![](https://static.wixstatic.com/media/8bfaf6_446f9f56e57c46e4910e80fb17a79023~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_1225,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/8bfaf6_446f9f56e57c46e4910e80fb17a79023~mv2.jpg)
ข้อความของผู้คนที่แสดงความรักต่อนักร้องนาม ลิลี่ ชูชู (Lily Chou-Chou) ตัดสลับกับ ‘อีเธอร์’ และภาพชายหนุ่มยืนฟังเพลงถือวอล์คแมนกลางทุ่งเขียวขจี คงเป็นหนึ่งในภาพจำสำหรับแฟน ๆ หนังอย่าง All About Lily Chou-Chou (2001) เรื่องราว ‘ใจสลาย’ ของวัยรุ่นโดยผู้กำกับ ชุนจิ อิวาอิ (Shunji Iwai) ที่สะท้อนสภาพสังคมทั้งการกดขี่ข่มเหงและกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ถึงกระนั้นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวความว้าวุ่นในจิตใจพวกเขาไว้ได้กลับเป็น ‘เสียงดนตรี’ และ ‘ไอดอล’ อย่างลิลี่ ชูชู
.
ในวันที่โลกเป็นปฏิปักษ์กับเรา เพียงแค่ ‘ยูอิจิ’ หลับตาไปกับภวังค์ในบทเพลงของ ลิลี่ ชูชู ศิลปินหญิงที่เขารักจนถึงขั้นสถาปนาตนเองเป็นผู้นำเว็บบอร์ดรวมคนรักลิลี่ ชูชู และใช้นามแฝงว่า ‘Philia’ นั่นคงเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่ช่วยปลอบประโลมเขาในวันเหล่านั้นไว้ได้ ความสัมพันธ์ของเขากับศิลปินคงเทียบได้กับวัฒนธรรมแฟนคลับหรือ ‘การติ่ง’ ที่เห็นได้ในปัจจุบัน แต่ทำไมคนเราต้อง ‘ติ่ง’ ด้วย?
.
[มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์]
.
• วัฒนธรรมแฟนคลับหรือ ‘การติ่ง’ •
.
‘ติ่ง’ คำนี้เกิดขึ้นจากโลกออนไลน์ในยุคแรกๆ ที่ผู้คนใช้เว็บบอร์ดต่างๆ เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความนิยมชมชอบของตัวเองกับคนอื่นเช่นเดียวกับยูอิจิ ในการรับรู้ของคนส่วนใหญ่คำนี้ใช้เรียกกลุ่ม ‘แฟนคลับ’ ที่มีความคลั่งไคล้และความทุ่มเทต่อการติดตามศิลปินคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะในเชิงพฤติกรรมหรือความรู้สึก
.
• ทำไมคนเราต้อง ‘ติ่ง’ ? •
.
หากมองวัฒนธรรมการติ่งให้ลึกขึ้นอีกนิด การได้อยู่ในกลุ่มทางสังคมที่สามารถทำให้เราได้แชร์ความชื่นชอบเดียวกันกับสมาชิกคนอื่น อย่างกลุ่ม ‘แฟนด้อม’ (Fandom) ก็เป็นวิธีที่สามารถเติมเต็มหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ นั่นคือการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Belongingness) แม้จะเป็นสังคมเล็ก ๆ ในออนไลน์ก็ตาม มากไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ของแฟนคลับและศิลปิน สามารถมองเป็นหนึ่งในลักษณะของ ‘ความรักที่สมบูรณ์แบบ’ ที่มนุษย์เรามักจะโหยหาได้อีกด้วย
.
ตามหลักทฤษฎีจิตวิทยา ‘Triangle of Love’ ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ความหลงใหล (Passion) ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของศิลปิน รวมไปถึงรูปลักษณ์หน้าตาและชื่อเสียง ความใกล้ชิด (Intimacy) การติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินผ่านสื่อต่าง ๆ ในแต่ละวัน รวมทั้งการไปชมคอนเสิร์ตหรืองานแฟนมีตติ้ง (Fan Meeting) และสุดท้ายคือการผูกมัด (Commitment) จากเป้าหมายที่มีระหว่างแฟนคลับและตัวศิลปิน เช่น การซัปพอร์ตให้ศิลปินได้รับรางวัลตามเป้าหมาย
.
• ทุกยุคสมัยล้วนมี ‘ลิลี่ ชูชู’ เป็นของตัวเอง •
.
‘Beatlemania’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างปรากฏการณ์แฟนคลับที่แสดงความคลั่งไคล้ต่อวง The Beatles ในช่วงครองยุค 1960s หลังจากที่ The Beatles ได้ทำลายกำแพงที่หนาที่สุดของโลกดนตรีฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ โดยคำนี้มักถูกใช้อธิบายอาการเก็บทรงไม่อยู่ของเหล่าแฟนคลับเวลาที่อยู่ในสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตของ The Beatles รวมไปถึงปรากฏการณ์ที่แฟน ๆ วิ่งไล่ตามกันไปในทุกที่ที่ The Beatles ไปปรากฏตัวเมื่อเพลงแอบรักอย่าง ‘I Want to Hold Your Hand’ ถูกเปิดในรายการวิทยุนิวยอร์ก
.
