top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

สำรวจปีศาจในเรื่อง "Evil Does Not Exist"

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567




“ลึกๆ แล้วผมชอบเวลาผู้ชมรู้สึกไม่แน่ใจกับภาพที่เกิดขึ้นในหนัง ผมคิดว่าความไม่แน่ใจและยากจะชี้ชัดนั่นแหละคือเสน่ห์ของภาพยนตร์” - Ryusuke Hamaguchi (ผู้กำกับ)


ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในป่าบนภูเขา ทาคุมิ (รับบทโดย Hitoshi Omika) คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอาศัยอยู่กับ ฮานะ (รับบทโดย Ryo Nishikawa) ลูกสาวตัวน้อยช่างสงสัย พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่น ณ ที่ที่มีธรรมชาติอันแสนสงบโอบอุ้มเรื่อยมา จนกระทั่งบริษัทแห่งหนึ่งจากโตเกียวเข้ามาสัมปทานพื้นที่ในเนินเขาเพื่อทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว “ลานแกลมปิง” ความนิ่งสงัดจึงค่อยๆ ปะทุและสั่นสะเทือน …


“Evil Does Not Exist ที่นี่ไม่มีปีศาจ” ภาพยนตร์ดราม่าลึกลับผลงานเขียนบทและกำกับชิ้นใหม่จาก ริวสุเกะ ฮามากุจิ ผู้กำกับหนุ่มวัย 45 ปีเจ้าของรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมจาก “Drive My Car สุดทางรัก (2021)” ที่เรียกได้ว่าขยันทำหนังจนประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในวงการตอนนี้ เพียงเวลาแค่ 3 ปี เขาสามารถพาหนังถึงสามเรื่องไปแสดงแสนยานุภาพในเวทีสายประกวดต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งเรื่องใหม่อย่าง Evil Does Not Exist (2023) ที่คว้ารางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสได้สำเร็จ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ วันนี้ The Showhopper จึงอยากมาชวนทุกคนสำรวจเหตุผลว่าทำไมเรื่องราวทั้งสามเรื่องจากฝีมือของฮามากุจิจึงประสบความสำเร็จและคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ ได้มากขนาดนี้


[มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์]


<ความบังเอิญแห่งโชคชะตา และบทสนทนาในรถที่ถูกปลดเปลื้อง>


หากใครเคยชมภาพยนตร์ของฮามากุจิ สิ่งที่โดดเด่นและเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของฮามากุจิได้เลยนั่นคือ ‘บทสนทนา’ ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครในสถานการณ์บีบบังคับ เห็นได้ชัดจาก “Wheel of Fortune and Fantasy วงล้อแห่งโชคชะตาและฝันหวาน (2021)” ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัล Silver Bear Grand Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ว่าด้วยเรื่องราวภายใต้ธีมของคำว่า ‘โชคชะตา’ กับผู้หญิง 3 คนผู้ต้องเผชิญปัญหากับความสัมพันธ์ในวาระโอกาสที่ต่างกันที่แบ่งออกเป็น 3 ตอนอย่างชัดเจน เรื่องที่ 1 ‘Magic’ หญิงสาวผู้พบว่าเพื่อนสนิทกำลังตกหลุมรักแฟนเก่าของเธอเอง เรื่องที่ 2 ’Door Wide Open’ นักศึกษาหนุ่มผู้ขมขื่นกำลังวางแผนหลอกอาจารย์โดยใช้หญิงสาวคู่ขาของเขาเป็นเหยื่อล่อ และเรื่องสุดท้าย ‘Once Again’ หญิงสาวที่กลับมาพบกับเพื่อนสาวสมัยมหาลัยอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 20 ปีกับบทสรุปที่ไม่มีใครคาดคิด


ฮามากุจิใช้บทสนทนาอันชาญฉลาดบวกกับการกระทำที่ไม่คาดคิดของตัวละคร (แถมใส่เหตุการณ์ ‘บังเอิญ’ ลงไปอีกหน่อย) ยกตัวอย่างเรื่องที่ 3 นัตสึโกะ หญิงสาววัยกลางคนที่เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นในต่างเมืองแล้วบังเอิญพบกับ ‘อายะ’ หญิงสาวที่ภายนอกดูคล้ายกับอดีตคนรักของเธอ ทั้งคู่เปิดบทสนทนาแห่งความหลังในอดีตที่เคยมีต่อกัน ณ เวลานั้น เชื่อว่าคนดูก็คงฟังบทสนทนาเรื่อยเปื่อยของทั้งคู่ไปอย่างเพลิดเพลิน ไม่แม้แต่จะคิดเอะใจ จนกระทั่งหมัดเด็ดของฮามากุจิก็ถูกสำแดงในทันใด


