หากนึกถึงตัวละคร ‘พ่อมดฮาวล์’ แห่งปราสาทเคลื่อนที่คุณจะคิดถึงอะไร.. รูปโฉมงดงาม คำหวานที่ใช้มัดใจสาวๆ การเคลื่อนไหวอิสระดั่งวิหคบนฟากฟ้า หรือเวทมนตร์ของเขา?
.
แต่ถ้ามองให้ลึกเข้าไป สิ่งเหล่านี้อาจเป็นแค่ปราการบางใสที่ปกป้องชายผู้นี้ไว้จากโลกที่เขาหวาดกลัว..
.
หลังจากหยิบงานของ Studio Ghibli มาพูดถึงในเพจบ่อยครั้ง ทำให้ผู้เขียนเริ่มเห็นจุดร่วมสำคัญของแอนิเมชันจากค่ายนี้เด่นชัดขึ้น คือเรื่องราวเหล่านี้กำลังสื่อสารกับ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ มากกว่าการพูดถึงความเป็นเด็ก หลายครั้งตัวละครเด็กในเรื่องก็ถูกผลักให้เติบโตและเรียนรู้ชีวิตจากการผจญภัยของพวกเขา ต้องเผชิญเรื่องยากๆ ทางใจ หวาดกลัว สูญเสีย จนสามารถก้าวข้ามไปได้ในที่สุด อย่างใน “Howl’s Moving Castel” ที่ฉากหน้าถูกเคลือบแฝงไว้ด้วยปมง่ายๆ ว่า ‘แม่มดแห่งทุ่งร้าง’ รู้สึกแค้นใจที่ฮาวล์มาหักอกเธอเพียงเพราะรู้ว่าเธอใช้เวทมนตร์คงความเยาว์ให้ตัวเอง เธอจึงสาปให้ ‘โซฟี’ หญิงสาวที่เขารัก กลายเป็นยายวัย 90 ปี จนกลุ่มตัวละครเอกต้องออกเดินทางเพื่อทำลายคำสาป แต่แท้จริงแล้วผลงานชิ้นนี้อาจกำลังเล่าเรื่องราวของคนที่พยายามวิ่งหนีความจริงของชีวิตข้อนี้.. ‘การเติบโต’
.
ซึ่งมันถูกถ่ายทอดไว้อย่างลึกซึ้งในทุกตัวละคร แต่วันนี้เราจะของโฟกัสไปที่เจ้าบ้านอย่าง ‘พ่อมดฮาวล์’ และอยากชวนผู้อ่านมาร่วมสำรวจเบื้องลึกในจิตใจของคาแรคเตอร์ขวัญใจมหาชนผู้นี้ไปพร้อมๆ กัน
.
.
• ความว่างเปล่า ปราสาทเคลื่อนไหว และเปลวไฟที่ห้ามดับมอด
.
เพื่อนๆ เคยได้ยินการเปรียบเทียบจิตใจของคนกับบ้านหรือป่าว? เมื่อเราก้าวเท้าเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง จะได้เจอกับการออกแบบเฉพาะของเจ้าของบ้าน ประตูหลายบานที่พาไปสู่ห้องต่างๆ ห้องเก็บของใต้บันไดอาจเป็นที่เก็บความทรงจำชั้นลึก ห้องน้ำอาจเป็นที่ที่เราเปลือยเปล่าความเป็นตัวเองได้อย่างปลอดภัย และห้องนอนเป็นที่พักพิง สำหรับฮาวล์ ปราสาทหลังนี้ก็เป็นภาพแทนจิตใจของเขา
.
