6 กรกฎาคม 2022
“ฉันรู้สึกกังวลเกินกว่าที่จะปล่อยเพลงนี้ เพราะมันฟังดูโบราณคร่ำครึ ฉันไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่หรือคน Gen Z จะชอบมันไหม หรือจริงๆ ฉันแค่กลัวไปเอง กับการพาเพลงแนวนี้กลับมาอีกครั้ง” - TikTok @Laufey
7 กรกฎาคม 2022
“โว้วๆๆ เดี๋ยวนะ เพลงนี้ไวรัล!? ไม่อยากจะเชื่อ!” - TikTok @Laufey
12 กรกฎาคม 2022
“ส่วนตัวฉันอยากให้คนใช้เครื่องดนตรีคลาสสิกในเพลงป็อปมากขึ้น อย่างเชลโล ไวโอลิน อีกอันที่แค่คิดถึงก็ขนลุกคือฮาร์ป เสียงของพวกมันไพเราะมาก มันทำงานกับใจฉันทุกครั้งที่ได้ฟัง มันทำให้ฉันล่องลอยอยู่ในห้วงความฝันจนไม่อยากตื่นขึ้นมา เป็นความงามเหนือกาลเวลา” - TikTok @Laufey
16 กรกฎาคม 2022
“งั้นก็หมายความว่า แผนร้ายของฉันที่อยากจะพาเพลงแจ๊สกลับมาในยุค Gen Z ก็เริ่มทำงานแล้วสิ!” - TikTok @Laufey
ภายในช่วงเวลาไม่นานหลังจากหญิงสาวในเสื้อคาร์ดิแกนสีเบบี้บลูตัดสินใจตั้งกล้องถ่ายตัวเองบรรเลงเชลโล ร้องโคฟเวอร์เพลง “I Wish You Love” ในปี 2020 ที่ห้องเล็กๆ ของเธอ แค่เพราะอยากส่งต่อความอบอุ่นของเพลงไปยังผู้คนบนติ๊กต่อก ชื่อของ “Laufey” ก็ขึ้นแท่นเป็นศิลปินดาวรุ่งในวงการเพลงป็อประดับโลกในเวลาเพียง 3 ปี ท่ามกลางศิลปินหน้าใหม่ที่แจ้งเกิดนับร้อยนับพัน เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คน ที่ขอยึดมั่นเดินสวนทางกระแสนิยม และตั้งใจทำเพลงกลิ่นอาย Classical / Jazz ตามแบบที่เธอชอบ (นักวิจารณ์ด้านดนตรีส่วนใหญ่ กล่าวถึงแนวเพลงของเธอด้วยคำว่า “jazz-inspired pop” หรือ “jazz-inflected”) จนในที่สุดอัลบั้ม ‘Bewitched’ ก็คว้ารางวัล “Best Traditional Pop Vocal Album” จาก Grammy Awards ได้สำเร็จเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
เราเลยอยากพาแฟนๆ The Showhopper มาทำความรู้จักกับศิลปินนัยตาใส ผู้บรรเลงบทเพลงเหนือกาลเวลาคนนี้ไปด้วยกัน
จากนักเรียนดนตรีตัวท็อป สู่ เจ้าหญิงแห่ง “Laufey Land”
‘Laufey Lín Bing Jónsdóttir’ วัย 24 ปี ก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักเธอในฐานะศิลปิน ประวัติของเธอก็ปูมาแบบงดงามจนไม่น่าแปลกใจในความสามารถตามที่แฟนเพลงได้เห็น แต่ก่อนอื่น ขอเริ่มที่ชื่อของเธอ ที่สร้างประเด็นถกเถียงให้กับทุกภาคส่วน ตามข้อมูลกลางในวิกิพีเดีย ชื่อเธอจะออกเสียงว่า /ˈleɪveɪ/ LAY-vay หรือ [ˈlœyːvei] โดยเจ้าตัวเคยอธิบายไว้ว่า ‘เลเว่ - LAY-vay’ จะเป็นการออกเสียงที่ดูเป็นภาษาอังกฤษมากกว่า ส่วน ‘โลเว่ [ˈlœyːvei]’ จะเป็นแบบไอซ์แลนดิกแท้
