กลับมาอีกแล้วกับ Genre หนังในตำนานที่เล่นกับอารมณ์ ‘ใครตายช่างมัน! แต่หมาแมว! ห้ามตาย! เด็ดขาด!!’ ในหัวใจของคุณดู
.
แม้ตัวละครหลักอย่าง ‘เอริก’ แห่ง A Quiet Place: Day One จะได้นักแสดงหนุ่มบริทหน้ามน โจเซฟ ควินน์ (Joseph Quinn) มารับบทแล้ว แต่เชื่อว่าแฟนหนังเกินครึ่งลงความเห็นตรงกันว่าพระเอกหนังตัวจริงที่เราเอาใจช่วยให้รอดชีวิตกันจนนิ้วทรีนจิกที่สุดในเรื่องน่ะคือเจ้าเหมียวลายวัว ‘โฟรโด’ ต่างหาก (รับบทโดยแฝดคนละฝา แถมคนละพ่อ คนละแม่ คือน้องนิโค่และน้องชนิทเซิล )
.
ตอนต้นเรื่อง เราได้เห็นฉากที่ตัวละครดำเนินเรื่อง แซม (รับบทโดยพ.ส.ลูปิตา) ถูกเจ้าของร้านสะดวกซื้อเอ็ดที่พาแมวเข้ามาในร้าน เธอจึงใช้ข้ออ้างว่าโฟรโดเป็น ‘service cat’ จึงควรได้รับการยกเว้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้โกหกหรอก เพราะโฟรโดเป็นแมวที่มีงานทำจริงๆ เด้อ! และงานที่ว่าก็คือ emotional support animal (ESA) หรือ ‘สัตว์เลี้ยงบำบัด’ นั่นเอง
.
เราอาจคุ้นเคยกับภาพสัตว์บริการที่เป็นสุนัขมากกว่า เพราะเจ้าตูบหน่วย K-9 ที่สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดหรือยาเสพติดและไล่ตามคนร้าย หรือสุนัขนำทางที่ช่วยเป็นเพื่อนคู่ใจในระหว่างเดินทางให้กับผู้พิการทางสายตานั้นเป็นสัตว์บริการที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันบ่อยกว่า แต่สัตว์บริการที่เป็นแมวเองก็มีเช่นกัน!
.
โดยส่วนมากแมวจะทำหน้าที่เป็นสัตว์เลี้ยงบำบัดที่คอยฟื้นฟูจิตใจให้กับผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิต ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการแรงใจในการใช้ชีวิตอย่างมหาศาลแบบนางเอกหนังของเรานั่นละ แต่ขอแอบหมายเหตุเอาไว้ว่าสัตว์เลี้ยงบำบัดไม่จำเป็นต้องเป็นแมวเสมอไป อาจเป็นได้ทั้งสุนัข นก หนู กระต่าย ม้า ไปจนถึงช้างเลยทีเดียว
.
โดยหน้าที่ที่เด็กๆ พวกนี้ต้องทำก็ไม่มีอะไรมาก แค่ใช้ชีวิตร่วมกันเหมือนสัตว์เลี้ยงทั่วไปก็สามารถเยียวยาจิตใจนุดได้ด้วยความน่ารักและความผูกพัน
.
ตลอดทั้งเรื่อง นอกเหนือจากการหาเรื่องเสี่ยงตายตรงนู้นทีตรงนี้ทีและแว้บหายไปให้พ่อทิพย์แม่ทิพย์ที่นั่งดูอยู่ในโรงใจบ่ดี คุณสมบัติสัตว์เลี้ยงบำบัดของโฟรโดยังถูกสื่อความออกมาผ่านการบรรเทาความหงุดหงิดงุ่นง่านเพราะความเจ็บของแซม และอาการสั่นกลัวหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจของเอริก
.
ปรากฏการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในหนังเท่านั้น แต่ในชีวิตจริงที่บางครั้งก็สิ้นหวังพอๆ กับสถานการณ์ในหนัง การกระทำอันไร้เดียงสาของสัตว์ที่ไม่รู้อิโหน่อิโหน่นั้นสามารถช่วยให้เจ้าของคลายความทุกข์ได้จริงๆ
.
โจดี ทอมัส (Jodie Thomas) จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะบาดเจ็บทางใจ กล่าวว่า “การมีสัตว์เลี้ยงอยู่ด้วยส่งผลต่อกายและใจของเราได้จริง พวกเขาช่วยให้เรากังวลน้อยลงและสงบนิ่งขึ้น … การเลี้ยงสัตว์จึงถือเป็นกิจกรรมฝึกสติที่ยอดเยี่ยม” ทั้งนี้ ผลการวิจัยยังเผยอีกว่า
.
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เลี้ยงปลาจะมีค่าน้ำตาลในเลือดคงที่มากขึ้น
- ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองที่เลี้ยงแมวจะมีโอกาสหายขาดมากกว่าคนที่ไม่เลี้ยง
- การให้เด็กออทิสติกเล่นกับหนูตะเภาช่วยให้พวกเขาวิตกกังวลน้อยลง
ฯลฯ
.
นอกเหนือจากประเด็นน่ารักๆ อย่าง Emotional Support Pet ที่สอดแทรกเอาไว้ในเรื่องแล้ว บทบาทของแมวในสื่อบันเทิงประเภทภาพยนตร์และซีรีส์ยังมีความสำคัญในแง่ของ Storytelling ด้วยนะ
.
เบลก สไนเดอร์ (Blake Snyder) ผู้กำกับหนังในตำนาน กล่าวเอาไว้ใน ‘Save the Cat!’ หนังสือคู่มือเขียนบทหนังสำหรับขายให้ฮอลลีวู้ดเล่มคลาสสิกของเขา (เดาว่าเด็กฟิล์มหลายคนน่าจะรู้จัก ) ว่าโมเมนต์ที่สำคัญอย่างมากต่อบทหนังแต่ละเรื่อง คือโมเมนต์ที่ตัวละครหลักทำสิ่งดีๆ จนสามารถมัดใจคนดูได้ ตัวอย่างคลาสสิกของโมเมนต์ทำนองนี้หนีไม่พ้นฉากช่วยชีวิตแมว (นอกจากฝั่งฮอลลีวู้ดแล้ว เรายังหาดูฉากทำนองนี้ได้ในโลกอนิเมะ)
.
จุดประสงค์ของการใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาก็คือเพื่อจุดประกายให้คนดูรู้สึกชื่นชม เชื่อมโยง หรืออยากเอาใจตัวละครนั้นๆ นั่นเอง
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
ที่มา:
.
Comments