แม้ตนจะเคยลองสื่อสารกับคู่โดยตรงถึงความต้องการเหล่านี้บ่อยครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง เพียงเพราะสามีมองมันเป็นสิ่งแปลกและไม่เร้าอารมณ์เขาเอาเสียเลยจนเธอสูญเสียความมั่นใจ รังเกียจตัวเองและเข้ารับการบำบัด
.
จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีคนพร้อมจะ ‘โอบกอด’ สิ่งนี้ในตัวเธอ ความสัมพันธ์ของโรมีและซามูแอลจึงกลายเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ อย่างสมบูรณ์ ทั้งคู่ไม่ได้ต้องการคบหากัน ไม่ต้องการครอบครองกัน ไม่เคยเอื้อนเอ่ยคำว่ารักเลยสักครั้ง ซามูแอลบอกกับโรมีว่าพวกเราเหมือนเด็กสองคนที่เล่นสนุกกัน เรื่องระหว่างเราคือความเชื่อใจเท่านั้น เป็นการดูแลและเยียวยากันในระดับที่ลึกซึังเกินคำอธิบาย
.
.
• การยอมรับใน ‘ตัวตน’ และ ‘ความต้องการ’ ที่สวนทางกัน •
.
ความเป็นสตรีนิยมของภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นทีจะเป็นการพยายามหยุดการตัดสินผู้หญิงรสนิยมเรื่องเพศของพวกเธอ เพราะนี่คือสิ่งที่ตัวละครโรมีโดนมาตลอดทั้งเรื่อง ภายใต้บทบาทการเป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ การก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่แม้แต่ผู้ชายก็ใฝ่ฝัน ในอุตสาหกรรมที่ไม่ค่อยมีโอกาสให้ผู้หญิงมากนัก เธอเลยต้องสวมหน้ากาก Girl Boss อยู่ตลอดเวลา ต้องขึงขัง ว่องไว ไม่อ่อนหวาน ไม่แม้แต่จะเต้นหรือดื่มอะไรในงานปาร์ตี้ของบริษัท
.
บทบาทนี้หล่อหลอมในโรมีเป็นคนที่ตึงกับตัวเองมาก จนพาลไปต่อต้านความอ่อนไหวข้างในตัวเอง เพราะมองความอ่อนแอเป็นจุดด่างพล้อยที่ตนไม่ควรมี จนในวันที่เรื่องราวในความลับของเธอถูกเปิดเผย ทุกคนก็พร้อมจะใช้มันทิ่มแทงเธอ แม้แต่เอสเมผู้ช่วยที่เชิดชูและอยู่เคียงข้างเธอมาตลอด ก็ใช้เรื่องการคบชู้นี้มาขู่ให้โรมีพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้ตน ทั้งยังบอกให้เธอควบคุมตัวเอง กลับมาเป็นปกติ เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่ควรออกมาจากผู้หญิงที่น่าชื่นชม ซ้ำหนักเมื่อสามีผู้เป็นที่รักออกตัวเตือนภัยซามูแอลว่าเขากำลังถูกโรมีหลอกใช้ร่างกายสนองรสนิยมอันน่ารังเกียจ
.
ในตอนท้ายของเรื่องโรมีพยายามขุดตัวเองขึ้นมาจากการดำดิ่งลงไปในคำตัดสินของทุกคนอย่างสุดกำลัง จนในที่สุดเธอก็สามารถกลับขึ้นมาอยู่ในจุดสูงสุดได้อีกครั้ง พร้อมตอกหน้าผู้บริหารที่พยายามจะแบล็กเมลเธอด้วยไลน์สุดเจ็บแสบว่า “ฟังนะ ถ้าฉันอยากให้ชีวิตตัวเองพัง ฉันจะจ้างคนมาทำมันเอง”
.
เป็นการยอมรับตัวตนทั้งสองด้านของตัวเองอย่างแท้จริง ว่าถึงแม้เธอจะชอบถูกควบคุมระหว่างร่วมรัก นั่นก็เป็นแค่ความชอบหนึ่งของเธอเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าเธอเป็นใครในชีวิตข้างนอกนั้น เธอจะยังเป็นแม่ที่ดี เป็นหัวหน้าองค์กรที่มีความสามารถคู่ควรกับตำแหน่งที่ได้รับ
.
.
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการวิเคราะห์นี้จากผู้เขียน นอกจากมุมมองเรื่องเพศที่พูดมา หนังเรื่องนี้ยังมีการตีความที่น่าสนใจอีกหลายแบบ บางสำนักถึงขั้นวิเคราะห์ว่าหนังพูดถึงโลกที่กำลังถูก AI ยึดครอง บอกเลยว่าไปหาอ่านสนุกมาก เป็นภาพยนตร์อิโรติกที่เนื้อหาข้นเรื่องหนึ่งที่อยากให้แฟนเพจได้ลองหาดูกันจริงๆ แม้จะหมดรอบในโรงภาพยนตร์แล้ว แต่ก็อยากให้ทุกคนเก็บชื่อ ‘Babygirl’ เอาไว้ในอ้อมใจรอชมกันในสตรีมมิ่งต่อๆ ไป ส่วนใครดูมาแล้วก็มาเมาท์กันได้ว่าคิดเห็นอย่างไรกับภาพยนตร์เรื่องนี้ (เพราะผู้เขียนชอบมากกกกก!!)
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
Comments