top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

ทำความรู้จักกับ 'ไซโคฟิสิคัล' แนวทางการฝึกนักแสดงสำหรับศตวรรษที่ 21



สำหรับแฟนเพจ The Showhopper ที่เป็นนักแสดงหรือนักเรียนนักศึกษาในหลักสูตรศิลปะการแสดงทั้งหลาย คงต้องได้ศึกษาหรือผ่านหูผ่านตากับการฝึกนักแสดงในแบบสตานิสลาฟสกี (Konstantin Stanislavsky) นักการละครชาวรัสเซียผู้ปฏิวัติแนวคิดเกี่ยวกับการแสดงที่คนมักจะยกมาพูดถึงเมื่อกล่าวถึงต้นแบบการฝึกฝนนักแสดงที่เน้นการวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาเป็นหลัก (psychological) อีกสิ่งที่นักแสดงต้องศึกษาและฝึกฝนอยู่เป็นประจำ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลสำเร็จในทุกประสบการณ์การแสดง นั่นคือการมีสมาธิ สติอยู่กับ “กายและจิต” และสิ่งที่อยู่รอบข้าง ณ ขณะนั้น อีกทั้งต้องรักษาไว้เป็นเวลาต่อเนื่องตลอดการแสดง พร้อมตอบสนองกับแรงกระตุ้นภายนอกหรือภายในได้ทันที

.

วันนี้ The Showhopper จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับการฝึกนักแสดงสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่ขอบเขตของการแสดงขยายกว้างขึ้น สำหรับแนวทาง “ไซโคฟิสิคัล (psychological)” ที่เป็นมากกว่าแค่การวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาที่เราเคยเรียนมา แต่ยังคงมีรากฐานมาจากสตานิลลาฟสกี พร้อมทั้ง “The Living Image Training” หนึ่งในแนวทางการฝึกฝนนักแสดงตามแนวทางกายจิตสำหรับแก้โจทย์และความท้าทายทางการแสดงได้ในทุกบริบท

.

- ขอบเขตของการแสดงในศตวรรษที่ 21

.

เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนแปลง ขอบเขตของ “การแสดง” ในศตวรรษที่ 21 จึงขยายกว้างขึ้น ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และทักษะของนักแสดงก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดและยุคสมัย เมื่อเกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เกิดขึ้น ทั้งภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิชวลเอฟเฟกต์ (visual effects) แอนิเมชัน (animation) และเกม อาชีพนักแสดงจึงมีโอกาสทำงานข้ามสาขามากขึ้น นอกเหนือจากโอกาสทำงานในละครเวที ภาพยนตร์ โทรทัศน์ (ละคร โฆษณา รายการต่าง ๆ) นักแสดงยังแสดงทักษะผ่านการพากย์เสียง และการแสดงผ่านเทคโนโลยี motion capture (การจับความเคลื่อนไหว) เพื่อใช้ในเกมและในสื่อดิจิทัลอื่น ๆ ได้อีกด้วย โจทย์การแสดงในแต่ละเรื่องและแต่ละสถานการณ์จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษณะ พันธุ์เพ็ง จึงได้ศึกษาและฝึกฝนตามแนวทางไซโคฟิสิคัลของ ฟิลลิป ซาร์ริลลี (Phillip Zarrilli) และค้นพบว่าไซโคฟิสิคัลเป็นหนึ่งในแนวทางในการพัฒนาทักษะพื้นฐานสำหรับนักแสดงที่จะต้องทำงานในบริบทที่หลากหลายในศตวรรษที่ 21

.

- แนวทางไซโคฟิสิคัล คืออะไร ?

.

การฝึกฝนในแบบไซโคฟิสิคัล (psychophysical) คือการฝึกทั้งกายและจิตในแบบองค์รวมหรือกายจิต (bodymind) โดยเริ่มต้นด้วยการเปิดการรับรู้และมีสติ แม้ว่าสติคือทักษะที่ทุกคนพึงมี แต่การมีสติในชีวิตประจำวันในบริบททางการแสดงต่างกันอย่างมาก การฝึกฝนจะเริ่มต้นด้วยการรับรู้ลมหายใจและร่างกาย และจะซับซ้อนขึ้นในแต่ละช่วงของการฝึก เช่นต้องมีสติกับลมหายใจและเชื่อมโยงลมหายใจกับท่าทางของร่างกายในขณะที่ทำงานกับภาพในจินตนาการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องมีสติกับสิ่งที่อยู่รอบตัว (พื้นที่ สิ่งของ คู่แสดง ผู้ชม เป็นต้น) และพร้อมจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบผ่านคำพูด เสียง และร่างกาย ภายใต้บริบทของโจทย์ที่ได้รับ ในช่วงท้ายของการฝึกฝนในแบบไซโคฟิสิคัล ผู้เรียนจะได้ทำงานในบริบทการแสดงเพื่อฝึกการใช้ทักษะทางกายจิตในการสื่อสารตัวละครและเรื่องราว เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้แนวคิดและกระบวนการทำงานเดียวกันนี้ในการแสดงทุกประเภท

.

