top of page
รูปภาพนักเขียนBloomsbury Girl

แรงสนับสนุนและจุดยืดหยุ่นทางกฎหมาย ที่ทำให้ ‘โรงหนังห้องแถว’ เติบโตได้ในต่างประเทศ


ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไรที่ภาพโรงหนังที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นตา ไม่ใช่ภาพโรงหนังสแตนด์อะโลนที่เคยกระจายอยู่ตามมุมเมืองทั่วประเทศไทยอีกต่อไป แต่กลายเป็นโรงภาพยนตร์เครือใหญ่ในห้างสรรพสินค้า

.

อาจจะตั้งแต่โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคฟิล์มมาสู่ดิจิทัล ตั้งแต่กลุ่มทุนใหญ่เริ่มรุกคืบธุรกิจระดับท้องถิ่นด้วยโมเดลธุรกิจ ‘มัลติเพลกซ์’ ที่พึ่งพาอาศัยศูนย์การค้า หรือไม่ก็นับตั้งแต่กฎกระทรวงเกี่ยวกับอาคารสำหรับประกอบธุรกิจโรงมหรสพถูกตราขึ้นและบังคับใช้อย่างเข้มงวด

.

สืบเนื่องจากกรณี Doc Club & Pub. ประกาศปิดตัวลงไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สาธารณชนจึงหันมาให้ความสนใจกฎหมายและปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น เสียงตอบรับแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกหนังโรงเล็ก และฝ่ายที่เชื่อว่ากฏหมายว่าด้วยการอนุญาตใช้อาคารนี้ยังสมเหตุสมผลอยู่

.

ความน่าสนใจก็คือ ในขณะที่ผู้เล่นหนังโรงเล็ก หรือ ‘microcinema’ ในประเทศไทยกำลังค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละเจ้า โมเดลธุรกิจแบบโรงภาพยนตร์ห้องแถวกลับยังสามารถไปต่อได้ในหลากหลายประเทศทั่วโลก ด้วยปัจจัยหลายประการ

.

ในวันนี้ The Showhopper จะพาชาวเพจไปสำรวจ 4 ปัจจัยหลักที่เกื้อหนุนผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ให้อยู่รอด

.

📌 1. กฎหมายอาคารและการออกใบอนุญาต: อย่างที่หลายคนน่าจะได้ยินได้ฟังมาค่อนข้างหนาหูในช่วงนี้ว่า “กฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ” ของไทยนั้นมีความเฉพาะเจาะจงมาก เกณฑ์การใช้สอยพื้นที่ ระยะห่าง รวมถึงจำนวนทางหนีไฟเดียวถูกกำหนดรวมศูนย์เอาไว้แน่นอน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ ‘คอขวด’ เพราะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงหยิบมือที่จะสามารถผ่านเกณฑ์ได้ทั้งหมดได้โดยไม่เจ็บตัวมากจนเกินไป

.

ขณะที่ในหลายประเทศในยุโรป และในสหรัฐฯ แม้กฎเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยในอาคารจะเข้มงวดและต่อรองไม่ได้เช่นกัน แต่ก็มีจุดยืดหยุ่นตรงที่หากเทียบกับกฎที่ใช้กับธุรกิจระดับมัลติเพลกซ์ กฎเกณฑ์อีกชุดที่มีไว้สำหรับโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นขนาดเล็กนั้น เป็นกฎที่นำมาปฏิบัติและปรับเปลี่ยนตามได้ไม่ยาก เนื่องจากรองรับผู้คนได้น้อยกว่ามาก ทำให้คนในพื้นที่ไม่หนาแน่น อพยพคนออกไม่ยาก นอกจากนี้ ในประเทศอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร กระบวนการออกใบอนุญาตและประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ จะคำนึงถึงบริบท (context-based) ของตัวพื้นที่มากกว่าในไทยด้วย

.

📌 2. กฎหมายการจัดสรรที่ดิน (Zoning): ถือเป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้รายย่อยประสบปัญหาในการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่ในมือ เนื่องจากในประเทศไทย หากจะใช้อาคารประกอบธุรกิจใดๆ จะต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจประเภทนั้นมาใช้เป็นการถาวรในทุกๆ ครั้ง หมายความว่า หากอาคารนั้นๆ เคยใช้ทำอย่างอื่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นบ้านสำหรับอยู่อาศัย คาเฟ่ ร้านอาหาร แกลเลอรี โกดัง ฯลฯ เจ้าของจะต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงมรสพ และจัดประเภทอาคารในทางกฎหมายใหม่หมดอีกครั้ง ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและกินเวลา

.

