“ตายแล้วยังต้องทำงานอีกหรอ?”
“เราเลื่อนความตายออกไปได้ไหม?”
.
หลากหลายคำถามเกี่ยวกับความตายถูกถามขึ้น ณ หอคอยร้างกลางเมืองใหญ่ ที่ที่เหล่าวิญญาณจะมาเยือนเพื่อฟังบทเพลงสุดท้าย..
.
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาพวกเรา The Showhopper มีโอกาสได้ร่วมชมละครเวทีเรื่อง “สนธยาและหลังจากนั้น” ในรอบสื่อมวลชน ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่สองจากคณะโยกย้ายส่ายสะโพกเธียเตอร์ พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ของกลุ่มนักศึกษาและพี่ๆ จบใหม่ผู้มีใจรักในละครเวที โยกย้ายวรรณกรรมเรื่องดังในชื่อเดียวกันจากหน้ากระดาษมาสู่โรงละครกาลิเลโอเอซิส
.
เดิมทีผู้เขียนไม่เคยอ่านหนังสือต้นฉบับแต่ได้ยินเสียงชื่นชมจากคนรอบตัวหนาหูว่าผลงานของ ‘MOONSCAPE (อภินุช เพชราภิรัชต์)’ เล่มนี้เป็นหนังสือที่ลึกซึ้งและงดงามมากทีเดียว การชมละครครั้งนี้เลยถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของเรากับเรื่องราวเหนือจินตนาการทั้งหมด และเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจทุกนาทีในช่วงเวลาร่วมสองชั่วโมงบนเก้าอี้หมายเลย C3
.
• ดาร์กแฟนตาซีสเกลใหญ่ในพื้นที่จำกัด •
.
ทุกครั้งกับการดูละครที่กาลิเลโอเอซิส สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งตารอชมคือการจัดสรรพื้นที่ในอาคารโครงสร้างน่าสนใจแห่งนี้ ว่าระยะเสาแต่ละต้นจะกลายเป็นจุดแบ่งของฉากไหน หรือระเบียงชั้นสองจะถูกใช้อย่างไร แต่ละครเรื่องนี้แหกการคาดเดาของเราออกไปไกลทีเดียว เนื่องจากมีการใช้ Choreography ประกอบการแสดงเพื่อตัดสลับภาวะหรือภาพฝันของตัวละคร ‘จันทร์เจ้า’ เราจึงได้เห็นบล็อกกิ้งการกระจายตัวของหมู่มวลอองซอมฯ จนเต็มพื้นที่ การซ่อนตัว ห้อยขาจากระเบียงของ ‘ปีศาจบาเบล’ การเปลี่ยนที่ว่างตรงกลางให้เป็นได้แทบทุกอย่างด้วยการปรับเปลี่ยนพร็อพไม่กี่ชิ้น ผู้ชมเองก็ปรับเปลี่ยนการรับรู้และไม่จำกัดความเป็นไปได้ของพื้นที่ไปด้วย
.
จากที่กล่าวข้างต้นว่าผู้เขียนยังไม่เคยอ่านนิยายต้นฉบับ แต่เวอร์ชันละครเวทีนี้ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าเนื้อหาดั้งเดิมจะต้อง Fantasy หรือ Surreal มากแน่ๆ จากตัวละครยมฑูต วิญญาณ มิติคนตายที่ซ้อนทับกับคนเป็น ปีศาจไร้ชื่อ และเหล่าภูตแทนความรู้สึกดำมืด ซึ่งการจะถ่ายทอดเรื่องราวสเกลนี้มาเป็นละครเวทีโดยนักแสดงจำนวนต่ำกว่า 20 คน ให้คนดูถูกหลอมเข้าไปในความ ‘เหนือจริง’ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยการออกแบบศิลป์ คอสตูม แสง เพลง การสร้างตัวละครและการถ่ายทอดอันเปี่ยมพลังของนักแสดง ก็ทำให้ตัวหนังสือโดดเด้งออกมามีชีวิตบนเวทีได้ ต้องขออวยนักแสดงทุกคนจริงๆ เพราะทุกคนถือความเป็นตัวละครและพลังทางการแสดงเอาไว้ได้ตลอดเรื่องไม่มีแผ่ว มีแต่จะเพิ่มขึ้นเสียงด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นสำคัญกับความเชื่อของผู้ชมกับงานแนวแฟนตาซีเป็นอย่างมาก
.
• บทเพลงส่งวิญญาณจากวงเครื่องสายบรรเลงสด •
.
ส่วนหนึ่งที่เราเซอร์ไพรส์มากกับละครเรื่องนี้คือการใช้ดนตรีบรรเลงสดโดยวง String Quartet ที่นอกจากองค์ประกอบนี้จะสอดคล้องกับเนื้อหาที่เหล่ายมฑูตต้องบรรเลงเพลงส่งวิญญาณแล้วยังช่วยให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่ ‘เต็ม’ มากขึ้น เสียงไวโอลิน วิโอลา และเชลโล โหมทั่วโรงละครตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่าง และตอนจบ ความอู้ก้อง เสียงเอี๊ยดๆ จากการเสียดสีของสายกับคันชัก ช่วยขับเน้นความรู้สึกในแบบที่การเปิดเพลงผ่านลำโพงอาจทำได้ยาก ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีมากของทีมสร้าง
.
• มิติแห่งเนื้อหาอันลึกซึ้ง •
.
ที่นั่งฝั่งขวามือของเรา ณ เก้าอี้หมายเลข C1 คือคุณ ‘อภินุช’ เจ้าของนามปากกา ‘MOONSCAPE’ เธอทักทายเราด้วยรอยยิ้มสดใสที่หน้าโรงละคร แต่พอละครเล่นจบกลับเป็นเราที่เดินน้ำตาซึมไปยินดีกับเธอ เรื่องราวของเด็กชายสวมกระโปรง พี่เลี้ยงเหล่าวิญญาณเด็กหลง ผู้หลีกหนีตัวตนในอดีตจนหลงลืมความเป็นจริง เด็กชายผู้เชื่อว่าตนตายไปแล้ว หลากหลายการกล่าวถึงความตายประหนึ่งว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว การต่อสู้ของยมฑูตที่อยากจะช่วยให้มนุษย์ที่เขารักมีชีวิตรอด ทั้งหมดนี้ถูกร้อยเรียงอย่างงดงามใน “สนธยาและหลังจากนั้น”
.
เราต้องขอขอบคุณการตีความและดัดแปลงโดยคณะโยกย้ายฯ ด้วยเช่นกัน ที่ถ่ายทอดความลุ่มลึกในวรรณกรรมชิ้นนี้ออกมาให้ได้รับชม เป็นละครที่ทำให้เดินออกจากโรงด้วยความรู้สึกดีมากจริงๆ
.
.
“สนทยาและหลังจากนั้น”
จากผลงานวรรณกรรมต้นฉบับของ MOONSCAPE
ดัดแปลงโดยคณะโยกย้ายส่ายสะโพกเธียเตอร์
.
กำกับการแสดงโดย: สมรภูมิ จันทร์นาคา
ร่วมกับ นานามิ วงษ์ขุลี และ นครินทร์ ตากลม
.
ข้อมูลสูจิบัตร คลิก https://bit.ly/3X7hwWQ
.
สามารถติดตามผลงานต่อไปของคณะละครได้ทาง
Facebook: @YokYai Theatre
IG: yokyai_theatre
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
ภาพ: จิร อังศุธรรมทัต และ ภัทรพล กันทาวัฒน์
.
Comments