top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

พูดคุยเรื่องวายๆ กับ 'ออฟ นพณัช' เพราะวายไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567





จากจุดเริ่มต้นที่ต้องต่อสู้เพื่อการเปิดรับในอุตสาหกรรมสื่อ ตามต่อด้วยกระแสความแมสแบบฉุดไม่อยู่ สู่การถูกแปะป้ายเป็น Soft Power อันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอุตสาหกรรม ‘ซีรีส์วาย’ ในประเทศไทยได้ก้าวข้ามผ่านสถานะ ‘สื่อบันเทิงใต้ดิน’ ขึ้นมาเป็น ‘สื่อกระแสหลัก’ ได้แล้วในที่สุด


แต่แน่นอน ในทุกการเติบโตของ Ecosystem หนึ่งๆ ย่อมไม่อาจขาดองค์ประกอบที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่หล่อเลี้ยงให้วงการนั้นๆ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ องค์ประกอบที่ว่านั้น ‘บุคลากร’ ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังทุกย่างก้าวเล็กๆ แห่งความสำเร็จนั่นเอง


‘ออฟ-นพณัช ชัยวิมล’ คือส่วนหนึ่งของชุมชนคนสร้างสรรค์เหล่านั้น เขาเป็นผู้กำกับไฟแรงที่อยู่กับซีรีส์วายไทยมาทุกยุค นอกจากจะเป็นเจ้าของรางวัล “ผู้กำกับซีรีส์ Y แห่งปี” จากเวที FEED Y Capital Awards 2022 รวมถึงผลงานที่ได้รางวัล “Best LGBTQ+ Programme Made in Asia” จากเวที ContentAsia Awards รวม 3 เรื่อง 3 ปีซ้อนแล้ว เขายังเป็นแขกรับเชิญคนสำคัญในคอนเสิร์ต “𝙒𝙖𝙮 𝘽𝙖𝙘𝙠 𝙄𝙣𝙩𝙤 𝙇𝙤𝙫𝙚 : A Tribute to All-Time Favorite Romantic Comedies” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม


The Showhopper จึงถือโอกาสนี้ ชวนคุณออฟมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแง่คิดเกี่ยวกับสื่อบันเทิงประเภท Boys’ Love (BL) ผ่านมุมมองของ ‘คนใน’ กัน


ตลอดเวลากว่า 7-8 ปีที่ทำงานเบื้องหลังในวงการซีรีส์วายมา ผลงานกำกับที่คุณภูมิใจที่สุดคือซีรีส์เรื่องไหน?


“จริงๆ ก็ภูมิใจและตั้งใจกับทุกเรื่อง จึงไม่แน่ใจว่าจะใช้เกณฑ์อะไรมาจัดลำดับดี (หัวเราะ) เอาเป็นว่าผมขอจำแนกออกจากกันเป็น 2 ขา ขาแรกคือซีรีส์ LGBTQ+ ที่ก้ำกึ่ง หรืออาจจะไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็น ‘วาย’ สักเท่าไร คือ Gay OK Bangkok (2016) ถือเป็นโปรเจกต์แพสชันของผม ซึ่งเอาชีวิต Everyday Life เอาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของเกย์มาเล่า โดยใช้น้ำเสียงเล่าที่แตกต่างจากเรื่องของเกย์ในสื่ออื่นๆ สมัยนั้น ซึ่งยังนิยมเล่าด้วยน้ำเสียงดราม่าสะเทือนใจ มีความเป็นโศกนาฏกรรม (Tragedy) สูง..


