top of page
รูปภาพนักเขียนApisit Saengkham

เตย-พริม' ผู้พาคณะละครปู๊นปู๊น ไปสร้างความสุขให้เด็กๆ ทั่วไทย

อัปเดตเมื่อ 13 มี.ค. 2567





“ละครเด็กสำหรับเรา คือความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง มันไม่ต้องยากไม่ต้องซับซ้อน แต่มันจริงใจ”


เดินทางมาถึงสิ้นปี 2023 แล้ว เชื่อว่าการผันผ่านของเวลาและการเติบโตที่ผ่านมาอาจทำให้หลายคนหลงลืม ‘เด็กน้อยในใจ’ ไป วันนี้ The Showhopper เลยขอพา “คณะละครปู๊นปู๊น” มาส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ให้ทุกคนในช่วงส่งท้ายปี ว่าจากการสร้างสรรค์ละครแต่งแต้มสีสันแห่งจินตนาการให้ผู้ชมตัวน้อยมานานกว่า 6 ปี ด้วยแพสชันและความฝันที่อยากไปเจอกับเด็กๆ ทั่วประเทศไทย ว่าพวกเขาพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกหรือภายในจิตใจอย่างไรกันบ้าง รับรองว่าจะเป็นบทสนทนาที่เติมไฟให้ผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยแน่นอน



“สวัสดีค่ะ”


“พริมค่ะ”


“เตยค่ะ”


“พวกเรามาจากคณะละครปู๊นปู๊น~”


ว่ากันว่าเราจะเห็นศิลปินซ่อนอยู่ในผลงานเสมอ เราพิสูจน์สิ่งนี้ได้ชัดเจนในการพูดคุยกับ ‘พริม - ญาณิศา กายสุต’ และ ‘เตย - ณิชา รอดอนันต์’ ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มหรือแววตาประกายสดใส สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพวกเธอทั้งบนเวทีการแสดงและชีวิตหลังม่าน การส่งต่อพลังบวกยังเป็นหมุดหมายที่สำคัญเสมอ


การเดินทางของรถไฟปู๊นปู๊นในปี 2023 บนถนนแห่งแพสชัน


เตย: เราเริ่มสิ่งนี้จากแพสชัน เป็นแพสชันล้วนๆ เลย คือเราเป็นคนคลิกกับเด็ก อยากไปเล่นกับเด็ก อยากเจอเด็กทั่วโลกเลย ตอนนี้ก็ทั่วประเทศไทยก่อน จริงๆ เราอยากไปหาเด็กในชุมชนตั้งแต่แรก ไม่ได้ตั้งต้นว่าจะต้องไปหาเด็กที่มีทุนทรัพย์


พริม: พวกเราอยากไปหาเด็กๆ ไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย เพราะเราอยากได้โอกาส ซึ่งทำมาหกปี นี่เพิ่งเป็นปีแรกที่มาได้ทำกับชุมชนจริงๆ ได้ทำตามความตั้งใจแรก


เตย: ปีนี้มันสุดมาก เหมือนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย ทำมาหลายปีแบบทำๆ เลิกๆ แล้วก็มาเป็นรูปเป็นร่างจากตอนต้นปีพวกเราถูกเชิญไปแนะนำการทำละครเด็กให้กลุ่มอาสาสมัครที่หาดใหญ่ ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนเห็นว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ เพราะสิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ทำเพื่อเด็กอย่างเดียวอะ มันเป็นการให้กำลังใจกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นคนทำงานให้เด็กด้วยเหมือนกัน เหมือนวิธีที่เราเข้าหาเด็ก เขาก็อยากรู้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งเราก็ยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลอยู่แล้ว เพราะเราอยากให้มีคนแบบพวกเราอยู่ในสังคมเหมือนกัน


พริม: พอเราได้ไปเจอคนแบบเดียวกันมันสุดยอดมาก การไปหาดใหญ่เปลี่ยนอะไรข้างในใจเราเหมือนกัน แบบว่าเราได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่าเหลือเกิน เป็นปีที่หลากหลายมาก ที่ได้ไปหาดใหญ่ ได้แสดงที่ ‘ล้านนาอารีย์เธียเตอร์’ แล้วล่าสุดก็ไปเล่นที่สมุย


ความบริสุทธิ์และจริงใจของเด็ก ทำให้อยากตื่นมาลุยงานในทุกๆ วัน


เตย: เราทำงานในวงการละคร โฆษณา เป็นนักแสดงอิสระ มันเป็นวงการที่ทำให้เราโหยหาการยอมรับ แบบเวลาแคสติ้งเราต้องทำให้ยังไงก็ได้ให้ลูกค้าชอบเรา เขาจะได้เลือกให้งานเรา แต่พอมาอยู่กับเด็ก เราได้เป็นพูดถูกเลือกตลอดเวลา (หัวเราะ) เราเป็นดาราสำหรับเด็ก เขาเสริม Self-esteem ให้เราโดยไม่ตั้งใจ


