top of page

รู้จักอาชีพ ‘Dramaturg’ พระคัมภีร์ประจำโปรดักชัน ผู้ให้ข้อมูลคนสำคัญที่ผู้กำกับยังกล้าฝากใจ

รูปภาพนักเขียน: Nostalgia WoolfNostalgia Woolf


สงสัยกันไหมว่าการทำละครเวทีสักเรื่อง ผู้กำกับมีวิธีการทำความเข้าใจภูมิหลังของละครเรื่องนั้นอย่างไร หรือเวลานักแสดงต้องพูดบทและร้องเพลงในภาษาต่างถิ่น จะรู้ได้อย่างไรว่าคำๆ นี้มันแปลว่าอะไร ตอนที่พูดออกไปต้องแสดงอารมณ์แบบไหน ฝ่ายเสื้อผ้าล่ะถ้าสงสัยว่า ตัวละครนี้เหมาะแต่งกายในเฉดสีอะไรถึงจะเข้ากับบริบทนั้นๆ จะต้องปรึกษาใคร

.

วันนี้หายสงสัยแน่นอนเพราะคอลัมน์ ‘เปิดโปร’ จะพามาส่องอาชีพ ‘Dramaturg’ หนึ่งในอาชีพที่รู้จักกันแพร่หลายในโปรดักชันละครเวทีและวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่ในบ้านเรากลับไม่ค่อยพบเห็น 

.

ต้องบอกก่อนว่า การทำละครหนึ่งเรื่อง ‘บทละคร’ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ถ้าทุกฝ่ายในโปรดักชัน  มีความเข้าใจในตัวบทไปจนถึงบริบทของบทละครได้อย่างแตกฉานและมองภาพไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะส่งผลให้โปรดักชันนึงสามารถสร้างโลกของละครที่มีคุณภาพได้ไม่ยาก แต่บางครั้ง แม้แต่ผู้กำกับที่ถือเป็นหัวเรือหลักก็อาจจะต้องพึ่งพาชุดข้อมูลเพื่อพาเขาและลูกทีมให้ไปถึงฝั่ง

.

ดังนั้น ‘Dramaturg’ จึงเป็นอาชีพที่เป็นเสมือนพระคัมภีร์ที่ต้องมีความรู้และความเข้าใจโลกของละคร โดยเฉพาะบทละคร ในระดับที่ลึกมากๆ เพื่อป้อนข้อมูลที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่ายในโปรดักชัน รวมถึงช่วยดึงธีมของบทละครนำมาขยายต่อบนเวทีโดยไม่ให้หลงประเด็น ดังนั้นอาชีพนี้จำต้องมีทักษะในด้านการวิจัย ค้นคว้า และการวิเคราะห์ในระดับสูง เพื่อเป็นทุกอย่างให้เธอ (ละครโปรดักชันหนึ่ง) ทั้งหมด

.

ขอยกตัวอย่างการทำงานให้เห็นภาพมากขึ้น สมมติว่า ‘Dramaturg’ ร่วมงานกับโปรดักชันที่จะทำละครเวทีเรื่อง Phantom of The Opera หน้าที่ของ ‘Dramaturg’ คือ 

.

ศึกษาบทละคร รวมถึงศึกษาโปรดักชันก่อนๆ ที่เคยทำละครเรื่องนี้เพื่อดูการตีความ การปรับเปลี่ยนองค์ปรกอบต่างๆ และวิธีการเล่าเรื่องไป เพื่อนำมาปรับใช้ รวมถึงศึกษาภาษาที่ใช้ในบทละคร และเนื้อเพลง หากมีการใช้ภาษาอื่นเข้ามา ‘Dramaturg’จะต้องค้นคว้าศัพท์นั้นๆ จนแตกฉานในความหมายของคำ และบริบทของคำทุกคำเพื่ออธิบายนักแสดงได้ว่า ตัวละครพูดคำนี้เพราะอะไร พูดด้วยอารมณ์ไหน บริบทใด ออกเสียงยังไง 

.

โลกของละคร Phantom of The Opera เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทีนี่ล่ะวินาทีต้องเนิร์ด‘Dramaturg’ จะต้องวิเคราห์สภาพสังคม ความเป็นอยู่ของผู้คน เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ กระแสนิยมในยุคนั้น และถ้าในละครมีการหยิบยกวัฒนธรรมอะไรก็ตามเข้ามาใช้ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนข้อมูล หรือตีความผิดไป 

.

