
ประเทศสิงคโปร์สำหรับพวกเราถือว่าเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับได้ว่าก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลแทบจะทุกแง่ ในแง่ของความหลากหลายทางศิลปะ เรามักจะเห็นภาพยนตร์และงานศิลปะร่วมสมัยมากมายเลือกที่จะไปเปิดฉายหรือแสดงที่สิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ ศิลปินบางคนก็เลือกสิงคโปร์เป็น The Only Stop in Southeast Asia ด้วย!
และสิ่งที่เชื่อว่าแฟนละครเวทีหลายๆ คนช้ำใจ ก็คือมิวสิคัลและละครพูดเรื่องดังจากบรอดเวย์ West End และ Australian Tour เลือกที่จะลงการแสดงแค่ในสิงคโปร์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นละครเพลงอย่าง Wicked, Frozen หรือแม้กระทั่งละครพูดสุดฮิตอย่าง War Horse และ The Curious Incident of a Dog in the Night-Time ไม่เคยได้โฉบมาถึงไทยเลย
ที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ภายใต้อิสระและความ ‘เปิดกว้าง’ ต้อนรับศิลปะทุกแขนงให้เข้ามาในประเทศ แต่ทุกเรื่องทุกการแสดงต้องผ่านการคัดกรองและกระบวนการ ‘เซ็นเซอร์’ เพื่อให้ได้มาสู่เรตติ้งก่อน โดยองค์กรอย่าง Infocomm Media Development Authority หรือ IMDA ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยของภาครัฐสิงคโปร์ที่ดูแลในส่วนนี้อย่างเคร่งครัด ละครทุกเรื่องรวมไปถึงศิลปะแขนงอื่นๆ ต้องส่งบทการแสดงเพื่อตรวจอย่างละเอียดก่อนที่จะสามารถเปิดขายบัตรและเปิดการแสดงได้ และเรตติ้งที่ทาง IMDA ให้จะต้องถูกประกาศในทุกช่องทางที่ผู้ชมซื้อบัตรอย่างชัดเจน
เรตติ้งในสิงคโปร์จะถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ G (General) เรตทั่วไป เหมาะสมกับทุกวัย, A (Advisory) เรตเฝ้าระวัง, A16 เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 16 ขึ้นไป และเรตที่จำกัดอายุอย่าง R18 หรือ Restricted 18 ที่ผู้ชมจะต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปถึงจะชมการแสดงได้ ซึ่งทาง IMDA บอกว่าตัวเรตติ้งนี้จะพิจารณาโดยดูจากประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และการนำเสนอ issues or lifestyles ที่แตกต่าง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องเยาวชนจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ป้อมปรามความปลอดภัยทางเชื้อชาติ และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าอันควรเป็นที่ยอมรับและสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะชนได้
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ประเด็นของ & Juliet ละครเพลง Jukebox Musical ที่จินตนาการเรื่องราวของ Romeo & Juliet ใหม่ด้วยคำถามที่ว่า “หาก Juliet ไม่ได้ฆ่าตัวตายตาม Romeo ไปเหมือนในละคร ชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไร?” ซึ่งละครก็เล่าเรื่องของ Romeo & Juliet ล้อไปกับตัวผู้แต่ง William Shakespeare ที่ก็เริ่มสงสัยแล้วว่าเขาเลือกตอนจบละครของตัวเองถูกหรือเปล่า โดยเล่าผ่านบทเพลงดังจากโปรดิวเซอร์เพลงป็อบอย่าง Max Martin ที่รังสรรค์เพลงอย่าง “Since U Been Gone”, “Roar”, “Problem” และ “Baby One More Time” มาแล้ว
