top of page
รูปภาพนักเขียนBloomsbury Girl

“ทำหนังดีได้ครึ่งของเขาหรือยังถึงมาวิจารณ์?” ผู้ไม่เชี่ยวชาญมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นแค่ไหนในสังคมที่ ‘อ่อนไหว’ ต่อเสียงวิพากษ์เชิงลบ



“ถ้าเก่งนักก็ไปทำหนังดูเองเลย”

“ถ้าไม่มีอะไรดีๆ จะพูดก็ไม่ต้องพูดดีกว่า”

“คนอื่นเขาชอบ ถ้าตัวเองไม่ชอบก็แค่ไม่ต้องมาสนใจ ไม่ต้องมาพูดถึง”

.

ที่ใดมีงานศิลป์ ที่นั่นมีเสียงวิจารณ์ ประวัติศาสตร์ศิลปะเริ่มต้นเมื่อไหร่ วัฒนธรรมการวิพากษ์ก็ก่อตัวขึ้นเมื่อนั้น ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่มนุษยชาติเสพศิลป์โดยไม่แบ่งปันความชอบ (หรือความไม่ชอบ) นั้นกันในสังคม แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบใจเวลามีใครมาวิจารณ์ชิ้นงานของตนและชิ้นงานที่ตนชื่นชอบ

.

ตั้งแต่กวียุคออกัสตัน อเล็กซานเดอร์ โพป (Alexander Pope) ที่กล่าวถึงนักวิจารณ์ว่า “ปิศาจร้ายพวกนี้ เจ้าพวกนักวิจารณ์อย่างไรเล่า!” มาจนถึงนักร้องสาวยุคศตวรรษที่ 21 ลิซโซ (Lizzo) “พวกคนที่มา ‘รีวิว’ อัลบัมทั้งที่ตัวเองทำเพลงไม่เป็นนี่สมควรจะตกงานไปให้หมด”

.

หรือแม้แต่ซูเปอร์สตาร์ตัวแม่อย่างอาริอานา แกรนเด (Ariana Grande) ก็ยังเคยมีจุดที่เบื่อหน่ายคำวิจารณ์เหลือเกิน เธอทวีตว่า “วันนึงพวกคนเขียนบลงเขียนบล็อกพวกนี้ก็คงจะคิดได้เอง ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่มันว่างเปล่าและไร้ประโยชน์ขนาดไหน” ก่อนจะลบทวีตนั้นออกไปอย่างรวดเร็ว

.

และมุมมองแบบเดียวกันนี้ก็แพร่หลายอยู่ในวงการวิจารณ์ภาพยนตร์เช่นกัน ในด้านหนึ่งเราอาจเห็นกลุ่มคนดูที่หิวโหยรีวิวอันตรงไปตรงมาในฐานะผู้บริโภค แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีท่าทีต่อต้านคำวิจารณ์เชิงลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำวิจารณ์เชิงลบที่มาจาก ‘ผู้ไม่เชี่ยวชาญ’ (สังเกตว่าหากตาสีตาสาโนเนมอย่างเราๆ เลือกแสดงความเห็นในเชิงบวก ความไม่เชี่ยวชาญกลับไม่เป็นปัญหาอะไร?)

.

ความย้อนแย้งในลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่ในไทยเท่านั้น แต่มีปรากฏให้เห็นทั่วโลก ทว่าสำหรับโลกภาษาอังกฤษ ถือว่ายังดีที่ยังมีวัฒนธรรมการวิพากษ์อันเข้มแข็งมาช่วยคาน เห็นได้จากบทความในวารสารรีวิวที่ยังคงขายได้เรื่อยๆ คอลัมน์รีวิวในหนังสือพิมพ์ที่ยังมีฐานคนอ่าน รวมถึงแพลตฟอร์มรีวิวมากมายที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกับนักวิจารณ์มืออาชีพ สำหรับโลกภาพยนตร์ก็คงมี Rotten Tomatoes และ Letterboxd ส่วนโลกวรรณกรรมก็มี Goodreads

.

หากใครเข้าไปใช้เว็บไซต์เหล่านี้บ่อยๆ ก็จะรู้ว่าหลายครั้ง การที่ผลงานเรื่องเด่นเรื่องดังจะโดนใครไม่รู้สับเสียเละไม่เหลือชิ้นดีนั้นเป็นเรื่องปกติมาก (ไม่ได้หมายว่าทุกคำวิจารณ์บนนั้นจะน่าเชื่อถือ แต่ก็ยังดีที่วัฒนธรรมการวิพากษ์ยังคงถูกปฏิบัติโดยคนธรรมดาทั่วไป)

.