ที่สำคัญไม่ว่าละครเรื่องนั้นจะแต่งขึ้นมาใหม่ หรือดัดแปลงมาจากหนังสือหรือวรรณกรรม ให้คิดไว้เลยว่าผลงานชิ้นนั้นย่อมสะท้อนตัวตนเจ้าของเรื่อง ‘Dramaturg’ จะต้องไม่ลืมศึกษาชีวประวัติ ภูมิหลังของผู้แต่ง /ผู้ประพันธ์อย่างละเอียด เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ให้สอดคล้องไปกับโลกของละครและตัวละครในเรื่องได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการป้อนข้อมูลให้ฝ่ายอื่นๆ ได้ครีเอทชิ้นงานต่อ รวมถึงผู้กำกับเองด้วย 

.

ในกรณีที่ผู้กำกับและนักเขียนบท เขียนบทขึ้นมาใหม่เลย ‘Dramaturg’ สามารถช่วยปรับโครงสร้าง และพัฒนาตัวบทให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นชุดข้อมูลหลัก ‘Dramaturg’ อาจจะเป็นตัวกลางต่อการจัดอีเว้นต์เสวนาหลังละครจบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนทำงานละครและผู้ชมได้พูดคุยประเด็นของละครร่วมกัน 

.

‘Dramaturg’ จึงเป็นอาชีพที่ต้องดึงหลายศักยภาพหลายสกิลมาใช้ ผู้ที่สนใจจะทำงานอาชีพนี้จะต้องศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาวิชาการละคร วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ หรือสังคมมนุษยวิทยา และบางครั้งอาจจะต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเพื่อนำทักษะด้านการวิเคราะห์ วิจารณ์และการทำวิจัยมาใช้กับการทำงานในสายอาชีพนี้ด้วยนั่นเอง 

.

อีกเรื่องที่ดูน่าน้อยใจคือ ‘Dramaturg’ ถูกเรียกกันอย่างหลากหลายมาก คือรากศัพท์คำนี้มาจากภาษาเยอรมันที่แปลไทยได้ว่า ‘นักเขียนบทละคร’ บางก็ว่า ผู้เชี่ยวชาญทางการละคร หรือ ผู้ที่ทำงานด้านการสร้างสรรค์บทละคร ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าควรนิยามอาชีพนี้ในคำไทยว่าอะไรดี และน่าจะเป็นปัญหาเดียวกันในต่างประเทศก็มักจะเหมารวมไปเรียกชื่อที่ให้ความหมายอื่น ไม่ว่าจะเป็น นักประวัติศาสตร์ หรือนักวิจัย ทั้งๆ ที่อาชีพนี้มีความสำคัญมากๆ ต่อวงการละครเวทีตลอดจนวงการภาพยนตร์

.

ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 -19 ‘Dramaturg’ ถูกใช้อย่างจริงจังในหนังสือ ‘Hamburgische Dramaturgie Lessing’ ช่วงปี 1767-1769  เขียนโดย กวี นักปรัชญา นักวิจารณ์ และนักเขียนบทละครคนสำคัญของเยอรมันอย่าง Gotthold Ephraim Lessing’ (G.E. Lessing) ที่ในช่วงเวลานั้นเขาทำงานเป็น Dramaturg คนแรก ให้กับโรงละครแห่งชาติฮัมบูร์ก ของ Abel Seyler ส่วนหนังสือเล่มนี้ก็ว่าด้วยการนำเสนอแนวคิดที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการตีความและวิจารณ์ละครในเชิงลึกซึ่งภายหลังกลายมาเป็นรากฐานสำคัญของการทำละครเวที และการกำหนดบทบาท ‘Dramaturg’ ในฐานะอาชีพด้วย

.

แม้ ‘Dramaturg’ ยังคงเป็นอาชีพที่ถูกมองข้ามไปจนถึงถูกตั้งแง่ แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีคนให้ความสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงละครหลายแห่งเกิดการว่าจ้างอาชีพนี้ ร่วมไปถึงในสหรัฐอเมริกาก็มีการจัดตั้งองค์ ‘Literary Managers and Dramaturgs of the Americas (LMDA)’ องค์กรไม่แสดงหากำไรเพื่อสนุบสนุนอาชีพ Dramaturg โดยตั้งงบประมาณต่อการว่าจ้าง Dramaturg ในฐานะอาชีพประจำอีกด้วย  

.

.

เรื่อง Nostalgia Woolf 

.

ที่มา:

.

.


Comentarios


©2023 by The Showhopper

bottom of page