top of page

รู้จักกระแส OSCAR SNUB ว่าทำไมออสการ์ชอบ ‘เมิน’ หนังดีๆ ให้รางวัลสวนโพลผู้ชม

รูปภาพนักเขียน: EGOT Talking ClubEGOT Talking Club


ในปีที่ฤดูล่ารางวัลของฮอลลีวูดโกลาหลเดือดดาลที่สุดในรอบหลายปีเช่นนี้ อยู่ ๆ ก็อดนึกสงสัยขึ้นมาไม่ได้ว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ‘ยอดเยี่ยม’ ของออสการ์นั้นคืออะไร และทำไมเราถึงได้ยินคำว่า ‘snub’ แบบซ้ำซากทุก ๆ ปี

.

คอลัมน์ Critique-Critic วันนี้ขอชวนทุกคนมาร่วมวิเคราะห์เส้นทางการเชิดชูเกียรติแห่งโลกเซลลูลอยด์ของรางวัลออสการ์ โทรฟีสีทองอร่ามสุดยิ่งใหญ่ที่ใคร ๆ ในวงการบันเทิงต่างหมายปอง เพราะจริง ๆ แล้วมาตรวัดสู่การเป็นเจ้าของตุ๊กตาทองตัวนี้มีอะไรซ่อนเร้นมากกว่าแค่ผลิตผลทางภาพยนตร์ที่ล้ำเลิศ

.

ทุกครั้งที่ออสการ์ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออกมาช่วงเดือนมกราคม สิ่งที่เรามักจะได้ยินตามมาในสื่อต่าง ๆ แทบจะทันทีคือคำว่า ‘snub’ หรือ ‘การถูกเมิน’ …ตัวเก็งแถวบนในโพยเทพพยากรณ์เรื่องไหนที่หลุดชิงไป ก็เรียกว่า snub แรง ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดของปีนี้คือ Challengers หนังแนวสปอร์ตดราม่ารักสามเส้าที่นำแสดงโดย Zendaya

.

คิดแบบง่าย ๆ ถึงเหตุผลที่ตรงไปตรงมาที่สุดนั่นคือ สล็อตผู้เข้าชิงออสการ์มีอยู่เพียงแค่ 5 สล็อตต่อสาขาเท่านั้น (ยกเว้นสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่มี 10 สล็อต) ในขณะที่รายชื่อที่จ่อเข้าชิงแต่ละสาขามักมีเกิน 5 ชื่อทุกปี ดังนั้นไม่มีทางเลยที่จะเลี่ยงคำว่า snub ออกไปจากวงจรออสการ์ได้

.

ความที่ออสการ์มีสมาชิกเกือบหนึ่งหมื่นคน (9,905 คน ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2024) สิ่งที่น่าจะเป็น pain point สำคัญคือ การที่มีกระแสความเห็นที่แตกต่างหลากหลายหมุนเวียนอยู่ในหมู่กรรมการเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปีปีหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสโคปรายชื่อความยอดเยี่ยมต่าง ๆ ให้เหลือเพียงสาขาละ 5 ชื่อเท่านั้น และนี่เองทำให้ ‘การลงคะแนนเสียง’ ต้องเข้ามามีบทบาท

.

การจะพิจารณาออกเสียงหรือไม่ออกเสียงให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แน่นอนว่าเราต้องรู้จักสิ่งนั้นก่อน ในกรณีนี้หมายถึงการชมผลงานนั้น ๆ ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยด้วยใจที่เป็นกลาง

.

คำถามคือ ‘ผู้ลงคะแนนโหวตของออสการ์ได้ชมหนังเรื่องนั้น ๆ แล้วจริงหรือไม่?’ …หรือถ้าเราลองบิดคำถามอีกสักนิดให้เป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นอีกระดับก็คือ ‘กรรมการชมหนังทุกเรื่องที่มีสิทธิ์ได้รับพิจารณาในปีนั้นๆ ครบถ้วนจริงหรือเปล่า?’ (เพื่อให้เกิดความยุติธรรมเทียบเท่ากันในทุก ๆ เรื่อง)

.