& Juliet เปิดการแสดงมาแล้วทั่วโลก เริ่มต้นจากที่ West End ในปี 2019 ที่บรอดเวย์ในปี 2022 และโปรดักชั่นก็เปิดสายที่ Australia ในปี 2023 ก่อนที่จะเดินทางมาสู่สิงคโปร์เมื่อเดือนที่แล้ว และสิ่งที่ช็อกโลกไปเลยก็คือ ในวันประกาศขายบัตร เรตติ้งของละครกลับถูกจัดให้เป็น R18 ซึ่งหมายความว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีไม่สามารถเข้าชมเรื่องนี้ได้
เรียกได้ว่า ‘งงกันหมด’ เพราะ & Juliet คือละครสามารถเอ็นจอยได้หมดทุกเพศทุกวัย เป็นเรื่องที่ตั้งใจให้ครอบครัวมาดูกันทั้งบ้าน แม้กระทั่งในช่องทางโซเชียลของละครที่บรอดเวย์ยังมีรูปเด็กๆ เดินเข้าไปดูละครด้วยซ้ำ เมื่อสื่อบันเทิงหนึ่งได้เรต R18 จากคำอธิบายของ IMDA เรื่องนั้นๆ จึงมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งเชื้อชาติหรือศาสนา การอ้างถึงประเด็นหรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างที่อยู่นอกเหนือขนบทางสังคม (prevailing social norms) ซึ่งพาร์ทหลังนี่ละครับที่เป็นจุด turning Point ของ & Juliet นำมาสู่เรตติ้งนี้
ในตัวเรื่อง Juliet ของเราจะมีแก๊งเพื่อน หนึ่งในเพื่อนของเธอคือ May เป็นตัวละครที่เป็น Non-Binary ซึ่งในสิงคโปร์ การเล่าเรื่องเกี่ยวกับ LGBTQ+ หรือมีตัวละครที่ไม่ใช่เพศชายจริงหญิงแท้สามารถทำได้อย่างอิสระ แต่ว่าเรื่องนั้นๆ จะได้เรตติ้ง A16 ซึ่งหมายถึงใครก็สามารถชมได้ แต่เนื้อหาจะเหมาะสมกับผู้ชมที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ทว่าหากตัวละครเหล่านั้นมี action ที่มากกว่าแค่การพูดคุย มีการจูบกัน ไม่ว่าจะจูบแป๊บเดียวหรือจูบนานๆ เรตติ้งเรื่องนั้นจะกลายเป็น R18 ทันที
ใน & Juliet ตัวละครของ May จูบกับอีกตัวละครหนึ่ง และนำไปสู่เรื่องราวความสับสนทางเพศของทั้งสองตัวละครนี้ และเข้าเพลงดังของ Katy Perry อย่าง “I Kissed A Girl” ซึ่งก็แปลว่าละครเรื่องนี้ที่มาเปิดการแสดงที่สิงคโปร์ ผู้ชมอายุน้อยกว่า 18 ปี จะไม่สามารถเข้าชมได้เลยครับ!!!!
นี่เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากละครเรื่องนี้ไม่สามารถขายเด็กได้ ผู้จัดอาจจะขาดทุนหนัก ด้วยจำนวนที่นั่งของ Sands Theatre ใน Marina Bay Sands มีความจุมากถึง 2,155 ที่นั่ง และ & Juliet ที่ขายว่าเป็นโปรดักชั่นสุดอลังการที่เปิดการแสดงเฉพาะที่สิงคโปร์แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องขายบัตรทั้งหมดนั้นมากถึง 26 รอบการแสดงด้วยกัน
แต่สิ่งที่ผู้จัดตัดสินใจทำก็เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากๆ เช่นกันครับ นั่นก็คือทางทีมผู้จัดร่วมมือกับทีมครีเอทีฟของโปรดักชั่นตัดสินใจ ‘เปลี่ยน’ การจูบทั้งหมดในเรื่องออก เพื่อให้เรตติ้งของละครถูกลดลงมา แต่ที่พีคไปกว่านั้น คือผู้สร้างไม่ได้เปลี่ยนแค่การจูบของตัวละคร Non-Binary อย่าง May แต่ตัด ‘ทุกจูบ’ ของตัวละครทุกตัวทั้งเรื่อง รวมไปถึงตัวละคร Straight