top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

รู้จัก 'Fivera' กลุ่มนักร้องที่อยากให้โอเปร่าเข้าถึงง่าย

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567




ชาวเพจ The Showhopper เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมระดับ ‘ความแมส’ ของการแสดงแต่ละประเภทถึงไม่เท่ากัน ละครเพลงเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่กว่าละครพูด เพลงป็อปมีฐานคนฟังมากกว่าแจ๊สหรือคลาสสิก?


แน่นอนว่ามีปัจจัยเกี่ยวเนื่องมากมายหลายสิบในประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นความคุ้นชิน สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ระบบการศึกษาหรือสื่อที่ส่งผลต่อการ ชอบ/ไม่ชอบ เลือก/ไม่เลือกดู การแสดงประเภทต่างๆ สำหรับกลุ่มคนดู วันนี้เราเลยลองหยิบข้อสงสัยไปถามไถ่กับ ‘FIVERA’ กลุ่มศิลปินวง POP-OPERA วงแรกของประเทศไทยที่พยายามทลายกำแพงความไม่แมสของเพลงโอเปร่าและอยากทำให้โอเปร่าเข้าถึงง่ายขึ้น! (กระซิบว่าพวกเขากำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่เร็วๆ นี้ เดี๋ยวไปอ่านรายละเอียดตอนท้ายน้าา~)


โดยก่อนจะไปอ่านบทสัมภาษณ์ เราขอแนะนำ ‘FIVERA’ ให้เพื่อนๆ รู้จักกันคร่าวๆ วงนี้ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ ‘ฟิล์ม ธนพัฒน์’ (Tenor) ‘เต้ บดินทร์’ (ฺBaritone) ‘แป้ง ณัฐธิดา’ (Soprano) ‘คิมิโกะ มัชฌิมา’ (Soprano II) และ ‘ตุลย์ ตุลานันท์’ (Bass-Baritone) พวกเขามารวมตัวกันอย่างไม่ได้ตั้งใจจากการถูกรับเลือกไปทัวร์ร้องเพลงในต่างแดนเป็นเวลาสองเดือน ด้วยความรักที่มีให้โอเปร่าและเคมีที่เข้ากั๊นนน เข้ากัน! ทำให้ตัดสินใจฟอร์มวง และเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก ทั้งในแถบเอเชีย แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้


ซึ่งในการพูดคุยกันตอนแรกทางวงมีความเข้าใจในอุปสรรค์ต่อกลุ่มคนรักเสียงเพลงเป็นอย่างดีว่าในหลายที่การร้องโอเปร่าไม่เป็นที่รู้จักด้วยภาพจำของการเป็นศาสตร์คลาสสิก ที่จะต้องร้องเพลงภาษาต่างประเทศฟังยากๆ และต้องเดินทางไปดูในฮอลอย่างยิ่งใหญ่ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้พวกเขาอยากทำวงแนว POP-OPERA เอาเพลงป็อปที่คุ้นหูมานำเสนอด้องการร้องแนวนี้ เพื่อส่งสาสน์ไปถึงผู้ฟังว่าจริงๆ แล้วโอเปร่าก็เป็นหนึ่งในสไตล์การร้องเพลงที่ไม่ได้เข้าใจยากและมีเสน่ห์ ขับเน้นอารมณ์ เนื้อหาในบทเพลงได้อย่างสวยงาม


ในความเห็นของสมาชิกวงคิดว่าเพราะอะไรโอเปร่าถูกมองว่า ‘ฟังยาก’ ?


