“ในยามโลก-สยามยอกย้อนแยก
ให้เปลี่ยนแปลกต่างเขาเราไฉน
เมื่อยับเยินเราอยู่สู้ร่วมกันไป
ชูกำปั้นร่วมสมัยแรงยังมี …”
.
ส่วนหนึ่งของกลอนบทสุดท้ายจากหนังสือเล่มท้ายสุด ‘ต้องเนรเทศ’ (2565) ของวัฒน์ วรรลยางกูร ศิลปิน นักเขียนรางวัลศรีบูรพา เจ้าของผลงานสำคัญอย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ (2524) นักต่อสู้ทางการเมืองผู้ประพันธ์เพลง 6 ตุลา ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ ผู้แสดงอารยะขัดขืนปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารโดย คสช. จนต้องลี้ภัยต่างประเทศ ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อครอบครัววรรลยางกูรอย่างมีนัยสำคัญ วนะ วสุ และวจนา วรรลยางกูร บุตร-ธิดาทั้งสามของวัฒน์ วรรลยางกูร ถือครองฉากชีวิตของผู้เป็นพ่อไว้อย่างแนบแน่น และถ่ายทอดออกมาผ่านการแสดงสดเชิงสารคดีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อการแสดงว่า ‘Dialogue with the Father’
.
‘Dialogue with the Father - A Documentary Theatre’ บทสนทนาจากความทรงจำลูกถึงผู้เป็นพ่อ โดยสองผู้กำกับ ปฏิพล (มิสโอ๊ต) และ วิชย อาทมาท อำนวยการสร้างโดยความร่วมมือระหว่างหอศิลปกรุงเทพฯ For What Theatre และ Miss Theatre นำพาผู้ชมไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างสามพี่น้องที่มีต่อพ่อ ผู้เป็นปูชนียบุคคลในแวดวงนักคิดนักเขียน และศิลปินผู้ต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการแสดงสดเชิงสารคดีที่หยิบจับข้อความจากงานเขียน บทเพลง และบทกวีของวัฒน์ วรรลยางกูร ร้อยเรียงไว้ด้วยบทสนทนาจากความทรงจำของลูก ๆ ครอบครัววรรลยางกูร โดยการแสดงในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากผลงานในเทศกาลละครกรุงเทพ 2566 เรื่อง ‘แค่จาก (Just away)’ การแสดงเดี่ยวเชิงสารคดี โดย วสุ วรรลยางกูร บุตรชายคนกลางของวัฒน์ วรรลยางกูร
.
‘การแสดงเชิงสารคดี’ หรือ ‘Documentary Theatre’ คือการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องเล่าของบุคคล บทสัมภาษณ์ ข่าว บันทึกส่วนตัว เอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกในสังคม สำหรับเครื่องมือของนักการละครในการสร้างสรรค์ละครเชิงสารคดี ได้แก่ การทำความเข้าใจตัวตนของ “คน” ในฐานะปัจเจกชน และการสะท้อนสังคมการเมืองในรูปแบบที่มีเสรีภาพและสามารถสื่อสารข้อเท็จจริงกับผู้ชมได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ ผู้กำกับเลือกใช้วิธีในการวางโครงอย่างคร่าว ๆ และให้พื้นที่และอิสระในเรื่องเล่าของบุตร-ธิดาทั้งสามของวัฒน์ วรรลยางกูร ในการพาผู้ชมย้อนไปในฉากชีวิตและสำรวจความสัมพันธ์ในฐานะลูกกับพ่อ
กาลครั้งหนึ่ง ตุ๋ย ตั๊กแตน และเตย ต่างก็มีความทรงจำต่อผู้เป็นพ่อที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยังเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น กระทั่งวัยทำงาน พวกเขารับรู้ถึงสภาวะของการเป็นนักเขียนและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในตัวพ่อเสมอมา แม้กระทั่งผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนตุลาที่ยังคุกรุ่นอยู่ในฉากนิยายและฉากชีวิตของพ่อ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายหลังการรัฐประหารโดย คสช. ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วม 400 คน ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัว และมีหลายคนที่ถูกแจ้งข้อหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และอื่น ๆ วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นหนึ่งในผู้ถูกหมายเรียกดังกล่าว เขาเลือกที่จะแสดงอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัว ลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังกัมพูชาและลาว ก่อนจะขอลี้ภัยไปฝรั่งเศส จนกระทั่งล้มป่วยและจากพวกเราไปในวันที่ 22 มีนาคม 2565 ด้วยวัย 67 ปี
.
“ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (The 1951 Refugee Convention) ได้นิยามความหมายของผู้ลี้ภัย (Refugee) ไว้ว่า ผู้ลี้ภัย คือบุคคลที่จำเป็นต้องเดินทางทิ้งถิ่นฐานประเทศของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวจากการที่จะถูกประหัตประหารด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ หรือศาสนา หรือสัญชาติ หรือเพราะเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมหรือกลุ่มความคิดเห็นทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่สามารถที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐที่ตนเป็นพลเมืองได้ …”
.
ในสายธารของกระดาษผืนใหญ่บนพื้นที่ของห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ ใจกลางจัดวางไว้ด้วยโต๊ะที่เต็มไปด้วยหนังสือของวัฒน์ วรรลยางกูร มีโคมไฟ ขวดไวน์ เครื่องพิมพ์ดีด และทรานซิสเตอร์ที่ยังคงส่งเสียง สามพี่น้องเริ่มเปิดบทสนทนาจากความทรงจำของตนเองที่มีต่อพ่อด้วยท่าทีที่เรียบง่ายและค่อยเป็นค่อยไป ต่างคนต่างเริ่มกระจัดกระจายผลงานของพ่อไว้ในสายธารกระดาษ จัดวางทั้งกองหนังสือและขวดไวน์ เริ่มขีดเขียน วาดรูปลงบนนั้น ไปจนกระทั่งเปิดเตาตั้งหม้อแกงกะทิหน่อไม้ดอง เมนูที่พ่อชอบ กลิ่นแกงกะทิคละคลุ้งชวนน้ำลายสอ … แต่พ่อจะหากินยังไงในยามที่ต้องลี้ภัยไปไกลบ้าน ?
.
“... ผู้ลี้ภัยโดยมากต้องลี้ภัยเพราะในประเทศของพวกเขามีเหตุการณ์ความรุนแรง ต่าง ๆ เกิดขึ้น อันได้แก่ สงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การขัดแย้งทาง ศาสนา การเหยียดเพศในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งหากพวกเขายังอยู่ในประเทศของตัวเองต่อไป พวกเขาอาจประสบเหตุอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยสถานการณ์บังคับให้พวกเขาเดินทางออกจากประเทศของตนเองเพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดด้วยการเดินทางไปลี้ภัยยังประเทศอื่น” - People on the move (refugee)
.
วัฒน์ วรรลยางกูร คือประวัติศาสตร์ศักดิ์ศรีของนักเขียนไทย คือนักเขียนที่เป็นความภูมิใจของผู้ร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยทุกคน น่าเศร้าที่วัฒน์ไม่ทันได้เห็น ‘ต้องเนรเทศ’ ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ไม่ทันได้เห็นว่ามีคนมานั่งฟังเรื่องราวของเขาในการแสดงครั้งนี้มากมายขนาดไหน ถึงกระนั้น “ไม่มีอำนาจใดจักฆ่าเขาได้ และยิ่งไม่มีใคร หรืออำนาจใด จักฆ่าความทรงจำของเราที่มีต่อเขา” ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการคนสุดท้ายกล่าวในคำนำของหนังสือเล่มท้ายสุดของวัฒน์ วรรลยางกูร
.
“ตายน่ะเรื่องธรรมดา แต่ก่อนตายนี่สิ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันสำคัญที่ว่า ลมหายใจเรามีไว้ทำไม” - น้ำผึ้งไพร (2523)
.
เรื่อง: Theeranai S.
ภาพ: Jiraphat Vinagupta
.
ที่มา:
วัฒน์ วรรลยางกูร. (2565). ต้องเนรเทศ Seven Years in Exile. กรุงเทพฯ: อ่าน
.
Comments