เราคงเคยได้ยินแนวคิด "jukebox musical" ที่นำเอาเพลงฮิตมายำเป็นละครเพลง เช่น "Mamma Mia!" จากเพลงป็อปของวง ABBA แต่ในโลกโอเปร่าก็มี "jukebox opera" เช่นกัน แค่มักเรียกกันว่า "pasticcio" แถมยังมีมาเกือบ 300 ปีแล้วด้วย! หลักๆ คือการยำเพลงจากงานเก่ามาสรรค์สร้างเป็นโอเปร่าใหม่นั่นเอง และในปีนี้บทเพลงจากโอเปร่ากว่า 16 เรื่องในยุคแรกของคีตกวีรุ่นเก๋า Giuseppe Verdi ได้ถูกนำมาถักทอใหม่เป็นโอเปร่าป้ายแดงที่อัดแน่นไปด้วย "จิตวิญญาณนักปฏิวัติ" ที่หลายคนมองว่าเป็นลายเซ็นของคีตกวีอิตาเลียนรายนี้อยู่แล้ว
.
คนงานไฟแรง ลูกชายผบ.ตร. และนักศึกษาเลือดร้อน 3 หนุ่ม 3 แบ็กกราวน์ เป็นตัวละครที่จะพาเราไปดื่มด่ำกับดนตรีกว่า 5 ชั่วโมงของ Verdi!...แต่อย่าเพิ่งตกใจไปครับ 5 ชั่วโมงนี้ถูกหั่นออกเป็นสองภาคด้วยกัน แต่ละภาคจะแสดงกันคนละวัน ทว่า "เวลา" เป็นส่วนสำคัญของโอเปร่าทั้งสองภาค การแสดงแยกวันกันจึงไม่ใช่แค่กลเม็ดเก๋ไก๋ เพราะในภาคแรกเรื่อง "Rivoluzione" เราจะตามติดสามตัวเอกในวัยหนุ่มที่อัดแน่นด้วยอุดมการณ์ ท่ามกลางการประท้วงของนักศึกษาและแรงงานในปี 1968 ส่วนภาคสองเรื่อง "Nostalgia" เราจะข้ามไปพบทั้งสามในวัยหมดไฟ 40 ปีให้หลัง ยามที่อดีตอาจเป็นเพียงภาพทรงจำที่ปรุงแต่งขึ้นเท่านั้น
.
"Rivoluzione" และ "Nostalgia" นับเป็นโอเปร่าทวิภาคที่สามารถดูแยกขาดจากกันได้ แค่ลีลาการเล่าเรื่องของสองภาคก็ต่างกันแล้ว ภาค "Rivoluzione" เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ เล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ พาผู้ชมไปรู้จักสามหนุ่มทีละคน เผยปัจจัยที่โยงทั้งสามไว้ด้วยกัน…และที่แยกทั้งสามออกจากกัน ความหึงหวงในหมู่ผู้ประท้วงอันนำไปสู่การใช้กำลัง การติดสินบน จนกระทั่งการย้ายข้าง! เราเห็นการปะทะของตำรวจควบคุมฝูงชนกับนักศึกษาและแรงงาน ความรุนแรงที่คุกรุ่นขึ้นในตัวผู้ที่เคยรักสันติ วิดีโอภาพประท้วงจริงที่เคยเกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 1960 ในยุโรปถูกฉายขนานกับเหตุการณ์บนเวทีเป็นครั้งคราว ผนวกกับบทสัมภาษณ์ของตัวละครหลักที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างบทเพลงอมตะของ Verdi อันทรงพลัง
.
