เหมือนภาพยนตร์เอา 🔪 มาจี้คอแล้วบอกคนดูว่า “ -ึงต้องรักตัวเองเดี๋ยวนี้!!” เป็นการสื่อสารแบบกระโชกโฮกฮากที่เสียงดังก้องลึกไปถึงโสตประสาทผู้ชมอย่างแท้จริง
.
หากดูจากหัวข้อปะหน้าบทความชิ้นนี้ ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงเราถึงเลือกใช้แต่ถ้อยคำเชิงลบ อาทิ ‘สยองขวัญ’ ‘ปิดตาดู’ หรือคำว่า ‘แหวะ’
.
ต้องขอแจ้งว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในภาพยนตร์เรื่อง “THE SUBSTANCE” ของ Coralie Fargeat และดันเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้น่าชื่นชม สำหรับคอหนังท่านไหนที่ทนเห็นน้ำแดงจำนวนมาก หรือความสะอิดสะเอียนเกี่ยวกับร่างกาย เนื้อหนัง ไม่ไหว แนะนำให้ก้มหน้าปิดตาได้ตามสะดวก (เช่นเดียวกันกับผู้เขียน) เพราะมันจะไม่ได้ลดทอนข้อความสำคัญที่หนังต้องการจะสื่อแม้แต่น้อย หนำซ้ำคุณจะยังเข้าใจและสั่นสะเทือนไปกับมันได้อย่างดีมากเสียด้วยซ้ำ
.
ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร?
.
เล่าจากตัวอย่างและโปสเตอร์สุดคลีนภาพแรกที่มีแค่ขวดของเหลวสีเขียวสะท้อนแสงต้องสงสัยกลางพื้นหลังขาวโล้น มันคือเรื่องราวของสาวใหญ่อดีตดาวรุ่งฮอลลีวูด ‘Elizabeth Sparkle’ (แสดงโดย Dami Moore) ที่ใช้ชีวิตเป็นอาหารตาหน้ากล้องให้ผู้ชมกลัดมันได้เพลิดเพลินใจในรายการเต้นแอโรบิกอยู่นับสิบปี จนวันหนึ่งเธอก็ถูกวงการบันเทิงแปะป้าย ‘หมดอายุ’ ไว้ที่กลางหน้าผาก ผู้ชมต้องการเด็กสาวอกตึง หุ่นเซี๊ยะมาแทนที่เธอ อลิซาเบธเลยต้องหันหน้าไปพึ่งพาสารปริศนาที่จะกู้ร่างใหม่กลับมาให้เธอ และ ‘Sue’ (แสดงโดย Margaret Qualley) ก็ถือกำเนิดขึ้น ซูคือเธอ เธอคือซู แต่สังคมไม่ได้คิดแบบนั้น ผู้ชมรักซูมากกว่า แม้แต่ซูก็รักตัวเองมากกว่า ความวินาศสันตะโรเลยอุบัติตามมา
.
จริงๆ แล้ว หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร?
.
(มีการกล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์)
.
ตัวหนังพูดถึงสิ่งที่ฝังรากลึกมากกว่ามาตรฐานความงาม และพูดมันอย่างกล้าหาญ กล้าจะชี้นิ้วไปหาคนผิดได้ถูกคน ความไม่เท่าเทียม การกดทับทางเพศ เสียงของผู้ชายที่คอยพูดกรอกหูผู้หญิง ว่าควรเป็นแบบนั้น ทำแบบนี้ “ยิ้มสิ” “ดูแลตัวเอง” “ห้ามแก่” “จงนอบน้อมและเป็นคู่นอนที่ดี” “ความสวยเท่านั้นที่ทำให้ผู้หญิงมีค่า” จนธรรมชาติและการเติบโตของเพศหญิงกลายเป็นสิ่ง ‘ผิดมนุษย์’ ‘น่าเวทนา’ แถมยังกดดันให้ผู้หญิงต้องเชือดเฉือนกันเอง ในขณะที่อีกฝ่ายเดินเตร็ดเตร่สร้างบรรทัดฐานได้อย่างอิสระ ประหนึ่งโลกถูกสร้างมาเพื่อความสะดวกสบายของพวกเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยใช้ตัวละครนำเป็นตัวแทนหมู่บ้านของ ‘ผู้ถูกกดทับ’ เพื่อกรี๊ดใส่หน้าคนเหล่านั้น
.
ประกอบกับการนำเสนอที่ ‘คิดมาอย่างดี’ เพราะหากผู้อ่านคนไหนได้ชมภาพยนตร์มาแล้ว จะเห็นว่าตัวละครหลักจะมีแค่นางเอกทั้ง 2 ร่าง กับเหล่าตัวละครชายเท่านั้นที่มีแอร์ไทม์บนหน้าจอเยอะที่สุด หนำซ้ำผู้ชายเหล่านั้นยังโผล่ออกมาแค่ไม่กี่ฉาก แต่คนดูกลับได้ยินเสียงของพวกเขาวนเวียน บงการเนื้อเรื่องอยู่ตลอด จนรู้สึกหลอนไปตามอลิซาเบธ รู้สึกถึงแรงกระตุ้นที่ทำให้เธอต้องดำดิ่งลงไปกับทุกอย่าง เพื่อการยอมรับอันไร้ค่าของผู้อื่น และพาให้ผู้ชมมองโลกนอกจอได้อย่างตาตื่นมากขึ้นว่า ‘เรื่องสยองขวัญ’ เหล่านี้คือ ‘ชีวิตจริง’ ที่มนุษย์หลายคนบนโลกต้องเผชิญ
.
อีกส่วนที่ทำให้ผู้เขียนอยากแนะนำหนังเรื่องนี้กับลูกเพจ The Showhopper มากๆ คือทุกคนจะได้เห็น Reference จากหนังสยองขวัญขึ้นหิ้งหลายเรื่องในงานชิ้นนี้ เช่นมุมกล้องและสีสันประหลาดจาก “Requiem for a Dream” โถงทางเดินหลอนจาก “The Shining” หรือฉากตำนานจาก “Carrie” และอีกมากมาย เชื่อว่านี่จะเป็นหนังต้อนรับเดือนปล่อยผีที่ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังแน่นอน
.
รับชมได้แล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์
.
.
เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์
ภาพ: MUBI
.
#TheShowhopper #GeekedOut #TheSubstance #สวยสลับร่าง #GDH #GDH559 #OutofTheBoxByGDH #หนังสยอง #Horror #Feminist
Comments