ปี 2024 มีหนังที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือ AMPAS) ซึ่งสามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้จำนวน 323 เรื่อง เป็นไปไม่ได้เลยที่กรรมการทุกคนในเก้าพันกว่าคนจะดูครบทั้งหมด ด้วยใจที่เป็นกลาง และพิจารณาผลลัพธ์ที่หนังเรื่องต่าง ๆ สร้างสรรค์ออกมาในสายงานของตัวเองได้อย่างถี่ถ้วน

.

แพทเทิร์นอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นเพื่อมาขจัดอุปสรรคนี้โดยอัตโนมัติก็คือการมี trend setter หรือ ‘ผู้นำเทรนด์’ ที่มาในรูปแบบของเวทีรางวัลนำร่องเวทีอื่น ๆ (ก็พวกเวทีน้อยใหญ่ก่อนหน้าที่เรามักใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำนายผลออสการ์ต่าง ๆ นานานั่นล่ะ)

.

ลองคิดถึงจุดเริ่มต้นช่วงกลางปีอย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ก็ได้ โดยเฉพาะในระยะหลังเกือบทุกปีมานี้ หนังที่คว้ารางวัลใหญ่ ๆ จากที่นั่นได้ มักถูกเพ่งเล็งไว้ก่อนเลยว่าจะต้องตามมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่ออสการ์ ณ ช่วงเวลาปลายปีอย่างแน่นอน แล้วมันก็มักจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เสียด้วย

.

[ โอเค บอกก่อนตรงนี้ว่า เราไม่ได้พูดเพื่อชี้นำไปถึงความเยี่ยม/ไม่เยี่ยม ควรชิง/ไม่ควรชิง ของหนังนะ เพราะหนังทุกเรื่องล้วนมีความดีงามที่แตกต่างกัน แต่เรากำลังโฟกัสในแง่ที่ว่า พอหนังเรื่องไหนโดดเด้งออกมาจากกลุ่มเพื่อนแล้ว มันมักจะถูกอัพเวลให้ไปรอที่สถานีออสการ์เลยอยู่เป็นประจำ ]

.

หนึ่งในเวทีที่ประพฤติตนเหมือนเป็น trend setter คนแรก ๆ ของออสการ์ซีซันเลยก็คือ เวทีลูกโลกทองคำ …จากรายชื่อที่กระจัดกระจายตามสถาบันนักวิจารณ์ในหัวเมืองต่าง ๆ ของอเมริกาก่อนหน้านี้ ชื่อไหนที่ก้าวมาถึงลูกโลกทองคำได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงผู้เข้าชิงหรือได้เป็นผู้ชนะ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้ไปต่อยังเวทีออสการ์ด้วย

.

ลองสมมุติกันเล่น ๆ ถึงกรณีของ Fernanda Torres เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำนักแสดงนำหญิงดราม่าปีนี้จากหนังบราซิลเรื่อง I’m Still Here ผู้ซึ่งมีเวทีนี้เป็นเวทีใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ได้เข้าชิงก่อนการชิงออสการ์

.

สมมุติว่าไม่มีชื่อของเธอเข้าชิงตั้งแต่แรกเลยที่ลูกโลกทองคำ หนังเรื่องนี้ก็อาจจะไม่แรงที่ออสการ์ถึงขนาดได้ชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ หรืออาจไม่มีกระแสว่าเธอจะมาปาดเอาออสการ์นำหญิงไปครองด้วยก็เป็นได้ (ย้ำอีกทีว่าไม่มีเจตนาจะปรามาส Fernanda Torres หรือ I’m Still Here แต่อย่างใด เพราะนี่คือหนึ่งในหนังที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีคุณภาพและอยากชมมากเช่นกัน)

.

สิ่งที่กำลังจะบอกคือ trend setter เหล่านี้นี่เองที่เป็นคน ‘ตีวง’ รายชื่อต่าง ๆ ให้กับออสการ์ พูดแบบง่าย ๆ คือ ถ้าลูกโลกทองคำไม่ทำให้ I’m Still Here โดดเด่นขึ้นมา ต่อให้หนังดีแทบตายแค่ไหน ออสการ์ก็อาจจะมองข้ามไปเลยก็ได้ (เพราะขนาดลูกโลกทองคำตบรางวัลดนตรียอดเยี่ยมให้ Challengers ออสการ์ก็ยังเมินไปซะเฉยๆ อย่างนั้น)

.