บทความจากบล็อกชื่อ The Borderline Connection ได้ตีความส่วนนี้ไว้ว่าหากมองจากภายนอกปราสาทจะดูใหญ่โตโอ่อ่า แต่หากเข้ามาด้านในมันจะสลับซับซ้อน ดูผุพังไม่มั่นคง มีการซอยห้องเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด ซึ่งพื้นที่ใช้สอยจริงๆ ถูกใช้แค่ไม่กี่จุดในบ้าน นี่เลยอาจเป็นการพยายามเติมเต็บความว่างเปล่าในใจของเขา ทุกครั้งที่รู้สึกไม่ปลอดภัยเขาจะสร้างห้องใหม่ และหลบหนีไปซ่อนในที่เหล่านั้น กับห้องนอนที่เต็มไปด้วยของตกแต่งรกรุงรัง ก็สะท้อนความกลัวความว่างเปล่าของเขาได้เป็นอย่างมาก ผนวกกับการกล่าวถึงไลฟ์สไตล์เสือผู้หญิง และการถูกพูดถึงว่าเป็น ‘คนไร้หัวใจ’ อยู่บ่อยครั้งในเรื่อง
.
ในมุมมองผู้เขียน เราสามารถตีความปราสาทของฮาวล์ได้อีกประเด็น คือตัวปราสาทอาจแทนความหวาดกลัวการเติบโตของเขาซึ่งน่าจะเป็นเรื่องหลักที่เขาหนีมาตลอด เห็นได้จากการที่ปราสาทเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ทั้งที่เซนส์ของคำว่า ‘บ้าน’ ควรเป็นอะไรที่ยึดมั่นอยู่กับผืนดิน แต่บ้านของฮาวล์กลับร่อนเร่พเนจรไปได้เรื่อยเช่นกันกับเขา อีกทั้งฮาวล์ยังส่งต่อความกลัวนี้ไปยัง ‘แคลซิเฟอร์’ เปลวไฟผู้ชอบอ้างว่าตนเป็นปีศาจเพื่อเลี่ยงการใช้พลังงาน เพราะกลัวตัวเองดับมอด และ ‘มาร์เคิล’ เด็กน้อยผู้ช่วยฮาวล์ที่ต้องรับหน้าที่พรางตัวเป็นชายแก่ เชื่อมโยงไปถึงประเด็นความชราของโซฟี ที่เป็นแกนหลักของเรื่อง อาจพูดถึงการถูกบีบให้เข้าใจการเติบโต ทั้งที่ไม่มีตัวละครไหนพร้อมรับมือสิ่งนี้ในตอนต้น
.
• หลากวิธีตอบสนองความเสียใจของฮาวล์
.
ภายใต้มาดขรึมและความหล่อเหลาเวลาอยู่นอกบ้าน เมื่อกลับมายังที่ปลอดภัยอยู่กับคนที่ไว้ใจ ฮาวล์ก็แสดงมุมอ่อนไหวของเขาออกมาอย่างกับเป็นคนละคน และเป็นการแสดงออกที่สุดโต่งมากอย่างเช่นการวิ่งวน ตีโพยตีพายไปทั่วบ้านแค่เพราะผมกลายเป็นสีส้ม ลามไปเข้าพบจิตวิญญาณดำมืดจนตัวถูกเคลือบไปด้วยเมือกสีเขียวและร่างกายอ่อนแรง
.
“ฉันยอมแพ้แล้ว ไม่มีเหตุผลให้ใช้ชีวิตต่อถ้าฉันไม่หล่อ”
.
อีกจุดที่ฉายภาพสภาพจิตใจอันบอบบางของฮาวล์ได้ดีคือช่วงที่ร่างปักษาของเขาบาดเจ็บจากการต่อสู้แล้วหนีหายเข้าไปหลบในเขาวงกตใต้ดิน หรือการสร้างดินแดนวัยเด็กเอาไว้เพื่อหลบมาพักใจ ทำให้เห็นว่าตัวละครนี้แบกความรู้สึกมากมายไว้กับตัวตลอดเวลาและต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้างถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะควบคุม จนการมาของโซฟี ได้พาทุกคนในปราสาทออกจาก ‘Comfort Zone’ เพื่อเผชิญหน้ากับการเติบโตอย่างแท้จริง
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
ภาพ: Ghibli Studio
.
ที่มา:
.
Comments