คุยไปคุยมาทั้งคู่กลับพบว่าอีกฝ่ายไม่ใช่คนๆ นั้นของกันและกัน บทสนทนาที่แสนสนิทสนมเมื่อครู่กลายเป็นเพียงเรื่องที่คนแปลกหน้าสองคนทึกทักกันไปเอง แต่แล้วยังไงล่ะ สิ่งที่พวกเธอสองคนต้องการอาจจะไม่ใช่คนรู้จัก แต่คือคนที่อยู่ตรงหน้า คนแปลกหน้าที่รู้สึกผูกพันอย่างประหลาด ที่พร้อมรับฟังและให้อีกฝ่ายได้ปลดเปลื้องสิ่งที่กินพื้นที่ในจิตใจเรื่อยมา เกิดเป็นบทสนทนาในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ช่วยเยียวยาจิตใจและเติมพลังให้กับผู้หญิงทั้งสองคน รวมไปถึงคนดูด้วยไม่มากก็น้อย


“Drive My Car สุดทางรัก” เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาได้ ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ ฮารูกิ มูราคามิ ยังคงว่าด้วยบทสนทนาของคนสองคนภายใต้หลังคารถคันเก่า ภาพยนตร์ความยาว 3 ชม. แห่งการเดินทางระหว่าง ‘ยูสุเกะ’ นักแสดงและผู้กำกับละครเวทีที่เพิ่งสูญเสียภรรยาไปอย่างกะทันหัน สองปีถัดมาเขาได้ไปทำละครเวทีเรื่อง Uncle Vanya ที่เมืองฮิโรชิ และได้พบกับ ‘มิซากิ’ เด็กสาวผู้เงียบขรึมที่ถูกจ้างให้มาเป็นคนขับรถให้


ฮามากุจิหลงใหลการเล่าเรื่องผ่านพื้นที่ในรถมาโดยตลอดตั้งแต่เรื่องหญิงสาวผู้พบว่าเพื่อนสนิทกำลังตกหลุมรักแฟนเก่าใน ‘Magic’ คราวนี้รถยนต์ SAAB 900 สีแดงกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเรื่องในฐานะ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ยูสุเกะต่อบทละครกับเทปเสียงบทละครไปเรื่อยๆ เวลาขับรถโดยอ้างว่ามันเป็นกิจวัตรประจำวันในการซักซ้อมบท แต่บทละครในเรื่อง Uncle Vanya ประพันธ์โดยนักเขียนชื่อดังชาวรัสเซีย Anton Chekov ที่เขาท่องอยู่ทุกวันนั้นกลับพูดแทนความรู้สึกดำมืดในใจของเขาได้โดยปริยาย


(สามารถอ่านบทวิเคราะห์ที่ The Showhopper เคยเล่าสู่กันฟังแล้วได้จาก ‘Drive My Car : เมื่อละครเวทีกับชีวิตจริงคือสิ่งเดียวกัน’ https://www.facebook.com/.../pfbid0uhfHhKPAjV569MGsGMqBBQ...)


ขณะที่ปากพูดบท หารู้ไม่ว่าข้างในของยูสุเกะกำลังรับมือกับความรู้สึกสูญเสีย เมฆหมอกแห่งความเศร้า อีกทั้งความลับอันดำมืดที่ว่าภรรยาที่เสียไปแอบมีอะไรกับชายอื่น จนกระทั่งมิซากิมาทำหน้าคนขับรถและค่อย ๆ ย่างกรายในพื้นที่ส่วนตัวนั้นโดยบังเอิญ ยูสุเกะพยายามคัดค้านในตอนต้นแต่เมื่อเวลาผ่านไปความไว้วางใจก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาทีละเล็กละน้อยนั่นเอง เขาจึงยอมแบ่งปันพื้นที่แห่งนี้ในการปลดเปลื้องความลับและความหนักอึ้งในใจทั้งหมด เช่นเดียวกับมิซากิที่สุดท้ายแล้วก็ยอมเผยความรู้สึกและเรื่องราวอันแสนเจ็บปวดในอดีตภายใต้ใบหน้าเฉยชานั้น และเป็นอีกครั้งในหนังของฮามากุจิที่คนแปลกหน้าสองคนไว้วางใจที่จะปลดเปลื้องเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังร่วมกัน (ทั้งสองเรื่องสามารถรับชมได้ทาง Doc Club on Demand @Documentary Club)


