top of page
รูปภาพนักเขียนGaslight Café

นักกีฬา สาวแซ่บ ตำรวจทึมๆ ฯลฯ สำรวจ ‘ตัวละครขนบ’ ในหนังสยองที่เหมือนจะซ้ำซาก แต่ก็ขาดไม่ได้



เมื่อต้องการความตื่นเต้นขวัญผวา ได้ปลดปล่อยอารมณ์ด้วยเสียงกรี๊ด จะมีอะไรดีไปกว่าการดูหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทที่ทำเอาใจเต้นจนแทบระเบิดออกมาจริงมั้ยครับ และถ้าคุณเป็นแฟนหนังสยองขวัญตัวยง คุณจะต้องคุ้นเคยกับคุณลักษณะแบบเหมารวมของตัวละครที่ถูกใช้วนไปวนมาในหนังแนวนี้อย่างแน่นอน

.

ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่สร้างความขบขัน ตัวละครที่เราเห็นปุ๊บก็รู้ว่ามาเพื่อโดนเชือด หรือตัวลับๆ ล่อๆ แต่มาเพื่อหลอกคนดูเฉยๆ ตัวละครเหล่านี้ล้วนเป็นสีสันและกลายเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างของหนังสยองขวัญมาโดยตลอด วันนี้เราจะชวนทุกคนมาสำรวจตัวละครประเภทต่างๆ ที่พบได้บ่อยในหนังสยองขวัญกันครับ

.

.

 “พี่ตำหนวดดดด~”

.

คำพูดที่ว่า ‘ตำรวจชอบมาตอนจบ’ นั้นเป็นความจริงตลอดมาและตลอดไป (เพราะถ้าตำรวจมาก่อน หนังคงจบเลยเหมือนมีมแซวตัดจบหนังที่เห็นกันในโซเชียลบ่อยๆ ) แน่นอนเราอุ่นใจที่เห็นใครซักคนในกระบวนการยุติธรรมโผล่มาช่วยเหยื่อที่กำลังตกอยู่ในวิกฤติ แต่คุณพี่ก็มักจะมาเอาตอนที่นางเอกผู้สะบักสะบอมฟาดกับฆาตกรด้วยสองมือตัวเองจนจบเกมไปแล้ว ในบางครั้งคุณพี่มาก่อนก็จริง แต่ดันมาเพื่อเป็นเหยื่อของเจ้าฆาตกรเองซะงั้น หนักๆ หน่อยก็คือขิตไปเลยเป็นรายแรก

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “รองนายอำเภอ Dewey Riley” (David Arquette) จากแฟรนไชส์ Scream | “นักสืบเอกชน Milton Arbogast” (Martin Balsam) จาก Psycho (1960) | “นายอำเภอ Leigh Brackett” (Charles Cyphers) จากแฟรนไชส์ Halloween

.

.

 “ไอ้หนุ่มนักกีฬา”

.

‘พวกหล่อล่ำสาวกรี๊ด’ พบเจอได้ในหนังสยองขวัญมาตั้งแต่ยุค 50 มักมาเพื่อเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังแนวนี้ ฟังก์ชันของตัวละครประเภทนี้ขึ้นกับหนังเรื่องนั้นๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วมักตกอยู่ในสามกลุ่มคือ 1) คนที่ลงไม้ลงมือต่อสู้เพื่อซื้อเวลาให้ตัวละครอื่น 2) พล็อตทวิสต์มาเป็นตัวร้ายซะเองให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย หรือ 3) พวกกักขฬะสมองกลวงปากแจ๋วที่คนดูรู้แน่ว่าแกต้องตุยก่อนเพื่อน (ซึ่งพบเจอประเภทสุดท้ายนี้ได้บ่อยสุด)

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Barry Cox” (Ryan Phillippe) จาก I Know What You Did Last Summer (1997) | “Curt Vaughn” (Chris Hemsworth) จาก The Cabin in the Woods (2012) | “Carter Horton” (Kerr Smith) จาก Final Destination (2000)

.

.

 “อิสาวเชียร์ลีดเดอร์”

.

