ได้ชื่อว่าเป็นลูกเพจ The Showhopper เสียอย่าง เชื่อว่าหลายคนคงพอรู้อยู่แล้วว่าทั้งภาพยนตร์ Wicked ที่เพิ่งเข้าฉายให้ได้ยลกันไป รวมถึงสุดยอดบรอดเวย์มิวสิคัลในตำนานที่ทำการแสดงกันมาร่วม 20 ปี จนเป็นที่มาของบทภาพยนตร์นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่จักรวาลเวทมนตร์ ณ ดินแดนแห่ง Oz ได้เข้าไปโลดแล่นในใจของผู้คน
.
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพ่อมดออซฉบับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกที่นำแสดงโดยจูดี การ์แลนด์ เข้าฉายเมื่อกว่า 85 ปีมาแล้ว! หรือประมาณหนึ่งชั่วอายุคนที่แล้วเลยทีเดียว ส่วนบทประพันธ์ต้นฉบับอันเป็นจุดเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ก็มีอายุเก่าแก่ถึง 120 ปี
.
จึงไม่แปลกเลยที่ความละเอียดอ่อนของดีเทลกระบวนการ ‘Worldbuilding’ รวมถึง message ที่ผู้คนได้รับจากมันจะต่างกันอย่างสุดขั้ว อย่าลืมว่านิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นตั้งแต่ยามอัสดงของยุควิกตอเรียน ส่วนภาพยนตร์ก็สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลก คนยุคปัจจุบันมากมายที่ย้อนกลับไปดู The Wizard of Oz (1939) จึงไม่ได้รู้สึกว้าวกับ message ที่โลกออซส่งมาถึงเรา แต่นั่นก็เป็นเพราะประเด็นสังคมที่พ่อมดออซยุคนั้นวิพากษ์ เป็นประเด็นที่คนรุ่นก่อนต่อสู้กันมาจนชนะ (ระดับหนึ่ง) และกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เช่น
.
• เนื้อเพลง Over the Rainbow ที่ภายหลังถูกตีความว่าเป็นความฝันของ LGBTQ+ ที่จะได้อาศัยในโลกที่โอบรับพวกเขา
• การสร้างโดโรธีให้เป้นตัวละครหญิงแกร่งที่มีคุณสมบัติผู้นำ
• การสร้างกลินดาให้เป็นตัวละครแม่มดที่มีคุณธรรม ซึ่งขัดแย้งกับภาพคนนอกรีตที่คริสเตียนต้องการให้เป็น
.
Fun Fact: ผู้อ่านหลาย ๆ คนอาจว้าวขึ้นหากได้รู้บริบทเพิ่มเติมว่า พ่อมดออซเวอร์ชัน 1939 โดนแบนในหลายรัฐและหลายประเทศเพราะ message เหล่านี้นี่แหละ
.
หากเทียบกับยุคเก่า การต่อสู้กันระหว่างขั้วความดี-ความชั่วของจักรวาลออซ ในยุคที่เวลาล่วงเลยมามากกว่าหนึ่งชั่วอายุคนก็ต้องย่อมซับซ้อนขึ้น และชวนให้เราสำรวจประเด็นทางศีลธรรมที่ลุ่มลึกขึ้นเป็นธรรมดา ขณะที่ตัวบทประพันธ์ต้นฉบับ (The Wizard of Oz โดย L. Frank Baum) มีธีมหลักย่อยง่ายอย่างมิตรภาพ ความกล้าหาญ รวมถึงการตามหาและยอมรับตัวตนของตนเอง ตัวบทดัดแปลง (Wicked โดย Gregory Maguire) เลือกที่จะขยับขยายมาใช้ Worldbuilding เป็นเครื่องมือในการสำรวจธีมที่ร่วมสมัยขึ้น เช่น อำนาจรัฐ พริวิเลจของชนชั้นนำ การกีดกันทางเชื้อชาติและสีผิว และสิทธิและเสรีภาพของคน (สัตว์) ชายขอบ เป็นต้น
.
ยกตัวอย่างเช่น conflict หลักของ Wicked เรื่องการใช้อำนาจรัฐป้อนโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ให้กับประชาชนที่นับว่าเป็นการฟาดฟาสซิสต์ตรง ๆ แบบตะโกน เข้ากับบริบทกระแสการเมืองขวาหันทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่า การที่ผู้สร้างเลือกโปรโมตหนังตรงกับช่วงหาเสียง และฉายหนังตรงกับช่วงหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน
.
นอกจากนี้ โครงสร้างทางสังคมในจักรวาลยังถูกรจนาขึ้นใหม่ ให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำทางอำนาจระหว่างเผ่าพันธ์ุมากขึ้นกว่าบทประพันธ์ปี 1900 ทว่าในเวอร์ชันภาพยนตร์และละครเวที เราอาจไม่ได้เห็นดีเทลส่วนนี้มากมายนัก จะเห็นก็แต่ความไม่เท่าเทียมและการกีดกันที่เอลฟาบา (Cynthia Erivo) ต้องเผชิญ ที่ยิ่งดูตะโกนมากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับพริวิเลจมากมายที่คน popular อย่างกาลินดา (Ariana Grande-Bureta) ได้รับ
.
