top of page
รูปภาพนักเขียนGaslight Café

ย้อนรอย 9/11 และการรับมือของบรอดเวย์จดหมายถึงกลุ่มก่อการร้าย ว่าเราจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายชีวิตและแสงสีของนิวยอร์ก



ยังจำกันได้มั้ยครับ วันนี้เมื่อ 23 ปีก่อน ข่าวใหญ่ระดับโลกที่น่าตื่นตระหนกที่สุดคือเหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาหนึ่งในประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมบันเทิงแถวหน้าของโลก

.

วันนั้นตึกแฝด World Trade Center ในแมนฮัตตัน ที่นิวยอร์กซิตี้ คือหนึ่งในจุดสำคัญที่ถูกทำลายลง (รวมทั้ง World Trade Center Tower 7 ที่ถล่มตาม) เกิดการสูญเสียมากมาย และส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจละครบรอดเวย์ทันที

.

ช่วงเวลานั้นบรอดเวย์กำลังเฟื่องฟูอย่างถึงที่สุด ละครมิวสิคัลเรื่อง The Producers ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ St. James Theatre เพิ่งสร้างสถิติประวัติศาสตร์ที่เวทีโทนีอวอร์ดส์ในเดือนมิถุนายนก่อนหน้านั้น ด้วยการเป็นละครเพลงที่ชนะโทนีมากที่สุดตลอดกาล 12 รางวัล (ครองสถิติมาจนทุกวันนี้) และกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมเยียนบรอดเวย์ รวมทั้งตอกย้ำให้บรอดเวย์กลายเป็นกระแสหลักของวัฒนธรรมสมัยนิยมของอเมริกันอย่างจริงจัง (ว่ากันว่าอันเนื่องมาจากอุปสงค์ในการแย่งชิงตั๋วละครเรื่องนี้ ทำให้ราคาของมันพุ่งขึ้นไปถึง 1,500 ดอลลาร์เลยทีเดียว)

.

ยิ่งไปกว่านั้น การเตรียมตัวเปิดม่านละครเพลงเรื่องใหม่ที่ดังเป็นพลุแตกจากฝั่งเวสต์เอนด์มาแล้วอย่าง Mamma Mia! ในวันที่ 18 ตุลาคม ก็ทำให้บรอดเวย์คึกคักมากขึ้นไปอีก เพราะยอดขายตั๋วล่วงหน้าสามารถทำเงินไปได้แล้วสูงถึง 20 ล้านเหรียญฯ

.

นอกจากนี้บรอดเวย์ยังจัดฟรีคอนเสิร์ตประจำปีซึ่งรวบรวมการแสดงจากโชว์เรื่องต่างๆ ไว้ด้วยกัน ที่ชื่อว่า “Broadway on Broadway” ขึ้นที่ใจกลางไทม์สแควร์ในวันที่ 9 กันยายนอีก นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์กในขณะนั้น Rudolph Giuliani ถึงกับพูดต่อฝูงชนที่นั่นว่า “คุณรู้มั้ยสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอันดับหนึ่งของนิวยอร์กคืออะไร…บรอดเวย์ไงล่ะ!”

.

เรียกว่าไม่มีอะไรต้องกังวลเลยเกี่ยวกับสถานการณ์ละครเวทีที่นั่น

.

จนกระทั่งเช้าวันอังคารที่ 11 กันยายน… 😢

.

.

หลังทราบข่าวสั้นๆ จากเพื่อนเพียงว่า ‘มีเครื่องบินบินชนหนึ่งในตึกของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์’ แรกทีเดียว Jed Bernstein ประธาน The League of American Theatres and Producers (หรือ The Broadway League ในปัจจุบัน) คิดว่ามันคงเป็นข่าวเหมือนสมัยเมื่อปี 1945 ที่มีเครื่องบินเล็กบินชนตึกเอ็มไพร์สเตทแค่นั้น แต่หลังจากเหตุการณ์ทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น เขาก็รู้ทันทีว่าเขาต้องตัดสินใจยังไงเกี่ยวกับบรอดเวย์

.

บรอดเวย์จำเป็นต้องหยุดการแสดง เพราะทั้งเมืองถูกปิดล้อม สะพานกับอุโมงค์เข้าออกแมนฮัตตันถูกระงับการใช้งาน บนท้องฟ้ามีแต่เครื่องบินเจ็ตฉวัดเฉวียน และเหตุผลสำคัญก็คือสถานที่โด่งดังซึ่งรวมผู้คนไว้ในที่เดียวกันอย่างบรอดเวย์สามารถกลายเป็นเป้าหมายโจมตีได้ง่ายไม่ต่างจากตึกเวิลด์เทรด

.

ตลอดวันนั้นนายกเทศมนตรีจูลีอานีพยายามครุ่นคิดหาทางออกให้กับเมืองที่ไม่เคยหลับใหลแห่งนี้ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเขาคือชื่อของสถานที่ 2 แห่ง นั่นคือ ‘อิสราเอล’ และ ‘ลอนดอน’...???