Laufey เป็นลูกครึ่ง ไอซ์แลนดิก (ฝั่งพ่อ) - จีน (ฝั่งแม่) เธอเติบโตมาในบ้านที่มีคุณแม่นักไวโอลินและคุณตาผู้เป็นอาจารย์สอนดนตรี ทำให้เธอกับพี่สาวฝาแฝด ‘Júnía’ ได้รับอิทธิพลด้านนี้มาเต็มๆ เธอเล่าในบทสัมภาษณ์กับ DIY Magazine ว่า ความทรงจำแรกเกี่ยวกับดนตรีคือวันที่คุณตามอบไวโอลินตัวเล็กในกล่องสีแดงให้เธอ นั่นคือเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตของเธอ โดยหลังจากนั้นเธอก็มุ่งทางดนตรีแบบจริงจัง เธอเริ่มเรียนเปียโนตอนอายุ 4 ขวบ และเชลโลตอน 8 ขวบ จนพออายุ 15 ปี ก็ได้ขึ้นโชว์กับวง Iceland Symphony Orchestra
ตลอดเวลาที่อยู่ไอซ์แลนด์ Laufey ปรากฏตัวในรายการดังระดับประเทศมาแล้วหลายครั้ง อาทิ “Ísland Got Talent” และ “The Voice Iceland” ประกอบกับการทำวิดีโอลงตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อยๆ ทั้งการร้องเพลง และสอนทฤษฎีดนตรีให้เข้าใจง่าย ต่อมาพอจบการศึกษาจากวิทยาลัยดนตรี เธอก็ได้ทุนศึกษาต่อที่ Berklee College of Music และย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาในปี 2021 ประจวบเหมาะกับทั้งความโด่งดังในโลกออนไลน์ การปล่อยอัลบั้ม และเซ็นสัญญากับค่าย “AWAL” ในปีต่อมา โดยทางค่ายก็ให้เธอถือลิขสิทธิ์เพลงของตัวเองทั้งหมด
ความน่ารักอีกอย่างที่ตกแฟนๆ ได้อยู่หมัด คือ Laufey เรียกพื้นที่ในฐานะศิลปินของตัวเองว่า ‘Laufey Land’ ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อกลุ่มแฟนคลับอย่างเป็นทางการ เพราะเธออยากทำให้เพลงแจ๊สเข้าถึงได้ง่าย นอกจากการฟังเพลง เธอก็อยากให้แฟนๆ ได้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ที่ไหลวนอยู่ในความเป็นแจ๊ส เช่นศิลปินที่เธอชอบ หนังสือที่อ่าน หรืออาหารที่กิน (เธอทำ Book Club และรายการ Podcast ควบคู่กับการทำดนตรี) เพราะเธอมองว่าชีวิตและดนตรีของเธอส่งผลเกี่ยวโยงกัน ประมาณว่า ดนตรีเป็นมากกว่าดนตรีแต่เป็นวิถีชีวิตด้วย
ศิลปินผู้เชื่อม ‘คนยุคใหม่’ เข้ากับ ‘ความงดงามของวันวาน’
ขณะที่โลกดำเนินหมุนไปเรื่อยๆ ความสนุกอย่างหนึ่งของช่วงเวลาคือการได้เห็นวัฏจักรของเทรนด์ ที่วนกลับมาฮิตใหม่ซ้ำๆ ในทุกศตวรรษอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเห็นได้ชัดๆ จากแฟชั่น เทคโนโลยีและดนตรี จากการกลับมาของ 80s ในช่วง 2020s ต้นๆ สู่กระแส Y2K ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่กางเกงเอวต่ำหรือกล้องดิจิทัล แต่ดนตรีสไตล์ Techno Pop, R&B หรือ Old School HipHop ก็กลับมาด้วย แต่ Laufey พาเราย้อนกลับไปไกลกว่านั้น..
