top of page

เปิดทิศทางและอนาคตของ “อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง” กับพิเชษฐ กลั่นชื่น

รูปภาพนักเขียน: Theeranai S.Theeranai S.


“เราต้องทำให้ถูกมองเห็นให้ได้ว่าสาขาศิลปะการแสดง

มันสามารถสร้างมูลค่า หรือทำให้เกิดเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้”

.

และนี่คือความเชื่อมั่นที่เราได้จาก พิเชษฐ กลั่นชื่น ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศิลปะการแสดงที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง” ของประเทศไทย และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวงการศิลปะการแสดงของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

.

หลายคนอาจยังไม่คุ้นชินกับแนวคิดที่ว่า “ศิลปะการแสดง” จะสามารถถูกผลักดันให้เป็น “อุตสาหกรรม” ได้อย่างไร วันนี้ The Showhopper: TALK ได้รับโอกาสพิเศษในการสัมภาษณ์ พิเชษฐ กลั่นชื่น ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง ศิลปินศิลปาธร และผู้ก่อตั้ง Pichet Klunchun Dance Company เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและสร้างความมั่นใจให้กับคนในวงการศิลปะการแสดงว่าเส้นทางนี้สามารถเติบโตและเป็นที่ยอมรับได้ พร้อมแรงสนับสนุนจากภาครัฐที่จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มีพื้นที่ยืนหยัดในสิ่งที่รัก

.



• พันธกิจของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง

.

“มันมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เรา (อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง) จะแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งคณะอนุกรรมการฯ เพราะศิลปะกับศิลปะการแสดงเป็นคนละกลุ่มกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรเองหรือคนที่เรียนก็แยกกันโดยสิ้นเชิง ในปลายปี 2567 จึงเกิดการแยกสาขาศิลปะการแสดงออกมาจากสาขาศิลปะ”

.

พิเชษฐ กลั่นชื่นกล่าว พร้อมอธิบายถึงที่มาที่ไปของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง

.

คณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย 13 อนุกรรมการจากหลากหลายสาขาศิลปะการแสดง และมีพันธกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่

.

(1.) การรวมทุกแขนงของศิลปะการแสดงที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ละครเวที ศิลปะพื้นบ้าน ศิลปะร่วมสมัย การแสดงเชิงทดลอง และแดรกโชว์ ภายใต้คณะอนุกรรมการฯ เดียวกัน

.

(2.) การจัดทำนโยบายและแผนของบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง

.

(3.) การสร้างระบบนิเวศให้กับศิลปะการแสดง ผ่านการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ทางการแสดง การจัดเทศกาลทางศิลปะการแสดง การส่งออกศิลปินไปต่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาทักษะ Upskill และ Reskill ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

.

ในส่วนของการดำเนินการวางนโยบายและแผนของบประมาณ อนุกรรมการแต่ละสาขาของศิลปะการแสดงจะมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลและความต้องการของกลุ่มตนเอง ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ผู้จัดการโครงการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะดำเนินการจัดทำแผนนโยบายและกำหนดงบประมาณที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยแผนดังกล่าวจะต้องครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคศิลปะการแสดงในประเทศ ก่อนจะนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาและอนุมัติงบประมาณต่อไป

.

• ศิลปะการแสดง: อุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศ

.

อุตสาหกรรมศิลปะการแสดงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิต และการจัดแสดงในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และแสดงออกทางวัฒนธรรมแล้ว อุตสาหกรรมนี้ยังมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างโอกาสการจ้างงานในหลากหลายสาขา รวมทั้งส่งเสริมการทำงานข้ามศาสตร์ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ




“เราต้องทำให้ถูกมองเห็นให้ได้ว่าสาขาศิลปะการแสดง

มันสามารถสร้างมูลค่า หรือทำให้เกิดเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้”

.

พิเชษฐ กลั่นชื่น กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงระดับโลก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 7.14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของรายได้เศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จนมีส่วนแบ่งเพียง 1% ของตลาดโลก จะมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ภาคศิลปะการแสดงถึง 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับวงการศิลปะการแสดงของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง

.

• ทิศทางและอนาคตของ “อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง”

.

อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจัดทำนโยบายและดำเนินการของบประมาณ โดยคาดว่างบประมาณสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จะได้รับการจัดสรรในเดือนตุลาคม 2568 หนึ่งในนโยบายสำคัญคือการเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการนำสถานที่ของภาครัฐที่ไม่ได้ใช้งานหรืออาคารเก่ามาปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะการแสดง อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดนี้จะถูกเสนอมากว่าสองปี แต่นโยบายยังไม่ผ่านการอนุมัติเนื่องจากการรีโนเวทสถานที่ต้องใช้เงินทุนสูง ทางออกที่เป็นไปได้ในขณะนี้คือการใช้พื้นที่โรงละครและสถานที่ของภาครัฐที่มีอยู่แล้วเบื้องต้นก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าศิลปะการแสดงสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสในการขอพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคตให้ได้รับการอนุมัติง่ายขึ้น

.

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญคือการสร้างเส้นทางอาชีพที่มั่นคงให้กับผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชาศิลปะการแสดง พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้สะท้อนถึงประสบการณ์ของตนเองว่า นักศึกษาวิชาศิลปะการแสดงหลายคนมักเผชิญกับคำถามว่า “จะไปทำอะไรต่อ?” หรือ “จะหางานจากที่ไหน?” ซึ่งหากคณะอนุกรรมการฯ สามารถสร้างระบบสนับสนุนให้เส้นทางอาชีพของศิลปินรุ่นใหม่มีความชัดเจนได้ ก็จะช่วยให้บุคลากรในอุตสาหกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

.

สำหรับบุคคลที่จบการศึกษาแล้ว เส้นทางนี้ยังคงมีความท้าทาย เนื่องจากศิลปินหน้าใหม่มักขาดโอกาสในการได้รับงบประมาณสนับสนุนเพราะยังไม่มีผลงาน จึงควรกระจายงบประมาณเพื่อสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ให้สามารถสร้างผลงานและเติบโตได้มากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาทักษะ Upskill และ Reskill ศิลปินที่มีประสบการณ์อยู่แล้วให้สามารถพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มากขึ้นได้

.

ศิลปะการแสดงไม่ได้เป็นเพียงศิลปะเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศ การสนับสนุนที่เหมาะสมจากภาครัฐจะช่วยให้บุคลากรในอุตสาหกรรมสามารถเติบโตและทำงานได้อย่างมั่นคง

.

นอกจากนี้ พิเชษฐ กลั่นชื่น ได้เผยกับทาง The Showhopper อีกว่า อุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงยังมีโอกาสได้เข้าร่วมในเวทีระดับชาติกับงาน "THACCA SPLASH - Soft Power Forum" เวทีที่รวมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของไทยซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ซึ่งไฮไลต์สำคัญของอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดง ได้แก่ โปรเจกต์การแสดงต่อเนื่อง 72 ชั่วโมงแบบ Non-Stop Performance ซึ่งจัดแสดงในวันที่ 18-20 มิถุนายน เตรียมพบกับปรากฏการณ์ที่จะเป็นก้าวสำคัญของวงการศิลปะการแสดงของไทย พร้อมติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เร็ว ๆ นี้

.

.

เรื่อง: Theeranai S.

ภาพ: Pichet Klunchun Dance Company

.

Comments


©2023 by The Showhopper

bottom of page