top of page

ถอด 8 บทเรียนจาก ‘หนังภัยพิบัติ’ เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมใจพร้อมรับมือ



คงต้องบอกว่าทุกวันนี้ ‘อะไรไม่เคยเห็นก็ได้เห็น’ ของจริง!! ใครจะไปนึกฝันว่าวันหนึ่งภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวจะมาเยือนประเทศไทยของเราเข้าในที่สุด ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนยังคงอกสั่นขวัญแขวนกับเหตุการณ์นี้ไม่หายเหมือนกันใช่มั้ยครับ

.

ในฐานะคนชอบดูหนังคนหนึ่ง โดยเฉพาะแนวนานาภัยพิบัติหายนะ บอกได้เต็มปากเลยว่า พอถึงเวลาเจอของจริงแล้ว ‘ไปไม่เป็น’ เลยครับ ประสบการณ์สมมุติและทฤษฎีที่สั่งสมมาจากหนังโปรดเรื่องต่าง ๆ ของตัวเอง แทบหยิบจับมาใช้ไม่ถูกเลย  ไม่ต้องพูดถึงสกิลเอาตัวรอด เพราะอะไรที่เป็นหลักการพื้นฐาน เรียกได้ว่าเลือนหายหมดสิ้นไปจากสมองในนาทีนั้น เพราะมัวแต่ขวัญผวากับพื้นห้องที่เลื่อนลั่นสั่นสะท้านอยู่ใต้เท้าตัวเอง

.

วันนี้คิดว่าคงเป็นการดีครับหากจะชวนทุกคนมองย้อนไปยังหนังภัยพิบัติเรื่องดังในอดีตกันสักหน่อย เหล่านี้คือหนังที่เคยเสิร์ฟความบันเทิงที่ทั้งเต็มเปี่ยมไปด้วยความน่าตื่นเต้น ความซาบซึ้งกินใจ ไปจนถึงภาพอันตะลึงตาของเมืองที่ล่มสลายจากความวิบัติ ซึ่งครั้งหนึ่งเราอาจเคยเชื่อกันว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้หลายเหตุการณ์ดูเป็นไปได้ และอาจใกล้ตัวมากกว่าที่คิดไปแล้ว

.

ลองเดินทางกลับไปด้วยกันอีกสักครั้งครับ แล้วคุณจะจำได้ว่า นอกจากความสนุกสนานของมันแล้ว หลายเรื่องยังแฝงสาระแบบเน้น ๆ ให้เราได้ถอดบทเรียนกัน เพื่อเตรียมรับมือความวินาศเฉกเช่นบนจอภาพยนตร์หากมันเกิดขึ้นจริงในวันหนึ่งด้วยนั่นเอง

.



CONCRETE UTOPIA (2023)

ประเภทภัยพิบัติ: แผ่นดินไหว

.

หนึ่งในหนังภัยพิบัติที่ฉายภาพความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศของเราได้มากที่สุดหากเจอภัยธรรมชาติล้างเมืองก็คือหนังเกาหลีเรื่องนี้ครับ หนังยกเหตุการณ์แผ่นดินไหวมาเป็นต้นตอหลักของความวินาศสันตะโรทุกอย่างในกรุงโซล โดยใส่เงื่อนไขสำคัญเข้าไปว่า ‘จะเกิดอะไรขึ้น หากเหลืออพาร์ทเมนท์เพียงแห่งเดียวที่ยังตั้งตระหง่านอยู่ยั้งยืนยงได้ท่ามกลางเมืองที่พังทลายลงอย่างราบคาบ’

.

หนังไม่ได้โฟกัสไปที่สาเหตุของแผ่นดินไหว หรือกระบวนการรับมือทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ แต่เลือกที่จะถ่ายทอดคอนเซปต์ของผลพวงที่ตามมาในกรุงโซล ซึ่งแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพ ‘ดิสโทเปีย’ เกิดการเข่นฆ่าแย่งชิงทรัพยากร อพาร์ทเมนท์ผู้โชคดีกลายเป็นเป้าหมายของผู้ที่เหลือรอดจากภายนอก ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยภายในจำต้องสร้างกฎเกณฑ์เข้มงวดขึ้นมาใหม่ กลายเป็นดินแดน ‘ยูโทเปีย’ เพื่อให้อาณาเขตของตนอยู่รอดปลอดภัย




THE IMPOSSIBLE (2012)

ประเภทภัยพิบัติ: สึนามิ

.

The Impossible สร้างขึ้นจากวิกฤติการณ์จริงที่เป็นประสบการณ์ตรงของผู้ชมชาวไทย ว่าด้วยเหตุการณ์สึนามิที่พัดถล่มหลายจังหวัดในภาคใต้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004

.

