top of page
รูปภาพนักเขียนGaslight Café

รวมเทคนิคหลอนใน "ละครเวทีผี" จากโปรดักชันไทยและเทศ

อัปเดตเมื่อ 20 ธ.ค. 2567



มีใครสังเกตเหมือนกันมั้ยครับว่าช่วงปีสองปีที่ผ่านมา (หรือจริงๆ อาจเริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว) เรามีโอกาสได้เสพหนังแนวสยองขวัญ/ระทึกขวัญ/ลึกลับ/ผีปีศาจ/เรื่องราวเหนือธรรมชาติ หรืออะไรทำนองนี้ กันมากขึ้น เรียกว่ามีมาให้ชมเป็นระยะๆ ไม่ขาดสาย

.

อุตสาหกรรมบันเทิงมีการรังสรรค์เรื่องราวกระตุกขวัญสูบฉีดเลือดลมผู้ชมออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องมาช้านาน และภาพยนตร์ก็มักเป็นสิ่งที่เราคิดถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่ออยากสัมผัสความรู้สึกตื่นเต้นอย่างสุดขีด …แต่จะมีซักกี่คนที่นึกถึงโรงละครเมื่อพวกเขาต้องการเสพคอนเทนต์แนวนี้???

.

บางคนอาจคิดว่าความชัดเจนทางทัศนวิสัย และความสมจริงในความเป็นภาพยนตร์ คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความน่ากลัวที่ได้จากหนังนั้นมีคุณภาพมากกว่าการถ่ายทอดในรูปแบบละครเวที แต่ความจริงแล้วโรงละครก็มีศักยภาพในการสร้างความน่ากลัวได้ไม่แพ้ภาพยนตร์เลย (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) หากผู้ผลิตทำมันออกมาได้อย่างถูกต้อง

.

ในปี 1966 บรอดเวย์เปิดม่านละครจิตวิทยาสั่นประสาทเรื่อง Wait Until Dark เป็นครั้งแรก ณ Ethel Barrymore Theatre ละครเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงตาบอดนามว่า “Susy Hendrix” ที่อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ย่านกรีนิชวิลเลจในนิวยอร์ก ซึ่งในเวลาต่อมาอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้ถูกบุกรุกโดยชายปริศนาสามคนที่กำลังตามหาตุ๊กตาตัวหนึ่งซึ่งมีของสำคัญซ่อนอยู่ในนั้น

.

ละครเล่นกับการใช้แสงและความมืดมิดเพื่อสร้างประสบการณ์อันน่าตื่นตะลึงให้กับผู้ชม โดยเฉพาะในช่วงไคลแม็กซ์ของเรื่องราวซึ่งเป็นฉากไล่ล่าสไตล์แมวจับหนู

.

ท่ามกลางความหวาดผวาของหญิงตาบอดที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้สถานการณ์ทั้งหมดผ่านการมองเห็น เธอใช้มันสมองพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส …ในเมื่อนี่คืออะพาร์ตเมนต์ที่ซูซี่รู้จักเป็นอย่างดีทุกซอกทุกมุมและคุ้นเคยมาตลอดชีวิต เกมไล่ล่านี้จึงต้องเป็นเกมของเธอ!

.

ซูซี่ทุบหลอดไฟในอะพาร์ตเมนต์ทิ้งทั้งหมด เธอไม่มีปัญหากับความมืดมิด กติกาของเกมเหลือเพียงการใช้สติปัญญา และประสาทสัมผัสด้านเสียงเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้ชม 1,000 คนในโรงละครครั้งนั้นตกที่นั่งเดียวกันกับทุกตัวละครในเรื่องทันที หลายคนพยายามเพ่งมองเข้าไปในความมืดมิดบนเวที หวาดวิตกไปตามเสียงลมหายใจและบทสนทนาอันดุดัน ก่อนจะกรีดร้องขวัญผวาเมื่อแหล่งกำเนิดแสงจุดเล็กๆ อย่างไม้ขีดไฟ ไฟฉาย และแสงจากตู้เย็น ได้ส่องสว่างภาพน่าตกใจวับๆ แวมๆ ขึ้นมา

.

ผมเคยมีโอกาสได้ชม Wait Until Dark ฉบับภาพยนตร์ปี 1967 ที่มี Audrey Hepburn รับบทซูซี่ ซึ่งเป็นการสร้างตามหลังบรอดเวย์ออกมาแค่ปีเดียว และพบว่าลูกเล่นในฉากไคลแม็กซ์ดังกล่าวนั้นตราตรึงจริงๆ ครับ จนอดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า ถ้าได้ดูเรื่องนี้ในฉบับละครเวที จะสั่นประสาทกันขนาดไหน

.