ในขณะที่อีกขาหนึ่ง คือผลงานที่ถูกจำแนกเป็น ‘วาย’ จริงๆ มีตั้งแต่เรื่องที่ได้เข้าไปช่วยในตำแหน่งโปรดิวเซอร์อย่าง เพราะเราคู่กัน (2020) หรือผลงานที่เรากำกับเองคือ Dark Blue Kiss (2019) แค่เพื่อนครับเพื่อน (2021) และ นิทานพันดาว (2021) เรื่อยมาจนถึง พระจันทร์มันไก่ (2023) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหลักซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบที่หาเช้ากินค่ำ และยังมีตัวละครที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน ตอนทำเรื่องนี้เรามีโอกาสได้กลับมาแตะเฉดสีของเกย์ที่ represent ความเป็น LGBTQ+ อีกครั้งหนึ่ง จนสุดท้ายซีรีส์ได้เข้าชิงรางวัล Asian Television Awards ในสาขาที่ไม่ได้เป็นสาขาเฉพาะสำหรับ BL แต่เป็นซีรีส์ดราม่ายอดเยี่ยม (Best Drama Series) ร่วมกับซีรีส์ฟอร์มใหญ่ๆ ของเกาหลีอย่าง Little Women (2022) และ Taxi Driver 2 (2023)”


ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมยังมีพยายามที่จะแยกซีรีส์วายออกมาเป็นผลงานอีก ‘Tier’ หรืออีก ‘Genre’ หนึ่ง แยกกับซีรีส์ทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน ในฐานะผู้สร้างของซีรีส์เหล่านี้ คุณมองว่ามันน่าเสียดายไหม?


“น่าแปลกนะ แทนที่เราจะเสียดาย เรากลับเข้าใจมันและดีใจที่เราเดินทางกันมาได้ไกลถึงขนาดนี้มากกว่า อาจจะเพราะเราเข้าใจวิวัฒนาการของคอนเทนต์วายดีว่าเราเริ่มต้นมาจากจุดไหน เดิมทีคอนเทนต์ BL มันไม่ใช่สิ่งที่คนจะสามารถเสพกันอย่างเปิดเผยได้ มันคือหนังสือที่เราจะต้องปิดห้องแอบอ่านอยู่คนเดียวแล้วเก็บเอาไว้อย่างมิดชิดไม่ให้พ่อแม่เห็น คือหนังสือที่แอบอยู่ตามเชลฟ์ลับๆ ในร้านขายการ์ตูนที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งถ้าใครต้องการซื้อก็ต้องรู้โค้ดลับถึงจะซื้อขายกันได้...


แต่วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดที่คอนเทนต์ BL สามารถชนะรางวัล ContentAsia Awards ได้ จุดที่ได้เห็นซีรีส์อย่าง คุณหมีปาฏิหาริย์ (2022) ของช่อง 3 ที่ออนแอร์ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์เมื่อปีก่อน สามารถดึงดูดให้ผู้จัดช่องต่างๆ ทั้งมากสีน้อยสีหันมาสนใจทำ BL กันมากขึ้นได้ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ณ ตอนนี้ BL ได้ถูกมองเห็นแล้ว หมุดหมายเหล่านี้มันทำให้เราเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะดีขึ้นตามลำดับ และในอนาคต สังคมก็จะเปิดโอกาสให้คุณภาพของผลงานเหล่านี้ได้พิสูจน์คุณค่าของตัวมันเอง”


คนส่วนหนึ่งมองว่าซีรีส์วายได้กลายมาเป็น ‘วิธีดังทางลัด’ หรือ ‘ประตูทางผ่าน’ ไปสู่โอกาสที่จะได้เล่นซีรีส์ Genre อื่นๆ คุณคิดว่าจริงไหม?


“ทั้งจริงและไม่จริง ไม่จริงในแง่ที่ว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่เล่นวายแล้วจะดังได้ เพราะในการที่จะแข่งขันกัน แย่งชิงบทที่ดีที่สุดกัน ก็ยังต้องใช้ฝีมืออยู่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็จริงด้วย ในแง่ที่ว่าหากเทียบกันแล้ว เมื่อดาราซีรีส์วายสักคนหนึ่งแจ้งเกิดได้สำเร็จขึ้นมา ฐานแฟนคลับที่สร้างขึ้นทำให้เขาสามารถไปไกลและไปเร็วกว่านักแสดงที่เริ่มต้นมาจากซีรีส์ชาย-หญิงจริงๆ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ น่าค้นหามากๆ ว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น”


ในฐานะที่คุณเคยลองทำมาหมดแล้ว ทั้งซีรีส์ LGBTQ+ จ๋าๆ และซีรีส์วาย คุณมองว่าซีรีส์วายสามารถ represent เกย์ไทยในชีวิตจริงได้ไหม?