<ที่นี่(ไม่)มีปีศาจ ภาพยนตร์จึงมีเสน่ห์?>


เมื่อถึงคราวสำแดงเดชในหนังเรื่องใหม่อีกครั้ง ฮามากุจิได้พาคนดูไปสัมผัสบรรยากาศเย็นยะเยือกลึกไปในป่าหลังเขาที่มีชายวัยกลางคนกำลังผ่าฟืนเก็บไว้เผาสร้างความอบอุ่น ธารน้ำสะอาดที่ตักไปทำน้ำซุปรสเด็ดได้ และแม้กระทั่งวาซาบิที่ขึ้นข้างทางให้เด็ดไปกิน ล้วนแล้วแต่เกิดจากธรรมชาติอันแสนเงียบสงบที่ชวนให้ฉงนสนเท่ห์ในความอัศจรรย์นั้น ที่นี่น่ะหรือจะมีปีศาจไปได้อย่างไร?


“นั่นต้นสน นั่นต้นลาร์ช สนเปลือกแดงแต่ลาร์ชเปลือกดำ ตรงนั้นเป็นทางเดินของกวาง ตรงนั้นคือบ่อน้ำของพวกมัน” ทาคุมิชี้แนะภาพเบื้องหน้าให้กับฮานะ ลูกสาวที่กำลังจับจ้องธรรมชาติอย่างกับจะเอาคำตอบ


หนังให้เวลากับการอารัมภบทภาพทิวสนและอิริยาบถการใช้ชีวิตของทาคุมิอย่างไม่รีบร้อนและเนิ่นนานพร้อมกับเสียงดนตรีที่อื้ออึงอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งอัพสปีดขึ้นเมื่อสองพนักงานบริษัทจัดหานักแสดงถูกจ้างมาคุยกับชาวบ้านเรื่องการจัดสร้างพื้นที่แกลมปิ้งที่อาจปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ (‘Glamping’ เป็นการผนวกระหว่างคำว่า ‘glamorous' และ ‘camping’) เพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นว่านายทุนยังคงเหลียวแลคนในหมู่บ้านอยู่บ้างก็เท่านั้น สร้างความเดือดดาลให้คนที่ชุมชนรวมทั้งทาคุมิเป็นอย่างมาก



“ชาวบ้านไม่ได้โง่อย่างที่คุณคิด” มายุซุมิ (รับบทโดย Ayaka Shibutani) พนักงานสาวบอกกับนายทุนกลางวงสนทนาของบริษัทโดยมี ทาคาฮาชิ (รับบทโดย Ryuji Kosaka) หนุ่มพนักงานอีกคนนั่งอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะถูกจ้างมาเพื่อเล่นจำอวดบทหนึ่ง แต่ตัวหนังก็พาไปพบกับมุมมองฝั่งพวกเขาซึ่งก็เป็นคนธรรมดาที่มีความฝัน ความต้องการในชีวิต และมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีปรากฏให้เห็น (ฮามากุจินำเสนอด้วยบทสนทนาในรถอีกครั้ง)


ทั้งคู่ไม่ได้อยากเป็นตัวร้ายหรือปีศาจในสายตาของคนในชุมชน แต่ก็ไม่อาจขัดคำสั่งนายทุนได้ พวกเขาต้องขับรถกลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้งเพื่อหาหนทางตื๊อให้ทาคุมิยอมรับเป็นผู้ดูแลแกลมปิ้งให้ได้ โดยหวังว่าจะมีสักคนไว้คัดง้างกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน แต่คงผิดถนัดเพราะทาคุมิหวงแหนพื้นที่เหล่านั้นเกินกว่าจะยอมทำตามและให้ใครมารุกรานได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนไม่ได้เป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ทั้งคู่จึงพยายามช่วยงานทาคุมิ ลองผ่าฟืนและตักน้ำจากลำธารใส่ถัง ส่วนทาคุมิก็ไม่แล้งน้ำใจพาไปชิมน้ำซุปจากร้านที่ใช้น้ำในลำธารซึ่งอร่อยกว่าน้ำสะอาดทั่วไป ทุกอย่างดูเป็นไปได้ด้วยดีจนกระทั่งเสียงปืนล่ากวางดังขึ้นหนึ่งนัดจากอีกฟากของป่า เวลานั้นเองทาคุมิเพิ่งรู้ตัวว่าตนลืมไปรับฮานะที่โรงเรียน จนเธอเดินกลับบ้านผ่านทางป่าลึกและหายตัวไป ...


