เชื่อว่าตอนนี้แฟนมิวสิคัลหลายคนคงหายใจเข้าออกเป็น Wicked กันไปแล้วใช่มั้ยครับ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ยิ่งใกล้วันฉายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเปิดอัลบั้ม Broadway Cast Recording ฟังวนซ้ำไปซ้ำมา (แก้ขัดไปก่อน) มากขึ้นทุกที 🎉
.
ความโด่งดังไปทั่วโลกของ Wicked นั้นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะ ‘โครงเรื่อง’ ซึ่งหยิบเอาจักรวาลแฟนตาซีที่ผู้ชมมอบความรักให้มานานหลายทศวรรษอย่างดินแดนออซ มาพลิกสำรวจมุมมองกันอีกด้าน ตั้งเป็นคำถามชวนคิดต่อถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ดีงาม” และ “ชั่วร้าย” หรือจะเป็น ‘แมสเสจสากล’ ที่ว่าด้วยตัวตนของบุคคลกับการตีตราจากสังคม ซึ่งสามารถสะท้อนไปยังห้วงความคิดของผู้ชมได้ง่ายดาย แม้กระทั่ง ‘ความตระการตา’ ในแง่มุมโปรดักชันที่ถ่ายทอดโลกแห่งเวทมนตร์เหนือจินตนาการให้ปรากฎขึ้นมาบนเวทีละคร ก็มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของเมกะมิวสิคัลชิ้นนี้
.
👀 แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เราจะมองข้ามไม่ได้เลยก็คือ หัวใจหลักของ Wicked อย่าง ‘บทเพลง’ จากฝีมือการประพันธ์ของสุดยอดคอมโพเซอร์มือรางวัลอย่าง Stephen Schwartz ผู้ที่เคยแต่งเพลงให้กับหนังมิวสิคัลเรื่องดัง อาทิ Pocahontas (1995), The Prince of Egypt (1998) และ Enchanted (2007) มาแล้ว
.
ดนตรีของ Wicked นั้นเพียบพร้อมทุกองค์ประกอบที่จะทำให้มันขึ้นหิ้งกลายเป็นตำนานของวงการมิวสิคัล (แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้) ได้ไม่ยาก มันมีเซตเพลงที่ค่อยๆ ช่วยยกระดับอารมณ์ของเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ มี ‘I Want’ song ที่มักเป็นหนึ่งในโครงสร้างสำคัญของมิวสิคัลซึ่งช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับแรงจูงใจในการกระทำที่ตามมาของตัวละคร ต่อเนื่องไปจนถึงการมีท่วงทำนองสละสลวยติดหูที่ถูกโยนใส่ไว้ในทุกๆ เพลง อีกทั้งยังไม่ลืมทิ้ง ‘ของโปรด’ สำหรับชาว theatre geek เกือบทุกคนอย่างเพลงสไตล์พาวเวอร์บัลลาดไว้ให้ได้ ‘big finish’ กันอยู่หลายหนหลายคราด้วย
.
🧹 เอกลักษณ์โดดเด่นอีกอย่างในงานเพลงของ Wicked ที่อยากเอามาบอกเล่าวันนี้ คือความฉกาจฉกรรจ์ทางภาษาของสตีเฟน ชวอร์ตซ์ครับ อันที่จริงเราเคยพบสิ่งนี้กันมาแล้วในผลงานก่อนๆ ของเขา ลองพิจารณาการเลือกสรรคำอย่างงดงามในเพลง “Colors of the Wind” จากเรื่อง Pocahontas ดูก็ได้ ผมขอยก verse 2 ของเพลงซึ่งใช้คำได้สวยมากมาให้พิสูจน์กันตรงนี้ครับ (ใครจะเปิดเพลงฟังไปด้วยก็ได้เลย)
.
Come run the hidden pine trails of the forest
Come taste the sun-sweet berries of the earth
Come roll in all the riches all around you
And for once, never wonder what they're worth
.
The rainstorm and the river are my brothers
The heron and the otter are my friends
And we are all connected to each other
In a circle, in a hoop that never ends
.
