“ประชาชนเป็นได้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นอะไรเลย” … ?
.
หน้าประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ต่อเนื่องถึง 6 ตุลาคม 2519 ก่อให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมหลายประการ แน่นอนว่าตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์อย่างคนเดือนตุลาย่อมเป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่ถูกหยิบยกและพูดถึงอีกครั้งในฐานะส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยผ่านสื่อกลางทาง ‘การละคร’ ตั้งแต่ละครที่กลุ่มนักศึกษาได้จัดการแสดงขึ้นในเหตุการณ์เดือนตุลา 2519 ก่อนเกิดการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่โหดเหี้ยมตามมา
.
ตลอดเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมา มีละครเวทีสองเรื่องที่พูดถึงเรื่องราวเดือนตุลาในมิติที่น่าสนใจและแปลกใหม่ ได้แก่ “เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ฯ” และ “รักดงดิบ Wilderness I&II” ละครเวทีภายใต้โครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 13 (Performative Art Project #13) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
.
• เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ฯ และรักดงดิบ Wilderness I&II •
.
“เดอะ เมคกิ้งออฟ ดิ อะเธอร์แลนด์ อินเดอะ อาฟเตอร์นูน เลทๆ จีเอ็มที บวกเจ็ด ออน เดอะแบ็ค ออฟ ดิ อัลโมสต์ ฟิฟท์ ไทเกอร์ บีไฮด์ เดอะ เบอร์ลิน วออล์ (นอท เรียลลี่) The Making of the Otherland in the Afternoon Late Late GMT+7 on the Back of the Almost Fifth Tiger Behind the Berlin Wall (Not Really)” ละครเวทีจากกลุ่ม B-Floor Theatre กำกับการแสดงโดย คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง บอกเล่าเรื่องราวตลกร้ายของกองถ่ายหนังที่พยายามผลิตผลงานในยุคที่หนังโฆษณาชวนเชื่อครองเมืองโดยมีฉากหลังเป็นการเมืองยุคสงครามเย็น ผสมผสานรูปแบบ Physical Theater และบทละครของเชกสเปียร์ นำพาคนดูเหาะเหินทางอารมณ์ไปกับสภาวะชุลมุนคลุกฝุ่น ประหนึ่งงานคอลลาจที่ตัดแปะส่วนต่าง ๆ ของหน้าประวัติศาสตร์ไว้ผ่านเทคนิคทางการละครที่เป็นเอกลักษณ์ของ B-Floor Theatre ละครเวทีเรื่องนี้จัดขึ้นในเทศกาล “October Fest” ที่ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์และความทรงจำในเดือนตุลาคม พร้อมด้วยกิจกรรมการออกร้าน การเสวนา ดนตรี และเวิร์กชอปให้ได้เข้าร่วมกัน
.
ขณะที่ละครเวทีอีกเรื่องที่จัดการแสดงไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนกันยายนอย่าง “รักดงดิบ Wilderness I&II” อีกหนึ่งละครเวทีภายใต้โครงการ Performative Art Project #13 ในประเด็น Fiction & Reality กำกับการแสดงโดย เฟิร์ส-ธนพนธ์ อัคควทัญญู จากกลุ่ม Splashing Theatre เจ้าของรางวัลละครเวทียอดเยี่ยมชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง รักดงดิบบอกเล่าเรื่องราวความรักและคนหนุ่มสาวสองเหตุการณ์ ได้แก่ เหตุการณ์กลุ่มนักศึกษาคนเดือนตุลา 2519 ที่หนีเข้าป่าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ณ ภูผาแห่งนั้น ความรักเบ่งบานสวนทางกับการปฏิวัติ และเหตุการณ์หลังม็อบราษฎร 2563 ที่ปกคลุมไปด้วยความรู้สึกเฉื่อยชามาพร้อมความหวังที่ถูกแช่แข็ง คณะละครกลุ่มหนึ่งกำลังสร้างละครเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ ณ เมืองหลวงแห่งนั้น ความรักเบ่งบานสวนทางกับความฝัน ทั้งสองเหตุการณ์ถูกจับมาคู่ขนานกันด้วยความรัก ความฝัน และการปฏิวัติ อบอวลอื้ออึงไปด้วยฝุ่นควันที่ราวกับบรรยากาศของผู้คนที่ถูกสลายจากม็อบและการลงถนน ความฝันกลับไปไม่ถึงฝั่ง แต่รักดงดิบยังคงโปรยทิ้งไว้ซึ่งมวลแห่งความรักและความหวัง ในแง่หนึ่งละครเวทีเป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าที่เป็นได้ทุกอย่างและไม่เป็นอะไรเลย ความฝันก็เช่นกัน มันสรรสร้างได้ทุกอย่างแต่กลับไม่เป็นอะไรเลยเมื่อลืมตาตื่น แต่อย่างน้อยเพียงฝันที่เป็นปัจเจกของประชาชนสามารถรวมเป็นฝันเดียวกันได้ พื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่เป็นอะไรเลยก็สามารถเป็นสังคมใหม่ ความหวังใหม่ และละครฉากใหม่ได้เช่นกัน
.