ตุลย์: ผมว่ามันเกิดจากการที่หูเราไม่คุ้นชินกับเมโลดี้ของมัน แต่เชื่อไหมว่าโอเปร่าเป็นเพลงที่ถ้าฟังซ้ำหลายรอบ ฟังรอบที่สามรอบที่สี่ เพลงมันจะเพราะขึ้นเรื่อยๆ ครับ เลยอยากให้ลองให้เวลากันมันสักหน่อย ถ้าเทียบกับคนโอเปร่าคือคนที่อาจจะไม่ได้สะดุดตาในแง่รูปลักษณ์ในตอนแรกที่พบกัน แต่ถ้าได้มาทำความรู้จัก ก็จะตกหลุมรักกับนิสัยใจคอครับ


แป้ง: ถ้าพูดเรื่องความยาก เอาจริงๆ ตัวแป้งเองไม่ได้สนใจในเรื่องของความหมายเพลงเท่าไหร่ เพราะมันฟังไม่ออก แป้งจะสนใจใน Melody ของนักร้องและ Chord ของเพลงนั้นๆ ที่มันมหัศจรรย์ตรงที่เราไม่ต้องรู้ความหมายของเนื้อเพลงหรือแบคกราวด์ของเพลงเลยก็ได้ แค่เราฟังเพลงบวกกับดูสีหน้าอารมณ์ของนักร้อง เราก็พอจะจินตนาการออกว่าคนแต่งต้องการสื่อถึงอะไร มันทำให้เราจินตนาการได้อย่างไม่มีกรอบ อยากให้ทุกคนลองฟังเพลงโดยไม่ยึดติดกับเนื้อเพลง ฟังความไพเราะของดนตรี และให้จินตนาการของตัวเองพาอารมณ์ไปค่ะ เราว่ามันเป็นเพลงที่สามารถซึมซับผ่านเข้ามาทางความรู้สึกได้ง่ายมากๆ เลย


อะไรทำให้คุณหลงรักโอเปร่า


เต้: ทุกคนเคยกินปลาดิบไหมครับ? คุณชอบมันเพราะอะไร เพราะรสชาติเพียวๆ ของเนื้อ กลิ่นและสัมผัสที่ละมุนลิ้นถูกไหมครับ? โอเปร่าสำหรับผมเปรียบเสมือนปลาดิบชั้นดี ที่ทุกคนจะได้ยินเสียงของนักร้องแบบดิบๆ ไม่ผ่านเครื่องขยายเสียง หรือ เครื่องมิกซ์เสียงใดๆทั้งสิ้น นักร้องต้องใช้เทคนิคการร้อง การเล่นกับความดังเบา และ ทำให้เสียงก้องกังวาลด้วยตัวของนักร้องเอง รวมไปทางการสื่ออารมณ์ที่ไม่มีอะไรมาบทบังศิลปะอันสวยงามเหล่านี้ นี่จึงเป็นสเน่ห์ที่ผมชอบและคิดว่าเราหาไม่ได้เลยจากเพลงในยุคสมัยนี้


คิมิโกะ: เห็นด้วยค่ะ การเเสดงดนตรีส่วนใหญ่ต้องใช้ไฟฟ้าเข้ามาช่วยปรับเสียง เเต่การร้องหรือเล่นดนตรีคลาสสิกเป็นซาวด์ที่มีความก้องกังวาลเฉพาะตัว โดยไม่ต้องใช้การปรับเเต่งช่วย ในขณะเดียวกัน ความกังวาลเเบบเฉพาะนี้ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นหรือบันทึกด้วยระบบไฟฟ้าได้ เลยรู้สึกว่า นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของดนตรีคลาสสิกและโอเปร่าเลย


ทำไมถึง ‘FIVERA’ ถึงอยากให้คนไทย ‘เปิดใจ’ ฟังโอเปร่าและมองศาสตร์นี้ในมุมใหม่มากขึ้น?