.

ในปี 1996 เกิดเหตุระเบิดพลีชีพบนรถบัสที่ถนนแจฟฟาในกรุงเยรูซาเล็ม 2 ครั้ง หลังเหตุสลดจบลง จูลีอานีได้ไปโดยสารรถบัสที่นั่น (ซึ่งขับเต็มกำลัง) ร่วมกับนายกเทศมนตรีเยรูซาเล็ม เพื่อแสดงให้กลุ่มก่อการร้ายเห็นว่า ‘พวกคุณทำอะไรชาวอิสราเอลไม่ได้’ …ส่วนลอนดอนนั้น จูลีอานีกำลังนึกถึงบุคคลสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อังกฤษ

.

คนๆ นั้นก็คือ Winston Churchill ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวในหนังสือชีวประวัติที่จูลีอานีกำลังอ่านช่วงนั้นพอดี เขาอ่านเจอว่า ในช่วงยุทธการบริเทน (Battle of Britain) ปี 1940 ซึ่งเป็นการรบทางอากาศระหว่างอังกฤษและนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ยืนกรานให้โรงละคร โอเปร่า บัลเลต์ ออเคสตรา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ show business ทุกประเภทดำเนินกิจการไปตามปกติ เพื่อบอกกับเยอรมันว่า ‘พวกเขาไม่สามารถโค่นล้มจิตวิญญาณของอังกฤษได้’

.

นี่เองคือคำตอบที่จูลีอานีควานหา

.

วันรุ่งขึ้นเขาจึงนัดประชุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อคืนชีพเมืองนิวยอร์ก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสถาบันการเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจละครเวที เขาถามเจด เบิร์นสตีน (ประธาน Broadway League) ว่า “บรอดเวย์จะกลับมาเปิดอีกทีได้เมื่อไหร่” แต่คำตอบที่ได้นั้นมีทีท่าไม่แน่ใจอันเนื่องมาจากเหตุผลเกี่ยวกับการเดินทางของบุคลากรที่ทำงานในบรอดเวย์ เพราะทั้งสะพานและอุโมงค์ยังถูกปิดอยู่

.

“ถ้าคุณให้คนของเราข้ามสะพานเข้ามาได้ บรอดเวย์ก็เปิดได้” เบิร์นสตีนบอก

.

“งั้นเปิดวันพฤหัสเลย!” จูลีอานีตอบอย่างไม่ลังเล

.

แม้จะยังไม่มั่นใจนัก แต่คณะทำงานของบรอดเวย์ก็เรียกประชุมด่วนเพื่อตอบสนองความต้องการของนายกเทศมนตรีที่จะให้บรอดเวย์กลับมาเปิดแสดงให้ได้ในคืนวันพฤหัสที่ 13 กันยายน …และถูกต้อง ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับไอเดียนี้ นักแสดงบางคนแสดงความเห็นต่อระดับบริหารว่า “คุณไม่ใช่คนที่จะต้องขึ้นไปแสดงอยู่บนนั้นนี่ คุณไม่มีทางรู้เลยว่ามันยากแค่ไหน พวกเราก็เป็นมนุษย์นะ เราก็เจ็บปวด เราก็ทุกข์ใจเหมือนกัน”

.

กระนั้นแล้วคณะทำงานของบรอดเวย์ก็ขอร้องให้ทุกฝ่ายมั่นใจและร่วมมือร่วมใจกัน โดยเน้นความสำคัญไปที่ละครแม่เหล็กที่จะดึงคนกลับมาได้มากที่สุดอย่าง The Producers ก่อน รวมทั้งแจ้งแนวทางปฏิบัติสำคัญนั่นคือ บุคลากรทุกคนที่จะเข้ามาทำงานย่านบรอดเวย์จะต้องแสดงบัตรสมาชิกสหภาพ (union card) ต่อเจ้าหน้าที่ที่สะพานและอุโมงค์อย่างเคร่งครัด จึงจะได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้ามาได้

.

“ได้โปรดทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเมืองของเรา”

.

ณ เวลานั้นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า บรอดเวย์กลับมาเปิดได้แน่ในวันพฤหัสอย่างที่นายกเทศมนตรีต้องการ แต่ปัญหาต่อมาก็คือ ‘แล้วจะมีคนดูหรือไม่?’...สำหรับประเด็นนี้ จูลีอานีแถลงผ่านสื่อไปว่า “ถ้าคุณอยากช่วยเมืองของเรา ถ้าอยากบอกพวกก่อการร้ายว่าเราเอาอยู่ ขอให้มาที่เมืองนี้ครับ มาดูโชว์ มาเข้าโรงหนัง มาทานอาหารที่ภัตตาคาร มาใช้จ่ายที่นี่เลย เราต้องเงินจากพวกคุณ”

.