เธอเล่าในบทสัมภาษณ์กับ Billboard ว่าศิลปินที่เป็นแรงสำคัญในผลงานของเธอคือ Chopin, Liszt, Chet Baker, Ella Fitzgerald, Billie Holiday และ Frank Sinantra เรียกได้ว่าแต่ละชื่อคือมีตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มาจนถึง 1940s - 1960s เลยทีเดียว แม้จริงๆ แล้วเธอเองจะฟังเพลงป็อปเยอะพอสมควร แต่กลับรู้สึกว่าตนไม่สามารถผลิตเพลงแนวนี้ออกมาได้ เพราะรู้สึกว่าเพลงป็อปสมัยใหม่เชื่อมโยงกับเธอแค่ส่วนที่เป็นเนื้อเพลง ไม่ใช่ดนตรี เธอเลยเลือกที่จะทำเพลงที่ฟังดูเป็นเธอมากกว่านี้
ซึ่งการทำแบบนี้ก็สร้างข้อถกเถียงในวงการเพลงอยู่ไม่น้อยว่าพวกเขาควรจะจัด Laufey ไว้ตรงไหน ยิ่งพอถึงคราวต้องเสนอชื่อเธอเข้าชิงรางวัลต่างๆ อย่างชาร์ตของ Billboard เองก็จัดเธอไว้ในหมวดศิลปินแจ๊ส อย่างไรเสียนี่ก็เป็นเพียงข้อถกเถียงของคนที่จำเป็นหรืออยากจะแปะป้ายให้เธอชัดเจน เพราะความตั้งใจเริ่มต้นของ Laufey ยังคงเป็นการเชื่อมแจ๊สเข้าหาความเป็นป็อป และผู้ฟังก็รักเธอเพราะสิ่งนั้น
‘Max Gredinger’ ผู้จัดการส่วนตัวของเธอให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ว่า..
“ผมว่าอิทธิพลจากยุคสถานีวิทยุทำให้คนอยากที่จะจำแนกแปะป้ายประเภทของดนตรีกันมากเกินไป ศิลปินเลยต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ มันฝังอยู่ในความเชื่อเรา แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว และผู้คนก็จะปรับเปลี่ยนตามไปด้วย”
“การทำเพลงในแบบของฉัน เป็นการตัดสินใจแบบปัจเจกมากๆ แต่ฉันก็มั่นใจในเพลงของฉันมากด้วยเช่นกัน ฉันรู้ว่าฉันต้องการอะไร และทีม AWAL ก็ปล่อยให้ฉันตัดสินใจได้อย่างสร้างสรรค์ มันดีมากที่ได้เป็นอิสระ ฉันไม่ได้ขาดแคลนอะไรภายในตัวเอง และการตัดสินใจอย่างอิสระคือสิ่งหลักที่ฉันโฟกัสในการเป็นศิลปิน” - Laufey กล่าว
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเรื่องราวของ Laufey ศิลปินดาวรุ่งดวงใหม่ในอุตสาหกรรมดนตรีที่น่าจับตามองสุดๆ หากแฟนเพจคนไหนเพิ่งได้รู้จักเธอจากบทความนี้ เราขอป้ายยาให้เปิดทุกอัลบั้มของเธอฟังโดยด่วน แล้วเดือนแห่งความรักของเพื่อนๆ จะหวานและอบอุ่นขึ้นแบบ 300% แล้วมารอลุ้นไปด้วยกันว่าข่าวลือที่ว่าเธอจะมาแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยจะเกิดขึ้นจริงไหม
ฝาก Laufey ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
ที่มา:
Comments