(Warning: Spoiler Alert) ทุกคนในหมู่บ้านต่างตามหากันให้ทั่วหลังจากได้ยินเสียงตามสายประกาศตามหาเด็กหญิงวัยแปดขวบ แต่ทาคุมิกลับรู้ดีว่าในป่าลึกนั่นลูกสาวของตนมักจะไปเล่นอยู่ที่ใด ฮานะกำลังยืนปะทะสายตากับกวางที่ทาคุมิเคยอ้างว่าพวกมันรักสงบและไม่มีทางทำอันตรายผู้คนได้ ... แต่นี่มันกวางที่มีรอยแผลถูกยิงด้วยกระสุนปืน มันคงเดือดดาล พร้อมจะเป็นปีศาจตลอดเวลา … ทันใดนั้นธรรมชาติอันแสนสงบแปรสภาพเป็นฉากโศกนาฏกรรมเลือดเย็น กวางตัวนั้นหายเข้าไปในป่า ฮานะฟุบลงกับพื้น ส่วนทาคาฮาชิที่เข้าป่ามาช่วยตามหาด้วยกลับถูกรัดคอจนน้ำลายฟูมปากด้วยฝีมือของทาคุมิ ตัดไปเป็นภาพเคลื่อนคล้อยอ้อยอิ่งของทิวสนเดิมกับตอนเปิดเรื่อง ต่างกันตรงที่ครานี้เป็นเวลาสนธยาอันน่าพิศวงที่ไร้คำตอบ ... อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงอาจจะโมโหไม่ก็เกิดอาการฉงนงงงวยกับเหตุการณ์พลิกผันในตอนท้ายของเรื่อง มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่? ที่นี่ไม่มีปีศาจจริงหรือ? “ผมคิดว่าความไม่แน่ใจและยากจะชี้ชัดนั่นแหละ คือเสน่ห์ของภาพยนตร์” ฮามากุจิกล่าว


ลายเซ็นของฮามากุจิคือการปูไดอะล็อกและความสัมพันธ์ของตัวละครผ่านบทภาพยนตร์ที่แสนแยบคาย เกิดเป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก (Dilemma) ทั้งที่นำไปสู่บทสรุปดีหรือตลกร้าย ความคลุมเครือ (และชวนตั้งคำถามว่าใครกันแน่เป็นปีศาจ) เหล่านี้นี่เองคือเสน่ห์ของภาพยนตร์ในแบบฉบับของฮามากุจิ จากความตั้งใจแรกว่าจะถ่ายฟุตเทจเพื่อใช้เป็นวิชวลพื้นหลังสำหรับการแสดงสดของ เอโกะ อิชิบาชิ (Eiko Ishibashi) ศิลปินผู้เคยถ่ายทอดเสียงเพลงประกอบไว้แล้วใน ‘Drive My Car’ กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องใหม่ และไม่เพียงแค่นั้นมันยังกลายเป็น ‘Gift (2023)’ ภาพยนตร์สั้นประกอบ Live Score ที่ใช้ฟุตเทจเดียวกันแต่ไม่มีไดอะล็อกซึ่งยังไม่พบกำหนดฉายในไทยในเวลานี้


จึงอยากชวนแฟนๆ The Showhopper ร่วมสำรวจความเป็นปีศาจจาก ‘Evil Does Not Exist ที่นี่ไม่มีปีศาจ’ ไปพลางๆ ก่อนซึ่งฉายไปแล้วในเทศกาล Japanese Film Festival 2024 และรอบพิเศษในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่วันนี้ฉายจริงแล้วก่อนประเทศญี่ปุ่นซะด้วย ในโรงภาพยนตร์~



เรื่อง: Theeranai S.


ที่มา:




ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Opmerkingen


bottom of page