และจะว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง ออสการ์ กับ trend setter ทั้งหลาย ก็คล้าย ๆ จะเป็นอะไรที่สะท้อนกันไปมาด้วย เพราะนอกจาก trend setter จะช่วยโน้มนำอะไรบางอย่างให้ออสการ์แล้ว หลายครั้งในอีกมุมหนึ่งมันก็พยายามทำตัวเป็นเทพพยากรณ์ทำนายออสการ์ มากกว่าจะเชิดชูความยอดเยี่ยมตามเนื้อผ้าของผลงานจริง ๆ เช่นกัน

.

ผู้เขียนสังเกตเห็นพฤติกรรมนี้ชัดสุดที่เวที Critics’ Choice ซึ่งมักจะกวาดรายชื่อที่มีศักยภาพทั้งหมดของซีซันนั้นมาเป็นผู้เข้าชิงให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย โดยไม่ค่อยจะแคร์จำนวนสล็อตในแต่ละสาขาเสียด้วยซ้ำ นัยว่า ‘เอาวะ โกยมาให้หมด ในจำนวนนี้มันต้องมีไปชิงออสการ์มั่งล่ะ และฉันจะเป็นผู้ที่ทำนายออสการ์ได้แม่นกว่าใคร’

.

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หนังหลายร้อยเรื่องในแต่ละปีจึงถูกคัดกรองลงมาโดย trend setter ให้เหลือเพียงไม่กี่สิบเรื่องเท่านั้น และจำนวนไม่กี่สิบเรื่องนี้ก็จะได้รับความสนใจในวงจรออสการ์เป็นพิเศษยาว ๆ ไปตลอดซีซัน นั่นหมายความว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่นอกกลุ่มนี้จึงถูก snub ไปตั้งแต่ต้นโดยปริยาย ซึ่งมันอาจเป็นหนังที่มี ‘ดี’ เพียงพอให้ยกย่องก็เป็นได้

.

ถึงตรงนี้แล้วหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนนึกถึงขึ้นมาก็คือ Smile 2 ซึ่งมีกระแสชื่นชมการแสดงของ Naomi Scott เป็นอย่างมาก แต่ Smile 2 เป็นหนังสยองขวัญ ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วนี่ไม่ใช่แนวหนังที่ถูกจริตออสการ์มากนัก แต่หากสมมุติว่ามี trend setter สักหนึ่ง สอง หรือสามเวทีที่เสนอชื่อ Naomi Scott มาเข้าชิงให้เห็นซ้ำ ๆ ก็เป็นไปได้ว่าออสการ์ก็อาจไม่มองข้ามหนังเรื่องนี้ไปด้วยเช่นกัน

.

สรุปคือ ออสการ์กำลังชูป้ายว่า ‘อยากให้ดูเรื่องไหน ส่งมาบอกฉันด้วย เพราะฉันจะไม่ดูทุกเรื่อง’

.

นอกจากนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า มันมี ‘เกมการเมือง’ อยู่ในกระบวนการคัดสรรของออสการ์ตลอดมา คนคุ้นเคยมักลงคะแนนให้คนคุ้นเคย คนรู้จักมักเทคะแนนให้คนรู้จัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สาขาดนตรี (ซึ่งมีสมาชิกในสายงานน้อยกว่าสายงานอื่นอยู่สักหน่อย) มักส่งชื่อ Diane Warren นักแต่งเพลงมือฉมังแห่งยุค เข้าชิงสาขาเพลงยอดเยี่ยมทุกปี ทั้งๆ ที่หนังเรื่องนั้น ๆ แทบไม่เป็นที่รู้จักเลย (เธอเข้าชิงติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปีล่าสุดนี้ เว้นปี 2016 ไปปีเดียว)

.

