top of page

บทเพลงแห่งความรักที่หลากหลาย จากโลกมิวสิคัล


🌈✨ ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ ๆ …ใช่แล้ว นอกจากเป็นเดือนแห่งความชุ่มฉ่ำ (ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำขังรอระบายด้วยอีกหนึ่ง) มิถุนายนยังเป็น Pride Month ช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจและการเซเลเบรทของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่จะเปิดโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้ตัวตนผ่านเฟสติวัลธงสีรุ้งกับกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจมากมาย

.

หนึ่งในวิธีง่าย ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจคือการสื่อสารผ่านบทเพลง และในโลกแห่งมิวสิคัลที่โอบรับความหลากหลายทุกเฉดสีมานานปีดีดัก ก็มีบทเพลงที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดหัวจิตหัวใจของชาว LGBTQIAN+ อยู่เต็มไปหมด

.

วันนี้เดอะโชว์ฮอปเปอร์ขอร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ด้วย 9 ท่อนน่าจดจำจาก 9 บทเพลงมิวสิคัล ที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสเปกตรัมไหน กำลังมีความรู้สึกมืดหม่น หรือสว่างสดใสเช่นไร ก็สามารถให้เพลงเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนบอกเล่าเรื่องราวของคุณได้

.

Happy Pride Month! แล้วไปดูกันเลยว่าเราเลือกเพลงอะไรมาบ้าง! 👀🎼

.

.

เรื่อง: Gaslight Café

.

#TheShowhopper #ไปดูมาแล้ว #Musical #LGBTQ #Movie #เนื้อเพลง #PrideMonth



“I’m who I am

And I think that’s worth fighting for

And nobody out there ever gets to define

The life I'm meant to lead

With this unruly heart of mine”

.

“ฉันก็เป็นฉัน

และคิดว่าควรค่าที่จะสู้เพื่อปกป้อง

และไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิ์นิยาม

ชีวิตที่ฉันเลือกเดิน

พร้อมหัวใจดื้อดึงดวงนี้”

.

– ‘UNRULY HEART’ | THE PROM – 

.

ใน The Prom (รับชมได้ทาง Netflix) เด็กไฮสคูลคนหนึ่งที่ชื่อว่า Emma ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสในการควงคู่แฟนสาวของเธอไปออกงานสำคัญของช่วงชีวิตวัยรุ่นอย่างงานพรอม เธอเจอทั้งการบูลลี่และกีดกัน แต่ก็ได้รับแรงซัพพอร์ตแบบเว่อร์ ๆ ปนเพี้ยน ๆ จากกลุ่มนักแสดงตกอับกลุ่มหนึ่งจากบรอดเวย์ ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่ขึ้นชื่อเรื่องการสนับสนุนความหลากหลายในทุกเฉด

.

เพลง “Unruly Heart” ถูกร้องในซีนหนึ่งช่วงท้ายของหนัง ซึ่ง Emma ตั้งใจไลฟ์ผ่านสตรีมมิงเพื่อแชร์เรื่องราวของเธอไปยังผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน และเนื้อเพลงท่อนที่ยกมานี้ก็คือแมสเสจสำคัญของ The Prom ที่ไม่เพียงเป็นแมสเสจที่คมคายลึกซึ้ง แต่ยังเข้าอกเข้าใจตัวตนของชาว LGBTQ+ ได้แบบสากล แถมได้เมโลดี้สวย ๆ ช่วยส่งให้ไพเราะกินใจยิ่งขึ้นไปอีกด้วย




“You can dance, you can jive

Having the time of your life

See that girl, watch that scene

Digging the dancing queen”

.

“เธอมีสิทธิ์เต้น มีสิทธิ์เริงร่า

หรรษาไปกับชีวิต

ดูแม่สาวคนนั้น กลางฉากสำคัญ

สุขสันต์กับนางพญาเท้าไฟ”

.

– ‘DANCING QUEEN’ | MAMMA MIA! –

.

