การชนโรงพร้อมกันของ “Longlegs” “Trap” และ “ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นเหมือนของขวัญต้อนรับช่วงครึ่งปีหลังให้แฟนหนังสยองขวัญและทำให้บรรยากาศหน้าโรงภาพยนตร์คึกครื้นไม่น้อย ซึ่งผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้ตีตั๋วไปเปิดประสบการณ์สุดระทึกใจ รับชมภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องแบบต่อกันรวดเดียวครบแพ็กเกจ พบว่าแต่ละเรื่องล้วนมีประเด็น คุณภาพ และความน่าสนใจแตกต่างกันไป เลยอยากนำความรู้สึกมาแบ่งปันให้ชาวเพจ The Showhopper ที่อาจไปดูมาแล้วหรือเล็งๆ ไว้ว่าอยากจะไปดูสักเรื่องได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจและมาพูดคุยกัน
.
• “Longlegs” ความขวัญผวาระดับใจเต้นแรงที่ดูไปดูมากลับได้กลิ่น Coming-of-age เป็นระยะๆ •
.
เริ่มที่ผลงานการกำกับของ ‘ออซ เพอร์กินส์’ ผู้ผ่านงานหนังสยองขวัญมาหลายเรื่องชนิดที่ว่าในประวัติ Filmography ของเขาไม่มีหนังฟีลกู๊ดให้เห็น ประกอบกับการทำการตลาดโปรโมตโดยค่าย Neon ที่ปูพื้นความลึกลับของเรื่องกับคอหนังล่วงหน้านานถึงหกเดือนก่อนปล่อยตัวอย่างเต็มๆ ก็ทำให้ “Longlegs” เป็นภาพยนตร์ที่ ‘สร้างฟีล’ ให้คนทั้งโลกรอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อ จนถึงวันได้ไปรับชมจริง ผู้เขียนก็เข้าใจจุดประสงค์ทั้งหมดตั้งแต่ช่วงโปรโมตที่สอดคล้องกับตัวหนังและถือว่าทำสำเร็จ
.
โดยทีมผู้สร้างพยายามจะดึงผู้ชมเข้าไปในเรื่องราวทำให้พวกเราตกที่นั่งเดียวกันกับนักสืบ ‘ลี ฮาร์เกอร์’ (แสดงโดย ไมก้า มอนโร) ผ่านการดูภาพที่เกิดเหตุ อ่านจดหมายอักขระคำใบ้ที่เราแปลไม่ออกและมีข้อมูลเกี่ยวกับคดีตรงหน้าน้อยพอๆ กับตัวเอกในตอนต้น ทำให้คนดูแบกความรู้สึกสับสนและหวาดกลัวไปพร้อมกับเธอตลอดเรื่อง
.
ระหว่างที่ดูภาพยนตร์ผู้เขียนรู้สึกว่าผู้กำกับจริงจังมากกับการ ‘เอาคนดูให้อยู่หมัด’ ทั้งจังหวะการ Jumpscare แบบเล่นทีเผลอ แหกขนบการโหลดด้วยเสียงประหลาดหรือบรรยากาศต้องสงสัยแล้วค่อยปล่อยฉากตึงตัง ด้วยการทำให้มันตึงตังขึ้นมาในเวลาที่เราคิดว่าทุกอย่างปลอดภัย ประกอบกับการโหมเสียงหัวใจเต้นและลมหายใจของนักสืบลีให้ได้ยินอยู่ตลอด การเล่นกับความเงียบสลับกับความดังในจังหวะประหลาดจนผู้ชมรู้สึกไม่ไว้วางใจภาวะแวดล้อมของหนัง การถ่าย Medium Close-Up ตัวละครแบบมุมเสยที่บวกเพิ่มความน่าอึดอัดเข้าไปในทุกบทสนทนา มันเป็นความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย ที่ผู้เขียนมองว่าเจ๋งมาก ที่ทั้งทีมผู้สร้างและนักแสดงถ่ายทอดออกมาได้ดีขนาดนี้
.