การฝึกฝนในแบบไซโคฟิสิคัลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสตูดิโอที่ฝึกสอนภาคปฏิบัติให้แก่นักแสดงในประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจแต่อาจจะนำไปสู่ความสับสนได้คือ แนวคิดเกี่ยวกับการฝึกนักแสดงที่เรียกว่าไซโคฟิสิคัลนี้มีต้นกำเนิดมาจาก คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี คนเดียวกันกับที่คนมักจะยกมาพูดถึงเมื่อกล่าวถึงการฝึกฝนนักแสดงที่เน้นการวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยา (psychological) เป็นหลัก อย่างไรก็ตามนักวิชาการด้านการแสดงพบว่าสตานิลลาฟสกีใช้เวลาทั้งชีวิตในการทดลองและพัฒนาระบบการฝึกฝนนักแสดงที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทางด้านจิตวิทยาและกายภาพของนักแสดงอย่างเท่า ๆ กัน โดยใช้คำว่า “psikhofizicheskii” (psychophysical) เพื่ออธิบายแนวคิดนี้

.

สตานิลลาฟสกีได้เรียนรู้จากการทำงานกับนักแสดงว่าความเข้าใจในเชิงจิตวิทยาไม่ได้ยืนยันว่า นักแสดงจะสามารถถ่ายทอดความเข้าใจนั้นผ่านพฤติกรรมและการกระทำ หากไม่ได้มีการฝึกฝนที่เชื่อมโยงทั้งสองส่วนเข้าไว้ด้วยกัน แม้แต่ในการทำงานกับบทละครที่จำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างละเอียด สตานิลลาฟสกีก็ไม่ยอมให้นักแสดงของเขานั่งโต๊ะและศึกษาบทละครเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลุกขึ้นมาวิเคราะห์ผ่านการกระทำต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงแรก หรือที่เรียกว่า active analysis

.

- ทฤษฎีทวินิยม: แนวคิด (ฝังลึก) ที่ว่าจิตและกายแยกออกจากกันได้ ?

นักการละครรุ่นหลังได้ดำเนินตามรอยของสตานิลลาฟสกีโดยพยายามปฏิวัติการฝึกฝนที่แยกการทำงานของส่วนสมองออกจากการทำงานของร่างกาย ซึ่งสะท้อนทัศนคติที่ฝังรากลึกในสังคมร่วมสมัย คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในชาวตะวันตกเข้าใจว่าจิต (mind) เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางความคิด การวิเคราะห์หาเหตุผล ในขณะที่กาย (body) ทำหน้าที่รับคำสั่งจากจิตอีกที แนวคิดนี้ปรากฏขึ้นในศตวรรษที่ 17 โดยการนำของเรอเน เดการ์ต (René Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศษ ผู้นำเสนอทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ซึ่งมองว่ามนุษย์คือการรวมกันของจิต (mental) และกาย (physical) สองส่วนที่แตกต่างและแยกจากกันอย่างชัดเจน ความเชื่อนี้ส่งอิทธิพลต่อปรัชญาและแนวคิดเชิงจิตวิทยาอีกมากมาย รวมทั้งฝึงลึกอยู่ในทัศนคติของสังคมในหลายมิติ

.

ในศาสตร์ด้านการแสดง การศึกษาบทละครและตัวละคร (mental) มักจะแยกออกจากการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย (physical) และถูกมองว่ามีความสำคัญมากกว่าหรือจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าในการเรียนรู้ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นักปรัชญาหลายคนก็ได้คัดค้านทฤษฎีทวินิยม ตัวอย่างเช่น ปรัชญาปรากฏการณ์วิทยาโดยมอริช แมร์โล-ปอนติ (Maurice Merleau-Ponty) ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า กายกับจิตสามารถแยกขาดออกจากกันได้จริงหรือ ?

.

นักวิชาการที่ยึดถือทฤษฎีนี้มองว่ามนุษย์ไม่สามารถมีประสบการณ์กับกายและจิตที่แยกจากกันได้ แม้ว่าการทำงานของจิตและการทำงานของกายจะมีส่วนที่แตกต่างกัน แต่การปรากฏอยู่ของอย่างใดอย่างหนึ่งจำเป็นจะต้องมีอีกส่วนหนึ่งอยู่ด้วยเสมอ เพราะความสัมพันธ์ของทั้งสองส่วนเป็นไปในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ส่วนใดส่วนหนึ่งจะไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ถ้าปราศจากอีกส่วนหนึ่ง

.