แต่ใน Wicked เวอร์ชันนิยายปี 1995 ของ Maguire (ซึ่งดาร์กและมีความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมกว่าเวอร์ชันภาพยนตร์/ละครเวทีที่ขายความ family-friendly) เราจะมีโอกาสได้เห็นดีเทลเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างเผ่าพันธุ์โผล่มาในบทบรรยายและฉากที่ยัดเข้ามาในหนังไม่หมด เช่น
.
• นอกจากผิวสีเขียวแล้ว อัตลักษณ์เลือดผสมครึ่งมันช์กิน (Munchkin) ที่ไม่ชัดเจนเพราะไม่รู้เชื้อสายฝั่งพ่อของเอลฟาบาก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึกไม่เข้าพวกในสังคมมหาวิทยาลัยชิซ
• กาลินดาสืบเชื้อสายมาจากชาวอาร์ดูเอนนา (Arduennas) ในแถบอัปแลนด์ เป็นสับเซ็ตของเผ่าพันธุ์กิลลิคิน (Gillikin) ซึ่งมีอำนาจต่อรองในสังคมสูงกว่าหลาย ๆ เผ่าในออซ สุดท้ายเธอจะได้กลายเป็นแม่มดปกครองชาวควอดลิง (Quadling) ที่ยากจนในทิศเหนือ เป็นไปได้ว่าผู้เขียนแฝงดีเทลนี้เข้ามาเพื่อสอดแทรกความสัมพันธ์แบบเจ้าอาณานิคม-แคว้นในปกครอง
• เจ้าชายฟิเยโร (Fiyero) เป็นตัวละครชนชั้นปกครองที่ร่ำรวย เผ่าพันธ์วิงคัส (Vinkus) ของเขา เรียกกันเป็นภาษาปากว่าวิงกี้ เป็นเผ่าพันธ์ที่มีภาษาเฉพาะตัว จึงต้องเรียนภาษาออซเซียนเพื่อสื่อสารกับชาวออซกลุ่มอื่นๆ
.
และสุดท้าย ประเด็นที่ว้าวที่สุดที่จะมองข้ามไม่ไปได้เพราะเป็นเส้นเรื่องหลักของ Wicked คือประเด็นสิทธิสัตว์! เหล่าสัตว์พูดได้คือคน (สัตว์) ชายขอบที่ตกเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐของดินแดนออซ ในนิยายจะมีการอธิบายถึงความแตกต่างกับ Animals (A ตัวพิมพ์ใหญ่) คือกลุ่มที่พูดได้ และ animals ซึ่งคือสัตว์ทั่วๆ ไป นอกจากตัวละครเท่ๆ อย่าง ดร. ดิลลามอนด์ ซึ่งเป็นทั้งนักวิชาการแพะพูดได้และแกนนำต่อต้านลับๆ ของขบวนการสิทธิสัตว์แล้ว การนำดีเทลเดิมจากออซในฉบับของ Baum มาตีความใหม่แล้วใส่มาเป็น Easter Egg ก็เก๋ไม่แพ้กัน
.
ลองนึกภาพตอนมิวสิคัล Wicked เล่นครั้งแรก ๆ ที่บรอดเวย์ดูสิ หากคนดูที่คุ้นเคยกับลิงบินได้สุดมหัศจรรย์อันเป็นภาพจำของแม่มดชั่วร้ายอยู่ก่อนแล้ว ได้มารู้ว่าแท้ที่จริง ลิงพวกนี้มีปีกงอกและบินได้ก็เพราะตกเป็นเหยื่อของเวทมนตร์ละเมิดสิทธิสัตว์มาก่อน ฉากที่เอลฟาบาเสกให้ปีกลิงงอกออกมาคงจะเป็นฉากที่ทำงานกับความรู้สึกของพวกเขามากทีเดียว
.
ที่มา:
- Baum, L. F. (1900). The wonderful wizard of Oz. George M. Hill Company.
- Maguire, G. (1995). Wicked: The life and times of the wicked witch of the West. ReganBooks.
- Chu, J. M. (Director). (2024). Wicked [Film]. Universal Pictures.
- PETA. (2023, November 16). What is Wicked about? Retrieved November 29, 2024, from https://www.peta.org/blog/what-is-wicked-about/.
- Kohn, E. (2024, November 28). Director Jon M. Chu talks Wicked, politics, and the Trump era election. IndieWire. Retrieved November 29, 2024, from https://www.indiewire.com/.../director-jon-m-chu-wicked.../.
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
Comments