หนังเล่าถึงครอบครัวชาวตะวันตกครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูกชายวัยเด็กอีก 3 คน ที่เดินทางมาพักผ่อนยังเขาหลัก จ.พังงา และต้องพลัดพรากกันไปคนละทิศคนละทางจากการพัดพาของสึนามิ

.

หนังไม่ได้วางตัวเองในฐานะหนังแอ็คชันผจญภัยหนีตาย แต่จับจุดความเป็นมนุษย์มาถ่ายทอดได้อย่างละมุนละไมทว่าสะเทือนใจ เริ่มต้นจากภัยพิบัติที่เปลี่ยนผ่านความไม่คุ้นชินในดินแดนห่างไกลของชาวต่างชาติ ไปสู่ความโดดเดี่ยวอ้างว้างหมดหนทาง แล้วจึงปิดท้ายด้วยแสงสว่างแห่งความหวังซึ่งกลับมาเรืองรองอีกครั้งจากพลานุภาพแห่งความรักของครอบครัวและเพื่อนมนุษย์

.

นี่คือเรื่องราวที่นอกจากจะซาบซึ้งกินใจแล้ว ยังทำให้เห็นว่า ‘Impossible’ ที่เป็นชื่อเรื่องนั้น มัน ‘Possible’ และกลายเป็น ‘Miracle’ ได้เสมอ




CONTAGION (2011)

ประเภทภัยพิบัติ: โรคระบาด

.

ยังจำกันได้ใช่มั้ยครับ ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ชมกลับมาให้ความสนใจ Contagion อย่างมากมายอีกครั้ง เพราะความน่าตกตะลึงก็คือ หนังเรื่องนี้เหมือนทำนายเหตุการณ์ ‘ไวรัส (โคโรนา) ล้างโลก’ ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างถูกต้องแม่นยำน่าขนลุก ประหนึ่งผู้สร้างมีตาทิพย์เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าถึง 8 ปี

.

หนังเล่าเรื่องการระบาดของไวรัสร้ายสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน โดยสำรวจไปยังผลพวงทางสังคมจากวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการล้มตายมหาศาลของประชากรโลก ความเป็นกังวลของผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ ความพยายามของหน่วยงานส่วนกลางในการควบคุมการแพร่ระบาด เอกสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับผู้มีอำนาจเส้นสาย ความโกลาหลจากการแย่งชิงทรัพยากร ไปจนถึงศรัทธาของประชาชนซึ่งถูกสั่นคลอนด้วยแหล่งข่าวที่ไร้การพิสูจน์อันน่าเชื่อถือ แต่กลับถูกให้ค่าเพราะความเป็นอินฟลูฯ และผู้คนขาดความเชื่อมั่นจากความหมกเม็ดของภาครัฐ




TWISTERS (2024)

ประเภทภัยพิบัติ: พายุทอร์นาโด

.

ทอร์นาโดไม่ใช่สิ่งที่คนไทยคุ้นเคย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีบทเรียนน่าสนใจให้เราได้ถอดกันออกมาจากหนังแอ็คชันผจญภัยขวัญใจใครหลายคนเรื่องนี้

.

ในขณะที่หนัง Twister (1996) ภาคแรกเมื่อ 29 ปีก่อน ว่าด้วยภารกิจของสองนักวิทย์ที่ต้องการพัฒนาระบบเตือนภัยพายุทอร์นาโดที่มีอยู่แล้วให้เร็วขึ้นกว่าเดิมเพื่อลดการสูญเสีย ภาคล่าสุดเมื่อปีที่แล้วอย่าง Twisters ก็ยกระดับขึ้นไปยังจุดที่เล่นถึงประเด็นความพยายาม ‘ท้าทายธรรมชาติ’ ด้วยภารกิจปล่อยสารเคมีสลายทอร์นาโด ผนวกเข้ากับรสชาติมันส์ ๆ ของกลุ่มคนยุคใหม่ที่มองเห็นการไล่ล่าพายุเป็นความบันเทิง

.

หนังทั้งสองภาคสะท้อนให้เห็นความรุดหน้าในการรับมือของผู้คนเพื่ออยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ จากที่เคยตั้งรับอยู่ในสภาวะระแวดระวังภัย สู่การรุกเข้าทำลายเพื่อหยุดยั้ง และพัฒนาไปสู่ความรู้สึกของการอยู่กับมันได้ ‘กลายเป็นแค่คอนเทนต์ ๆ หนึ่ง’

.