หมวดหมู่นี้หมายถึงตัวละครหญิงที่มีลักษณะหน้าตาสะสวยน่ารัก ทรวดทรงแบบสวรรค์สร้าง หน้าอกหน้าใจทะลักทลาย (และในยุคหนึ่งมักถูกเซตให้เป็นสาวผมบลอนด์) ‘เชียร์ลีดเดอร์’ จะตีคู่มากับทีม ‘ไอ้หนุ่มหล่อล่ำ’ ซึ่งหมายความว่า เรื่อง bitchy ขอให้บอก แต่เรื่องรอบคอบไม่เคยมี ดีกรีความด้อยสติปัญญามากน้อยขึ้นกับการดีไซน์ของผู้สร้าง และมักจะตุยเย่ไปในเวลาไล่เลี่ยกันกับหนุ่มล่ำ บ่อยครั้งฉากเชือดตัวละครกลุ่มนี้มักจะเป็นซีเควนซ์ที่ตื่นเต้นอันดับต้นๆ ของหนัง และพวกเธอจะเน้นแผดเสียงให้หวีดแหลมที่สุดมากกว่าพยายามจะหาทางเอาชีวิตรอดแบบฉลาดๆ

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Helen Shivers” (Sarah Michelle Gellar) จาก I Know What You Did Last Summer (1997) | “Paige Prescott” (Denise Richards) จาก Valentine (2001) | “Paige Edwards” (Paris Hilton) จาก House of Wax (2005)

.

.

 “เดอะ ไฟนอล เกิร์ล”

.

‘สาวผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย’ เป็นหัวใจสำคัญของหนังเขย่าขวัญเกือบทุกเรื่อง ภาพลักษณ์ของเธอมักเป็นคนไตร่ตรองได้ดี มีไหวพริบ เริ่มต้นด้วยความไร้เดียงสา แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเป็นพวกขี้ระแวงหรือจิตตกเมื่อเจอเหตุการณ์สยองขวัญซ้ำแล้วซ้ำเล่า (แต่ก็ไม่เสมอไป) ระดับความหลักแหลมและความมีสติปัญญาของตัวละครกลุ่มนี้จะมากกว่าสาวเชียร์ลีดเดอร์อยู่มากโข เธอมักเป็นเป้าหมายหลักของฆาตกร แต่ความตุยทำอะไรเธอไม่เคยได้ ต่อให้จะผ่านเหตุการณ์ไปอีกกี่ภาคก็ตาม เพราะคนที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนมาตุยแทนคือเพื่อนใหม่ในแต่ละภาคของเธอนั่นเอง

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Sidney Prescott” (Neve Campbell) จากแฟรนไชส์ Scream | “Laurie Strode” (Jamie Lee Curtis) จากแฟรนไชส์ Halloween | “Ellen Ripley” (Sigourney Weaver) จากแฟรนไชส์ Alien

.

.

 “ไอ้หมอนั่นกับยัยคนนั้น”

.

หมวดนี้ขอยกให้กับตัวละครประเภท ‘นอกคอก’ ซึ่งเป็นประเภทที่ผู้ชมมักจดจำได้ดีเนื่องจากมีทัศนคติที่โดดเด้งแปลกแยกออกมาจากกลุ่มตัวละครหลัก ถ้าแบบดีๆ ก็เช่น พวกตัวละครเนิร์ดๆ น่ารำคาญในหมู่เพื่อนที่ดันรู้ลึกรู้จริงในเรื่องราวบางอย่างจนเป็นประโยชน์ต่อการเอาชีวิตรอด แย่ลงมาหน่อยก็อาจเป็นพวกจิตเวชที่ชอบพร่ำเพ้อพรรณนาไปเรื่อย แต่แอบแฝงคำใบ้หายนะเปิดเป็นปมให้เราครุ่นคิดไว้ในนั้นเป็นประจำ หรือแบบเลวที่สุดก็คือ มาเพื่อให้คนดูเกลียดและแช่งให้ตุยไปเลย เพราะบั่นทอนความพยายามรักษาชีวิตของพวกตัวละครหลักเหลือเกิน

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Mrs. Carmody” (Marcia Gay Harden) จาก The Mist (2007) | “Carter Burke” (Paul Reiser) จาก Aliens (1986) | “Randy Meeks” (Jamie Kennedy) จาก Scream (1996)

.

.

 “เฒ่าอสรพิษ”

.

