top of page
รูปภาพนักเขียนBloomsbury Girl

เวลาฟังเพลง หรือ อ่านหนังสือคุณเห็นภาพเรื่องราวในหัวชัดแค่ไหน? รู้จักมิติของอารมณ์ศิลปินและจินตนาการบนสเปกตรัม Aphantasia-Hyperphantasia



 ลองหลับตา แล้วจินตนาการภาพแอปเปิลสีแดงฉ่ำสักผลหนึ่ง นึกภาพรูปทรงที่ดูจะกลมก็ไม่กลมเสียทีเดียว ภาพผิวแอปเปิลสีแดงเรียบเนียนเงางามเล่นแสง ภาพเนื้อสีขาวหวานฉ่ำภายในตอนที่เราใช้ฟันกัดกร้วมๆ เข้าไป

.

ตั้งสมาธิให้ดี จำภาพในหัวภาพนั้นเอาไว้ แล้วถามตัวเองดูว่า ‘ดวงตาของใจ’ เรา มองเห็นภาพแอปเปิลผลนั้นชัดระดับไหน?

.

 ภาพในหัวประกอบด้วยรูปทรง สี แสงเงา และมิติของแอปเปิลที่ชัดเจนสมจริงเหมือนภาพถ่าย HD

 ภาพในหัวคล้ายแอนิเมชันหรือภาพวาดเลียนแบบแอปเปิล ไม่ได้สมจริง 100% แต่ก็มีองค์ประกอบหลักๆ อย่างรูปทรงและสีครบถ้วน

 ภาพในหัวขาดความสมจริงและขาดองค์ประกอบสำคัญบางอย่าง เช่น ไม่มีสี แต่ยังพอมองออกว่าเป็นแอปเปิล

 ภาพในหัวค่อนข้างเลือนราง แทบมองไม่ออกว่าเป็นแอปเปิล นึกภาพรูปร่างและสีออกแค่คร่าวๆ เท่านั้น แถมภาพดูจะก็มาๆ หายๆ

 ภาพในหัวมืดสนิท ไม่เห็นอะไรเลย ใจนึกถึงแต่ความรู้กับชิ้นส่วนความทรงจำในอดีตที่เกี่ยวข้องกับแอปเปิล

.

แต่ไม่ว่าสเกล 1 ถึง 5 ที่ไล่เลียงมา ระดับใดจะอธิบายภาพในหัวของเราได้ดีที่สุด (หรือไม่มีคำอธิบายระดับใดตรงกับภาพในหัวเราเลยก็ตาม!) ไม่มีใคร ‘ปกติ’ หรือ ‘ผิดปกติ’ บนสเปกตรัม Aphantasia-Hyperphantasia เพราะมีคนที่มองเห็นแบบเดียวกับเราปะปนกันอยู่ทั่วทุกมุมโลก

.

หากคำตอบคือระดับ 1-2 เป็นไปได้ว่าเราอาจเป็นหนึ่งในกลุ่ม 10-15% ของประชากรโลกที่มีภาวะ ‘ ไฮเปอร์แฟนเทเซีย’ (Hyperphantasia)  กล่าวคือสามารถวาดภาพจินตนาการในหัว (Mental Image) ได้อย่างสดใสและชัดเจน ทำให้สามารถบรรยายความทรงจำหรือสิ่งที่เคยเห็นได้อย่างละเอียดลออ รวมถึงสามารถสร้างภาพตัวละคร อิริยาบถ ฉาก และรายละเอียดอื่นๆ จากหนังสือหรือเพลงในหัวได้

.

กลุ่มคนที่ไม่มีภาพในหัวเลยตามคำอธิบายระดับ 5 นั้นเป็นขั้วตรงข้ามของไฮเปอร์แฟนเทเซีย ซึ่งอยู่บนสเปกตรัมเดียวกัน นั่นคือผู้คนไม่ถึง 4% ของประชากรโลกซึ่งมีภาวะที่เรียกว่า ‘เอแฟนเทเซีย’ (Aphantasia)

.

ส่วนคนที่คำตอบอยู่ในระดับ 3-4 นั่นแปลว่าเราคือคนหมู่มากที่ไม่ได้มีภาวะเอแฟนเทเซีย (non-aphants)  แน่นอน ระดับความชัดเจนสมจริงอาจจะมากหรือน้อยกว่าที่อธิบายเอาไว้บ้าง แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่เรายังคงมั่นใจว่ายังพอมีภาพในหัว ถึงแม้จะไม่ชัดมากก็ตาม

.

ตลอดเวลาเกือบ 200 ปีที่มนุษยชาติเริ่มทำการวิจัยเชิงทดลองทางจิตวิทยา คอนเซปต์ของเอแฟนเทเซียในฐานะสเปกตรัมทางความแตกต่างของสมองไม่เคยถูกศึกษาอย่างละเอียดมาก่อนจนกระทั่งปี 2005 หรือราวๆ 20 ปีที่แล้ว ศ.ดร.อดัม ซีแมน (Adam Zeman) ได้พบกับคนไข้ที่สูญเสียความ ‘สามารถในการสร้างภาพในหัว’ ไปหลังเข้ารับการผ่าตัด เขาจึงเผยแพร่บทความในวารสารวิชาการเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้

.