เพียงแค่ห้วงเดียวห้วงนี้ เราเจอทั้งสัมผัสที่คล้องจองรื่นหู การอุปมาอย่างน่าอัศจรรย์ และศัพท์แสงอันน่าทึ่ง (ว่าเขาคิดได้อย่างไร) ผสมผสานกันจนเกิดเป็นพรรณนาโวหารที่ฟังแล้วเห็นภาพผืนป่าอุดมสมบูรณ์กลมกลืนไปกับความรู้สึกบริสุทธิ์ใสสะอาด พ่วงด้วยเทศนาโวหารอีกนิดช่วงต้น เป็นการเชิญชวนแนะนำให้ผู้ได้ยินลองเข้าหาธรรมชาติมากขึ้นเพื่อเข้าใจคุณค่าของมัน
.
นี่ล่ะครับ พรสวรรค์ของคุณสตีเฟน ชวอร์ตซ์ ซึ่งเรากำลังจะได้พบลายเซ็นทั้งหมดนี้ของเขาอีกครั้งผ่านบทเพลงใน Wicked
.
💚 จากตัวอย่างหนังที่ได้ชมกันไปแล้ว เราได้เห็นธีมคร่าวๆ แล้วว่า Wicked จะมีการพูดถึงความรู้สึก ‘แปลกแยก’ ซึ่งเกิดจากรูปลักษณ์สีเขียวของตัวละคร Elphaba (Cynthia Erivo) ด้วย ถ้างั้นคราวนี้ผมขอยกตัวอย่างเนื้อร้องพร้อมคำแปลแบบง่ายๆ จากเพลงในหนังมาให้ทุกคนลองสังเกตกัน เป็นท่อนหนึ่งจากเพลง “The Wizard and I” ซึ่งจะถูกร้องโดยเอลฟาบานี่เอง (สบายใจได้ ท่อนนี้ไม่ได้สปอยล์เนื้อเรื่องครับ)
.
And one day, he'll say to me "Elphaba
(วันหนึ่งเขาจะพูดกับฉันว่า “เอลฟาบา)
.
A girl who is so superior
(แม่สาวน้อยผู้แสนเลิศล้ำคนนี้)
.
Shouldn't a girl, who's so good inside
(เธอไม่ควรเป็นสาวน้อยผู้งดงามจากภายใน)
.
Have a matching exterior?
(ที่ภายนอกก็งดงามคล้อยตามกันไปด้วยงั้นหรือ)
.
And since folks here to an absurd degree
(และเพราะว่าคนที่นี่ช่างไร้สาระ)
.
Seem fixated on your verdigris
(ยึดติดอยู่แต่กับ ‘สีเขียว’ ของตัวเธอ)
.
Would it be all right by you
(เธอจะว่าอะไรมั้ยล่ะ)
.
If I de-greenify you?"
(ถ้าฉันจะ ‘กำจัดเฉดเขียว’ นี้ให้เธอเอง”)
.
สังเกตเห็นความอัจฉริยะในการเล่นคำอย่างคำว่า “superior / exterior” และ “absurd degree / verdigris” ของสตีเฟน ชวอร์ตซ์มั้ยครับ (ขอพูดเป็นครั้งที่ล้านว่า คิดได้ยังไง??!!) โดยเฉพาะการเลือกคำว่า “verdigris” มาใช้ตรงนี้ ซึ่งความหมายโดยตรงของมันหมายถึง ปฏิกิริยาอ็อกซิเดชันทางเคมีที่ทำให้โลหะประเภททองแดงหรือทองเหลืองเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำเงินอมเขียว
.
หากใครยังไม่ค่อยเคลียร์ ให้นึกถึงเทพีเสรีภาพได้เลยครับ เดิมทีอนุสาวรีย์นี้เป็นสีทองแดง แต่หลังจากถูกนำมาติดตั้งที่เกาะลิเบอร์ตี้ได้เพียงสิบกว่าปี มลภาวะต่างๆ ในอากาศก็ ‘verdigris’ เปลี่ยนให้มันกลายเป็นสีเขียวๆ และคงสภาพนี้มาร้อยกว่าปีจนถึงปัจจุบันนั่นเอง 😲
.
นอกจากนี้ในเนื้อเพลงข้างต้นยังมีคำว่า “de-greenify” ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของคำที่มองผ่านๆ แล้วเหมือนเป็นคำที่มีใช้จริง แต่ความเป็นจริงแล้วนี่คือการปั้นคำขึ้นมาใหม่ แต่ปั้นอยู่บนพื้นฐานรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ฟังแล้วเข้าใจได้เลย (de- = ลดลง / green = สีเขียว / -ify = ทำให้เป็น) …ซึ่งนี่คือเอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของภาษาใน Wicked ครับ
.