ฟิล์ม: ถ้าคุณบอกว่าไม่ชอบเพลงโอเปร่า อาจจะเป็นเพราะว่า คุณยังไม่เจอเพลงโอเปร่าที่ชอบเท่านั้นเอง อยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราชอบเพลง Pop ทุกเพลงไหม” คำตอบก็คงเป็น "ไม่ใช่" เพราะการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน เราอาจจะได้ยินเพลงที่เป็นแนว Non-classical ตลอดเวลา ทำให้เรามีตัวเลือกเป็นพันเป็นหมื่นผ่านหูเราตั้งแต่เด็กจนโตจนสุดท้ายเราก็เจอเพลงที่เราถูกใจ


แล้วถ้าเกิดว่าเราได้ยินได้ฟังเพลงโอเปร่าเรื่อยๆ สะสมทีละนิด ได้รู้จักนักร้อง ได้ยินเพลงหลากหลายช่วงเสียง หลากหลายอารมณ์ ได้พบกับตัวเลือกมากมาย มันจะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือที่เราจะเจอเพลงที่ใช่สำหรับเรา แม้โอเปร่าอาจมีความซับซ้อนทั้งการเรียบเรียงดนตรี จำนวนชิ้นของดนตรี และเนื้อเพลงจริง แต่เมื่อผสมผสานกันแล้วกลับสามารถถ่ายทอดอารมณ์และความต้องการของตัวละครออกมาได้อย่างชัดเจนและเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ผู้ฟังสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกกับเพลงและตัวละครนั้นได้ไม่ยาก เลยอยากเชิญชวนให้คนที่ยังไม่เคยได้สัมผัสกับแนวเพลงโอเปร่า ได้ลองได้เข้ามาสัมผัสดนตรีในแนวนี้ดู คุณอาจจะพบหรือรู้สึกอะไรอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนในแนวเพลงอื่นๆ ก็ได้ครับ


เป็นอย่างไรกันบ้างกับคำตอบของทั้งห้า เราที่เป็นผู้เขียนนั่งพิมพ์ไปก็พยักหน้าตามไป ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ ด้วย การบอกว่าสิ่งหนึ่งเข้าถึงยากเกินไป อาจเกิดจากการที่เราเลือกจะเดินหันหลังให้มันตั้งแต่ครั้งแรก เพลงโอเปร่าก็เช่นกัน ซึ่งถ้าแฟนเพจ The Showhopper คนไหนอยากจะเริ่มเปิดใจให้การฟังโอเปร่าบ้างแล้ว เราขอจูงมือพามาดูคอนเสิร์ต “FIVERA x HeadacheHorse : Classic Meets Pop” ในวันที่ 7-8 ตุลาคมนี้ กันอย่างไว!


เพราะนอกจากการขับร้องเพราะๆ จากวง FIVERA การบรรเลงเพลงประกอบจาก HeadacheHorse เพื่อนๆ ยังจะได้ฟังคอนเสิร์ตด้วยประสบการณ์ที่เต็มรูปแบบ ณ สถานที่แสดงดนตรีที่เสียงดีที่สุดในประเทศไทยอย่าง ‘ศาลาสุทธสิริโสภา’ โรงแสดงคอนเสิร์ตที่ออกแบบในลักษณะ ‘เรือนขนมปังขิง’ สร้างจากไม้สักทอง ของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ผู้มีศักดิ์เป็นแม่ยาย ของ อ.ณัฐ ยนตรรักษ์ นักดนตรีผู้ออกแบบที่นี่ โดยความคิดที่ว่า ดนตรีจะหลอมให้ผู้แสดงและผู้ชมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ศาลาสุทธสิริโสภาจึงสร้างโดยเน้นการใช้ระบบเสียงธรรมชาติ (Acoustic) อย่างมากที่สุด เพื่อที่ทุกคนที่เข้ามาสัมผัส จะได้ฟังเสียงที่จริงและใสที่สุด


โหวว ว้าวแล้วว้าวอีกกับคอนเสิร์ตนี้!


สำรองที่นั่งและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมทาง: https://bit.ly/3rt947m


ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


!
Widget Didn’t Load
Check your internet and refresh this page.
If that doesn’t work, contact us.
bottom of page