บางครั้งกรรมการอาจโหวตให้โดยยังไม่ได้พิจารณาจากเนื้องานจริง ๆ เลยด้วยซ้ำ อย่างที่ล่าสุดมีรายงานข่าวออกมาว่า กรรมการบางส่วนไม่ได้ดู The Brutalist ทั้งหมด หรือดูไม่จบทั้งเรื่อง เพราะหนังยาวถึง 3 ชม. 35 นาที ซึ่งฟังดูแล้วอาจขัดความรู้สึกคนทั่วไปได้ว่า ‘งั้นจะโหวตว่าเยี่ยมได้อย่างไรในเมื่อยังดูหนังไม่จบเลย’

.

ดังนั้นแล้วคำว่า ‘ยอดเยี่ยม’ ของออสการ์ จึงเป็น ‘ความเยี่ยม’ ที่ต้องผสมกับ ‘การถูกชวนเชื่อ’ อะไรบางอย่างตลอดมา เราจึงมักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการทำแคมเปญออสการ์ของหนังเรื่องต่าง ๆ ที่อัดเม็ดเงินโปรโมตลงไปเพื่อให้หนังอยู่ในความสนใจของกรรมการได้มากที่สุดอยู่เสมอ หนึ่งในกรณีตัวอย่างที่เป็นที่จดจำแห่งยุคสมัย ก็คือเมื่อครั้งที่ Harvey Weinstein ผู้บริหารค่าย Miramax ทุ่มแคมเปญโปรโมต Shakespeare in Love จนสุดท้ายคว้าออสการ์ไปได้ถึง 7 ตัว หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1998

.

ในบางครั้งการพยายามเป็นที่สนใจ ก็อาจเลยเถิดถึงขั้นที่กลายเป็นการ ‘ล็อบบี้’ ไปเลยด้วย ในปัจจุบันถ้า AMPAS ตรวจสอบว่ามีความผิดจริง ก็จะมีการถอดถอนการเข้าชิงนั้น ๆ ออกไป แต่ในอดีตการล็อบบี้ก็เคยสัมฤทธิผลมาแล้ว

.

ยกตัวอย่างเช่น ชัยชนะของ Mary Pickford ในสาขานำหญิงจากเรื่อง Coquette ในงานออสการ์ครั้งที่ 2 (1928/29) ที่ว่ากันว่ามาจากการที่เธอเป็น ‘สตรีที่มีพาวเวอร์’ ในออสการ์ยุคนั้น เนื่องจากเธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง AMPAS และเธอยังปฏิบัติการล็อบบี้ด้วยการเชิญกรรมการมาพูดคุยดื่มน้ำชาที่แมนชั่นของเธอ ในขณะที่ผู้เข้าชิงร่วมสาขาคนอื่น ๆ ไม่ได้ตระหนักถึงกลยุทธ์นี้เลย

.

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลากหลายที่ส่งผลต่อคำว่ายอดเยี่ยมของออสการ์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวฉาวที่อาจเข้ามามีบทบาท เช่น ข่าวเกี่ยวกับนักแสดงของ Emilia Pérez, ข่าวเกี่ยวกับการใช้ AI ของ The Brutalist ฯลฯ หรือพลังเงียบของ trend setter ที่มองไม่เห็น เช่น กรณีที่จู่ ๆ ชื่อของ Andrea Riseborough จาก To Leslie (2022) ก็โผล่มาชิงนำหญิงแบบ ‘out of nowhere’ จากการร่วมแรงร่วมใจเทคะแนนโหวตให้ของเพื่อนนักแสดงในวงการ เป็นต้น

.

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงพอสรุปได้ว่า หนังดีหลาย ๆ เรื่องถูก snub ไปเพราะปัจจัยที่แทรกซึมอยู่ในกระบวนการคัดสรรซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าชิงไปจนถึงการเฟ้นหาผู้ชนะเลยทีเดียว และต้องไม่ลืมด้วยว่าสุดท้ายแล้วมาตรวัดที่เกิดจากความรู้สึกของมนุษย์มักมี ‘อคติ’ และ ‘ความเอนเอียง’ เจืออยู่ด้วยเสมอ ฉะนั้นแล้วอย่าแปลกใจหากเราจะได้ยินคำว่า snub วนเวียนอยู่คู่เวทีออสการ์ไปอีกนานแสนนาน

.


.

เรื่อง: EGOT Talking Club


Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page