“ผมเคยอยู่ในจุดที่อุดมการณ์แรงกล้ามากๆ และเชื่อมั่นอย่างมากว่าเราจะสามารถทำให้ LGBTQ+ และวายเป็นสิ่งเดียวกันได้ ดังนั้นฉันจะทำซีรีส์วายที่พูดประเด็นต่างๆ ของ LGBTQ+ ให้ได้ แต่เมื่อศึกษาลึกลงไป เราพบว่าจริงๆ วัฒนธรรมและขนมดั้งเดิมอันเป็นที่มาของซีรีส์วายนั้น มีจุดตั้งต้นที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงเลย โดยเฉพาะวิวัฒนาการของ BL ในไทยกว่าจะมาเป็นซีรีส์วายนี่สนุกมากๆ..


จากมุมมองของเราเองซึ่งเป็น LGBTQ+ เราเห็นด้วยว่า ใช่ วายอาจยังไม่สามารถ represent ภาพชีวิตและพฤติกรรมของ LGBTQ+ ในชีวิตจริงได้ทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีคิดบางอย่างมันยังไม่สามารถสลัดองค์ประกอบของการนำบทบาทของ ‘นางเอก’ หรือฝ่ายหญิงในนิยายโรแมนซ์พาฝันมาแทนค่าด้วยบท ‘นายเอก’ ออกไปได้ทั้งหมด ทั้งในฉาก NC และในแง่มุมอื่นของความสัมพันธ์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีที่มาจากมุมมองของ Creator หรือผู้เสพที่ไม่ได้เป็นและอาจจะไม่ได้เข้าใจ LGBTQ+ จริงๆ และนั่นก็ทำให้ซีรีส์วายถูกมองว่าเป็นซีรีส์ลูกกวาด เป็นสื่อบันเทิงประโลมโลก”


“แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นทั้งความพยายามในฝั่งของคนสร้างที่จะบาลานซ์เมสเซจของเรื่องราวที่เขาเล่า ความพยายามในการหาตรงกลางระหว่างการคงไว้ซึ่งรสชาติที่ถูกปากสาววายกับการ represent ตัวตนของ LGBTQ+ ความพยายามในการหยิบจับประเด็นสังคมมาใส่ในซีรีส์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ยังคำนึงถึงความต้องการของตลาด แล้วเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในฝั่งของคนดูด้วยเช่นกัน จากเดิมที่คนมองว่าสาววายไม่ต้องการเสพคอนเทนต์ที่หนักหรือจริงจังเกินไป กลายเป็นตอนนี้เขาก็เปิดรับตัวละครและเรื่องราวที่เข้มข้นหลากหลายและซับซ้อนมีมิติมากขึ้นไปตามยุคสมัย”


คิดอย่างไรกับซีรีส์วายและความเป็น ‘Soft Power’?


“ส่วนตัวเราคิดว่าจนถึงตอนนี้ วงการซีรีส์วายมันทำงานด้วยตัวของมันเอง จนได้รับความนิยมและกลายเป็นสิ่งที่มี ‘Power’ ในตัวของมันเอง และมันจะเติบโตไปได้อีกไกลแน่นอน แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือพาวเวอร์ที่ว่านี้มีประโยชน์อย่างไร จะถูกนำไปใช้อย่างไร และถูกนำไปใช้โดยใคร ซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลเห็นคุณค่าของมัน หันมาผลักดันอุตสาหกรรมนี้ และรู้จักนำพาวเวอร์นี้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์”ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้เห็นความพยายามทำสิ่งนี้กันมากขึ้น


ช่วงหลังมานี้เราเริ่มเห็นเกาหลีใต้หันมาหยิบจับ BL มากขึ้น โดยแคสต์ไอดอล K-pop มาเล่น คิดว่าเขาจะกลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวไหม?


