“ระบบการศึกษาสำหรับนักเรียนการละครมันซัพพอร์ตเราดีประมาณหนึ่ง จนเราคิดว่าการทำละครเวทีมันง่าย
อยากใช้ไฟก็ไปยืมคณะ จะหาคนดูก็ลงโปรโมทในเพจมหา’ลัย เปิดให้ดูฟรี แต่พอมาเริ่มทำเองจากศูนย์มันยากมาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นตอนนี้ มันไม่มีใครสอนเราแล้ว…”
วันนี้ The Showhopper ขอพาทุกคนมาพูดคุยกับ ‘ตุลย์ - วริศรา นาคประเสริฐ’ ผู้ก่อตั้งคณะ MAMAI Production ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรและนิสิตปริญญาโทการจัดการการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 15 ที่อยากพาเอาศิลปะการแสดงและผู้คนกลับไปยัง ‘ดินแดนทับแก้ว’ จังหวัดนครปฐม พื้นที่ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์ที่มีโรงละครถึง 3 แห่ง ที่รอคอยการใช้สอยอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงความต้องการที่อยากให้คนนครปฐมเองเข้าถึงละครเวทีได้ง่ายและเป็นวิสัย แต่เส้นทางการขึ้นโครงปั้นสิ่งนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
คณะ MAMAI (มาใหม่) เริ่มต้นผลงานชิ้นแรกกับละครเรื่อง “ชายนักจำ” ในเทศกาลละครกรุงเทพฯ รอบการแสดงเมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ละครเรื่องนี้นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นที่น่ายินดี อีกนัยหนึ่งยังเป็นความกลัวก้อนใหญ่ในใจของโปรดิวเซอร์อย่างเธอด้วย…
อะไรทำให้ตุลย์ต้องเริ่มทำละคร?
“ทุกอย่างมันเริ่มต้นหลังจากเราเรียนจบละครเวที ป.ตรี ที่ศิลปากร แล้วก็ต่อโทเลย และเปิดคาเฟ่ ‘มาเติม’ ที่หน้าม.ศิลปากรไปพร้อมๆ กันด้วย พอเราทำทั้งสองอย่างนี้ไปปีสองปีจนต้องทำโปรเจกต์จบ เราเลยต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ นครปฐมตลอดจนเรารู้สึกว่ามันเหนื่อย ทั้งที่เราอยากไปแสดงให้โปรดักชันนั้น อยากไปช่วยงาน ไปใช้ชีวิตอยู่ในโปรฯ นี้ แต่ว่ามันไกลมาก ถึงจุดหนึ่งก็คิดขึ้นได้ว่า ทำไมที่ที่เราอยู่ถึงไม่มีอะไรแบบนี้ให้ทำบ้าง ทำไมมันเงียบมาก ทั้งๆ ที่ทับแก้วมีโรงละครประมาณ 3 โรงละครที่ใช้ได้ เรามีพื้นที่สำหรับแกลเลอรี่ จัดอีเวนต์ ทำกิจกรรมได้ ปลั๊กอยู่ใกล้ ไฟมี ขอไม่ยาก ผู้ใหญ่รู้จักกัน แต่มันเงียบ ที่นี่มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ทุกคนเรียนจบแล้วก็จากกันไป เราเลยเขียนงานธีสิสที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในศิลปากร เป็นงานที่จะพาให้ทุกคนกลับมา”
“แต่ก่อนหน้านั้นเรากลับมาดูละครรุ่นน้องที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาก เลยช่วยน้องส่งเรื่องนี้เข้าเทศกาลละครกรุงเทพฯ แล้วมันติด เราเลยคิดว่าเออ เราต้องเริ่มแล้วอะ! คือถ้าเราปล่อยให้ชีวิตเราชิลไปกว่านี้เราจะไม่ได้เริ่มสักที ตอนนี้มันต้องทำแล้ว เลยเริ่มทำคณะละคร ต่อมาอยากหาชื่อ แล้วเรามีคาเฟ่ชื่อมาเติมเลย เออ มาใหม่ แล้วกัน หัวเราะ”
ตุลย์เสริมว่า MAMAI PRODUCTION อยากใช้ละครเล่าเรื่อง ‘ความไร้สาระของชีวิต’ จากบทละคร 3 เรื่องแรกทั้งที่เล่นไปแล้วและกำลังจะเล่น ทั้งหมดล้วนมีนัยที่อยากจะบอกให้ทุกคนลองหยุดใช้ชีวิตในแบบที่โลกบอกว่ามันควรจะเป็นและมาปล่อยใจใช้ชีวิตไร้สาระในแบบที่เราสบายใจ เป็นแก่นที่เธอยึดไว้เป็นสารตั้งต้น ซึ่งส่งผลกับกระบวนการการทำงานของเธอและเพื่อนร่วมสร้างงานในโปรดักชันของเธอด้วยเช่นกัน ว่าทุกอย่างมันไม่ต้องเป๊ะไปตามที่คาดหวังเพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกัน
บทเรียนจากละครเรื่องแรกเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนที่คิดไว้ไหม?
