top of page
รูปภาพนักเขียนMaggiemae

'ถุงมือ จดหมาย งานเต้นรำ' ย้อนเวลามองวิถีชีวิตและความโรแมนติกแห่งยุค 50s-60s ผ่านบทเพลงแสนตราตรึงใจในตำนาน



ไม่ต้องมีกระจก ประตูมิติ หรือมนตร์กฤษณะกาลีก็ย้อนเวลาได้ แค่เปิด ‘เพลง’ ฟัง

.

ทุกคนน่าจะเคยได้ยินกันมาเสมอว่าการฟังเพลงนั้นทำให้เรารู้สึกโหยหาเรื่องราวในอดีต หรือเพียงแค่หลับตาในขณะฟังเพลง ก็เหมือนได้ไปยืนอยู่อีกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในความทรงจำก็ดี หรือในจินตนาการก็ดี หากเป็นสถานที่ในอดีตที่เราไม่เคยประสบพบเจอกับตัวมาก่อน อาจเคยเห็นผ่านรูปภาพต่างๆ ก็นึกทึกทักไปว่าความรู้สึกจะเป็นเช่นไรหากเราได้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งนั้น หรือได้ใช้ชีวิตอยู่ในยุคนั้นจริงๆ หากแต่รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มาจากในจินตนาการทั้งสิ้น

.

ทว่าน่าแปลกที่ ‘เพลง’ ทำให้ความรู้สึกทั้งหลายทั้งมวลเหล่านั้นกลับดูสมจริงขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนว่าจริงไหม?

.

ก่อนอ่านบทความนี้ถึงแก่น ผู้เขียนอยากให้ทุกคนปล่อยใจ หยุดพัก แล้วใส่หูฟังเปิดเพลงที่นึกถึง อาจเป็นเพลงในความทรงจำหรือจะเป็นเพลงในยุคสมัยที่อยากย้อนเวลาไปก็ได้ และหากกลับมาแล้ว เราจะพาทุกท่านย้อนเวลาไปอีกรอบ แต่คราวนี้เป็นใน ‘ยุคทอง’ อันเป็นวิจิตรสมัยของทุกประเทศทั่วโลก ‘ยุคฟิฟตี้ส์และซิกตี้ส์’ (1950s-1960s)

.

ยุคสมัยนั้นการฟังดนตรีคงไม่พ้นในคลับ บาร์แจ๊ส อย่างสะดวกที่สุดก็เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่บ้าน มีหน้าละเพลงบ้าง สองเพลงบ้าง อย่างดีถ้าเป็น long play ก็จะมีเพลงเยอะ แต่ก็ไม่ได้มีให้เลือกละลานตาอย่างใน spotify ในยุคแรกๆ ใช้แผ่นครั่ง ทันสมัยขึ้นหน่อยก็จะเป็นแผ่นไวนิล การที่มีช่องทางให้ฟังเพลงน้อยนี้เอง ทำให้นักร้องนักดนตรีในยุคนั้นดังเป็นพลุแตกกันเลยทีเดียว และอย่างที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้น เนื้อหาในเพลงนี้เองทำให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงวิถีชีวิต กิจกรรมยามว่าง และความโรแมนติกของผู้คนผ่านบทเพลงแสนตราตรึงใจยามได้ฟัง

.

กิจกรรมยามว่างอันแสนเพลิดเพลินจำเริญใจของผู้คนในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 คงจะหนีไม่พ้น ‘การเต้นรำ’  หรือที่คนไทยเรียกว่าลีลาศ อย่างในบทเพลง ‘Changing Partners’ ขับร้องไว้อย่างไพเราะโดย ‘Patti Page’ ก็ได้กล่าวถึงการเต้นรำไว้อย่างเศร้าๆ ปนน่ารัก ถึงหญิงสาวผู้หนึ่งที่กำลังหัวใจลิงโลดยามกำลังวอลซ์กับชายหนุ่มที่เธอหมายปอง แต่เมื่อได้ยินเสียงตะโกนให้ ‘เปลี่ยนคู่’ เธอก็ต้องผิดหวัง หากแต่ยังเฝ้ารอให้ชายหนุ่มวนกลับมาเต้นคู่กับเธออีกครั้ง หรืออีกหนึ่งเพลงยอดฮิตของ Patti Page ก็ได้มีเนื้อเพลงพูดถึงการเต้นรำอีกเช่นกัน อย่างเพลง ‘Tennessee Waltz’ หากเพลงนี้เป็นเพลงเศร้าและไม่ได้ปนน่ารักเหมือนอย่างเพลงแรก เพราะระหว่างที่หญิงสาวกำลังเต้นรำกับสุดที่รักของเธอในบทเพลงที่ชื่อว่า Tennessee Waltz เธอก็ได้พบกับเพื่อนเก่า จึงแนะนำให้ทั้งสองได้รู้จักกัน จนเกิดเหตุการณ์ “And while they were dancing, my friend stole my sweetheart from me”

.

อีกเพลงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการเต้นรำ และเป็นเพลงโปรดที่สุดของข้าพเจ้า จากเยนเติลแมนแห่งยุค ‘Frank Sinatra’ ในบทเพลงที่ฟังแล้วราวกับเดินเล่นอยู่ในงานราตรีสโมสรที่มีแสงไฟระยิบระยับ ‘Strangers in the night’ กล่าวถึงชายหนุ่มที่ได้พบกับรักแรกพบของเขาในงานเต้นรำ และดูเหมือนหญิงสาวก็จะเห็นว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นรักแรกพบของเธอเช่นกัน และหลังจากงานเต้นรำในคืนนั้น ทั้งสองก็ได้ครองรักกันเรื่อยไป

.