Mamma Mia! (รับชมได้ทาง Max) คือมิวสิคัลสุดสดใสที่ว่าด้วยลูกสาววัยทีน คุณแม่สุดซ่า กับคุณพ่ออีก 3 คนที่ไม่รู้ว่าคนไหนคือพ่อตัวจริง แน่นอนว่านี่ไม่ใช่หนังที่มีตัวละคร LGBTQ+ เป็นศูนย์กลาง (แม้จะมีพูดถึงบ้างเล็กน้อยก็ตาม) แต่ก็ต้องยอมรับว่า Mamma Mia! เป็นหนังที่เอา element หลาย ๆ อย่างมาคลุกเคล้ารวมกันแล้วมันช่างถูกจริตชาวสีรุ้งไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวละครนำสไตล์ ‘ขุ่นแม่’ ไปจนถึงหนุ่มหล่อล่ำกับหาดทรายงาม และความสนุกสนานเฮฮาของบทเพลง

.

โดยเฉพาะเพลงที่เหมือนพูดแทนใจคนทุกคน (ที่ไม่ใช่แค่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเท่านั้น) อย่าง “Dancing Queen” ซึ่ง (เราเชื่อว่า) ลึก ๆ ในก้นบึ้งแล้ว ต่างก็โหยหาความรื่นเริงเบิกบานในชีวิตที่ถูกล้อมรอบด้วยนานาปัญหาร้อยแปดเหมือน ๆ กัน และเพลงนี้ก็ให้ความรู้สึกปลดปล่อย เป็นตัวของตัวเอง เหมือนภาพของตัวละครที่กำลังวิ่งเริงร่าในฉากดังกล่าว

.

ดังนั้นถ้าเพียงแค่เราได้ ‘เต้น สุขสันต์ หรรษา’ กันสักนิดอย่างที่เพลงบอกเอาไว้ ก็คงมีพลังดี ๆ ชาร์จเข้ามาให้พร้อมเดินหน้ากันต่อได้แล้ว




“Done looking for the critics 'cause they're everywhere

They don't like my jeans, they don't get my hair

Exchange ourselves and we do it all the time

Why do we do that, why do I do that?”

.

“เลิกหาคำวิจารณ์เพราะมันมีดาษดื่น

บ้างก็ไม่ชอบยีนส์ฉัน บ้างก็ไม่ปลื้มทรงผม

จนเราต้องทำตัวผิดแผก และลงเอยทำแบบนั้นตลอดเวลา

แล้วทำไมเราต้องทำอย่างงั้นล่ะ ทำไมฉันต้องทำอย่างนั้น”

.

– ‘PERFECT’ | GLEE –

.

หนึ่งใน performance ที่ซีรีส์มิวสิคัลในตำนานอย่าง Glee (รับชมได้ทาง Disney+ Hotstar) คัดสรรจัดวางได้อย่างน่าจดจำก็คือนัมเบอร์ “Perfect” ฉากเพลงเปิดอีพีที่ 7 ของซีซัน 3 ซึ่งมาจากเพลงต้นฉบับโดย Pink ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “F**kin’ Perfect” นั่นเอง นี่เป็นอีกเพลงที่พูดถึงการเป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยใคร เพราะเราคือความสมบูรณ์แบบในแบบของเรา

.

ในฉากดังกล่าว “Perfect” ถูกหยิบมาใช้ในบริบท ‘จากคู่รัก LGBTQ+ สู่คู่รัก LGBTQ+’ ได้อย่างน่าสนใจ เมื่อคู่รักชาย-ชายที่เปิดเผยตัวตนอย่าง Blaine และ Kurt ร้องเพลงนี้เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนความรักแบบหญิง-หญิงของสมาชิกร่วมชมรมร้องเพลงอย่าง Santana และ Brittany ซึ่งเป็นสิ่งที่ Santana ยังก้าวข้ามผ่านไม่ได้

.

แม้ว่านี่เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหายึดโยงได้แบบทั่ว ๆ ไปกับทุก ๆ คนที่ผ่านช่วงเวลายากลำบากในชีวิตมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่ Glee เลือกเพลงนี้มาตีความในมุมมองเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ ทำให้ “Perfect” ยิ่งมีความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก




“If I say I love him

You might think my words come cheap

Let's just say, I'm glad he's mine

Awake, asleep”

.

“ถ้าบอกว่าผมรักเขา

คุณอาจคิดว่าเป็นคำพูดที่มักง่าย

เอาเป็นว่า ผมดีใจที่เขาเป็นของผม

ไม่ว่าจะยามตื่น หรือยามนอน”

.

– ‘WHAT MORE CAN I SAY?’ | FALSETTOS –

.

เพลงเพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่จำเป็นเลยที่จะต้องวกวนอยู่แต่กับธีม กัดฟันยืนหยัดด้วยลำแข้ง-ดิ้นรนสู้ชีวิต-ขายดราม่า อยู่ร่ำไป เพราะหัวใจของทุกคนมีรัก และทุกความรักก็มีค่าเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสเปกตรัมไหนของธงสีรุ้ง ดังนั้นสำหรับสล็อตนี้เราจึงขอยกพื้นที่ให้กับเพลงที่มอบโทนอบอุ่นแห่งการรู้สึกถึงรักที่ดีของ LGBTQ+

.

“What More Can I Say?” เป็นฉากหนึ่งจากองก์ 2 ของ sung-through musical เรื่อง Falsettos ซึ่งเปิดแสดงที่บรอดเวย์ไปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2016 เนื้อหาของละครเล่าถึง Marvin ชายคนหนึ่งซึ่งตีจากภรรยาของตัวเองไป เพื่อไปอยู่กับ Whizzer คนรักของเขาอีกคนที่เป็นผู้ชาย แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะสานสัมพันธ์ให้ทุกคน (รวมทั้งลูกชายวัย 10 ขวบของเขา) อยู่ร่วมกันได้

.

ในฉากนี้ Whizzer หลับสนิทอยู่ในอ้อมกอดของ Marvin ในขณะที่ Marvin ก็ร้องเพลงเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกออกมาหลังจากที่เขาตระหนักได้อย่างจริงจังว่าเขารัก Whizzer มากแค่ไหน เสียงเปียโนที่เคล้าคลอไปตลอดเพลงกับท่วงทำนองที่ไม่ต้องเค้นเสียงร้องเพื่อขายพลัง ทำให้ฉากนี้กลายเป็นโมเมนต์ที่ทั้งจริงใจและงดงาม




“Any time you feel your skies are falling

Look above, see a bright silver lining

Listen up at your own freedom calling

Calling you to a day where you're shining”

.

“วันใดรู้สึกเหมือนฟ้าถล่ม

เงยหน้าสู่เบื้องบน มองแสงวิบวับที่ปลายฟ้าไกล

ฟังสิ มีเสียงเรียกสู่อิสรภาพครั้งใหม่

เรียกไปสู่ดินแดนที่เราได้ส่องแสง”

.

– ‘OUT OF THE DARKNESS (A PLACE WHERE WE BELONG)’ | EVERYBODY’S TALKING ABOUT JAMIE –

.

Jamie คือหนุ่มน้อยวัย 16 ปีคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็น drag queen เขาอาศัยในเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ อยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ที่คอยซัพพอร์ตและเป็นกำลังใจที่ดีในทุก ๆ เรื่อง แต่โลกแห่งความเป็นจริงมักโยนเรื่องเจ็บปวดมาสู่เราเสมอ Jamie ต้องเจอบททดสอบทั้งการบูลลี่จากเพื่อนที่โรงเรียน ประสบการณ์ได้เป็นนางโชว์ครั้งแรก รวมถึงความหวังว่าสักวันหนึ่งพ่อของเขาจะหันมาดูดำดูดีเขาบ้าง …และนี่คือ everything ที่ทำให้ 'Everybody's Talking about Jamie' (รับชมได้ทาง Prime Video)

.

เมื่อ Jamie ได้รับอนุญาตให้ร่วมงานพรอมในฉากสุดท้าย มันเปรียบเสมือนประตูบานเล็ก ๆ แต่สำคัญยิ่งที่ในที่สุดก็เปิดออกต้อนรับเขา Jamie ร้องเพลง “Out of the Darkness (A Place Where We Belong)” พร้อมกับหัวใจดวงโตที่ยังคงมองโลกสดใสในแบบที่เขาเป็นตลอดมา และนี่ก็ทำให้เราเชื่อว่าเพลงนี้มีมุมมองที่เหมาะกับทุกคนที่กำลังต่อสู้เพื่อความแตกต่างเช่นกัน




“There will be no fade out, this is not the end

I’m down now, but I’ll be standing tall again

Times are hard, but I was built tough

I’m gonna show you all what I’m made of”

.

“ไม่มีวันจำนน ไม่ยอมจนหนทาง

ฉันล้มวันนี้ ยังมีวันใหม่ให้ยืนขึ้นท้า

เรื่องร้ายแค่ไหน ใจฉันแรงกว่า

แล้วเธอจะเห็นว่า ฉันนั้นแกร่งเพียงใด”

.

– ‘YOU HAVEN’T SEEN THE LAST OF ME’ | BURLESQUE –

.

