🎬หนึ่งในฉากที่ทำเอาคนดูใจสลายที่สุดในภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ คงหนีไม่พ้นฉากเพลงกล่อมเด็กเคล้าน้ำตาระหว่างอาม่าเหม้งจู (ยายแต๋ว-อุษา) และเอ็ม (รับบทโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์) ในช่วงครึ่งหลัง
.
สำหรับแฟนเพจ The Showhopper ที่เป็นลูกหลานชาวจีนแต้จิ๋ว คงพอรู้อยู่แล้วว่านี่คือเพลงกล่อมภาษาแต้จิ๋วในตำนานที่เรามักได้ยินจากคนเฒ่าคนแก่เจนเบบี้บูมขึ้นไปในวงศ์ตระกูลเป็นคนขับร้องกล่อมเด็กเล็กๆ ให้หลับ
.
แต่สำหรับลูกเพจทั่วไปที่ไม่คุ้นเคย นี่คือเวอร์ชันหนึ่งของ ‘อ่องกิมก๋อง’ เพลงกล่อมเด็กโบราณที่แพร่หลายในหมู่คนจีนแต้จิ๋วโพ้นทะเล
.
หากจะย้อนไปดูต้นกำเนิดของเพลงอ่องกิมก๋อง เราอาจต้องย้อนอดีตไปไกลทีเดียว อย่างต่ำๆ ก็ไกลถึง 500 ปีซึ่งตรงกับช่วงราชวงศ์หมิง (1368-1644) และคาดการณ์กันว่าดีไม่ดีอาจเลยไปไกลกว่านั้นอีกคือประมาณ 700-800 ปี ในช่วงราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ชนเผ่าแต้จิ๋วในจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มสามารถผลิตลูกหลานให้เติบโตมามีอนาคตไกล สอบจอหงวนผ่าน ได้เป็นข้าราชการจำนวนมากจนสู้กับจีนพวกอื่นได้ ทำให้ค่านิยมเหล่านี้เริ่มปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงมากขึ้น
.
“อ่อง อ๋องเอ อ๋อง อ่องกิมก๋อง กิมก๋องจอเหล่าเตีย”
โยกเอ๋ยโยก โยกให้นายน้อย ให้นายน้อยโตขึ้นเป็นเจ้าคนนายคน
.
“อาบุ๊งอาบูไหล่ตาเฮีย ตาเฮียตาผู่พู้”
มีบริวารคอยยกรองเท้าขุนนางให้สูงขึ้น สูงขึ้น
.
“ฉี่เจี๊ยะตือตั่วก๊วยงู้ ตั่วงู้แซแบ๊เกี้ย”
เลี้ยงหมูให้ตัวโตกว่าวัว วัวตัวโตตกลูกเป็นม้า
.
“แบ๊เกี่ยแซกิมจู กิมจูแซปอป่วย”
ลูกม้าให้กำเนิดไข่มุก ไข่มุกกลายเป็นของวิเศษ
.
“ปอป่วยปอโห่วอาโน้วเจียะเก๊าเจ็กแปะห่วย”
ของวิเศษคุ้มครองเด็กน้อยจนอายุถึงร้อยปี
.
สำหรับเด็กวัยเตาะแตะที่ยังต้องนอนเปล ก็นับว่าเป็นการตั้งปณิธานที่มักใหญ่ใฝ่สูงและทะเยอทะยานมากทีเดียว!
.
เดิมทีชาวจีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ในเขตเตี่ยซัวในภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
แต่เมื่อเข้าศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ช่วงปลายยุคราชวงศ์ชิงเรื่อยมาจนถึงช่วงสงครามโลก สภาพความอดอยากแร้นแค้นในภูมิลำเนาก็เริ่มรุนแรงขึ้นทุกที ชาวแต้จิ๋วมากมายจึงเลือกเดินทางจากบ้านเกิดไปตั้งรกรากในต่างแดน พร้อมกับนำเอาศิลปะภูมิปัญญาติดตัวมาด้วย ซึ่งนั่นก็รวมถึงเพลงกล่อมเด็กโบราณเพลงนี้
.
ทุกวันนี้มีจีนแต้จิ๋วจำนวนมากอาศัยอยู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย อีกทั้งยังสามารถพบคนแต้จิ๋วได้เกือบทุกที่ทั่วโลกอีกด้วยทั้งใน ทวีปอเมริกาเหนือ ออสตราเลเซีย และประเทศฝรั่งเศส
.
นอกจากในประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันอ่องกิมก๋องยังคงร้องกันแพร่หลายในสิงคโปร์และมาเลเซียด้วย โดยเป็นที่รู้จักในชื่อเพลง “อ๋องอาอ่อง” (唪呀唪 หรือ Ong Ah Ong) ซึ่งมีเนื้อร้องที่คล้ายกับเวอร์ชั่นที่แพร่หลายในไทยมากทีเดียว
.
หลายคนคงเดาได้ไม่อยากว่าเนื้อร้องของเพลงที่ส่งต่อกันปากต่อปากนี้ย่อมแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แม้แต่ในเตี่ยซัวเอง เพียงแค่บ้านอยู่คนละฟากกันของกำแพงเมือง เพลงอ่องกิมก๋องที่ร้องก็เริ่มมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันขึ้นมาแล้ว นั่นเป็นเพราะคนในแต่ละพื้นที่มีคาดหวังต่อลูกหลานที่แตกต่างกันไป
.
นอกจากนี้ ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีส่วนทำให้คำร้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สำหรับครอบครัวแต้จิ๋วที่อาศัยจีนแผ่นดินใหญ่ เนื้อร้องท่อนที่ว่า..
.
“ไข่มุกกลายเป็นของวิเศษ ของวิเศษคุ้มครองเด็กน้อยจนอายุถึงร้อยปี”
.
ได้ถูกเปลี่ยนเป็น..
.
“เอาของวิเศษไปแลกเป็นเงินสักสองร้อยหยวน ร้อยหยวนแบ่งให้พี่ชาย อีกร้อยแบ่งให้พี่สะใภ้ ถ้าเหลืออีกก็แบ่งให้เด็กๆ ไป”
.
สะท้อนให้เห็นว่าการอายุยืนเป็นร้อยปีไม่ใช่พรวิเศษที่คนส่วนใหญ่อยากขอให้ลูกหลานอีกต่อไป แต่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจต่างหากที่สำคัญต่ออนาคตของเด็กมากที่สุด
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
ที่มา:
.
#TheShowhopper #Movie #Music #Lullaby #อ่องอิมก๋อง #หลานม่า #จีนแต้จิ๋ว #บิวกิ้น #หนังน่าดู #เพลงกล่อมเด็ก #ประวัติศาสตร์ #GDH559 #LAHNMA
Comentarios