พริม: แต่ช่วงที่ยังไม่มีใครรู้จักคณะละครเราก็แอบมีสงสัยในตัวเองเหมือนกันนะ แต่ด้วยระยะเวลาที่ทำมาเรื่อยๆ เราก็ได้รู้ว่าเรามาถูกทางแล้ว และผู้ชมก็เห็นค่าของงานที่เราทำ มันคือแฮปปี้แล้ว มันเหมือนอยู่ถูกที่ เราสื่อสารให้เด็กรู้เรื่อง พ่อแม่มีความสุข เรื่องเงินเหมือนเป็นแค่ค่าตอบแทนความเหนื่อยบางส่วน


เตย: งานตรงนี้ทำให้ทุกวันของเรามีคุณค่า เวลาเล่นกับเด็ก ถ้าเรารู้สึกจริงกับสิ่งที่เราทำ เขาก็จะรู้สึกเหมือนกัน เปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่างละครเด็กกับละครผู้ใหญ่ ละครผู้ใหญ่จะมีความซับซ้อนกว่า มี Subtext แต่ละครเด็กจะมีความละเอียดอ่อน มันไม่ใช่ว่ามันไม่มีเลเยอร์นะ แต่มันต้องละเอียดอ่อน เพราะเด็กคือผ้าขาวอะ คนอาจจะคิดว่าเล่นกับเด็กง่าย ละครเด็กก็แค่มา เอ้วๆ เอนเตอร์เทน แต่ไม่ใช่เลย


ละครเด็กสำหรับเรา คือความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง มันไม่ต้องยากไม่ต้องซับซ้อน แต่มันจริงใจ…


ขอยืนยันอีกเสียงว่าผลงานของปู๊นปู๊นนั้นเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งตามคำกล่าว จากการที่ผู้เขียนได้รับชมผลงานเรื่อง “JOEY THE DREAMER” ในช่วงเทศกาลละครกรุงเทพฯ​ ที่ผ่านมา เป็นงานละครเด็กที่ทำให้ผู้ใหญ่ในวัย Twenty Something น้ำตารื้นแบบควบคุมไม่ได้ การขยับร่างกายโยกย้ายตามเสียงดนตรีของเหล่าตัวละครในชุดสัตว์น่ารัก ส่งข้อความสำคัญแห่งชีวิตมาถึงจิตใจ จนไม่ว่าจะเป็นสายตาของผู้ชมตัวจิ๋วและพ่อแม่จดจ่อกับเรื่องราวได้ตลอดการแสดง


สิ่งนี้เป็นความตั้งใจของทั้งสองคนเลยหรือไม่ ที่อยากสร้างผลงานให้เชื่อมโยงกับผู้ชมวัยอื่นด้วย?


เตย: ไม่ใช่ความตั้งใจเสียทีเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดระหว่างการทำงานไปเรื่อยๆ เราชอบสังเกตเวลาพ่อแม่เขาจับเนื้อหาบางช่วงบางตอนได้แล้วเอาไปอธิบายให้ลูกฟัง เวลาที่เราสร้างงานใหม่ เราก็จะคิดตลอดว่าบางคำพูดในบท ที่เด็กอาจจะไม่เข้าใจแต่พ่อแม่เข้าใจแล้วสามารถเอาไปเล่าให้ลูกฟังต่อที่บ้านได้ มันเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เด็กได้เอาสิ่งที่เขาสงสัยไปถามพ่อแม่ ได้อะไรกลับไปพูดคุยต่อ


พริม: จุดเริ่มต้นเราคือการสร้างงานเพื่อครอบครัว เราอยากให้พ่อแม่พาลูกมาดูแล้วซึมซับ สนุกไปกับการแสดงด้วยกัน


แม้จะมีความสุข แต่การเดินตามฝันมักเกิดคำถามระหว่างทาง ทั้งสองคนจัดการอย่างไร?


พริม: ความยากมันเกิดขึ้นตรงช่วงระหว่างที่เราคิดถึงการต้องทำสิ่งนี้เพื่อความสุขและต้องสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน ตอนนั้นก็เครียดเหมือนกัน


เตย: เราสองคนเคยมีช่วงที่จะแตกกันไปเลย เราว่าทุกคนคงมีช่วงเวลาแบบนั้นที่เริ่มรู้สึกว่าเรามาถึงทางตันของเรื่องบางเรื่อง พอถึงตรงนั้นก็ได้เห็นว่าถ้าทำแบบนี้ต่อไปมันไม่ใช่แล้ว แต่เราก็ไม่เคยรั้งพริม เพราะทำงานมาด้วยกันต่างคนต่างรู้ว่าใครเป็นอย่างไร ก็เลยช่วยกันหาสมดุล ในวันที่พริมรู้สึกว่างานตรงนี้มันหนักเหลือเกิน เราก็จะปล่อยพริมไปทำสิ่งที่พริมอยากทำ แล้ววันไหนที่พร้อมก็ค่อยกลับมา เพราะงานที่เกิดจากการดึงดันหรือบังคับมา ผลลัพธ์มันไม่ดีหรอก


