ในโปสเตอร์บทความนี้ มีดาราเกาหลีชื่อดังอยู่ 4 คนด้วยกัน ถ้าไม่เลื่อนลงไปอ่านเฉลยด้านล่าง ทุกคนพอจะเดากันออกไหมน้าว่าใครเป็นใคร (ใบ้ให้ว่าเป็นนักแสดงจากเรื่อง Hospital Playlist และ The Glory!)
.
คำตอบที่ถูกต้องคือ โจ จองซอก (หมออิกจุน) จอน มีโด (หมอซงฮวา) และยู ยอนซอก (หมอจองวอน) รวมถึงเจ้าของบท อี ซารา นางร้ายสมทบจอมขโมยซีนจาก The Glory อย่างคิม ฮีออรา นั่นเอง
.
ใครที่กำลังสงสัยว่าแล้วดาราที่ดังเป็นพลุแตกด้วยบทบาทในซีรีส์เหล่านี้เกี่ยวข้องอะไรกับหัวข้อเกี่ยวกับ Theatre District ของเกาหลีใต้อย่างย่านแทฮังโน (대학로) ที่เขียนไว้ในภาพ ก็ต้องขอบอกว่าดาราทั้ง 4 คนนี้ล้วนใช้ชีวิตช่วงเริ่มต้นสายอาชีพการแสดงของตัวเองในย่านนี้
.
เรียกได้ว่าถนนสายศิลปะการแสดงแห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านเก่าของเหล่า ‘เพชรเม็ดงาม’ ด้านการแสดงมากมายหลายเม็ดในวงการบันเทิงเกาหลีทีเดียวเชียวละ!
.
แทฮังโนเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ถนนแห่งความเยาว์วัย’ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ามีแค่เด็กอายุน้อยๆ เท่านั้นที่เป็นขาประจำของย่านนี้ ความเยาว์วัยในที่นี้หมายถึงจิตวิญญาณของย่านที่ยังคงทำให้ศิลปินในวงการที่ส่วนมากก็อายุไม่ได้น้อยแล้ว รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กทุกครั้งที่ได้กลับมาเยือน เพราะไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี คนวัยฝันหลายต่อหลายรุ่นก็ยังคงหลั่งไหลเข้ามาที่นี่เพื่อมาตามหาความฝันและเติมเต็มความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมให้กับชีวิต เมื่อเทียบกับถนนสายอื่นๆ ที่ยังอายุน้อย แทฮังโนจึงถือเป็นถนนสายเก่าแก่ของโซลที่ข้ามผ่านชั่วอายุคนมาแล้ว
.
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้แทฮังโนกลายมาเป็นย่านที่มันเป็นในวันนี้ นอกเหนือจากสถานศึกษาจำนวนมากที่ล้อมรอบอาณาบริเวณสมชื่อย่าน (대학/แดฮัก แปลว่า มหาวิทยาลัย) ก็ยังมีเรื่องของโรงละครเล็กใหญ่นับร้อยโรงที่อยู่บนถนนสายนี้ แม้ปัจจุบันจะเริ่มขึ้นชื่อเรื่องบาร์/คาเฟ่ฮิปๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดยังคงเป็นเรื่องของแหล่งพบปะสุดอาร์ตอย่างสวนสาธารณะมารอนนิเยร์ (Marronnier Park/마로니에공원) ที่จัดแสดงละครเวทีและละครเพลงกลางแจ้ง รวมถึงศูนย์ศิลปะที่เปิดให้ศิลปินหน้าใหม่เข้ามาจับจองพื้นที่แสดงผลงาน
.
และอย่างที่เราน่าจะพอเดาได้จากภาพหมออิกจุนและหมอจองวอนในบทบาทแดร็กควีน จากเรื่อง Hedwig and the Angry Inch ฉบับเกาหลีที่ปรากฏในโปสเตอร์แล้วว่า วงการละครเวทีเกาหลีนั้นเปิดกว้างเรื่องการแสดงออกทางเพศมากกว่าวงการจอเงินและจอแก้วของประเทศนี้มากทีเดียว
.
โดยเทรนด์การแต่งแดร็กในการแสดงเริ่มไต่ความนิยมขึ้นมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ช่วงปลายยุค 2000s ไม่เพียงเท่านั้น เรายังเริ่มได้เห็น Queer Storyline ของละครเวทีในเกาหลีบ่อยขึ้น อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีละครดัดแปลงจากบทดั้งเดิมของเชกสเปียร์ที่เรียกเสียงฮือฮาในหมู่ผู้ชมในเวลาไล่เลี่ยกันถึง 2 โปรดักชันด้วยกัน ได้แก่ Romeo and Juliet เวอร์ชันเควียร์จากคณะยอแฮงจา (Yohangza/여행자) และ Juliet and Juliet ซึ่งคณะ LAS ได้ดัดแปลงเป็นเวอร์ชันเลสเบี้ยน
.
กระนั้นก็ตาม แม้ภาพลักษณ์ที่ดูเควียร์จะถูกนำมาใช้งานในฐานะ ‘บท’ มากขึ้นทุกที แต่นั่นก็เป็นคนละอย่างกับการเปิดพื้นที่ให้คนในวงการได้ใช้ชีวิตในฐานะเควียร์อย่างเปิดเผยจริงๆ ซึ่งเดาว่าหลายคนที่คุ้นเคยกับระบบความเชื่อและวัฒนธรรมของเกาหลีซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างครอบครัว คงไม่แปลกใจเท่าไรที่ได้รู้ว่าเกาหลีใต้อาจนำหน้าเราไปไกลลิบในด้านของการสร้างสำนึกรวมหมู่และการสร้างคอมมูนิตี้ของผู้ที่ชื่นชอบ Stage Performance แต่ก็มีด้านที่ ‘เปิดกว้างไม่จริง’ อยู่ด้วย นั่นคือด้านของคุณค่าและการยอมรับความหลากหลาย
.
แล้วชาวเพจ Showhopper คิดว่ามีย่านไหนในกรุงเทพฯ (หรือต่างจังหวัดด้วยก็ได้นะ!) ซึ่งมีโพเทนเชียลที่จะกลายเป็น Theatre District ของไทยบ้างไหม?
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
ภาพ: Hedwig and the Angry Inch Korea / Asia News Agency / 여성신문 (Women News Kr) / Korea Tourism Organization
.
ที่มา:
.
Commenti