แต่แล้ว ศ.ดร.ซีแมน ก็ต้องตกตะลึงยิ่งกว่าเก่า เมื่อเขาเริ่มได้รับการติดต่อจากคนจำนวนมากเพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์การมองไม่ให้ภาพในหัวในทำนองเดียวกัน จะต่างออกไปก็ตรงที่ผู้คนเหล่านี้ไม่เคยเข้ารับการผ่าตัด หรือเคยได้รับความกระทบกระเทือนทางสมองมาก่อนเลย และใช้ชีวิตอยู่กับการไม่มีภาพในหัวมาตั้งแต่เกิดแล้ว!

.

จึงก่อเกิดเป็นชื่อเรียก ‘Aphantasia’ ขึ้นมาในปี 2015

.

และเมื่อล่วงเลยเข้าสู่ทศวรรษ 2020s คนก็เริ่มหันมาสนใจหาคำอธิบายให้กับประสบการณ์การมองเห็นภาพในหัว เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมิติของอารมณ์ศิลปิน จินตนาการ และตำแหน่งแห่งที่ของตนเองบนสเปกตรัมมากขึ้น

.

เราเริ่มเห็นคนพยายามใช้หาวิธีการและคำศัพท์ต่างๆ มาอธิบายภาวะเอแฟนเทเซียให้กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด เช่น

.

‘ภาวะดวงตาของใจมืดบอด’ (Mind’s Blindness)

.

‘โรคไร้จินตนาการ’

.

ฯลฯ

.

แต่ในความเป็นจริงเอแฟนเทเซียไม่ใช่ภาวะที่แปลกแยก หรือนับเป็นความพิการ หรือแม้แต่ความบกพร่องด้านความสามารถแต่อย่างใด เพราะพวกเขาก็คือคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตได้ตามปกติ อีกทั้งยังมีจินตนาการและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ไม่ต่างจากเหล่า non-aphants ทั้งกลุ่มทั่วไป และกลุ่มไฮเปอร์แฟนเทเซีย

.

ยกตัวอย่างง่ายๆ มีศิลปินระดับโลกหลายคนที่สามารถพิสูจน์ความสามารถด้านศิลปะแขนงต่างๆ ได้ แม้ตนเองจะมีภาวะเอแฟนเทเซียก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น..

.

 เอ็ด แคทมุล (Ed Catmull) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง Pixar

 เกลน คีแอน (Glen Keane) แอนิเมเตอร์ในตำนานของดิสนีย์ ผู้อยู่เบื้องหลัง Little Mermaid (1989), Beauty and the Beast (1991) และ Aladdin (1992)

 ยุนฮา ลี (Yoonha Lee) นักเขียนนิยายไซไฟ สัญชาติอเมริกัน เชื้อชาติเกาหลี เจ้าของผลงานชุด Ninefox Gambit

 เบลค รอสส์ (Blake Ross) วิศวกรซอฟต์แวร์ หนึ่งในทีมผู้คิดค้นโปรแกรม Mozilla Firefox

.

และมั่นใจได้เลยว่าในประวัติศาสตร์ ยังมีศิลปิน นักเขียน นักคิดจินตนาการล้ำเลิศ มากหน้าหลายตาอีกนับไม่ถ้วนที่มีภาวะเอแฟนเทเซียมาโดยตลอดช่วงชีวิตการทำงานแต่ไม่รู้ตัว เพราะนี่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งถูกค้นพบสดๆ ร้อนๆ ได้เพียงทศวรรษเดียวเท่านั้น

·

สำหรับใครที่กำลังสงสัย สำหรับ non-aphants ที่พอเห็นภาพอะไรบางอย่างลางๆ อยู่ในหัว เราสามารถเสริมทักษะการนึกภาพ (Visualization) ให้ตัวเองเห็นภาพชัดขึ้นได้ระดับหนึ่งผ่านหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการฝึก ‘มโน’  บ่อยๆ โดยอาจใช้การเจริญสติ (Mindfulness Practice) เข้ามาช่วยทำสมาธิให้นิ่งขึ้น

.

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ภาวะทางการมองเห็นจินตภาพเหล่านี้ ไม่ใช่ความเจ็บป่วย ความผิดปกติ หรืออาการที่สามารถ ‘รักษา’ ได้ แต่เป็นความแตกต่างทางสมองที่นักประสาทวิทยาศาสตร์ยังจำเป็นที่จะต้องหาคำตอบกันต่อไป

.

ด้วยความรู้และวิทยาการที่มีในปัจจุบัน จึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่ามีวิธี ‘รักษา’ เอแฟนเทเซียให้หาย หรือ ‘ฝึก’ สมองให้เข้าใกล้ความสามารถแบบไฮเปอร์แฟนเทเซีย

.

 แล้วลูกเพจ The Showhopper ล่ะ? คิดว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของสเปกตรัมนี้บ้าง? แล้วมันส่งผลต่อเส้นทางชีวิตและการทำงานของเราแค่ไหน?

.

มาร่วมแชร์คำตอบและเม้ามอยประสบการณ์คอมเมนต์กันจ้า

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

.

ที่มา:

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page