ดินแดนออซใน Wicked ถูกออกแบบให้มีสไตล์การใช้ภาษาเป็นของตัวเอง (คล้ายๆ กับที่มีการสร้างภาษาขึ้นมาใหม่ในดินแดนมิดเดิลเอิร์ธของ The Lord of the Rings) โดยสไตล์ของมันคือ เมื่อฟังดูเผินๆ จะรู้สึกเหมือนว่าคำพวกนี้มีอยู่จริง สามารถเข้าใจความหมายได้ทันที แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น
.
ถ้าสังเกตดีๆ มันอาจเป็นได้ทั้งคำปั้นใหม่อย่างที่กล่าวไปแล้ว หรือคำดั้งเดิมที่ถูกเอามาดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษไปเล็กน้อยแต่ได้ความเข้มข้นของคำมากขึ้น ซึ่งผมมักเรียกเอาเองง่ายๆ ว่า ‘ใส่ความเว่อร์เข้าไปในคำ’
.
ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของการ ‘เว่อร์คำ’ ที่จะเจอใน Wicked (Part One) ก็เช่น
🪄 “rejoicify” = ปลาบปลื้มยินดี [รากศัพท์คือ rejoice] (ฉากเพลง “No One Mourns the Wicked”)
🪄 “confusifying” = สับสน [รากศัพท์คือ confuse] (ฉากเพลง “No One Mourns the Wicked”)
🪄 “disgusticified” = น่ารังเกียจ [รากศัพท์คือ disgust] (ฉากเพลง “What Is This Feeling?”)
🪄 “gratitution” = รู้สึกขอบคุณ [รากศัพท์คือ gratitude] (ฉากเพลง “Dancing Through Life”)
🪄 “thrillifying” = น่าตื่นเต้น [รากศัพท์คือ thrill] (ก่อนเข้าเพลง “One Short Day”)
.
👍 จะว่าไปแล้วภาษาศาสตร์ใน Wicked ที่เต็มไปด้วยลูกเล่นแพรวพราวแบบนี้ก็มีประโยชน์ไม่น้อย เพราะนอกจากเราจะได้ความรู้เกี่ยวกับรากศัพท์แล้ว เรายังอาจได้ถ้อยคำสำนวนใหม่ๆ (ซึ่งมีใช้จริงบนโลกนี้) จากความเอกอุทางภาษาของนักแต่งเพลงเพิ่มเข้าไปที่คลังศัพท์ในสมองเราด้วย อย่างเช่น “verdigris” ที่ยกตัวอย่างไป หรือคำว่า “for good” (ซึ่งจะได้ยินอย่างมีนัยสำคัญใน Wicked Part Two ปีหน้า) ที่สมัยก่อนผมไม่เคยรู้เลยว่ามันแปลว่า “forever”
.
ดังนั้นเค้าจึงว่ากันว่าเพลงของ Wicked นั้นยาก ยากทั้งในแง่การร้องที่ต้องอาศัยสกิลอันสูงส่งของผู้ถ่ายทอด ไปจนถึงยากในระดับภาษาที่ใช้ …ในหนังสือ Wicked: The Grimmerie ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลเบื้องหลังของ Wicked ฉบับละครเวที ถึงกับมีภาคผนวกที่ชื่อว่า “Ozian Glossararium” (อภิธานศัพท์ชาวออซ) เพื่อรวบรวมศัพท์แปลกๆ หลายสิบคำจากเรื่องนี้พร้อมความหมายเอาไว้ให้ด้วยเลย (ขนาดคำว่า ‘Glossaraium’ ยังเป็นการเว่อร์คำเลยครับ) 😄
.
น่าสนใจมากว่าคำแปลไทยที่เรากำลังจะได้อ่านได้ฟังกันในอีกไม่กี่วันนี้ จะรักษาลูกเล่นของภาษาต้นฉบับได้มากน้อยเพียงใด (เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าลูกเล่นแบบนี้ไม่ค่อยมีในภาษาเรานั่นเอง) เพื่อนๆ คนไหนชอบศัพท์แปลกๆ ของชาวออซคำใด มาแชร์ความคิดเห็นกันได้เลย แล้วมารอดูกันครับว่า Wicked ฉบับหนังจะคุ้มค่าการรอคอยนับทศวรรษของพวกเราหรือไม่ …ว่าแล้วก็เปิดเพลงฟังวนไปแบบ for good นะครับ
.
.
เรื่อง: Gaslight Café
.
.
コメント