ในขณะที่ภาค "Nostalgia" เต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ เราจะเห็นภาพเดิมที่ถูกเล่นซ้ำในมุมมองที่ต่างออกไปหลายรอบ เสมือนวังวนภาพอดีตชวนโหยหาที่ลบไม่ออกสมชื่อเรื่อง สามหนุ่มนักปฏิวัติในภาคแรกผันตัวเป็นนักธุรกิจที่ก้มหัวให้ทุนนิยมกันหมดแล้วในปี 2008 แต่ทั้งสามต้องรื้อบาดแผลอันเป็นเหตุให้บาดหมางกันมาตลอดหลายสิบปีเมื่อต้องโคจรมาพบกันในครานี้ วาระที่พาทั้งสามหวนมาเจอะกันคือ "ลูกสาว" ของคนใดคนหนึ่งในนี้! เธอออกอุบายเชิญทั้งสามมางานฉายสารคดีการประท้วงปี ‘68 เพราะหวังจะพบกับผู้เป็นพ่อเสียที...ฟังเผินๆ เผอิญคล้าย "jukebox musical" โรแมนติกคอเมดี "Mamma Mia!" ที่พาดพิงไว้ข้างต้นพอดี ลูกสาวที่ตามหาพ่อและเรื่องป่วงๆ ที่บังเกิดหลังจากนั้น แต่ในกรณีของ "jukebox opera" ภาคสองนี้ ความป่วงนั้นดำดิ่งถึงขั้นหลอนเห็นวิญญาณนักปฏิวัติกันเลยทีเดียว!
.
ผู้กำกับเจ้าไอเดีย Krystian Lada เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์หฤโหดนี้ เขาเป็นทั้งผู้เขียนบท ผู้ออกแบบฉาก แถมร่วมออกแบบวิดีโอที่ผสานเรื่องเองทั้งหมด Lada ให้สัมภาษณ์กับโรง La Monnaie แห่งกรุงบรัสเซลส์ที่จัดแสดงโอเปร่าว่า เขาได้ตัว Jérémy Adonis ที่มาจากสายมิวสิกวิดีโอเพลงฮิปฮอปมาช่วยในส่วนของวิดีโอ เพราะ Adonis มีทักษะในการดึงดราม่าจากดนตรี อีกทั้งรู้จักใช้ภาพที่สุดสวิง ส่วนผู้ที่คัดท่วงทำนองสุดปังของ Verdi มาแต้มเป็นเรื่องราวให้โอเปร่าใหม่ถึงสองภาคก็คือคอนดักเตอร์ Carlo Goldstein ผู้ที่ Lada ยกให้เป็นตัวพ่อที่รู้จักดนตรี Verdi เป็นอย่างดี แถมยังเข้าใจบริบทสังคมและประวัติศาสตร์อิตาลีด้วย ทำให้ทำงานด้วยราบรื่นมาก
.
แต่ความพิเศษของโปรเจกต์อยู่ที่การผสานศาสตร์เข้าด้วยกัน ทางผู้กำกับสนใจดึงชุมชนที่อาจไม่คุ้นชินกับโอเปร่ามาร่วมสร้างงานนี้ด้วยกัน เขาจึงนำกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นนักเต้นแนว "street dance" ในกรุงบรัสเซลส์มาร่วมแสดงในโอเปร่าทั้งสองภาค พวกเขามีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษใน "Rivoluzione" เหล่านักเต้นเยาวรุ่นทำหน้าที่เสมือนจิตใต้สำนึกที่อัดอั้นพร้อมปะทุของตัวละครผู้ชุมนุม ต่างใส่เสื้อแดงจ๊าบเตะตา ออกลีลาประกอบนักร้อง เสมือนเป็นเสียงที่ไม่อาจเปล่งออกมาได้
.
ลีลาการยำโอเปร่าทวิภาคนี้จะสมศักดิ์ศรีดนตรี Verdi หรือไม่ สามารถไปท้าพิสูจน์กันได้ 5 ชั่วโมงเน้นๆ เพราะทางโรง La Monnaie ได้มีบันทึกการแสดงให้ชมกันตาแฉะผ่านแพลตฟอร์ม OperaVision
.
ชมภาคแรก "Rivoluzione" : https://www.youtube.com/live/sm6uamM77b0?si=S7iV0pz_92pJaga0
ชมภาคสอง "Nostalgia" : https://www.youtube.com/live/1lsL_LR39s4?si=FsyyQlwH-5lVaY5s
ตัวอย่างโอเปร่า :https://youtu.be/0T3-znKY1_c?si=Kr-P-FvhigcwxcT7
.
เรื่อง : ธาริน ปริญญาคณิต
.
Comments