“ถ้าเทียบกับตอนเรียนที่คณะซัพพอร์ตทุกอย่าง ทำจริงด้วยตัวเองมันยากมาก แล้วเราเป็นใครก็ไม่รู้จะเอาเงินก้อนเบ้อเร่อมาลงกับละครเวที ใครเขาจะให้ ไฟก็ไม่มี ถ้าต้องซื้อมาไว้เองก็ไม่ไหว ต้องเช่ามา ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นตอนนี้ มันไม่มีใครสอนเราแล้ว ไม่มีรุ่นพี่คอยมาบอกว่าอันนี้พี่เคยทำแล้ว มันไม่ใช่นะ มันเป็นการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองเลย เราเลยให้โจทย์คนในโปรฯ น้อยมาก เพราะเราเองก็ไม่รู้ ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดก็ไม่เป็นไรถือว่าเป็นการเรียนรู้”
“ตอนอยู่ในมหา’ลัย เราอาจจะน้อยเนื้อต่ำใจเวลาเห็นคนข้างนอกเขาทำคณะละครกัน เรามันเป็นข้อเสียที่ทำให้เราคิดว่าทุกอย่างมันง่าย เพราะการเริ่มต้นเองมันไม่เหมือนกัน เอาจริงๆ เศรษฐกิจไทยไม่ได้ดีขนาดที่ทุกคนจะอยากมาทำละคร ที่เขาไม่รู้ว่าจะสร้างรายได้หรือเปล่า เราเคยตั้งคำถาม ว่าทำไมน้องๆ เพื่อนๆ เรียนจบละครมาถึงไม่ทำต่อ ทำไมไม่ทุ่มเททำใหละครมันอยู่ต่อ แต่ถ้ามองเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนเราก็รู้ว่ามันทำไม่ได้ เพราะชีวิตทุกคนต้องไปต่อ และละครจะไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปเหมือนกัน แต่กับเราเองเราลองไปทำมาหลายอย่าง ไปทำงานออฟฟิศ ไปทำงานกับยูทูบเบอร์ ไปทำสัมมนากับอาจารย์ ฝึกงานกับกลุ่มละครรุ่นซีเนียร์ สุดท้ายเราก็วนกลับมาทำละคร เพราะเราผูกพัน แม้มันจะไม่ให้อะไรเรามาก และการทำละครในกรุงเทพฯ มันไกลด้วย เลยสร้างขึ้นมาตรงนี้เลย”
ธรรมชาติ และจังหวะชีวิตที่ไม่เร่งรีบของผู้คนในทับแก้ว เป็นผืนดินที่ตุลย์คิดว่าเมล็ดพันธุ์ของศิลปะการแสดงจะงอกงาม เป็นที่ที่คนทำงานก็จะมีความสุข คนมาชมผลงานก็จะอิ่มเอมเช่นกัน
“เราว่าอายุเรามันคงไม่อยู่ไปได้มากกว่าร้อยปีอะ สิ่งเดียวที่อยากให้ได้ในตอนนี้คือแค่สร้างนิสัยการดูละครให้คนในพื้นที่นี้ และเราเชื่อว่าพลังคนรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่ เขารู้ว่าโลกมันเป็นอย่างไร เขารู้จักกระแสสังคม และจะสามารถประชาสัมพันธ์ ทำสื่อให้ทั้งคนแถวนี้และคนในกรุงเทพฯ ได้เห็นงานศิลปะในทับแก้ว”
“เรามองว่าศิลปะมันควรขายได้ เพื่อให้ศิลปินอยู่รอด เราเลยใส่ใจเรื่องการตลาดและอยากให้โปรดักชันของเราทำได้หลายๆ อย่าง แต่ยังไงแล้วอะ เราต้องทำให้ละครเวทีมันขายได้!”
สุดท้ายนี้ มีคำแนะนำอะไรให้เด็กเรียนละครที่ไม่อยากทิ้งละครไหม?
“คือถ้าเหนื่อย ก็ทิ้งมันไปก่อนก็ได้นะ เราค่อนข้างเชื่อในช่วงเวลาว่าถ้าความผูกพันมันยังอยู่ ผู้คนยังอยู่ ทุกอย่างจะนำพาให้เราได้ทำในสิ่งที่ใจต้องการในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าเราฝืนต่อสู้ไป มันก็ได้ แต่มันจะเหนื่อยมาก ถ้าไม่มีใครมาร่วมสู้ด้วย ก็อยากให้ลองหาทางที่ใช่ของตัวเองไปเรื่อยๆ”
สามารถติดตามคณะละคร น้องใหม่ หน้าใหม่ “มาใหม่ โปรดักชัน” ได้ตามช่องทางโซเชียลมีเดียของพวกเขาได้เลย ทาง The Showhopper เองก็จะไม่พลาดที่จะนำโปรเจกต์ของพวกเขามาแนะนำกับชาวเพจแน่นอน
เรื่อง เจนจิรา หาวิทย์
Comentários