top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

รายวิชา 'เทย์เลอร์ สวิฟต์ ศึกษา' เปิดสอนแล้ว!

อัปเดตเมื่อ 22 มี.ค. 2567



and now the world will remember her ‘ALL TOO WELL’


เมื่อพูดถึงตัวบทที่ใช้เรียนในภาควิชาภาษาอังกฤษและวรรณกรรมวิจารณ์ระดับอุดมศึกษา เราหลายคนคงนึกถึงนักประพันธ์ลือชื่อเจ้าของผลงานที่ถูกยอมรับให้ขึ้นหิ้ง ‘คลาสสิก’ อย่างวิลเลียม เชกสเปียร์, อกาธา คริสตี้ หรือไม่ก็จอร์จ ออร์เวล


แต่ในซิลลาบัสเทอมล่าสุดของมหาวิทยาลัยชื่อก้องโลกอย่าง ‘ฮาร์เวิร์ด’ (Harvard University) กลับมีชื่อวิชาหนึ่งที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้ (ทั้งในทางที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ) จากทั่วทุกมุมโลก นั่นคือ...


‘เทย์เลอร์ สวิฟต์ และโลกของเธอ’ (Taylor Swift and Her World)


สเตฟานี เบิร์ต (Stephanie Burt) กวี นักวิจารณ์ และศาสตราจารย์คนดังผู้เป็นเจ้าของวิชา ได้ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ว่ามีนักเรียนจากทั้งในและนอกภาควิชามาลงชื่อร่วมเรียนวิชาดังกล่าวในคราวเดียวมากถึง 300 ร้อยคน และนอกเหนือจากฮาร์เวิร์ดแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยชื่อดังอีกมากมายในสหรัฐฯ ที่สนใจและ/หรือวางแผนจะเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับเทย์เลอร์ สวิฟต์ โดยเฉพาะ เช่น


- มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในชื่อวิชาว่า ‘All Too Well (Ten Week Version)’ ล้อไปกับเพลง All Too Well (Ten Minute Version)


- มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ในชื่อวิชาว่า ‘วิจิตรศิลป์และความเป็นผู้ประกอบการ: Taylor’s Version’


ฯลฯ


แม้จะไม่ได้เรียกตัวเองว่า ‘สวิฟตี้’ แต่ศาสตราจารย์เบิร์ตจาก ม.ฮาร์เวิร์ดนับถือเทย์เลอร์ในฐานะนักประพันธ์มากความสามารถ เธอเล่าว่าเมื่อราว 12 ปีก่อน เธอสังเกตว่ามีเพลงป็อปเพลงหนึ่งที่ไพเราะ อีกทั้งเนื้อเพลงยังมีวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่นกว่าเพลงอื่นๆ ที่เปิดตามห้างร้านที่เธอแวะผ่าน


เพลงที่ว่านั้นคือ ‘You Belong With Me’ นั่นเอง!


จากนั้น ศาสตราจารย์เบิร์ตจึงติดตามผลงานเพลงอื่นๆ ของเทย์เลอร์อยู่ห่างๆ มาตลอด จนกระทั่งภาพยนตร์สารคดี Miss Americana (2020) ถูกปล่อยออกมา เธอจึงเริ่มคิดถึงเทย์เลอร์ในฐานะศิลปินที่ตัวเธอเองอยากศึกษาและควรค่าแก่การศึกษามากขึ้น


แต่แน่นอนว่านี่เป็นคลาสเรียนภาควรรณกรรมศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ไม่มีทางที่นี่จะเป็นคลาสเรียนง่ายๆ สบายๆ ที่เพียงแค่มานั่งฟังและเขียนถึงเพลงของแม่เทย์แล้วทุกอย่างจะจบสวย ศาสตราจารย์เบิร์ตตั้งใจจะแนะนำผลงานคลาสสิกอื่นๆ ที่มีธีมเรื่องหรือเทคนิคคล้ายๆ งานของเทย์เลอร์มาให้นักเรียนของเธอศึกษาไปควบคู่กัน เช่น


- บทกวีของวิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) ที่พูดถึงความผิดหวังเมื่อหันกลับไปมองอดีตแล้วพบว่า เราไม่ได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เราอยากเป็น คล้ายกับเพลง Anti-hero


- บทกวีของแซมมวล เทย์เลอร์ คอเลริดจ์ (Sammuel Taylor Coleridge) เกี่ยวกับการไล่ตามเป้าหมายและการเสียสละสิ่งต่างๆ ในชีวิตไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น คล้ายกับเพลง You’re on your own, kid


ฯลฯ


แน่นอนว่านอกจากแรงสนับสนุน (และเสียงกรี๊สสส ) แล้ว การเรียนการสอนของศาสตราจารย์เบิร์ตถูกตั้งคำถามจากทั่วทุกสารทิศ ถึงความเหมาะสมที่จะนำเพลงป็อปอายุไม่เกินยี่สิบปีมาเปิดสอนในมหาวิทยาลัยระดับโลก แต่เธอยืนหยัดในจุดยืนที่ว่า ผู้เรียนควรมีโอกาสศึกษาตัวบทที่ตนเองชื่นชอบในการเรียนภาษาและวรรณกรรมวิจารณ์


หากเหตุผลที่เราไม่ควรหยิบยกเพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาสอน คือเหตุผลที่ว่ามันเป็นงานที่คลาสสิกไม่พอและยังไม่ถูกทดสอบโดยกาลเวลา คำถามสำคัญที่เราควรทบทวนให้ดีคือ แล้วงานชิ้นหนึ่งๆ จะต้องถูกทดสอบนานเพียงใดจึงจะถือว่าคลาสสิก? ทดสอบด้วยเกณฑ์อะไร เชื่อถือได้แค่ไหน? แล้วใครเป็นคนทดสอบ?


“ถ้ามนุษยศาสตร์คือการศึกษาวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมยุคปัจจุบันด้วย และวัฒนธรรมตอนนี้ก็เต็มไปด้วยเทย์เลอร์ สวิฟต์ เราย่อมสมควรอย่างยิ่งที่จะตั้งคำถามว่าทำไมโลกจึงมีปรากฏการเทย์เลอร์ฟีเวอร์


“นั่นแหละคือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ในอนาคตจะย้อนกลับมาตั้งคำถาม พวกเขาจะย้อนมองสังคมอเมริกันในอดีตที่โอบรับเทย์เลอร์ในฐานะศิลปิน ถกเถียงว่ากระแสเทย์เลอร์เกิดและดับเมื่อไร แล้วเมื่อนั้น การรับรู้ตัวตนของเทย์เลอร์ก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา” ศาสตราจารย์สเตฟานี เบิร์ต อาจารย์ผู้สอนวิชา ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์ และโลกของเธอ’ กล่าว ในบทความพิเศษของตนเองที่เผยแพร่กับนิตยสาร The Atlantic



ที่มา:




เรื่อง: Bloomsbury Girl


ดู 15 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page