อีกทั้งยังตอบความตั้งใจของผู้กำกับที่อยากพากลิ่นของหนังสืบสวนสอบสวนยุค 90s แบบ “Se7en” และ “The Silence of the Lambs” กลับมา ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่ามันไม่คล้ายกันจนถึงขั้นที่จะเอาสิ่งนี้ไปผูกไว้กับหนังเพื่อตัดสินได้ ว่าออสกู๊ด ‘ทำถึง’ งานระดับตำนานเหล่านั้นหรือไม่ แต่ใน ‘องค์รวม’ ตัวหนังก็สามารถทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศจากทั้งสองเรื่องที่เขากล่างถึงได้จริง
.
ด้านเนื้อหาที่เกริ่นไว้ข้างต้นถึงกลิ่นไอ Coming-of-age มาจากความที่หนังไม่ได้พยายามจะถ่ายทอดแต่ความลึกลับหรือความบ้าของฆาตกรลองเลกส์ (แสดงโดย นิโคลัส เคจ) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะแกนหลักของเรื่องหมุนวนอยู่รอบตัวละครนักสืบลี ทุกตัวละครในเรื่องเองก็มีเหตุเกี่ยวพันติดหนึบอยู่กับเธอ มันเลยทำให้เราต้องมาเพ่งดูทุกความรู้สึกและการกระทำของนักสืบลี มองเห็นความเจ็บปวดของเธอที่ต้องเผชิญเรื่องเลวร้ายตั้งแต่เด็กจนโต เธอเป็นคนไม่พูดไม่จากับใคร เราไม่เห็นเธอมีเพื่อน และแม่คนเดียวที่มีก็ไม่ใช่คนที่เธออยากพบหน้านัก เธอทั้งถูกตามล่า ใช้ประโยชน์ และถูกกีดกันออกจากความจริงเพียงเพราะเธอคือ ‘เด็กสาวผู้ได้รับอนุญาตให้เติบโต’ ในบ้านที่ไม่มีใครกลับมาเยี่ยมเยียน ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จัก หรือคนแปลกหน้า..
.
ซึ่งเมื่อนำไปผูกโยงกับชีวิตวัยเด็กของออสกู๊ดที่ไม่เคยได้รู้ว่าพ่อของตนเป็นเกย์และการสูญเสียแม่ในเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิล์ดเทรดฯ ไปพร้อมกับความลับนี้ ก็ทำให้เห็นข้อความสำคัญจากเรื่องราวทั้งหมดและความเชื่อมโยงระหว่างเขากับตัวละครหลักมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือ “Longlegs” จะตอบโจทย์ผู้ชมทั้งในด้านความระทึกใจและการหย่อนประเด็นชีวิตให้พอได้คิดตามอย่างแน่นอน
.
.
• “Trap” รสชาติใหม่จากเอ็มไนท์ฯ ในมหรกรรมความ ‘หักมุม’ ครั้งใหญ่! •
.
มาถึงผลงานของเจ้าพ่อแห่งการหักมุมในโลกภาพยนตร์อย่าง ‘เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน’ ที่ขอขนานนามว่าเป็นผู้กำกับที่ ‘หลอกเก่งกว่าผี’ ตั้งแต่เรื่องราวของเด็กน้อยจิตสัมผัสกับประโยคเด็ด “I see dead people.” ไปจนถึงหมู่บ้านย้อนยุคติดถนนใหญ่ที่ไม่เคยมีปีศาจอยู่จริง ครั้งนี้เขากลับมากับ “Trap” หนังที่เล่าหนึ่งวันสุดระทึกของฆาตกรต่อเนื่องผู้ถูกหลอกมาติดกับดักล้อซื้อในงานคอนเสิร์ตท่ามกลางกองกำลังตำรวจ 300 นาย โดยเอ็ม. ไนท์เลือกจะเปิดเรื่องนี้มาด้วยการ ‘เฉลย’ ตัวตนของฆาตกรให้คนดูรู้มาตั้งแต่เริ่มว่า “ทุกคน! ชายคนนี้คือ ‘เป้า’ ของพวกเรา!” เราจะให้กำลังใจเขาให้หนีรอดไปได้ด้วยความฉลาดสมศักดิ์ศรีฆาตกรโรคจิต หรือจะภาวนาให้คนจับเขาได้ไวๆ แต่ถ้ามันไว หนังก็จะจบเร็วไป เพราะฉะนั้นพี่แกเลยใส่กับดักในกับดักสมชื่อเรื่องมาให้คนดูได้ลุ้นกันจนตัวเกร็งตลอด 106 นาที
.
สำหรับเรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่ผู้เขียนอาจจะอธิบายอะไรไม่ได้มากนัก เพราะความสนุกของมันคือการได้ปล่อยใจให้ตัวเองได้โดนหลอกไปพร้อมๆ กับหนัง แต่สิ่งที่จะได้เห็นแน่ๆ คือรสชาติใหม่ในงานของผู้กำกับคนนี้ หากใครติดตามผลงานของเขามาจะพบว่าเอ็ม. ไนท์ ชอบเล่นกับพื้นที่และตัวละครที่จำกัด คนกลุ่มหนึ่งถูกโยนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปริศนา และต้องต่อสู้หาคำตอบหรือทางออกให้ตัวเองเพื่อรอดชีวิต ซึ่งกับ “Trap” ก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้นในตอนต้น แต่พอดูไปจนจบจะพบว่าสเกลเรื่องมันใหญ่มาก องค์ประกอบ อุปสรรคขวากหนามถูกประโคมใส่ตัวละครไม่หยุดหย่อน ซึ่งเอ็ม. ไนท์ กล้ากระโจนลงไปเล่นกับมันอย่างสุดตัวเพื่อขับเน้นความต้องการจะเอาชนะกับดักของตัวละคร ‘เดอะ บุชเชอร์’ (แสดงโดย จอช ฮาร์ตเน็ตต์) ออกมาให้มากที่สุด ท้าทายสติปัญญาและสัญชาตญาณกันเต็มที่เต็มเหนี่ยว จนคนดูลุ้นกันเหนื่อย อีกทั้งงานภาพที่ไม่คุ้นตาอย่างมากที่จะได้เห็นในงานของเขา และจริงอยู่ที่หลายคนที่ได้ไปดูมาพูดถึง ‘ความไม่สมเหตุสมผล’ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพยายามผลักขีดจำกัดของเรื่องออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่ยึดหลักเหตุผลนี้ก็ทำให้คนดูสนุกได้
.
อีกจุดที่ผู้เขียนชอบมากใน “Trap” เห็นทีจะเป็นมิติของตัวละครที่เอ็ม. ไนท์ ทำได้ดีเสมอทั้งรายละเอียดเรื่องการทางจิตหรือปมปัญหาระหว่างเดอะ บุชเชอร์และภรรยาของเขา ที่เพิ่มสีสันให้เรื่องที่เกือบจวนจะถึงทางตันให้สนุกขึ้นมาอีกได้ โดยรวมคือคุ้มค่าคุมเวลาอย่างมากกับมหกรรมความหักมุมสเกลใหญ่ครั้งนี้
.
.
• “ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ” หนังชูคอนเซปต์ที่กล้าทดลองเล่นกับทุกอย่าง •
.