- เดอะ ลีฟวิง อิมเมจ เทรนนิง (The Living Image Training)

.

กฤษณะ พันธุ์เพ็ง ได้พัฒนาแนวทางการฝึกฝนนักแสดงตามแนวทางไซโคฟิสิคัล โดยได้รับอิทธิพลโดยตรงจากฟิลลิป ซาริลลี (Phillip Zarrilli) นักการละครคนแรกที่พัฒนารูปแบบการฝึกฝนนักแสดงโดยใช้คำว่าไซโคฟิสิคัลกำกับ และนำหลักการฝึกโยคะ กาลาริปปยัตตุ และไท่เก๊กมาใช้ในการสร้างความพร้อมให้กับนักแสดง แต่ “เดอะ ลีฟวิง อิมเมจ เทรนนิง” แนวทางการฝึกฝนนักแสดงที่กฤษณะ พันธุ์เพ็งพัฒนาขึ้นนั้น ได้ลดทอนการฝึกท่าทางดังกล่าวลงเพื่อลดปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในกลุ่มผู้เรียน และลดระยะเวลาในการฝึกฝนช่วงแรก

.

คำว่า “อิมเมจ” (image) ในบริบทการฝึกนี้สอดคล้องกับหลักการ active images ของซาริลลี ซึ่งคือภาพในหัวที่ผู้ฝึกต้องสร้างขึ้นมา ภาพที่นักแสดงต้องทำงานด้วยนี้ทรงพลังเสมือนกับว่ามันมีชีวิต (living) เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงการทำงานภายในสมองกับการทำงานของร่างกาย เกิดเป็นแรงกระตุ้นที่นำไปสู่ “เพรเซนซ์ (presence)” ในการแสดงได้ หลักการนี้ถือว่าสำคัญที่สุดและอยู่ในทุก ๆ ขั้นตอนของการฝึกฝน โครงสร้างของแนวทางการฝึกฝนประกอบด้วยสามส่วนที่ซ้อนกัน ดังนี้

.

> ชั้นนอกสุด “พื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ (Platform for creativity)” คือสภาพแวดล้อมและโครงสร้างการฝึกที่ช่วยให้นักแสดงพัฒนาศักยภาพสูงสุดและตอบโจทย์ทางการแสดงระหว่างฝึกฝน รวมไปถึงในขณะแสดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

> ชั้นกลาง “การทำสมาธิแบบเคลื่อนไหว (Meditation in motion)” คือเครื่องมือหรือรูปแบบในการฝึกฝนที่เน้นการพัฒนากายจิต ผ่านแบบฝึกหัดการเคลื่อนไหวที่ทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง (ในบริบทการฝึกฝนของซาริลลีคือไท่เก๊ก โยคะ และกาลาริปปยัตตุ)

.

> ชั้นในสุด “เพรเซนต์ในการแสดง (Presence in performance)” คือแก่นหรือสภาวะเป้าหมายของการฝึกฝน เพรเซนซ์ หรือการปรากฏตัวอย่างมีพลังในการแสดง

.

ในกระบวนการฝึกฝนไม่ได้มีส่วนใดเกิดขึ้นก่อน โครงสร้างที่ประกอบด้วยวงกลมสามวงที่ซ้อนกันอยู่ปรากฏขึ้นตั้งแต่การทำงานในวันแรก และจะพัฒนาขึ้นผ่านการทำงานกับภาพ (living images) ในช่วงการฝึกฝน รวมถึงการทำงานกับโจทย์ทางการแสดงจริง

.

แฟนเพจ The Showhopper สามารถเรียนรู้แบบฝึกหัดเพิ่มเติมได้จากหนังสือของกฤษณะ พันธุ์เพ็งที่เราอ้างอิงไว้แล้วด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกฝนนักแสดงในทุกบริบทของการแสดง หากมองว่าการแสดงคือศิลปะแขนงหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับงานจิตรกรรม การเต้นรำ และการเล่นดนตรี ถ้าเรายังคาดหวังให้จิตรกร นักเต้น และนักดนตรีฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ คงเป็นไปได้ยากที่เราจะยอมรับนักแสดงที่ไม่เคยฝึกฝนการแสดงมาก่อน

.

เรื่อง: Theeranai S.

.

ที่มา: กฤษณะ พันธุ์เพ็ง. (2567). การฝึกนักแสดงสำหรับศตวรรษที่ 21: แนวทางไซโคฟิสิคัล (Actor Training for the 21st Century: A Psychophysical Approach). สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page