หนังบางเรื่องแม้ไม่ได้มีหลักใหญ่ใจความใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ เลย แต่หนังเรื่องนั้นก็สามารถเป็นหนังที่ถูกอกถูกใจชาว LGBTQ+ ได้เหมือนกัน เฉกเช่นกับ Burlesque หนังมิวสิคัลเต้นแซ่บในบาร์ร้อนที่นำแสดงโดยสองเกย์ไอคอนตัวแม่อย่าง Cher และ Christina Aguilera เรื่องนี้ (รับชมได้ทาง Netflix)

.

“You Haven’t Seen the Last of Me” ถูกร้องขึ้นมาโดยตัวละคร Tess (Cher) ในฉากซ้อมมิวสิคัลเพลงใหม่ที่เธอต้องใช้สำหรับขึ้นแสดง ทว่าเนื้อหาของเพลงนั้นสอดแทรกความเป็นจริงของตัวละครนี้ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาความอยู่รอดของบาร์ซึ่งตัวเธอเองเป็นเจ้าของอยู่

.

ภาพลักษณ์สไตล์หญิงแกร่งกับเสียงร้องห้าว ๆ ของ Cher ที่ได้เนื้อเพลงเท่ ๆ แนวว่า ‘อย่าเพิ่งนับฉันออก เพราะฉันกำลังยืนขึ้นใหม่ และเธอจะยังไม่ได้เห็นจุดจบของฉัน’ นอกจากจะได้ฟีลของการลุกขึ้นสู้แล้ว ยังลงตัวกับสถานการณ์สากลของคอมมูนิตี้ LGBTQ+ ที่มักจะต้องต่อสู้กับอะไรหลาย ๆ สิ่งอย่างพอดิบพอดีเลยทีเดียว




“I believe I have inside of me

Everything that I need to live a bountiful life

And all the love alive in me

I’m thankful for loving who I really am

I’m beautiful

Yes, I’m beautiful

And I’m here”

.

“ฉันเชื่อว่าฉันนั้นมีดี

มีทุกสิ่งที่ฉันต้องการเพื่อให้ชีวิตสุขสบาย

ด้วยความรักทั้งหมดที่มีในตัวเอง

...

ฉันรู้สึกขอบคุณที่ฉันรักในความเป็นตัวฉัน

ฉันสวยงาม

ใช่ ฉันงดงาม

และฉันอยู่ตรงนี้”

.

– ‘I’M HERE’ | THE COLOR PURPLE –

.

The Color Purple (รับชมได้ทาง Max) ว่าด้วยเรื่องราวความลำบากยากเข็ญของหญิงผิวดำในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ต้องพบเจอทั้งการถูกกดขี่ข่มเหง ลดทอนความเป็นมนุษย์ และการพลัดพรากจากไกล

.

หนึ่งในซับพล็อตที่น่าสนใจของเรื่องนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนน่าค้นหาของตัวละครหญิงสองคู่ คู่แรกคือระหว่างตัวละครหลักอย่าง Celie กับนักร้องหญิงผู้มีหัวใจเสรีอย่าง Shug Avery ส่วนอีกคู่ก็คือระหว่าง Celie กับ Nettie น้องสาวของเธอเอง ซึ่งสนิมสนมกลมเกลียวกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ

.

หลังจากที่ Celie ต้องผ่านความทุกข์ลำเค็ญมามากมาย ในที่สุดเธอก็ได้เป็นเจ้าของชีวิตตนเอง และนั่นเป็นจุดที่เพลง “I’m Here” ถูกนำมาใช้เล่าเรื่อง เนื้อเพลงพูดถึงการรักตัวเอง มองเห็นคุณค่าของตัวเอง และส่งต่อแมสเสจที่เป็นเอเนอร์จี้ด้านบวกอันเป็นประจุที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน

.

และแน่นอนเมื่อว่ากันถึงคอมมูนิตี้ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศแล้ว แมสเสจทำนองนี้ย่อมทำงานได้มากกว่าปกติเป็นธรรมดา หรือถ้าใครคุ้นเคยกับเพลงนี้ในเวอร์ชันละครเวทีซึ่งขับร้องโดย Cynthia Erivo ซึ่งเป็นสมาชิกชาว LGBTQ+ ด้วยแล้ว ก็จะพบความลึกซึ้งในการถ่ายทอดของเธอมากขึ้นไปอีกด้วย




“There’s one life

And there’s no return, and no deposit

One life

So it’s time to open up your closet

Life’s not worth a damn

‘Til you can say

Hey world! I am what I am”

.