“แน่นอนว่าเป็นอยู่แล้ว ผมมองว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาทำ BL ก็ย่อมเป็นคู่แข่งของซีรีส์วายไทยหมด แต่คู่แข่งไม่ได้หมายความว่าเป็นศัตรูนะ ผมว่าการมีคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งที่น่ากลัวนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้มันสนุกคึกคัก เมื่อมีคู่แข่งแล้วเราก็จะไม่หยุดอยู่กับที่ พัฒนาฝีมือ ขับเคลื่อนให้คนในวงการยกระดับคุณภาพผลงานของตัวเองต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าเดิมทีจะรับวัฒนธรรมต่อมาจากญี่ปุ่น แต่วายไทยเติบโตเร็วและพัฒนา ‘รสชาติ’ เฉพาะตัวของเราเองขึ้นสำเร็จแล้ว และผมเชื่อนะว่าเนื่องจากตลาดซีรีส์วายของเรามันค่อนข้างโต เกาหลีเองก็ต้องมีแอบๆ มองเราเอาไว้บ้างเหมือนกัน..


ส่วนผมเองก็ตื่นเต้นเสมอที่จะได้เห็นผลงานของประเทศอื่นๆ หลายครั้งพอมาลองเทียบกันก็มีทั้งด้านที่เราทำได้ดีกว่า และด้านที่คนอื่นทำได้ดีกว่า ซึ่งมันก็ดีมากๆ ตรงที่เราสามารถได้เรียนรู้จากเขาได้ และไม่ว่าจะยังไง สุดท้ายฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็คือคนดู”


คุณออฟให้นิยาม ‘รสชาติ’ ของวายไทยเอาไว้ว่ายังไง?


“หัวใจของรสชาติที่ว่าก็คือ ‘วัฒนธรรม’ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรา ซึ่งมีแค่คนไทยที่สามารถรีเลตได้นี่แหละ องค์ประกอบหลายๆ อย่างที่คนไทยคุ้นเคยดี แต่กลับกลายเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับต่างชาติที่เข้ามาดูชม มาทำความรู้จัก เช่น เขามาเชงเม้งข้างๆหลุมผมครับ ที่พูดถึงเรื่องผีกับคน หรืออาชีพครูอาสาใน นิทานพันดาว หรือความขัดแย้งบางอย่างที่เริ่มมาจากในครอบครัว อย่าง แค่เพื่อนครับเพื่อน หรือแม้แต่วัฒนธรรมการกินและธุรกิจร้านข้าวมันไก่แบบไทยๆ ใน พระจันทร์มันไก่ อะไรเหล่านี้มันเป็นรสชาติที่หากินที่อื่นไม่ได้ แล้วเราก็นึกไม่ออกว่าถ้าต่างชาติเอาเรื่องเหล่านี้ไปเล่าใหม่ เขาจะสามารถเล่าอย่างไรให้มันแนบเนียนสนิทไปกับวัฒนธรรมของเขาได้เหมือนที่เราเล่า”


จากวิสัยทัศน์และความเข้าใจต่อมิติในงาน Boy’s Love ของคุณออฟ ทำให้ผู้เขียนเห็นได้ทันทีเลยว่าเพราะอะไรผลงานทุกชิ้นของผู้กำกับคนนี้ถึงเข้ามาครองพื้นที่ในหัวใจแฟนๆ ได้มากมายเพียงนี้ ซึ่งหากใครที่อยากฟังคุณออฟ พูดถึงแพสชันและความรักในภาพยนตร์ของเขาแบบสดๆ ก็สามารถมาพบกันได้ที่คอนเสิร์ต “𝙒𝙖𝙮 𝘽𝙖𝙘𝙠 𝙄𝙣𝙩𝙤 𝙇𝙤𝙫𝙚 : A Tribute to All-Time Favorite Romantic Comedies” ในรอบการแสดงวันที่ 24 มีนาคมนี้ กันได้ รับรองว่าสนุก ฟินน์ ครบรสแน่นอน!


สำรองที่นั่งทาง: https://bit.ly/waybackintoloveconcert


เรื่อง: Bloomsbury Girl


ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page