top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

ยุครุ่งของอุตสาหกรรมซีรีส์ WEBTOON

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567



อาจกล่าวได้ว่าเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ดีที่สุดของประเทศขนาดเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ ในด้านการส่งออกวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง จากซีรีส์พล็อตซาบซึ้งเรียกน้ำตาในยุค 2000s สู่อุตสาหกรรมไอดอลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ยุค 2010s เป็นต้นมา มาสู่ยุคอัดฉีดเงินสร้างภาพยนตร์ล่ารางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Parasite (2019) หรือ Minari (2020)


กระทั่งล่าสุด เทรนด์เว็บตูนที่เริ่มจุดติดในต่างประเทศมาสักพักใหญ่และยังไม่มีท่าทีจะดับง่ายๆ ในเร็วๆ นี้ พิสูจน์โดยการขยายตัวเชิงรุกของแพลตฟอร์มอ่านการ์ตูนสัญชาติเกาหลีในประเทศต่างๆ รวมถึงสารพัดซีรีส์ดัดแปลงจากเว็บตูนที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


แม้คำว่า ‘Website’ และ ‘Cartoon’ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าเว็บตูน จะเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษทั้งคู่ แต่คำว่า ‘Webtoon’ ปรากฏขึ้นและเริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตของเกาหลีเป็นที่แรก แรกเริ่มเดิมทีก็มีไว้เพียงเพื่อใช้เรียกการ์ตูนที่ถูกอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ต่างๆ เท่านั้น


แต่ถ้าอย่างนั้น ก็หมายความว่าหากการ์ตูนเรื่องใดก็ตาม ถูกสแกนแล้วอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ ก็จะกลายเป็นเว็บตูนไปโดยปริยายเลยหรือ?


คำตอบคือไม่ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าคำว่าเว็บตูนในปัจจุบันสื่อถึงการ์ตูนในรูปแบบที่แตกต่างจากคอมมิค มังงะ หรือการ์ตูนประเภทอื่นๆ โดยสิ้นเชิง เมื่อไรก็ตามที่เราได้ยินคำว่าเว็บตูน สิ่งแรกๆ ที่เรามักนึกถึงการ์ตูนสัญชาติเกาหลีที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับไซส์หน้าจอและวิธีการอ่านโดยการ ‘ไถ’ จออุปกรณ์ดิจิทัลแบบทัชสกรีนเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเว็บตูน ซึ่งหมุนรอบนักอ่านที่ใช้อุปกรณ์สมาร์ตโฟน


แต่ทั้งที่การเปลี่ยนผ่านจากคอมพิวเตอร์สู่สมาร์ตโฟนนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก แต่เกาหลีจึงเป็นประเทศเดียวที่สามารถหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมเว็บตูนให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และส่งออกจนเป็นที่นิยมไปทั่วเอเชียได้?


การจะอธิบายปรากฏการณ์นี้คงหนีไม่พ้นศัพท์ Buzzword ที่เราได้ยินกันหนาหูในช่วงนี้ นั่นคือ ‘Soft Power’


สำหรับรัฐบาลไทย ซีรีส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ไทบ้านเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แม้แต่น้ำเต้าหู้ หรือรองเท้าแตะก็สามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าอะไรก็ตามที่ ‘แมส’ ขึ้นมา ไม่ว่าจะโดยบังเอิญ หรือโดยน้ำพักน้ำแรงของเจ้าของผลงาน ก็ล้วนมีศักยภาพที่จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด


ในขณะที่สำหรับรัฐบาลเกาหลี กว่าที่วัฒนธรรมย่อย (Subculture) ที่ห่างไกลจากความว่า ‘สื่อกระแสหลัก’ อย่างเว็บตูน จะกลายมาเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างปัจจุบัน และเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมกลุ่มก้อนใหม่ที่สามารถเสริมสร้างอำนาจอ่อน (Soft Power) ของประเทศได้นั้น รัฐบาลต้องลงทุนทั้งโดยใช้ทั้งเม็ดเงินมหาศาล รวมถึงองค์ความรู้และความมุมานะที่สนับสนุนให้เกิด Ecosystem หรือ ‘ระบบนิเวศทางธุรกิจ’ ที่เอื้อให้ศิลปินและอาชีพในห่วงโซ่การผลิตเว็บตูนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน


ทั้งนี้ 3 ตัวแปรหลักที่ทำให้การลงทุนกับเว็บตูนของรัฐบาลเกาหลีประสบความสำเร็จ ได้แก่


1. โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล

นอกจากเครื่องมืออย่างสมาร์ตโฟนแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการเข้าถึงการอ่านบนโลกอินเทอร์เน็ต คือสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ! แน่นอนว่านี่คือข้อได้เปรียบหนึ่งของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเร็วที่สุดในโลก


โครงข่ายสาธารณูปโภคอย่างหนึ่งของเกาหลีที่คนต่างชาติอย่างเราๆ อิจฉาที่สุด คือสัญญาณไวฟายฟรีที่ครอบคลุมแทบทุกสถานที่สาธารณะ ทั้งป้ายรถเมล์ บนรถไฟใต้ดิน บนรถเมล์ สวนสาธารณะ หน่วยงานราชการต่างๆ หรือแม้กระทั่งบนชายหาด!


