หรือความแมสของ ‘เพเนโลพี’ จะเป็นหมุดหมายใหม่ในฮอลลีวูดที่เปิดประตูสู่ชีวิตเซ็กซ์ของคนรูปร่างพลัสไซซ์ที่เสวได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวตลก!
.
เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ Body Positivity กลายมาเป็นประเด็นที่แม้แต่คนดังในสปอตไลต์ก็ยังให้ความสนใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าชีวิตเซ็กซ์ของผู้หญิงในฮอลลีวูด ‘ส่วนใหญ่’ ยังคงถูกนำเสนอผ่านรูปร่างแบบเดิมๆ คือหากไม่ Stick Thin เป็นซูเปอร์โมเดลไปเลย ก็ต้องมีน้ำมีนวลในระดับที่ ‘พอเหมาะ’ มีข้อแม้ว่าจะต้องเอวผายเป็นทรง Hourglass อยู่ดี!
.
โดยเฉพาะในปี 2024 เทรนด์รูปร่างแบบ Hyperthin ในยุค 90s-2000s กำลังเหวี่ยงกลับมาเหมือนบูมเมอแรง หลังจากเทรนด์ Thick and Curvy แบบบ้านคาร์ดาเชียนได้รับแสงอยู่นานเกือบ 10 ปี กลายเป็นตอนนี้แม้แต่คิม คาร์แดเชียน เองก็ยังลดน้ำหนักและแก้ซิลิโคนบั้นท้ายจนกลับมาเป็นสาวไซซ์ศูนย์ จนน่าเป็นห่วงว่ารูปร่างและความงามอันหลากหลายบนหน้าจอจะหดหายยิ่งกว่าเดิมเพราะเทรนด์นี้หรือไม่
.
แต่เรียกได้ว่าตอนนี้เริ่มใจชื้นขึ้นมาหน่อย! เพราะทั้งทีมผู้สร้าง Bridgerton ภายใต้การนำของชอนดา ไรม์ส และ นิโคลา คอฟแลน ผู้รับบท ‘เพเนโลพี เฟเธอริงตัน’ ยังคงยืนหยัดที่จะสรรสร้าง Sex Scene ที่สวยงาม จริงจัง และที่สำคัญคือเซ็กซี่! โดยที่เพเนโลพีไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการผอมลง ถือเป็นหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายจากนิยายต้นฉบับที่ตัวละครนี้จะต้องน้ำหนักลดฮวบลงถึง 2 สโตน (ประมาณ 13 กิโลกรัม)
.
ทำไมการตัดสินใจนี้ถึงมีความหมาย?
.
ก็เพราะในอดีตชีวิตรักและเซ็กซ์ของมนุษย์พลัสไซซ์มักไม่ค่อยถูกนำเสนออย่างเคารพตัวตน พวกเขามักถูกทรีตเป็น ..
.
ตัวตลก: หลายครั้งที่ตัวละครซึ่งมีรูปร่างอวบท้วมกว่ามาตรฐานได้รับบทรัก พวกเขามักรับหน้าที่เป็นโมเมนต์ขำขันหรือ Comic Relief ให้คนดูได้พักเบรกจากเรื่องรักที่จริงจังกว่าและมีความเป็นมนุษย์สูงกว่าของตัวละครหลัก (ที่แน่นอนว่าต้องผอม) เช่น บทของทันย่า (เจนนิเฟอร์ คูลิดจ์) ในซีรีส์ White Lotus
.
หรือต่อให้ได้รับบทนำ ร่างกายของพวกเขาก็จะถูกนำเสนอด้วยน้ำเสียงล้อเลียนอยู่ดี เช่น บทโรสแมรีในหนังยุค 2000s เรื่อง Rosemary, Shallow Hal ที่ล้อเลียนนางเอก ไปพร้อมกับล้อเลียนพระเอกที่มองเห็นสาวอ้วน (กวินเนธ พัลโทรวสวม Fat Suit) เป็นสาวฮอต (กวินเนธ พัลโทรวตัวจริง)
.
Fetish: พอหลีกหนีน้ำเสียงตลกขบขันมาได้ ก็มักจะต้องมาเจอกับการถูกทรีตเป็นวัตถุทางเพศ โดยให้ตัวละครไปพบเจอกับตัวแปรบางอย่าง อาจจะในรูปแบบของคู่นอนหรือคนที่มาชอบซึ่งมีเฟติชกับสาวอ้วนอยู่แล้ว เช่น บทของสาวแคทใน Euphoria (ที่อยู่ดีๆ ก็ถูกลดความสำคัญลงในซีซัน 2 และถูกตัดออกไปจากแผนดำเนินการสร้างซีซัน 3 แบบงงๆ)
.
เคสบำบัด: พล็อตลูกเป็ดขี้เหร่สุดคลาสสิกที่สาวอ้วนจำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการ Makeover ให้สวยปิ๊งเสียก่อน จึงจะมีโอกาสได้มีความรักแฮปปี้เอนด์ดิ้งได้ เป็นพล็อตที่ยังคงเป็นที่นิยมในฝั่งเอเชีย เช่น คัง ฮันนา (คิม อาจุง) ใน 200 Pounds Beauty, พิลซุก (ไอยู) ใน Dream High, คัง จูอึน (ชิน มินอา) ใน Oh My Venus และล่าสุดคือ บก ดงฮี (คลอเดีย คิม) ใน The Atypical Family
.
ตัวอันตราย: ความเก็บกดทางเพศ (Sexual Frustration) ถือเป็นอีกหนึ่งธีมที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ เพราะคนส่วนมากมองว่าตัวละครพลัสไซซ์มักไม่มีชีวิตเซ็กซ์จริงๆ เป็นของตัวเอง เพราะไม่เคยมีใครต้องการพวกเขาในแง่นั้นมาตลอดชีวิต ผู้หญิงพลัสไซซ์จึงมักถูกวาดภาพให้ใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับผู้ชายสักคนในชีวิตของพวกเธอ พออีกฝ่ายใจดีด้วยเข้าหน่อยก็รู้สึกขอบคุณ
.
ตัวละคร เร จาก My Mad Fat Diary เป็นหนึ่งในบทที่ใช้ประโยชน์จากโทรปนี้ได้ดี แม้จะมีมุมที่ Creepy อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าซีรีส์สามารถสื่อสารความต้องการทางเพศของผู้หญิงนอกมาตรฐานความงามออกมาได้อย่างเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับ Baby Reindeer ซึ่งเป็นผลงานที่อัดแน่นไปด้วยมิติทางเพศที่ซับซ้อน
.
ทว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการผลิตซ้ำบทผู้หญิงอ้วนที่มีความ Hypersexual ซ้ำๆ อาจไปส่งเสริมมุมมองอันตื้นเขินที่ผู้คนมีต่อผู้หญิงที่มีรูปร่างแบบเดียวกันว่าจะต้องไม่มีใครต้องการจนเก็บกดทางเพศ หรืออาจกลายเป็นตัวอันตรายได้หากไปใจดีด้วย
.
แล้วทุกคนล่ะ คิดว่าบทเพเนโลพีสามารถ Break Free จากภาพชีวิตเซ็กซ์แบบเดิมๆ ของสาวอวบได้ไหม หรือจริงๆ แล้วก็อาจจะหนีไปได้ไม่ไกลอยู่ดี? หรือมีบทอื่นๆ บทไหนที่ทำได้ดีกว่าในแง่มุมนี้ไหม?
.
.
เรื่อง: Bloomsbury Girl
.
Comentários