อีกด้วย!! ซึ่งนั่นก็เลยทำให้ละครได้เรตติ้งใหม่เป็นเพียงแค่ A16 เท่านั้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับที่งานศิลปะในสิงคโปร์ถูกจัดเรตติ้งในรูปแบบนี้ ในปี 1963 สิงคโปร์เคยแบนเพลงอย่าง “Puff, The Magic Dragon” มาแล้ว เนื่องด้วยกลัวว่าเพลงจะสื่อไปเรื่องของการใช้กัญชา หรือแม้กระทั่งเพลงอย่าง “I Kissed A Girl” ของ Katy Perry ที่ก็ถูกใช้ในเรื่อง & Juliet ก็เคยถูกแบนไม่ให้เปิดในวิทยุเพราะเนื้อเพลงเล่าถึงความโฮโมเซกชวล ซึ่งถือเป็นเรื่องรุนแรงในการออกอาการทั่วโลก หรือในโลกละครเวที คณะละครอย่าง W!LD RICE เคยถูกตัดงบประมาณสนับสนุนศิลปะจากภาครัฐในปี 2010 มาแล้ว เนื่องจากทางรัฐเห็นว่า โปรดักชั่นนั้นส่งเสริม alternative lifestyles ที่วิจารณ์นโยบายรัฐบาลและเสียดสีผู้นำทางการเมืองนั่นเอง
Ong Keng Sen ผู้ดูแลเทศกาล Singapore International Festival of Arts ในปี 2014 - 2017 เคยกล่าวไว้ว่ากฎหมาย Censorship ของสิงคโปร์นั้นจำกัดการทำงานและการแสดงออกทางศิลปะของคนที่นั่นเป็นอย่างมาก “สิงคโปร์ฉายภาพสวนแห่งสรวงสวรรค์ แต่คุณไม่รู้หรอกว่านั่นเป็นกับระเบิด แน่นอนว่านักท่องเที่ยวก็ไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นเรื่องพวกนี้ แต่คนที่นี่ต่างอยู่ในการควบคุมและข้อจำกัดที่ส่งผลเป็นอย่างมากต่อคุณภาพในการสร้างสรรค์งานศิลปะและศักยภาพในการวิจารณ์”
และแม้กระทั่งการเปลี่ยน “จูบ” แบบที่ & Juliet เลือกทำนั้นมาพร้อมกับกระแสวิจารณ์จากผู้ชมบางส่วนที่ก็มองได้ว่าเป็น cheap way to sell tickets มากกว่าที่จะเป็นการแสดงสัญญะเพื่อต่อสู้กับระบบเซ็นเซอร์ในประเทศ หากละครที่คนดูกันทั่วโลกทุกเพศทุกวัยที่ไม่มีอะไรรุนแรงเลยยังต้องทำขนาดนี้เพื่อลดเรตติ้ง และในอนาคต การนำเสนอ “alternative lifestyles” เช่นนี้จะเป็นอย่างไร
& Juliet นี่เรียกได้ว่ามีประเด็นหลายอย่างเกิดขึ้นนะครับ ถ้ายังจำกันได้ ที่โปรดักชั่นบรอดเวย์เมื่อต้นปีก็มีประเด็นที่ Justin David Sullivan นักแสดงที่รับบท May เลือกถอนตัวเองจากการเข้าชิง Tony Awards เพราะรางวัลให้เลือกว่าจะลงสาขาสมทบชายหรือหญิง ซึ่งขัดกับเพศสภาพ Non-Binary ของเขา
สำหรับโปรดักชั่น & Juliet ที่สิงคโปร์จะทำการแสดงจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนีั และหลังจากนั้นโปรดักชั่นก็จะพักการแสดงชั่วคราวและกลับไปเปิดใหม่อีกครั้งที่ซิดนีย์และเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียในปีหน้า ซึ่ง Broadway Boy จะมีโอกาสได้ชมที่ซิดนีย์ในเดือนกุมภาพันธ์ ฟังแล้วก็อยากจะไปชมเรื่องนี้ที่สิงคโปร์ด้วยตัวเองมากๆ ส่วนใครที่ได้แวะไปดู & Juliet มาแล้ว มาเล่าให้ฟังหน่อยครับว่าเป็นอย่างไร
ก่อนที่ Broadway Boy เองจะมาเล่าให้ฟังอีกทีในปีหน้า ระหว่างนี้สามารถย้อนไปอ่านเรื่อง & Juliet ที่ผมเคยแนะนำไปเมื่อปีที่แล้วได้ที่ลิงค์ด้านล่างเลยครับผม
ย้อนอ่านบทความ "ถึงเวลาหรือยังที่สาขานักแสดงจะไม่แบ่งเพศ" https://www.facebook.com/photo?fbid=632035625625434&set=a.473879628107702
เรื่อง: Broadway Boy
Comments