ที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ทันทีอย่างเท่าเทียมกัน (รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย) โดยไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากใดๆ ทุกคนที่ใช้ชีวิตในเกาหลีจึงสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ที่ตนต้องการรวมถึงเว็บตูนได้ทุกที่ทุกเวลา



2. โมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์

นับตั้งแต่ช่วงปี 2012 เป็นต้นมา ตลาดเว็บตูนเริ่มเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้กลุ่มทุนต่างๆ ที่เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการทำกำไร รีบกระโจนเข้ามาเป็น ‘ผู้ให้บริการ’ ผ่านแอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อการอ่านการ์ตูนบนมือถือโดยเฉพาะ เริ่มจาก WEBTOON (ของ Naver) และ KakaoPage ที่ครองส่วนแบ่งตลาดส่วนหนึ่งอยู่แล้ว จนถึง Lezhin ที่ตั้งตัวเป็นผู้บริการเว็บตูนเรต 18+ รายแรก และแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่แย่งชิงผลงาน แข่งขันกันพัฒนาแอปฯ ให้สวยงาม ใช้งานสเถียรขึ้นอยู่เสมอ


นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเว็บตูนเกาหลียังมีพื้นที่ให้กับผู้คนมากมายหลากอาชีพ หลายแบ็กกราวนด์ ไม่ใช่แค่เพียงนักวาดที่มีความสามารถโดดเด่นหรือมีผลงานเก่ามาการันตีกำไรเท่านั้น


เรามักได้ยินคนไทยพูดถึงเว็บตูนของเกาหลีว่าเหนือกว่าเว็บตูนไทยในด้านของความสวยงามและละเอียดประณีตอยู่เสมอ ทั้งที่ความสามารถพื้นฐานของเจ้าของผลงานก็อาจจะยอดเยี่ยมพอกัน แต่สิ่งที่ทำให้เว็บตูนเกาหลีโดดเด่นกว่าอยู่เสมอคือ ‘ขนาดของโปรดักชัน’


ในขณะที่เว็บตูนไทยโดยมาก จะเกิดจากเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตาของนักวาดเพียงคนหรือสองคน สำหรับเว็บตูนเกาหลีเรื่องหนึ่งๆ มักทีมนักวาดผู้ช่วยหลายคนที่คอยช่วยนักวาดหลักตั้งแต่ตัดเส้น ลงสี วาดฉาก หรือแม้แต่ช่วยออกความเห็นเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง นักวาดที่ยังไม่มีผลงาน หรืออยู่ในช่วงฝึกฝน จึงมีที่ทางของตัวเองในฐานะผู้ช่วยในวงการนี้



3. นโยบายสนับสนุนจากรัฐ

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา รัฐบาลก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนวงการเว็บตูน ผ่านการลงทุนร่วมกับเอกชนในการประชาสัมพันธ์ จัดคอร์สฝึกอบรบศิลปิน จัดแสดงผลงานของศิลปินที่โดดเด่นทั้งในและต่างประเทศ และแนวทางล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือการอัดฉีดเม็ดเงินสนับสนุนที่จะเพิ่มมูลค่าของเว็บตูนเรื่องดัง โดยการนำมาดัดแปลงภาพยนตร์ แอนิเมชัน ซีรีส์ หรือแม้แต่แอนิเมชัน


โดยเป้าหมายปัจจุบันของรัฐบาล คือผลักดันเว็บตูนให้สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเอเชีย เพื่อนำไปสู่ ‘ฮัลลยู’ หรือ Korean Wave ลูกใหม่ แบบที่เคยทำสำเร็จกับ K-drama และ K-pop ทำให้ในขณะนี้มีเว็บตูนจำนวนมากกว่า 100 เรื่อง ที่ผ่านการดัดแปลงจนได้รับความนิยมและสามารถ ‘ตก’ นักอ่านใหม่ๆ เข้าสู่วงการเว็บตูนได้


หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่เราสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จของวงการนี้ คือการที่ภาครัฐไม่มัวแต่รีรอการมาถึงของสุดยอดศิลปินเจ้าของพรสวรรค์ที่จะสามารถพลิกโฉมวงการเว็บตูน รอสนับสนุนคนเก่งที่พิสูจน์ความเก่งได้ด้วยรางวัลจากต่างประเทศ หรือรอ ‘ต่อยอด’ จากความสำเร็จของใคร แต่สิ่งที่พวกเขาทำ คือการเข้าไปมีบทบาทในการบ่มเพาะและหล่อเลี้ยงคนในวงการให้สามารถเติบโตได้ ไม่ล้ม ไม่หาย ไม่ตายง่ายๆ ตั้งแต่ยังไม่ทันจะมี ‘ยอด’ ให้ใครมาต่อ


อ้างอิง:






เรื่อง: Bloomsbury Girl



ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page