แน่นอนว่าความรุดหน้าในพฤติกรรมของผู้คนแบบที่ว่านี้ ยังแผ่ขยายไปถึงมิติอื่นแบบที่ไม่น่าชื่นชมนักด้วย อย่างเช่นเส้นเรื่องว่าด้วยการลงทุนที่ไม่ค่อยใสสะอาดในที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากเส้นทางพายุ ซึ่งถือเป็นประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจไม่น้อย และถูกกล่าวถึงอยู่ใน Twisters ภาคสองนี้เช่นกัน





THE PERFECT STORM (2000)

ประเภทภัยพิบัติ: พายุเฮอร์ริเคน

.

The Perfect Storm เป็นเรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริงเมื่อปี 1991 โดยมีฉากหลังคือกลอสเตอร์ (Gloucester) เมืองริมชายฝั่งแห่งหนึ่งในแมสซาชูเซตส์ ซึ่งผู้คนภาคภูมิใจในความเป็นลูกหลานชาวประมงมานานแสนนาน ตัวละครสำคัญของหนังคือเรือประมงพาณิชย์ที่ชื่อว่า ‘แอนเดรีย เกล’ (Andrea Gail) ซึ่งออกสู่มหาสมุทรอีกครั้งหลังเพิ่งกลับเข้าฝั่งจากการออกเรือครั้งก่อนหน้าเพียง 2 วัน

.

เหตุผลสำคัญของการหวนคืนสู่ท้องทะเลอย่างรวดเร็วในครั้งนี้คือ ความต้องการของนายเรือใหญ่ที่ต้องการลบคำสบประมาทจากเจ้าของเรือที่ปรามาสเขาว่าฝีมือตก ไม่สามารถจับปลาได้ถึงยอดที่ต้องการติดต่อกันมาหลายครั้งแล้ว โดยหารู้ไม่ว่าการเดินทางในครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายของแอนเดรีย เกล เพราะเรือลำนี้จะต้องฝ่ามหันตภัยร้ายซึ่งก่อตัวจากการประสานงากันของเฮอริเคนลูกใหญ่ กับแนวพายุรุนแรงอีก 2 แนว เกิดเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์ขนานนามว่า ‘พายุสมบูรณ์แบบ’

.

นอกจากความสนุกสนานในเชิงผจญภัยเพื่อเอาชีวิตรอดแล้ว หนังยังชวนตั้งคำถามในแง่มุมดราม่าเกี่ยวกับการตัดสินใจของกลุ่มคนธรรมดา ๆ กลุ่มนี้ได้อย่างน่าสนใจครับ ว่าแท้จริงแล้วนี่คือการไม่ยอมศิโรราบต่อโชคชะตาและความบ้าคลั่งของธรรมชาติ หรือเป็นเพียงความดื้อรั้นของมนุษย์ตัวจ้อยที่อยากเอาชนะระบอบนายทุนเพียงเท่านั้นกันแน่




DEEP IMPACT (1998)

ประเภทภัยพิบัติ: ดาวหางพุ่งชนโลก

.

‘มหันตภัยอุกกาบาตชนโลก’ อาจฟังดู cinematic จนเหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เฉพาะบนจอหนังเท่านั้น แต่หากวันหนึ่งมันเป็นความจริงขึ้นมาล่ะ …นี่คือหนังว่าด้วยวิกฤติการณ์ดังกล่าวที่อาจพอชี้ให้เห็นวิธีเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับมันได้บ้าง

.

Deep Impact แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ทางสังคมที่ ‘ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้ง’ ในหลายมิติซึ่งเกิดขึ้นหลังมนุษย์ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับวันสิ้นโลก องค์การนาซ่าใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อขึ้นไปทำลายอุกกาบาต โดยอาศัยความสามารถของนักบินอวกาศสองเจน ทั้งกลุ่มที่เป็นรุ่นใหม่ไฟแรง และรุ่นเก่าเก๋าเกมเปี่ยมประสบการณ์ ในขณะที่บนโลก ครอบครัวของเด็กหนุ่มผู้ค้นพบดาวหางเป็นคนแรกกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ได้เข้าหลุมหลบภัย ส่วนนักข่าวหญิงกับพ่อของเธอที่ไม่ลงรอยกันมานานแสนนานก็ได้เวลาเปิดใจให้กันในวาระสุดท้ายของชีวิต และหญิงสูงวัยอีกคนหนึ่งก็ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อหยุดยั้งความเงียบเหงาที่กัดกินหัวใจของเธอ

.

นี่คือหนังที่จะทำให้เข้าใจถึงพลังแห่งความหวัง การเสียสละ และการเริ่มต้นใหม่ เป็นอีกเรื่องที่รับรองว่าจะชาร์จประจุบวกสู่หัวใจของคุณอย่างแน่นอนครับ




SOCIETY OF THE SNOW (2023)

ประเภทภัยพิบัติ: เครื่องบินตกในดินแดนที่หนาวเหน็บ

.