บ่อยครั้งผู้สูงอายุมักกลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างความสยดสยองให้กับหนัง เพราะมีทั้ง 1) ปัจจัยทางด้านกายภาพที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นความผิดปกติของร่างกายมนุษย์ได้ง่าย 2) ปัจจัยทางด้านทัศนคติที่อาจมีทั้งการเป็นผู้กุมความลับ (เนื่องด้วยเพราะอยู่มานาน) และทำให้ตัวละครในเรื่อง (รวมถึงผู้ชม) รู้สึกยำเกรงจนกลายเป็นความอึดอัด ไปจนถึง 3) ปัจจัยในด้านพฤติกรรมโดยธรรมชาติที่หากผู้สร้างทำให้ผิดแผกไปหน่อยนึง เราคนดูก็ขนลุกกราวไปหมดแล้ว (เช่น ยายแก่นอนป่วยหนักที่อยู่ดีๆ ก็มีพละกำลังวิ่งพรวดพราดพุ่งเข้าใส่กล้อง)

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Violet Devereaux” (Gena Rowlands) จาก The Skeleton Key (2005) | “Minnie Castevet” (Ruth Gordon) จาก Rosemary’s Baby (1968) | “Pearl” (Mia Goth) จาก X (2022)

.

.

 “เด็กมีปัญหา…หา…หา”

.

มีคนแก่แล้ว ก็ต้องมีเด็กด้วย จะเป็นแค่เด็กมีปัญหาเฉยๆ หรืออัพเวลไปเป็นเด็กเปรต หนังสยองขวัญหลายเรื่องก็มักใส่ตัวละครกลุ่มนี้เอาไว้เสมอ เพราะเด็กเป็นวัยที่ในบางครั้งก็ยากที่เราจะคาดเดาเนื่องจากเป็นช่วงชีวิตที่ยังต้องเรียนรู้ เอาง่ายๆ ก็คือ ผู้สร้างสามารถสร้างความสยองขวัญได้คล้ายๆ กับตัวละครคนแก่ เพราะมีความพร้อมในปัจจัยด้านต่างๆ ใกล้เคียงกัน เช่น การที่เด็กทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์/โดนหลอกล่อ/โดนควบคุมมาอีกที การที่เด็กไม่ปริปากพูดความลับจนกว่าจะถึงไคลแม็กซ์ของเรื่อง หรือการรู้อะไรมากไปจนเกินวัยของเด็กนั่นเอง

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Cole Sear” (Haley Joel Osment) จาก The Sixth Sense (1999) | “Esther” (Isabelle Fuhrman) จากแฟรนไชส์ Orphan | “Damien” จากแฟรนไชส์ The Omen

.

.

 “วายร้ายโรคจิต”

.

และสุดท้ายสิ่งที่หนังสยองขวัญจะขาดไม่ได้เลยก็คือวายร้ายที่แท้ทรู เป็นไปได้หมดตั้งแต่มนุษย์ต่างดาว สัตว์ประหลาด อำนาจชั่วร้าย วิญญาณอาฆาตตัวบอส ไปจนถึงพวกคนโรคจิตวิปลาส ในหนังสแลชเชอร์หลายๆ เรื่อง ฆาตกรที่ถูกสอยไปแล้วมักไม่ตุยจริง อย่างน้อยต้องแกล้งนอนเป็นศพให้นางเอกตายใจก่อนซักหนึ่งยก เสร็จแล้วก็ jump scare ลุกขึ้นมาฟาดฟันกันอีกหน โดยมากตัวละครกลุ่มนี้จะปิดบังใบหน้า ปล่อยให้คนดูคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าเป็นใคร แต่ก็มีเหมือนกันที่เปิดหน้าให้รู้ไปเลยตั้งแต่แรก ที่เหลือก็คือหน้าที่พระเอกนางเอกที่ต้องเอาตัวรอดจากความบ้าคลั่งของมันให้ได้

.

ตัวอย่างรายชื่อ: “Leatherface” จากแฟรนไชส์ The Texas Chainsaw Massacre | “Chucky” จากแฟรนไชส์ Child’s Play | “Dr. Hannibal Lecter” (Anthony Hopkins) จาก The Silence of the Lambs (1991) และ Hannibal (2001)

.

.

เรื่อง: Gaslight Café

.


ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page