กระแส Beatlemania ที่เกิดขึ้นในวอชิงตันได้แพร่กระจายเข้ามาในนิวยอร์กทันที แผ่นเพลง ‘I Want to Hold Your Hand’ ทำสถิติล้านแตกเพียงแค่สิบวันหลังวางขาย และเมื่อเหล่าสี่เต่าทองก้าวเท้าลงบนสนามบิน John F. Kennedy แฟนคลับมากมายต่างก็มารอต้อนรับจนสนามบินแทบแตก ทั้ง ๆ ที่สี่เต่าทองยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนมีชื่อเสียงมากขนาดไหนในอเมริกา และคิดไปว่าแฟนคลับเหล่านั้นมารอต้อนรับศิลปินดังคนอื่น
.
ในแต่ละยุคสมัยล้วนมี ‘ลิลี่ ชูชู’ หรือปรากฏการณ์แฟนคลับและการติ่งเป็นของตัวเองทั้งสิ้น เมื่อมองด้วยเลนส์ของความรักที่บริสุทธิ์และสมบูรณ์แบบแล้วนั้น กลุ่มแฟนคลับหรือแฟนด้อมก็พร้อมจะเทิดทูน ‘ลิลี่ ชูชู’ ของพวกเขาสุดหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น The Beatles, Nirvana, X-Japan, พี่เบิร์ด ธงไชย, วง Raptor หรือ ศิลปิน K-Pop อีกมากมายในปัจจุบัน
.
• เสียงดนตรี โลกอินเทอร์เน็ต และ Lily Chou-Chou •
.
ต้องยกเครดิตให้กับ ทาเคชิ โคบายาชิ (Takeshi Kobayashi) ผู้รับผิดชอบในการแต่งเพลงที่ทำให้ลิลี่ ชูชู เหมือนมีตัวตนขึ้นมาจริง ๆ (ขับร้องโดยศิลปินสาว Salyu) โดยเพลงของ ลิลี่ ชูชู เป็นส่วนผสมของป็อป ร็อก และเสียงสังเคราะห์ มีอารมณ์พลุ่งพล่านในเพลงเร็ว แล้วให้บรรยากาศหม่นเศร้าและล่องลอยในเพลงช้า ฟังติดหูแม้จะไม่เข้าใจความหมายของเนื้อร้องก็ตาม ขณะเดียวกัน ‘Arabesque No. 1’ และ ‘Clair de Lune’ เพลงเปียโนจาก Claude Debussy คีตกวีชาวฝรั่งเศสก็ช่วยขับกล่อมตัวหนังและให้มีสภาวะเหมือนฝัน
.
‘ผู้คนเอาแต่สนใจเรื่องตรรกะความถูกต้องในหนัง แต่ผมชอบหนังที่น่าจดจำมากกว่า’ ชุนจิ อิวาอิกล่าว
.
ถึงแม้จะผ่านมา 20 กว่าปี แต่อีกหนึ่งประเด็นใน Lily Chou-Chou ที่ยังคงร่วมสมัยนั่นคือ ‘โลกอินเทอร์เน็ต’ ผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นล้วนมีอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ต่างจากยูอิจิ และถึงแม้ตัวเราเองจะไม่ได้เปิดเว็บบอร์ดรวมคนรักลิลี่ ชูชู และใช้นามแฝงอย่างยูอิจิ แต่ในปัจจุบัน ‘แอคหลุม’ หรือแอ็กเคานต์ลับที่ไม่ระบุตัวตนก็ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป หลายครั้งที่แฟนคลับใช้แอคหลุมในทางที่ผิด การติ่งจึงมักถูกเปรียบเปรยจากคนภายนอกในแง่ไม่ดีว่าไร้วุฒิภาวะและคลั่งไคล้จนเกินงาม
.
การไม่รู้ถึงตัวตนของอีกฝ่ายทำให้เกิด ‘โลกคู่ขนาน’ ขึ้นมา ในโลกความเป็นจริงยูอิจิเป็นเพียงแค่ลูกสมุนที่ถูกบีบบังคับให้ทำตามคำสั่ง ส่วนในโลกออนไลน์ ‘Philia’ เป็นเหมือนผู้นำในเว็บบอร์ดด้วยซ้ำ ขณะที่ ‘โฮชิโนะ’ หัวโจกที่คอยกดขี่ข่มเหงยูอิจิและเพื่อนคนอื่น ๆ กลับเป็นเพียง ‘Blue Cat” สมาชิกคนหนึ่งในเว็บบอร์ดเท่านั้น เมื่อโลกคู่ขนานนี้มาบรรจบกันในตอนท้ายของฉากคอนเสิร์ต ยูอิจิจึงตัดสินใจตัดโฮชิโนะออกจากชีวิต ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพวกเขามีจุดร่วมด้วยกันนั่นคือความรักที่มีต่อศิลปินอย่าง ลิลี่ ชูชู
.
ไม่ว่าจะมองวัฒนธรรมแฟนคลับผ่านมุมมองหรือเลนส์แบบไหน และมันจะส่งผลดีหรือผลเสียมากน้อยกว่ากันแค่ไหนก็ตาม เชื่อเหลือเกินว่าตราบใดที่คนเรายังอยากจะรักหรือเทิดทูนใครด้วยใจบริสุทธิ์ และตราบใดที่เรายังคงฟังดนตรีเพื่อคอยปลอบประโลมจิตใจ วัฒนธรรมแฟนคลับหรือ ‘การติ่ง’ ก็คงจะมีอยู่ต่อไป คล้ายกับข้อความจากเว็บบอร์ดของยูอิจิที่ยังคงหลั่งไหลในช่วงท้ายเอนด์เครดิตของ All About Lily Chou-Chou
.
เรื่อง: Theeranai S.
.
ที่มา:
นิตยสาร BIOSCOPE “ย้อนรำลึก All about Lily Chou-Chou” ฉบับที่ 119 / ตุลาคม 2554
.
Comments