• การละครของผู้ถูกกดขี่: Theatre of the Oppressed •
.
“เมื่อกำแพงระหว่างนักแสดงนำและคณะเสียงประสานพังทลายลง ความเคลื่อนไหวในละครก็กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การอุปมาอุปไมยเท่านั้น การละครอาจไม่ใช่การปฏิวัติในตัวของมันเอง… แต่มันเป็นการซ้อมเพื่อการปฏิวัติ” - Theatre of the Oppressed
.
“Theatre of the Oppressed” เป็นทฤษฎีการละครที่เขียนโดย ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal) นักการละครและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวบราซิลที่ใช้ละครของเขาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการที่สถาปนาขึ้นมาภายหลังการยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1964 หนังสือ Theatre of the Oppressed (แปลและจัดพิมพ์ในชื่อภาษาไทยว่า การละครของผู้ถูกกดขี่ โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) ถูกเขียนขึ้นมาในช่วงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการบราซิลปกครองผู้คนด้วยความเหี้ยมโหด นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนจำนวนมากที่ต่อต้านต่างถูกจับกุม ทรมาน และมีอีกไม่น้อยที่ถูกสังหารอย่างอำมหิตในนามความมั่นคงของรัฐ สำหรับบูอาลแล้ว ละครโดยเนื้อแท้เป็น ‘การเมือง’ ด้วยตัวของมันเอง การละครไม่ควรเป็นเพียงเครื่องมือในการปลดปล่อยจิตสำนึกของผู้ชม หากแต่ยังต้องปลดเปลื้องพันธนาการทางร่างกาย (จากระบอบอันไม่ชอบธรรม) ให้ได้
.
นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านมา 51 ปี ระหว่างเส้นเวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญบนท้องถนนอย่างน้อย 6 ครั้ง ได้แก่ 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 พันธมิตรฯ 2549 ล้อมปราบคนเสื้อแดง 2553 กปปส. 2556 และข้อเรียกร้องทะลุเพดานของนักเรียนนักศึกษา 2563 สถานการณ์แหลมคมเหล่านี้ล้วนเป็นทั้งบทพิสูจน์ และถอดรื้อเปิดเปลือยแก่นแท้ผู้คน (ส่วนหนึ่งจากคำนิยมในการจัดพิมพ์หนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ) … ในขณะที่นักการละครยังคงต้องทำหน้าที่ฉายภาพแสดงของเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์และเปิดเปลือยแก่นแท้ของผู้คนต่อไป บูอาลได้กล่าวไว้ว่า ผู้ชม (spectator) คือหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการแสดง (spect-actor) และการมีส่วนร่วมนี้เองคือหัวใจสำคัญของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อขีดฆ่าประโยคที่ว่า “ประชาชนเป็นได้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นอะไรเลย”
.
เรื่อง: Theeranai S.
.
ภาพ: B-floor และ Splashing theatre company
.
ที่มา:
จันทนา ฟองทะเล. (2566). จากดอยยาวถึงภูผาจิ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ. WAY of BOOK.
.
コメント