ว่ากันว่า 'เครื่องบิน' คือการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก แต่สำหรับทีมรักบี้ทีมหนึ่งจากอุุรุกวัย นี่คงเป็นประสบการณ์ฝันร้ายที่ต้องจดจำไปชั่วชีวิต เพราะการเหินฟ้าสู่ประเทศชิลีของพวกเขาในครั้งนั้นประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนทำให้เครื่องบินตกลงบนธารน้ำแข็งใจกลางเทือกเขาแอนดีส และทำให้ผู้โดยสารเกือบครึ่งเสียชีวิตทันทีขณะเกิดเหตุ ส่วนกลุ่มที่ยังรอดชีวิตก็ต้องพบกับชะตากรรมเลวร้ายนานัปการจากความหนาวยะเยือกบนเทือกเขาที่สูงเสียดฟ้ากว่า 3,600 เมตร

.

นี่เป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี 1972 ซึ่งถ่ายทอดสภาวะอันสุดขั้วของธรรมชาติที่พร้อมจะกลืนกินชีวิตมนุษย์ได้ทุกเมื่อ พวกเขาไม่เพียงต้องต่อสู้กับอาการบาดเจ็บจากเครื่องบินตกเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญสิ่งโหดร้ายกว่าที่กำลังรออยู่ ทั้งอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ หิมะถล่ม และความหิวโหยอดอยากอย่างรุนแรงจนถึงจุดที่ต้องกินเนื้อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่อประทังชีวิตตัวเอง ...เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่โหดร้ายที่สุดก็คือ ‘ความสิ้นหวัง’ ที่กำลังกัดกินความคิด และค่อย ๆ ปลิดลมหายใจของทุกคนอย่างช้า ๆ

.

ท้ายที่สุด เหตุการณ์นี้มีผู้รอดชีวิตเพียง 16 คน ทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือหลังจากเครื่องบินตกไปแล้วนานถึง 2 เดือนครึ่ง และเรื่องราวการเอาชีวิตรอดของพวกเขาก็เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาในชื่อ 'ปาฏิหาริย์แห่งแอนดีส' (Miracle of the Andes)




DANTE’S PEAK (1997)

ประเภทภัยพิบัติ: ภูเขาไฟระเบิด

.

ภัยพิบัติชนิดนี้อาจดูไกลห่างจากความเป็นอยู่ของคนไทยมากที่สุด แต่การได้เรียนรู้ประสบการณ์ภูเขาไฟผ่านหนังสนุก ๆ สักเรื่อง เพื่อเติมเต็มคลังความรู้ของเราหากต้องเอาตัวรอดในวิกฤติการณ์ดังกล่าว ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรจริงมั้ยครับ

.

นี่คือหนังที่มีฉากหลังเป็นเมืองสมมุติอันแสนงดงามเงียบสงบแห่งหนึ่งนามว่า ‘ดันเต้ส์พีค’ ที่จู่ ๆ ก็เริ่มส่งสัญญาณอันตรายต่าง ๆ นานาบ่งบอกว่าภูเขาไฟสูงตระหง่านที่อยู่ขนาบเมืองกำลังจะปะทุในไม่ช้า

.

หนังค่อย ๆ เผยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อย ๆ จากจุดย่อม ๆ อย่างการต้องปิดให้บริการบ่อน้ำพุร้อน หรือผลกระทบของระบบประปาจากก๊าซพิษ ไปจนถึงเศรษฐกิจของเมืองที่เริ่มสั่้นคลอนจากความไม่มั่นใจในการลงทุน จนในที่สุดก็เลยเถิดไปเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ตามมาด้วยการระเบิดของภูเขาไฟซึ่งพ่นทั้งขี้เถ้าและลาวาปกคลุมเมือง รวมทั้งทำให้ทะเลสาบมีฤทธิ์เป็นกรดอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดลาฮาร์ (โคลนที่เกิดจากการผสมกันของน้ำและเศษซากจากภูเขาไฟ) และปิดท้ายด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดอย่าง Pyroclastic Flow (กระแสของก๊าซร้อน และสสารภูเขาไฟที่ไหลลงมาด้วยความเร็วสูง)

.

เห็นมั้ยครับ… แค่ดูหนัง ก็ได้ศัพท์เฉพาะกับความรู้ใหม่ ๆ เต็มเลย




เรื่อง: Gaslight Café

.

#TheShowhopper #ไปดูมาแล้ว #ภัยพิบัติ #แผ่นดินไหว #สึนามิ #Movies #หนังเก่า 






Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page