ส่วนในประเทศตกวันตก โดยมากจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ใบอนุญาตประกอบธุรกิจชั่วคราว” ซึ่งขอไม่ยากเท่าใบอนุญาตถาวร นอกจากนี้ อาคารส่วนใหญ่ยังสามารถจัดประเภทเป็นอาคารประเภทผสม (mixed use) ทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนประเภทกิจการไป ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจัดประเภทอาคารใหม่ให้ยุ่งยาก

.

📌 3. แรงสนับสนุนจากชุมชนและจากภาครัฐ: ในประเทศตะวันตก โรงภาพยนตร์มักได้รับการอุดหนุนและแรงสนับสนุนจากชุมชนคนทำหนังท้องถิ่น หรือองค์กรอิสระ ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือบางประเทศ ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส แคนาดา เยอรมนี จะมีทุนอัดฉีดจากรัฐบาลมอบให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์อิสระด้วยอีกทาง หรือหากไม่สนับสนุนด้วยตัวเงิน บางกรณีก็จะมีการพูดคุยเพื่อให้เจ้าของผลงานยกเว้นค่าลิขสิทธิ์เป็นครั้งคราว เพื่อส่งเสริมให้มีการนำภาพยนตร์มาฉายในท้องถิ่นโดยไม่ค้ากำไร

.

ส่วนประเทศไทย ‘พรรคเพื่อไทย’ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลในปัจจุบันเคยมีการเสนอนโยบาย THACCA เพื่อภาพยนตร์ไทยเอาไว้ โดยมีหนึ่งในภารกิจหลักคือเพิ่มโอกาสให้กับคนวงการหนังไทย อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวเน้นสนับสนุนกลุ่มคน ‘สร้าง’ หนังเป็นหลัก ส่วนธุรกิจโรงภาพยนตร์รายย่อยยังไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อนุกรรมการภาพยนตร์ฯ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติได้ออกมาชี้แจงผ่านเพจ THACCA แล้วว่า จะมีการเร่งพูดคุยและแก้ไขกฎกระทรวงอย่างเร่งด่วน แต่ในด้านของทุนสนับสนุนธุรกิจโรงภาพยนตร์รายย่อยนั้น คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป

.

📌 4. การคัดกรองและเซนเซอร์เนื้อหา: อย่างที่เรารู้ดีว่า คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (หรือที่ผู้คนเรียกกันติดปากว่า ‘กองเซ็นเซอร์’) นั้นมีบทบาทอย่างมากในการคัดกรองเนื้อหาของสื่อภาพยนตร์ที่จะนำมาฉาย

.

แต่ในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับประเด็น Censorship โดยรัฐ มักมีการปล่อยให้เอกชนแต่ละเจ้าจัดสรรเนื้อหาได้เอง โดยอาจยึดมาตรฐานที่มีอยู่แล้วก็ได้ เช่น ในสหรัฐฯ นิยมอ้างอิงระบบเรตติ้งของสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) ส่วนในอังกฤษนิยมอ้างอิงระบบของคณะกรรมการจัดประเภทภาพยนตร์แห่งอังกฤษ (BBFC)

.

📌 5. สภาพตลาดที่ไม่ถูกผูกขาด: ตลาดโรงภาพยนตร์ของต่างประเทศมักประกอบไปด้วยผู้เล่นหลายระดับ เช่น ในอังกฤษที่มีธุรกิจสแตนด์อะโลน และโรงภาพยนตร์อินดี้เครือเล็กๆ มากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ แน่นอนว่าผู้เล่นเครือใหญ่ทุนหนาๆ ที่ครองพื้นที่โรงภาพยนตร์กระแสหลักเองก็มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครือโอเดียน (Odeon), ซีเนเวิร์ล (Cineworld), หรือวิว (Vue) แต่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่ได้ผูกขาดตลาดเอาไว้เบ็ดเสร็จอย่างในประเทศไทย โมเดลธุรกิจแบบโรงหนังตึกแถวในอังกฤษจึงไม่ใช่แค่พออยู่รอดเท่านั้น แต่ยังเติบโตและทำกำไรต่อเนื่องอีกด้วย เพราะเป็นธุรกิจทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคยังคงอยากอุดหนุนอยู่

.

เรื่อง: Bloomsbury Girl

ภาพ: Doc Club & Pub.

.

ที่มา:

- https://filmustage.com/

- https://www.gov.uk/workp.../fire-safety-and-evacuation-plans

- https://www.screendaily.com/.../why.../5130085.article

- https://www.facebook.com/photo.php?fbid=805845050911146&id=100044569743646&set=a.508934057268915

.

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page