ปิดท้ายด้วยหนังไทยหนึ่งเดียวในลิสต์ ผลงานล่าสุดของ ‘ก้องเกียรติ โขมศิริ’ ผู้กำกับเจ้าของผลงานหนังสยองขวัญในดวงใจของคนไทยอย่าง ‘ลองของ’ ‘เฉือน’ และ ‘Take Me Home: สุขสันต์วันกลับบ้าน’ ที่ต่อให้เวลาผ่านมานานแค่ไหนผู้เขียนก็ยังจำความน่ากลัวในหนังของก้องเกียรติได้เสมอ ซึ่งพอได้เห็นวิดีโอโปรโมตของ “ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ” เวอร์ชัน Analog Horror และเห็นชื่อผู้กำกับ ก็คิดว่าจะต้องไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้แน่ๆ ซึ่งมุมมองของผู้เขียนต่อหนังก่อนได้รับชม ไม่ได้คิดถึงพาร์ทความน่ากลัวของซอมบี้เลย แต่กลับมองเห็นประเด็นเรื่องการต่อต้านสงครามและกลุ่มยุวชนทหารเลยสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าทีมสร้างจะผูกสิ่งนี้เข้ากับซอมบี้ได้อย่างไร คิดไปต่างต่างนานา ว่าซอมบี้อาจมาขับเน้นเรื่องความปราถนาจะมีชีวิตรอดของเหล่าทหาร ตามแบบฉบับหนังซอมบี้ที่ชอบใช้สถานการณ์วันโลกพังมาเล่าเรื่องชีวิตอย่างลึกซึ้ง ซึ่งพอได้มาดูก็เป็นเช่นนั้นจริง บทภาพยนตร์พยายามชูแก่นตรงนี้ให้เห็นเด่นชัดและตอกย้ำผู้ชมถึงความรุนแรงอันเปล่าประโยชน์ของสงคราม ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดความอ่านของตัวละครที่เคยมองคนละสิ่ง เห็นคนละอย่างและยืนตรงข้ามกันอย่างสุดขั้วให้มาเข้าใจข้อความเดียวกัน โดยใช้ความเป็นซอมบี้ หรือการเป็น ‘คนที่มีเลือดเนื้อแต่ไร้ชีวิต’ มาเป็นสัญลักษณะแทนชะตากรรมอันน่าเศร้าของหลายชีวิตที่ต้องสูญสิ้นไปจากความขัดแย้ง
.
แต่การจะไปถึงตรงนั้นตัวเรื่องก็ทั้งต้องผูกปม แก้ปม ให้ตัวเองอยู่หลายจุด เพราะการ ‘เป็น’ ซอมบี้ หรือการ ‘มี’ ซอมบี้ในเรื่องสร้างข้อจำกัดระหว่างตัวละครที่ผู้สร้างอยากใส่เข้าไป เลยมีการพยายามบิดหรือพลิกแพลงหลายจุดที่อาจทำคนดูเข้าใจได้ยาก หรือมันอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ใหม่มาก เมื่อเทียบกับหนังซอมบี้รูปแบบเดิมที่ถูกผลิตซ้ำจนเหมือนจะมีกรอบรัดตัวว่าซอมบี้ควรเป็นแบบนั้น แบบนี้ ผู้เขียนเลยมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทดลองเล่นกับหลายอย่างมากเพื่อพาตัวเองไปให้ถึง Dramatic Question ของเรื่อง ซึ่งเป็นสาสน์ที่ดีมากๆ ในยุคที่โลกกำลังเต็มไปด้วยสงครามและความสูญเสีย
.
ทำให้เรากลับชอบเรื่องราวก่อนเกิดสงครามขึ้นในช่วงแรกมากกว่า ทั้งมิตรภาพของเหล่ายุวชนทหารที่ถูกปูมาอย่างเป็นธรรมชาติ มิติของตัวละคร ‘เมฆ’ (แสดงโดย ชานน สันตินธรกุล) และ ‘หมอก’ (แสดงโดย อวัช รัตนปิณฑะ) ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเองอย่างแข็งขันภายใต้เจตนาเดียวกันคือการรักษาชีวิตและปกป้องครอบครัว จนแอบคิดว่าอยากดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในแบบดราม่าเพียวๆ ขึ้นมาเลยทีเดียว
.
.
ทั้งนี้บทความนี้เป็นเพียงทรรศนะของผู้เขียนเลยอยากแนะนำให้ผู้อ่านลองเปิดใจ เปิดประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องด้วยตัวเองอาจจะเจอจุดที่ชอบ-ไม่ชอบแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้
.
แล้วอย่าลืมมาพูดคุยกันที่ใต้คอมเมนต์นะคะ
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
.
.
Comentarios