“ชีวิตนี้มีเพียงหนึ่ง

ไม่อาจถอยและหลีกหนี

ครั้งนี้

ฉันจะเปิดประตูสู่ความจริง

ศักดิ์ศรีเราคงหมดความหมาย

ถ้าไม่เปิดใจ

พูดออกไปว่าเราเป็นเรา”

.

– ‘I AM WHAT I AM’ | LA CAGE AUX FOLLES –

.

ในบรรดาเพลงมิวสิคัลทั้งหมดในสากลโลกที่สื่อสารโดยตรงเกี่ยวกับ LGBTQ+ คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รวมเอาเพลงนี้มาพูดถึง นี่คือ “I Am What I Am” เพลงฟินาเล่จบองก์ 1 สุด iconic ของ La Cage aux Folles หรือที่ครั้งหนึ่งเคยมาเปิดแสดงในเวอร์ชันภาษาไทยด้วยชื่อ ‘กินรีสีรุ้ง’ นั่นเอง

.

La Cage aux Folles สร้างตำนานตั้งแต่เปิดตัวในปี 1983 ด้วยการทลายกำแพงทางเพศลงจากการเป็นละครเพลงบรอดเวย์เรื่องแรกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนรักร่วมเพศ โดยเล่าถึง Georges เจ้าของไนท์คลับ กับ Albin พาร์ทเนอร์ของเขาที่ควบหน้าที่เป็น drag queen ตัวแม่อยู่ที่นั่นด้วยอีกหนึ่ง ซึ่งต้องรับมือกับโลกในวันที่ชาวสีรุ้งยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างเท่าปัจจุบัน

.

ช่วงท้ายขององก์ 1 Albin ถูกร้องขอให้เปลี่ยนแปลงบางอย่าง และไม่มีส่วนร่วมในหลาย ๆ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อทำให้ลูกชายบุญธรรมสบายใจที่จะสานสัมพันธ์กับครอบครัวของหญิงสาวที่เขารักซึ่งเป็นครอบครัวแบบคนหัวเก่า ด้วยความเสียใจ Albin จึงร้อง “I Am What I Am” ออกมาเพื่อบอกว่า ตัวตนที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องถูกซ่อนเร้น และเราควรภาคภูมิใจกับมัน




“525,600 minutes

525,000 journeys to plan

525,600 minutes

How do you measure the life of a woman or man?

In truths that she learned, or in times that he cried

In bridges he burned, or the way that she died”

.

“525,600 นาที

525,000 การเดินทางที่วางไว้

525,600 นาที

คุณจะวัดคุณค่าของเราทุกคนจากสิ่งใด

จากความจริงที่เธอได้เรียนรู้ หรือจากน้ำตาของเขาที่เสียไป

จากความสัมพันธ์ของเขาที่มอดไหม้ หรือจากความตายที่พรากเธอ”

.

– ‘SEASONS OF LOVE’ | RENT –

.

Rent ถ่ายทอดเรื่องราวของเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ represent เรื่องราวหลากเฉดสีในสเปกตรัมความหลากหลายทางเพศเอาไว้ ตัวละครกลุ่มนี้ใช้ชีวิตในนิวยอร์กซิตี้ และต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ภายใต้ช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรมของยุคสมัยที่มีทั้งการเฟื่องฟูของวัฒนธรรมโบฮีเมียน รวมทั้งการระบาดของเชื้อเอชไอวี

.

ระยะเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบ คงมากพอที่ความผันแปรใด ๆ จะปรับเปลี่ยนได้จนชัดเจนไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลหรือชีวิตคน และ “Seasons of Love” บทเพลง signature สุดไพเราะจากมิวสิคัลเรื่องนี้ก็สื่อสารต่อผู้ฟังอย่างชวนขบคิดถึงคุณค่าแห่งมิตรภาพ ความรัก และการมีชีวิต ในช่วงเวลา 525,600 นาที หรือวันเวลาของแต่ละปีที่ผ่านไป

.

ความสากลในบริบทของเนื้อเพลงเพลงนี้ ทำให้ “Seasons of Love” ไม่เพียงถูกใช้ในมุมมองของ LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังสามารถครอบคลุมไปถึงความรักอีกหลากหลายรูปแบบในโลกนี้ได้ด้วย


Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page