พริม: ก็เลยทำให้อยู่ด้วยกันได้นาน


เตย: มันจะมีช่วงขอทุน ที่เราต้องเขียนฟอร์มขอจริงจัง มันทำให้เราได้ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งคณะละครนี้ขึ้นมา ว่าเป้าหมาย จุดประสงค์แรกของเราคืออะไร เพราะพอทำไปนานๆ มันสิ่งเหล่านี้มันจะหล่นหายไป มันช่วยย้ำเตือนให้เราไม่ลืมความตั้งใจที่เป็นรากเหง้าของคณะละครนี้


พริม: พวกเราใส่เอเนอร์จีเต็มที่ตลอด แล้วเวลาเราเดินทางไปแสดงที่ไหนก็คือมันจะเป็นการจบงาน ณ ตรงนั้น กับตัวเราแค่สองคน ไม่ใช่การพาอารมณ์หรือความเครียดช่วงดีลงานหรือตอนเขียนบทมาด้วย ถ้าหน้างานทำได้ดี แฮปปี้ ก็คือจบ


ผู้เขียนเชื่อว่ากลไกสำคัญอย่างหนึ่งในความเป็นไปของโลกใบนี้คือการส่งต่อบางสิ่งจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของศิลปะ ศิลปินทุกคนต่างก็มีศิลปินต้นแบบของตัวเอง ผู้มอบพลังฝันและแรงบันดาลใจ ที่พวกเขาจะรับมาและส่งต่อไปให้คนรุ่นต่อๆ ไป เกิดเป็นการสร้างสรรค์ไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกันกับคณะละครปู๊นปู๊น จากเด็กสาวสองคนที่เติบโตมาจากการได้ดูละครเวที อ่านนิทาน มาจนถึงวันที่พวกเธอก็อยากส่งต่อความสุขเล็กๆ นี้ให้คนดูรุ่นจิ๋วเช่นกัน…


เตย: เราค่อนข้างภูมิใจที่ได้ทำอะไรเพื่อเด็กๆ ได้ พอมองย้อนกลับไปหาสาเหตุ ก็เจอว่าตอนเด็กๆ เราเคยไปดูละครเรื่อง ปลาฉลามฟันหลอ เอาจริงๆ มันจำเนื้อหาไม่ได้ขนาดนั้นหรอกนะ อย่างแบบเวลาเราดูบาร์บี้ ทำให้ระหว่างทางที่เราเติบโต มันมีสิ่งนี้หล่อเลี้ยงอยู่ในใจ ให้เราเป็นคนมีความสนุกสนาน


พริม: หรือนิทานอะไรก็ตาม เวลาดูเราจะจำได้ มันคือความเป็นเด็กในตัวผู้ใหญ่ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราดูตอนเด็กแล้วเรายังจำเราได้ ความสุขนั้นมันก็จะโตมากับเราด้วย หรือเสียงดนตรี ละคร มันคือศิลปะ สิ่งเหล่านี้มันปลอบประโลมจิตใจ อย่างพ่อแม่ของเด็กนักเรียนเราก็บอกเสมอว่าอยากให้ลูกมีดนตรีเอาไว้ เพราะในวันที่เหงา วันที่เศร้า พวกเขาก็จะยังมีดนตรีและทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุขอะ


เตย: เราเลยคิดว่าในเมื่อเรามีพลังที่จะทำสิ่งนี้ ทำไมเราไม่ทำต่อไป?


อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่คือบทสนทนาที่เปี่ยมไปด้วยพลังที่ดีมากๆ ซึ่งหากใครที่อยากไปสัมผัสกับพลังงานของคณะละครปู๊นปู๊น ก็สามารถไปเจอพวกเธอได้ในงาน 1st CHRISTMAS PARTY At LANNA AREE ในวันเสาร์ อาทิตย์ 23-24 ธันวาคมนี้ ที่ล้านนาอารีย์เธียเตอร์ กับการเนรมิตพื้นที่ให้เป็นตลาดวันศริสมาสต์ขนาดย่อม แต่งแต้มค่ำคืนและลมหนาวด้วยการแสดงดนตรีสด การเล่านิทาน กิจกรรม DIY นิทรรศการหนังสือภาพ และสินค้าน่ารักๆ อีกมากมาย


ติดตามรายละเอียดเรื่องเวลาและกิจกรรมในงานได้ทางเพจ ล้านนาอารีย์เธียเตอร์


ขอให้มีช่วงเวลาสิ้นปีที่มีความสุขนะคะ


เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์


ภาพ: จิร อังศุธรรมทัต


ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page