ในที่สุดหลังโศกนาฏกรรมเพียง 2 วัน บรอดเวย์ก็คืนชีพได้สำเร็จ Matthew Broderick (นักแสดงนำของ The Producers) บอกว่าเขาทำตามแนวทางที่ได้รับแจ้งมา โดยแสดง ID card ตลอดการเดินทางช่วงบ่ายจากอพาร์ทเมนต์ย่านโซโหมายังโรงละคร St. James

.

ระดับบริหารหลายๆ คนก็ลงมากำกับดูแลการเปิดม่านอีกครั้งของโรงละครต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น Cristyne Nicholas (หัวหน้าสำนักงานการท่องเที่ยวเมืองนิวยอร์ก) ไปอยู่ที่โชว์ The Full Monty ในขณะที่นายกเทศมนตรีจูลีอานีแวะไปที่โชว์ The Lion King ส่วน Rocco Landesman (เจ้าของคณะละคร Jujamcyn ซึ่งมีโรงละคร St. James อยู่ในสังกัด) ก็มาอยู่ที่โชว์ The Producers

.

เรื่องที่เกินความคาดหมายคือ วันนั้นมีคนมาดู The Producers มากถึง 2 ใน 3 ของความจุของ St. James แต่บรรยากาศก็ช่างเงียบงัน เสียงเซ็งแซ่ระคนตื่นเต้นที่ปกติจะมีให้ได้ยินก่อนเริ่มโชว์ก็หายไป แลนเดสแมนจึงออกมาที่กลางเวทีก่อนเริ่มการแสดงและพูดกับผู้ชมว่า

.

“คืนนี้พวกคุณได้รับอนุญาตให้หัวเราะได้นะครับ นั่นเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่สุด เรามารวมตัวกันแล้ว และเราจะหรรษาไปด้วยกัน”

.

ละคร The Producers ดำเนินไป ฉากโซโลฉากแรกของ Nathan Lane ในเพลง “The King of Broadway” นั้นไม่ได้รับเสียงหัวเราะเลยอย่างที่ควรจะเป็น แต่หลังจากนั้นผู้ชมก็ค่อยๆ ถูกดึงเข้าสู่โชว์มากขึ้น จนเสียงหัวเราะกลับมาได้ในที่สุด ส่วนนัมเบอร์ “Springtime for Hitler” จำเป็นต้องงดใช้เสียงเอฟเฟคท์ระเบิดไปโดยปริยาย และท้ายที่สุดในช่วง curtain call ทุกคนในโรงละครก็ร้องเพลง “God Bless America” ร่วมกัน ส่วนใหญ่ถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

.

ที่โรงละคร Henry Miller’s Theatre (หรือ Stephen Sondheim Theatre ในปัจจุบัน) ละครเพลงเรื่อง Urinetown ซึ่งมีกำหนดเปิดม่านอย่างเป็นทางการในคืนวันนั้นพอดี ก็จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเดิมออกไป 1 สัปดาห์ ผู้ชมที่มาชมในวันนั้นส่วนใหญ่เป็นพนักงานสายการบินที่ติดแหง็กอยู่ที่นิวยอร์กเนื่องจากขึ้นบินไม่ได้ ส่วนเค้กสำหรับงานเปิดม่านก็อยู่ที่นั่น ผลสุดท้ายคือทางละครเอาเค้กมาแจกจ่ายทานร่วมกันกับผู้ชมเสียเลย

.

หลังจากนั้นในวันที่ 28 กันยายน ก็มีการรวมตัวกันของนักแสดงบรอดเวย์นับร้อยที่ไทม์สแควร์ เพื่อแสดงเพลง “New York, New York”เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวกลับมายังเมืองนี้อีกครั้ง จนกลายเป็นหนึ่งในโชว์แห่งความทรงจำ และในวาระรำลึกเหตุการณ์นี้ครบ 10 ปีเมื่อปี 2011 บรอดเวย์ก็มีการแสดงเพลงนี้ซ้ำอีกครั้งที่ไทม์สแควร์ด้วย

.

สุดท้ายหากจะพูดถึงบรอดเวย์กับเหตุการณ์ 9/11 อีกซักหน่อย คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Come From Away มิวสิคัลน้ำดีซึ่งเปิดแสดงช่วงปี 2017-2022 และหยิบเอาเรื่องราวจริงสุดประทับใจของผู้คนในช่วงโศกนาฏกรรมครั้งนั้นมาถ่ายทอดผ่านการแสดงอันแข็งแกร่งและบทเพลงสุดไพเราะให้เราได้ชมกันนั่นเอง (มีให้ชมพร้อมบรรยายไทยใน Apple TV+ ครับ)

.

.

เรื่อง: Gaslight Café

.

.

ที่มา

- หนังสือ ‘Singular Sensation: The Triump of Broadway’ (2020) โดย Michael Riedel

- บทความ ‘A 9/11 Reflection: Broadway Looks Back’ โดย Robert Simonsen

.

ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page