อยากให้ชาวเพจจินตนาการกันต่อไปว่า ณ ขณะนี้ทุกคนกำลังอยู่ในยุค 60s ที่เมืองฝรั่ง บทเพลงร็อกแอนด์โรลกำลังเฟื่องฟู มีวง The Beatles เป็นขวัญใจของคนทั่วโลก และกำลังเต้นท่า “ทวิสต์” ตามจังหวะเพลงสุดมันส์อย่างเพลง ‘Twist and Shout’ ของวงสี่เต่าทอง ก็ทำไมจะไม่เต้นท่านี้กันล่ะ ในเมื่อท่าทวิสต์นี้เป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มสาวม็อด (Mod) ยุคซิกตี้ส์เสียเหลือเกิน อันในเนื้อเพลงยังบอกว่า “เต้นทวิสต์และตะโกนออกมาดังๆ เลยสิ! ท่าทวิสต์ของเธอมันน่ารักมากเลยนะ สาวน้อย”

.

 ในสมัยนั้นที่การติดต่อสื่อสารไม่ได้สะดวกรวดเร็วเหมือนอย่างปัจจุบัน หากแต่ “การเขียนจดหมาย” ยังคงความคลาสสิกเอาไว้เสมอ ยามได้เห็นเส้นหมึกที่สลักลงแผ่นกระดาษด้วยลายมือวิจิตรบรรจงของผู้เขียน ก็เสมอเหมือนว่าทั้งผู้เขียนและผู้อ่านได้ใกล้ชิดกันผ่านแผ่นกระดาษแผ่นนั้นได้ และในบทเพลงอมตะหลายเพลงก็ได้พูดถึงการเขียนจดหมายเอาไว้ โดยเฉพาะเพลงสุดคลาสสิกอย่าง ‘Please Mr. Postman’ จากสามนักร้องสาวแสนสวยผิวสี ‘The Marvelettes’ ที่ถูกนำไป cover ใหม่และดังเป็นพลุแตกในเวอร์ชันของ ‘The Carpenters’ ก็ได้พูดถึงการรอจดหมายจากยอดดวงใจอย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็ไม่มีวี่แววจะส่งมาเสียที จนถึงขั้นต้องเอ่ยปากให้คุณบุรุษไปรษณีย์ช่วยเช็คดูอีกรอบว่ามีจดหมายตกหล่นอยู่บ้างหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีเพลงน่ารักๆ เนื้อเพลงสั้นๆ อย่าง ‘P.S. I love you’ ของสี่เต่าทองอีกเพลงที่พูดถึงการเขียนจดหมาย ซึ่งคำว่า ‘P.S. I love you’ เป็นคำลงท้ายในจดหมาย P.S. ย่อมาจาก postscript หรือ ป.ล. ปัจฉิมลิขิต ในภาษาไทยนี้เอง

.

พูดถึงบทเพลงยุคทองคงจะขาดพ่อหนุ่มคนนี้ไปไม่ได้ ‘Elvis Presley’ ซึ่งก็ได้มีเพลงเกี่ยวกับการส่งจดหมายอยู่ด้วย คือเพลง ‘Return to sender’ แค่อ่านชื่อเพลงก็รู้แล้วว่าเป็นเพลงเศร้าอย่างแน่แท้ เพราะเมื่อชายหนุ่มส่งจดหมายไปให้หญิงสาวที่เขารัก เพียงวันถัดไป คุณบุรุษไปรษณีย์ก็ได้นำจดหมายกลับมาส่งคืนพร้อมกับบอกเขาว่า มันไม่มีที่อยู่นี้อยู่จริง

.

ขยับมาที่นักร้องสาวผิวสีอันดับหนึ่งแห่งยุค จนได้ฉายาว่า ‘The First Lady of Song’ หรือ ‘ราชินีเพลงแจ๊ส’ อย่าง ‘Ella Fitzgerald’ กับบทเพลงสุดโรแมนติก ‘Misty’ เมื่อหญิงสาวรู้สึกเหมือนถูกหมอกปกคลุมยามได้อยู่ใกล้ชายหนุ่มที่เธอรัก หรือจะเรียกว่าเป็นอาการลุ่มหลงก็คงไม่ผิดนัก เธอไม่รู้สึกตัวเลยสักนิดยามอยู่ใกล้เขา ไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ “My hat from my glove” เพราะเธอกำลัง “too misty, and too much in love” ซึ่งเราก็ได้สังเกตเห็นพร้อมกันแล้วจากการที่สาวน้อยตัวชาไปหมด แต่หล่อนก็ได้ใช้คำว่า “จากหมวก จนไปถึงถุงมือ” เพราะวัฒนธรรมในยุคนั้นมักนิยมใส่หมวกและถุงมือกันเป็นปกติ ที่เราๆ น่าจะคุ้นชินกันดีจากภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ต่างๆ

.

บทเพลงอมตะอีกหลายเพลงยังรอให้เราย้อนกลับไปฟังยามที่อยากจะรำลึกถึงความสวยงามของอดีต เพราะนอกจากทำนองและเนื้อเพลงอันตราตรึงไปถึงขั้วหัวใจแล้ว คนฟังยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรมมากมายผ่านการฟังเพลง หากแต่ในบทความนี้ ข้าพเจ้าหมดโควต้าซึ่งตัวอักษรที่จะเขียนอีกครั้งแล้ว จึงเป็นอันต้องหยุดแต่เพียงเท่านี้ ในวันสุดสัปดาห์นี้ หากชาวเพจไม่ได้มีธุระปะปังที่ไหน ลองเปิดเพลงฟังสักเพลง หรือหลายเพลงก็ดี แล้วดื่มด่ำช่วงเวลาในอดีตไปด้วยกัน

.

เรื่อง: Maggiemae

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page