ขณะที่ในภาษาไทย แนวทางการวิจารณ์สื่อบันเทิง ทั้งของสื่อมวลชนก็ดี และของเพจรีวิวตามโซเชียลก็ดี ต่างเริ่มหันมาเน้นสัดส่วนการเล่าเรื่อง เล่าประเด็นมากขึ้น และแสดงความคิดเห็นว่าในด้านลบน้อยลง อาจด้วยโครงข่ายภายในวงการขนาดไม่ใหญ่นัก ที่ยึดโยงผู้คนภายในวงการเข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้เกิดความ ‘เกรงใจ’ ไม่อยากพูดอะไรกระทบใจคนที่ตั้งใจสร้างหนัง

.

กลายเป็นว่านัยหนึ่ง การตัดสินใจจะวิจารณ์อะไรสักอย่างของคนคนหนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นการพูดถึงคุณภาพผลงานล้วนๆ อย่าง impersonal (ไม่มีเรื่องส่วนตัวปะปน) กลับเริ่มมีความ personal ขึ้นมา คือมีความไม่อยากทำให้คนนั้นคนนี้ไม่พอใจมาเกี่ยวข้อง แม้เรื่องนี้เมืองนอกก็เป็นเหมือนกัน แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมการวิจารณ์ของเขาเป็นวงการขนาดใหญ่กว่าเรา ‘คนวิจารณ์’ กับ ‘คนทำ’ บ้านเขาจึงมีระยะห่างจากกันมากกว่าบ้านเราอยู่หน่อย

.

อย่างไรก็ดี หากมองกลับกันจากมุมของสายผลิต (และแฟนๆ ที่ออกมาปกป้องผลงานเหล่านั้น) บ้าง สายสัมพันธ์ระหว่างสองวงการและวัฒนธรรมเกรงใจอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด สิ่งที่เราควรตั้งคำถามไปพร้อมกัน อาจเป็นคุณภาพและความน่าเชื่อถือของรีวิวที่หลั่งไหลเข้ามาไม่สิ้นสุดด้วย

.

ในยุคที่ผู้คนมั่นใจที่จะเปิดหน้าทำคอนเทนต์กันมากขึ้น และใครๆ ก็เป็น Micro-Influencer หรือ Key Opinion Leader (KOL) ได้ แถมยังมีชิ้นงานเกิดขึ้นมากมายเกินกว่าจะรีวิวได้หมด การลงแรง เวลา และทุนคราฟต์รีวิวสักชิ้นขึ้นมาอย่างละเมียดละไมจึงไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่พบได้บ่อยอีกแล้ว พวกเขาต้องแข่งขันกันเอง แข่งขันกับเวลา แข่งขันกันดึงดูดผู้เสพด้วยพาดหัวและเนื้อหาที่เร้าใจ (ซึ่งอาจจะไม่แฟร์กับสายผลิตเสมอไป) ในท้ายที่สุด ใครก็ตามที่ทำให้คลิปรีวิวหรือบทความรีวิวของตนถูกมองเห็นได้ก่อนก็จะได้เปรียบไปโดยปริยาย เพราะแย่งชิงพื้นที่ความสนใจไปได้

.

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่านอกจากเรื่องสถานะผู้เชี่ยวชาญ-ไม่เชี่ยวชาญแล้ว จรรยาบรรณที่เริ่มเลือนหายไปเพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์บนโลกออนไลน์ ก็มีส่วนทำลายความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์รีวิวโดยรวมเช่นกัน

.

แม้อาจยังไม่ได้คำตอบแน่ชัดของคำถามที่ว่า “ขอบเขตของการวิจารณ์ควรสิ้นสุดที่ตรงไหน?” แต่ความเป็นไปได้หนึ่งที่เรามองเห็นว่าทำได้ทั้งสองฝ่าย คือการ ‘impersonalize’ หรือการแยกแยะเรื่องส่วนตัวออกจากการมอบและการรับคำวิจารณ์

.

ในขณะที่ฝ่ายวิจารณ์ก็ควรแยกแยะให้ได้ว่าควรวิจารณ์คุณภาพผลงานเป็นหลัก โดยไม่ส่งต่อความเกลียดชังหรือ hate speech ต่อตัวบุคคลใด ฝ่ายที่ได้รับคำวิจารณ์ก็ควรแยกแยะเช่นกันว่า คำวิจารณ์โดยสุจริตที่พูดถึงงานของตนในเชิงลบนั้นไม่ใช่ hate speech เสมอไป และคำวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์จากทั้งผู้เชี่ยวชาญ-ไม่เชี่ยวชาญต่างสามารถมอบมุมมองใหม่ๆ ที่เราสามารถนำไปพัฒนางานชิ้นถัดไปได้

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.

อ้างอิง

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page