top of page
รูปภาพนักเขียนเจนจิรา หาวิทย์

เมื่อสังคมอยากเห็น 'คนรวยเลวๆ' รับกรรมพล็อตล้างแค้นแนว 'Eat The Rich' ถึงขายได้เสมอ

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2567



“ถ้าคนจนต้องอดตาย พวกเขาจะกินคนรวย”

.

นี่คือวรรคทองที่คาดว่าเป็นคำกล่าวของนักปรัชญาการเมืองนามว่า ‘Jean Jacques Rousseau’ จากหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 18 ชวนให้ฉุกคิดถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม การกดขี่ที่เอื้อให้คน 1% ได้ประโยชน์ และคนอีกมากต้องทนทุกข์ จนวันหนึ่งแรงกดดันนั้นก็จะย้อนกลับไปเล่นงาน ‘คนข้างบน’ ไม่ต่างอะไรจาก ‘เวรกรรม’

.

ซึ่งต่อมาในปัจจุบันวลี “Eat the Rich” ถูกหยิบยืมมาใช้ในหมู่ ‘คอหนัง คอซีรีส์’ ที่มักใช้คำนี้เรียกภาพยนตร์ที่มีพล็อตเกี่ยวกับการวางแผนตลบหลัง ‘คนรวยสันดานเสีย’ ให้รับผลกรรมหรือเสียท่าให้ตัวละครที่มีอำนาจหรือสถานะทางสังคมด้อยกว่า แม้จะไม่ใช่คำเรียก Genre อย่างเป็นทางการ แต่ก็พอจะทำให้จัดกลุ่มงานแนวนั้นได้แบบเห็นภาพชัดเจนมากทีเดียว

.

โดยหลังจากความสำเร็จของซีรีส์ผลงานคนไทยอย่าง “สืบสันดาน (2024)” บนแพลตฟอร์ม NETFLIX สร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้ชมนำเหตุการณ์ในเรื่องมาเชื่อมโยงกับ ‘สภาพจริงของสังคมไทย’ จนเกิดเป็นบทวิเคราะห์มากมายหลายมุมมอง ก็ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนกลับไปถึงความสำเร็จของผลงานคล้ายๆ กัน อย่าง “Parasite (2019)” “Knives Out (2019)” และ “Saltburn (2023)” ว่าเพราะอะไร เรื่องแนวนี้ถึงทำงานได้อย่างดีกับคนดูเสมอมา เลยอยากชวนแฟนเพจมาตั้งข้อสังเกตร่วมกัน

.

(ทั้งนี้บทความจะเป็นการบอกเล่า ‘มุมมอง’ ของผู้เขียนเท่านั้น หากมีเนื้อหาส่วนใดที่ผู้อ่านเห็นแย้ง สามารถคอมเมนต์เพื่อถกประเด็นดังกล่าวร่วมกันได้นะคะ)

.

• เราอาจต้องการ ‘ภาพย้ำเตือนความจริง’ เพื่อให้เข้าใจปัญหารอบตัวมากขึ้น •

.

การใช้ชีวิตผ่านไปแต่ละวันตามระบบระเบียบของสังคม เข้า-ออกงานตอนนี้ ซื้อของอุปโภคบริโภค จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาเท่านี้ มีความเครียดประมาณนี้ ถูกกดขี่แบบนี้ตลอด อาจนำไปสู่ความ ‘เคยชิน’ และ ‘ด้านชา’ ต่อสิ่งที่ควรถูกมองเป็นปัญหา ลืมไปว่าควรโกรธ ควรลุกขึ้นสู้ ผลงานภาพยนตร์หรือซีรีส์แนว Eat the Rich เลยเป็นเหมือนพาผู้ชมเข้าไปผูกความรู้สึกกับตัวละคร ว่าหากเราเป็นผู้ถูกกระทำอย่างชั่วร้ายแบบนั้น หรือเมื่อเราเห็นว่าสังคมมันเต็มไปด้วยความ ‘เหลื่อมล้ำ’ และ ‘อยุติธรรม’ เช่นนั้นเราควรต้องทำอะไรเพื่อหยุดมัน

.

ยกตัวอย่างจากฉากฝนตกในตำนานในภาพยนตร์เรื่อง “Parasite (2019)” เมื่ออีกบ้านมองว่าฟ้าหลังฝนสดชื่นแจ่มใส อากาศเย็นสบาย ส่วนอีกบ้านต้องสละข้าวของเครื่องใช้ให้จมอยู่ใต้น้ำเน่าเสีย ระหกระเหินไปนอนรวมบนพื้นแข็งๆ ในศูนย์ช่วยเหลือ หากเราไม่ได้เห็นภาพแสดงเหล่านี้ในหนัง เราอาจจะลืมคิดไปเลยก็ได้ว่าในมุมหนึ่งของสังคม นี่คือความลำบากที่หลายคนต้องเผชิญ

.

• เพราะตอนจบที่ ‘คนจนชนะ’ ไม่เคยเกิดขึ้นจริง •

.

นอกจากการหักมุมที่สร้างความรู้สึกสะใจ อย่างฉากการเปลือยกายเต้นไปทั่วคฤหาสน์ใน “Saltburn (2023)” ฉากยกแก้วกาแฟขึ้นจิบของตัวละครสาวใช้ในฐานะเจ้าบ้านคนใหม่ จาก “Knives Out (2019)” หรือสารพัดแผนตลบหลังตระกูลเทวสถิตย์ไพศาลในซีรีส์ “สืบสันดาน (2024)” ความรู้สึกที่หลายคนน่าจะได้รับจากการดูภาพเหล่านี้คือ ‘ชัยชนะของความถูกต้อง‘ คนที่เป็นเหยื่อได้แก้แค้นอย่างสมใจและทวงคืนความยุติธรรมให้ตัวเอง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนรวยหรือผู้ถือครองอำนาจพวกนั้นไม่เคยได้รับกรรม ไม่แม้แต่บทเรียนเล็กๆ น้อยๆ ที่จะพอเตือนสติให้พวกเขาหยุดทำเรื่องเลวร้ายหรือใช้อำนาจในทางมิชอบได้ ภาพยนตร์หรือซีรีส์แนวนี้จึงเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่จะทำให้ปุถุชนคนธรรมดาได้ดื่มด่ำกับชัยชนะเสมือนนี้และได้เพียงหวังว่าเราจะได้เห็นมันเกิดขึ้นจริงในหน้าข่าวบ้าง

.

อย่างไรก็ตามแม้ปัญหาความไม่เท่าเทียมจะยังคงดำเนินต่อไป แต่การมีสื่อที่ช่วยขุดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาจากใต้พรม สะท้อนแง่มุม นำเสนอความเป็นไปได้ของการลุกขึันต่อต้านสิ่งผิดในรูปแบบสนุกสนานย่อยง่าย และเข้าถึงคนดูวงกว้างเช่นนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมที่ผุพังได้ในที่สุด

.

เรื่อง: เจนจิรา หาวิทย์

.

.

ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page