อีกหนึ่งละครเวทีสยองขวัญที่โด่งดังไม่แพ้กันก็คือ The Woman in Black ซึ่งมีต้นฉบับเป็นนิยายชื่อเดียวกันโดย Susan Hill เมื่อปี 1983 และเคยถูกดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์และละครเวทีมาแล้ว (หนึ่งในเวอร์ชันภาพยนตร์ที่อาจยังพอหาชมกันได้อยู่คือ เวอร์ชันปี 2012 นำแสดงโดย Daniel Radcliffe)

.

และเช่นกัน ละครเรื่องนี้ใช้ความไม่ชัดเจนในภาพที่ปรากฏ ผสมผสานเข้ากับความเงียบงันและซาวด์เอฟเฟกต์เพื่อสร้างความน่าขนลุกต่อผู้ชม ลูกเล่นในการออกแบบแสงมีทั้งการลดทอนลงมาให้เป็นเพียงแสงสลัวๆ เมื่อตัวละครอยู่ในคฤหาสน์ หรือใช้แสงขาวเมื่อเป็นฉากภายนอกตอนกลางวัน หรือกระทั่งเปลี่ยนไปใช้แสงสีแดงเมื่อใดก็ตามที่หญิงชุดดำวนเวียนอยู่ในซีน หรือมีสิ่งน่าหวาดหวั่นกำลังจะเกิดขึ้น

.

ความโด่งดังของ The Woman in Black ฉบับละครเวที ทำให้ละครเรื่องนี้ยืนระยะการแสดงที่เวสต์เอนด์มาตั้งแต่ปี 1989 จนกระทั่งปิดม่านลงในปี 2023 รวมรอบการแสดงทั้งหมด 13,232 รอบ และกลายเป็นละครพูดที่เปิดการแสดงยาวนานที่สุดอันดับ 2 ของเวสต์เอนด์ (เป็นรองแค่เรื่อง The Mousetrap ซึ่งเปิดม่านมาตั้งแต่ปี 1952 และยังรันการแสดงมาจนถึงทุกวันนี้ รวมรอบการแสดงมากกว่า 29,500 รอบ)

.

ประเทศไทยเองก็เคยมีละครเวทีขายความเขย่าขวัญออกสู่สายตาผู้ชมกันมาแล้ว สองเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ เรื่องเล่าคืนเฝ้าผี (2011, 2012) และ ลัดดาแลนด์ (2013) ของทางซีเนริโอ ที่อาศัย magic of theatre ทำให้คนทั้งโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ขนหัวลุกกันจะจะ ในหลายซีน

.

ถ้าใครเคยดู คงจำกันได้ถึงบรรยากาศทั้งหมดที่เกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากการจัดแสง การใส่ซาวด์เอฟเฟกต์ การเพิ่มกลิ่น และการเขียนบทละคร ซึ่งถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จังหวะ ค่อยๆ ดันกราฟความตื่นเต้นให้เพิ่มขึ้น และเมื่อถึงจังหวะที่ใช่ก็ปล่อย jump scare ออกมา เรียกเสียงกรี๊ดผู้ชมกันได้ลั่นโรง

.

ผมจำรายละเอียดเรื่องราวไม่ได้มากครับเพราะละครทั้งสองเรื่องนั้นผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ที่ยังจำได้ดีคือฉากติดตาหลายๆ ฉากซึ่งยอมรับว่าจังหวะปล่อย jump scare นั้นทำได้น่ากลัวมากจริงๆ เช่น ฉากราวตากผ้าในลัดดาแลนด์ ที่ชวนให้เราพยายามระแวดระวังภัยด้วยการเพ่งมองสอดส่ายสายตาเข้าไปในผืนผ้าที่ตากอยู่ตรงนั้น หรือฉากห้องน้ำในความมืดสนิทของเรื่องเล่าคืนเฝ้าผี ซึ่งเป็นฉากที่ไฟทุกส่วนของโรงละครดับหมด เหลือเพียงแสงจากไฟฉายไม่กี่ดวงบนเวทีกวาดไปกวาดมา

.

เมื่อผู้สร้างทำถึง การสร้างความหวาดผวาของละครเวทีจึงสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ชมได้รุนแรงกว่าภาพยนตร์ด้วยซ้ำในบางครั้ง เพราะสิ่งที่ผู้ชมได้เห็นนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีลักษณะของการแชร์ประสบการณ์โดยตรงร่วมกันต่อสถานการณ์ตรงหน้าของทั้งตัวละคร (ผู้ที่เจอผีหลอก) และคนดู (ผู้สังเกตการณ์) จริงๆ นั่นเองครับ ผมเองยังขนลุกพรึ่บชนิดที่ว่าวิ่งจากปลายนิ้วขึ้นมาถึงท้ายทอยในโมเมนต์หนึ่งของเรื่องเล่าคืนเฝ้าผี ซึ่งเป็นฉากที่เก้าอี้ในห้องจัดรายการวิทยุของดีเจคนหนึ่งหมุนติ้วได้เองเหมือนลูกข่าง

.

อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสยองขวัญคือการหยิบยืมความเชื่อร่วมกันบางอย่าง (ว่าน่ากลัว) ใส่เข้ามาในละคร ถ้าเป็นของต่างประเทศคงเป็นสัญลักษณ์จำพวกไม้กางเขน รูปปั้นพระแม่มารี หรือคฤหาสน์สไตล์กอทิก แต่ของคนไทยเรา มักจะเป็นนางรำ ดนตรีไทย บ้านทรงไทย หรือเจ้าที่เจ้าทาง

.

เสียงปี่มอญแสบแก้วหูในแม่นาคพระโขนง เดอะ มิวสิคัล หรือนางรำกับโลงศพที่ถูกลำเลียงจากประตูโรงละคร เดินผ่านคนดู แล้วขึ้นไปบนเวทีในพิษสวาท เดอะ มิวสิคัล คือตัวอย่างที่ชัดเจนของกรณีนี้ครับ

.

สำหรับตัวอย่างแรก เสียงปี่ที่ว่านั้นได้ผลทางความรู้สึกทั้งโศกาอาดูรและเสียดแทงหลอกหลอนไปพร้อมๆ กัน (และถ้าใครสังเกตจะพบว่าเสียงของมันแผดลั่นกว่าดนตรีชนิดอื่นในจังหวะเดียวกันด้วย) ในขณะที่ตัวอย่างหลังนั้น การค่อยๆ เคลื่อนโลงศพผ่านคนดูในบรรยากาศที่เงียบสนิท ก็ช่วยสร้างทั้งเสียงซุบซิบเซ็งแซ่เล็กๆ และความหวาดหวั่นของผู้ชมว่าจะมีอะไรโผล่ออกจากโลงหรือไม่ ได้เป็นอย่างดี

.

อีกตัวอย่างหนึ่งของละครเวทีสยองขวัญไทยที่ ‘ทำถึง’ ด้านบรรยากาศก็คือ นางชฎา ละครโรงเล็กโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งเปิดแสดงที่โรงละครกาลิเลโอเอซิสเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาครับ

.

ด้วยพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มากบวกกับโครงสร้างดั้งเดิมของสถานที่ทำให้นางชฎาสามารถนำลูกเล่นต่างๆ ทางการละครมาสร้างบรรยากาศหลอกหลอนได้น่าสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะฉากแฟลชแบ็คเล่าเหตุการณ์สำคัญของเรื่องซึ่งผู้แสดงต้องแสดงจากบริเวณชั้นสองของอาคาร รอบที่ผมได้ชมนั้นผู้ชมถึงกับส่งเสียงออกมาเมื่อนักแสดงที่รับบทผีหันหน้าลงมามองผู้ชมด้านล่าง

.

เฉกเช่นกับภาพยนตร์ เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นละครเวทีที่มีกลิ่นอายลึกลับสยองขวัญแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องตีวงจำกัดอยู่แค่เรื่องภูตผีปีศาจเสมอไป ละครเพลงอย่าง Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street ซึ่งว่าด้วยจิตใจอันดำมืดและการแก้แค้น หรือ The Phantom of the Opera ที่มีประเด็นเกี่ยวกับการคุกคามข่มขู่และความลึกลับของโรงละคร น่าจะเป็นสองตัวอย่างที่ดี

.

หรือละครบางเรื่องอาจยกระดับความน่ากลัวธรรมดาๆ ไปสู่ความน่าหดหู่รบกวนจิตใจแบบที่หลายคนคงเคยพูดว่า ‘ดูแล้วดิ่งไป 3 วัน 7 วัน’ (ซึ่งบางทีเราจะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละที่น่ากลัวจริงๆ) ก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น The Crucible ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปรักปรำ แพะรับบาป และการซัดทอดความผิดของผู้คนในยุคที่ความเชื่อเรื่องแม่มดยังคงแข็งแกร่งอยู่มาก เป็นต้น

.

สิ่งที่น่าเสียดายคือ ทุกวันนี้ละครเวทีสยองขวัญมีจำนวนน้อยมากเหลือเกิน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโจทย์ยากหลายๆ ข้อที่ท้าทายผู้สร้าง (เช่น งบประมาณ หรือเทรนด์ของตลาดละครเวที) ทำให้สุดท้ายแล้วคอนเทนต์ประเภทนี้จึงเกิดขึ้นบนจอเสียมากกว่าบนเวทีละคร

.

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นกันแล้วว่าละครเวทีสยองขวัญสามารถทำได้จริง ขอเพียงผู้สร้างมีการพัฒนาบทที่ดี จับจังหวะได้แม่นยำ รวมไปถึงมีลูกเล่นมายากลแห่งการละครแพรวพราวพอที่จะสร้างภาพอันน่าหลอกหลอนขึ้นมาได้ แค่นี้คุณภาพความสยองของงานก็จะ ‘ถึง’ เหมือนละครสยองขวัญมากมายที่เอ่ยชื่อข้างต้นแล้ว

.

.

เรื่อง: Gaslight Café

.


ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page