top of page
รูปภาพนักเขียนTheeranai S.

หนังในลิสต์เป็นร้อย สุดท้ายก็ดูเรื่องเดิม! หรือนี่อาจเป็น ‘Mere-Exposure Effect’ ทฤษฎีว่าด้วยสิ่งซ้ำๆ ที่ทำให้รู้สึกดี



“เบื่อจัง… หาหนังใหม่ดูดีกว่า > เลื่อนดูลิสต์หนังในเน็ตฟลิกซ์ > ไถขึ้นไถลง ๆ > อ่านเรื่องย่อ > ไถขึ้นไถลง ๆ อีกร้อยรอบ > จบที่ La La Land (ดูไปแล้วรอบที่ … นับไม่ถ้วน) ”

.

ทำไมนะทำไม เวลากลับบ้านมาเหนื่อย ๆ พอไถหน้าแพลตฟอร์มสตรีมมิง ตั้งใจว่าจะหาหนังเรื่องใหม่ดูสักเรื่อง กลับต้องมาจบที่ “Comfort Movies” หนังที่ดึงเอาความรู้สึกเชิงบวกในอดีต หรือหนังเรื่องโปรดที่เราดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งไป ทั้ง ๆ ที่ดูจนจำไดอะล็อกได้ทั้งเรื่องแล้ว ?

.

- หนังเรื่องใหม่ = ชุดข้อมูลใหม่ ?

.

แต่ละมื้อแต่ละเดย์ หลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในชีวิต เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องรับรู้ข้อมูลชุดใหม่และประมวลผลมันอยู่ตลอดเวลา การแบกรับ “Cognitive Load” หรือภาระทางสมองและความจำมากมายที่เกิดจากการล้นทะลักของข้อมูลในแต่ละวัน ผ่านประสาทสัมผัสจากสิ่งเร้าที่มากระตุ้น เช่น ตัวหนังสือ ภาพ เสียงบรรยาย นำไปสู่การประมวลข้อมูลและกระบวนการจดจำ ซึ่งหากข้อมูลที่ได้รับมีจำนวนมากเกินไป เกินกว่าที่สมองจะประมวลผลได้ครบถ้วน ก็จะกลายเป็น “ภาระทางปัญญา” และเกิดเป็นความเครียดตามมา

.

ภายใต้การรับรู้ข้อมูลที่หนักหน่วง และความเหนื่อยล้าจากชีวิตการทำงานแบบ 9 to 5 พออยากจะดูหนังสักเรื่อง เริ่มจากตั้งหมุดว่าจะดูหนังเรื่องอะไร เอาเรื่องที่น่าสนใจและดึงดูดเรามากพอ กว่าจะตัดสินใจเสร็จและกดเล่นแต่ละที เราก็ติดอยู่หน้าลิสต์หนังละลานตาเป็นนานสองนาน พอหนังกำลังเดินไป สมองของเราก็ต้องทำความเข้าใจตัวละคร ประมวลผลไปพร้อมกับเส้นเรื่อง จนถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากับจุดพลิกผันไม่คาดฝันของเรื่อง ถ้าเป็นวันที่เรามีแรงเหลือ ๆ ก็ว่าไปอย่าง แต่ในวันที่เราล้าจนแทบอยากจะทิ้งตัว หนังเรื่องเก่าที่ดูซ้ำจนเทปยานนี่แหละ ที่ดูแล้วก็ไม่ต้องใช้งานสมองมากจนเกินไป ไม่มีการต้องมานั่งคาดเดา คาดหวัง หรือรู้สึกกดดันอีกแล้ว เพราะเรารู้เรื่องอยู่แล้วตั้งแต่ต้นจนจบ

.

- ทฤษฎี “Mere-Exposure Effect”

.

อีกหนึ่งเหตุผลที่เรามีเกณฑ์ที่จะชอบดูหนังที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วมากกว่า เพราะประสบการณ์ใหม่ ๆ จากหนังเรื่องใหม่อาจทำให้เราสนุกตื่นเต้นก็จริง แต่ก็มาพร้อมกับความรู้สึกเครียดปนอยู่เช่นกัน มีทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่า “Mere-Exposure Effect” หรือทฤษฎีที่อธิบายเวลาที่เราเคยใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่ง ๆ หนึ่งมาก่อนในอดีต มักมีแนวโน้มที่จะยอมรับ ให้ความสำคัญ หรือกระทั่งหลงรักสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นทฤษฎีเดียวกันกับที่ร้านค้าในห้างเปิดเพลงโฆษณาซ้ำ ๆ กรอกหูเราจนเราร้องตามได้ เมื่อเทียบหนังที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับหนังเรื่องใหม่ที่พ่วงมากับประสบการณ์ใหม่ เรามักจะประมวลผลได้ง่ายกับเรื่องราวที่เราคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว ส่งผลให้เรารู้สึกเชิงบวกได้ง่าย อาจรู้สึกชอบ และเผลอรักสิ่งนั้นไปโดยปริยาย

.

ขณะที่เรากำลังดูหนังเรื่องเก่าเป็นครั้งที่หก ครั้งที่สิบสอง หรืออีกหลายครั้งนับไม่ถ้วน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าตัวละครจะพูดอะไร เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปและจะจบอย่างไร สมองของเราก็แทบไม่ต้องทำงานใด ๆ หรือคิดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เอาเข้าจริง ๆ ความขี้เกียจของสมองเรานี่แหละที่มักทำให้เราเลือกที่จะมองหาความเคยชิน เลือกที่จะดื่มด่ำกับเรื่องราวเดิม ๆ ที่ทำให้เราเผลอยิ้มหรือร้องได้อย่างมีความสุข หรือดูซ้ำอีกครั้งก็อาจจะพบเจอด้านใหม่ ๆ ของหนังเรื่องเดิมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แทนที่จะต้องมาโลดโผนโจนทะยานทางความรู้สึกและสมองไปกับหนังเรื่องใหม่ (ที่เผลอ ๆ ถ้าคุณไม่ดู คุณก็อาจจะพลาดของดีไปเช่นกัน)

.

ขณะที่พลวัตของโลกผลักดันให้เราต้องเผชิญกับความตื่นเต้นและท้าท้ายกับสถานการณ์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งช่วงปีหลังมานี้ที่มีเหตุการณ์มากมายคอยบีบให้เราต้องรับรู้และตัดสินใจ ภายใต้ความไม่รู้ที่คนทั้งโลกก็คงเผชิญสภาวะนี้เช่นกัน เวลาที่เรากลับบ้านมาเหนื่อย ๆ “Comfort Movies” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชุบชูใจเราให้รู้สึกดีอยู่ไม่น้อย ตราบใดที่เรายังไปร้านกาแฟเจ้าประจำ กินข้าวเย็นร้านเดิม และสั่งอาหารเมนูโปรดที่ไม่ว่าจะกินกี่ครั้งก็อร่อยและถูกปากเช่นเคย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องเหนียมอายในการดูหนังเรื่องเก่า ถ้าความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราเกิดขึ้นได้จากหนังเรื่องเดิมที่เราแทบจะจำบทพูดได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

.

เรื่อง: Theeranai S.

ภาพ: Unsplash

.

ที่มา:

.

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page