top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

บอกเล่าชีวิตผ่านท่วงท่าและเสียงเพลงใน "Double Exposure"

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2567



คุณจำเสียงขลุกขลักตอนอยู่ในท้องแม่ได้หรือเปล่า หรือจินตนาการบรรยากาศความตายออกไหม?


ยากมากที่จะนึกถึงความทรงจำย้อนกลับไปได้นานขนาดนั้นและอาจต้องใช้เวลาทั้งวันนั่งนึกถึงภาวะของสิ่งที่ยังไม่ถึง แต่เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา เรากลับได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้เข้าเต็มๆ ในการแสดง “Double Exposure: Movement x Music Performance” โดยคณะละครดีง์ (Dee-ng Theatre) ที่มาถ่ายทอดภาวะกาลตั้งแต่ก่อนวันลืมตาดูโลกจนถึงวันลาจาก ผ่านการตีความของ ‘กวิน พิชิตกุล’ นักออกแบบท่าเต้นและผู้ริเริ่มโปรเจกต์ ผสานกับดนตรีประกอบจาก 6 นักแต่งเพลงทั้งไทยและญี่ปุ่น


‘การพบกันของความงดงามในมิติเหลื่อมซ้อน เมื่อการเคลื่อนไหวร่างกายและดนตรีไม่ได้ถูกสร้างมา


เพื่อซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน’


ความน่าตื่นเต้นของการแสดงนี้คือ ทั้งผู้ออกแบบท่าเต้นและนักดนตรีจะทำงานแยกส่วนหลังจากรับโจทย์เพลงละ 1 คำ คือ ‘เกิด’ ‘ลาจาก’ ‘แก่’ ‘เจ็บ’ และ ‘ไม่ตาย’ หลังจากนั้นจึงแยกย้ายไปค้นหาความหมายของแต่ละคำตามมุมมองของตัวเอง นักแต่งเพลงซุ่มทำดนตรี และทีมมูฟเมนต์ก็ซุ่มซ้อมกับความเงียบงัน แต่ความน่าเหลือเชื่อสำหรับเราในฐานะผู้ชมคือ การแสดงทั้งสองส่วนมีจุดที่ผสานกันได้พอดิบพอดีใน ‘พื้นที่เหลื่อมซ้อน’ ที่ถูกเชื่อมโยงด้วยคำเหล่านี้ อาจบอกได้ว่ามนุษย์เราอาจจะมีการมองภาวะต่างๆ ของชีวิตที่คล้ายคลึงกันอยู่ไม่มากก็น้อย แม้จะศิลปินจะมองโจทย์ผ่านประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน


อาจจะเล่าถึงรายละเอียดมากไม่ได้ เพราะอยากให้ลูกเพจ The Showhopper ได้ชมการแสดงนี้ด้วยตัวเอง แต่เราชอบการคิดถึงคำเหล่านั้นไปพร้อมๆ กับศิลปิน เริ่มต้นมาที่ ‘Track 01: เกิด’ (เพลงโดย Kumiko Yabu) เสียงตอนเราเกิดเป็นอย่างไร เสียงในครรภ์ของแม่ มันจะเป็นเสียงอู้ๆ สงบ หรือวุ่นวาย คุณคุมิโกะสร้างดนตรีออกมาให้ความรู้สึกสงบ เคล้าความน่ากังวลจากความไม่รู้ของชีวิตที่ไม่เคยเห็นโลกใบนี้มาก่อน คุณกวินนึกถึงความวุ่นวายของเหตุการณ์โดยรอบในวันที่เด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมา พอการแสดงสองส่วนมาร่วมกัน ก็พาผู้ชมย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องราว ณ ขณะนั้นด้วย ว่าหรือมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ได้ครุ่นคิดถึงรายละเอียดของชีวิตที่หลงลืมตลอดการแสดง


หรือแม้แต่การได้สำรวจการตีความของศิลปินที่อาจจะไม่ตรงกับเราและทำให้ได้เห็นมุมมองที่งดงามมากขึ้น อย่างใน ‘Track 02: ลาจาก’ (เพลงโดย ปรมะ นิมิตรอานันท์) ที่ผู้เขียนอาจมองคำนี้เป็นความโศกเศร้าเสียอย่างเดียว แต่ศิลปินกลับนำเสนอในอีกรูปแบบ ก็ทำให้เราได้ย้อนทบทวนถึงการจากลาที่เกิดขึ้นในชีวิตและเจอเข้ากับความน่ายินดีบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในนั้น


ต่อด้วยอีกสามพาร์ทที่ทำเอาน้ำตารื้น ‘Track 03: แก่’ (เพลงโดย Koji Nagao) ‘Track 04: เจ็บ’ (เพลงโดย คานธี วสุวิชย์กิต) และ ‘Track 05: ไม่ตาย’ (เพลงโดย ธนิสร์​ จำรัสฉาย และ พายัพ แก้วเกร็ด) ตอนจบการแสดงเรารู้สึกขอบคุณศิลปินทุกคนที่อยู่เบื้องหลังงานชิ้นนี้มากๆ ที่ขุดเอาประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตมาแบ่งปัน แผ่กาง ณ พื้นที่แสดงแห่งนี้ และพาผู้ชมเดินทางเข้าไปสำรวจโลกในจิตใจของตัวเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ


“Double Exposure: Movement x Music Performance”


กำกับการเคลื่อนไหวและแสดงโดย ‘กวิน พิชิตกุล’ ร่วมกับ ‘ธนกฤต การะมัด’ ‘ณัชพล สังข์ช่วย’ และ ‘ธนารัฐ ชมพูวณิชกุล’



รอบการแสดง


วันที่ 3-4, 10-11 กุมภาพันธ์ 2567 (เวลา 19.30 น.)


ณ โรงละคร People Of Ari


สำรองที่นั่งทาง Google Form: https://forms.gle/sVWbjaKHeigTCNVq8


หรือ LINE@: https://lin.ee/RgI8fXw


เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์



ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page